ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 172อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 173อ่านอรรถกถา 26 / 174อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค
๖. กุมาปุตตเถรคาถา

               อรรถกถากุมาปุตตเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระกุมาบุตรเถระ เริ่มต้นว่า สาธุ สุตํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ท่านเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เป็นดาบสผู้นุ่งห่มหนังเสือ อยู่ในราชอุทยาน ณ พันธุมตีนคร เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ได้ถวายน้ำมันสำหรับนวดพระบาท.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในเทวโลก. จำเดิมแต่นั้นมา ท่านก็ท่องเที่ยวอยู่เฉพาะในสุคติภพเท่านั้น บังเกิดในตระกูลคหบดี ในเวฬุกัณฏกนคร แคว้นอวันตี ในพุทธุปบาทกาลนี้. คนทั้งหลายได้ขนานนามเขาว่านันทะ. ส่วนมารดาของนันทกุมารนั้น ชื่อว่ากุมา. ด้วยเหตุนั้น เขาจึงมีชื่อปรากฏว่า กุมาปุตตะ.
               เขาฟังธรรมในสำนักของท่านพระสารีบุตร ได้ความเลื่อมใสแล้วบวช กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ท้ายภูเขา ไม่สามารถจะยังคุณพิเศษให้เกิดขึ้นได้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรม ชำระกรรมฐานแล้ว อยู่ในที่ๆ เป็นสัปปายะ ยังวิปัสสนาให้เจริญแล้ว กระทำให้แจ้งพระอรหัต.
               สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เราอยู่ใกล้พระราชอุทยาน ในพระนครพันธุมดี ครั้งนั้นเรานุ่งหนังเสือเหลือง ถือคณโฑน้ำ เราได้พบพระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลสธุลี ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้อะไรๆ มีความเพียรเผากิเลส มีพระหฤทัยแน่วแน่ มีปกติเพ่งพินิจ ยินดีในฌาน เป็นนักบวชผู้สำเร็จความประสงค์ทั้งปวง ข้ามพ้นโอฆะแล้ว ไม่มีอาสวะ
               ครั้นเราพบแล้วก็เลื่อมใสโสมนัส ได้ถวายน้ำมันสำหรับนวด. ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายน้ำมันสำหรับนวด ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งน้ำมันสำหรับนวด. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว เห็นภิกษุทั้งหลายมีร่างกายกำยำล่ำสันเป็นอันมาก ในป่า กล่าวสอนภิกษุเหล่านั้นอยู่ เมื่อจะประกาศความที่พระศาสนาเป็นนิยยานิกธรรม จึงได้ภาษิตคาถาว่า
                         การฟังเป็นความดี ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี
                         การอยู่โดยไม่มีห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่
                         เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพ
                         เป็นความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้เป็นเครื่องสงบของผู้
                         ไม่มีกังวล ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ แปลว่า เป็นความดี.
               บทว่า สุตํ แปลว่า การฟัง.
               ก็ฟังกถาวัตถุ ๑๐ อันปฏิสังยุตด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยเป็นต้น โดยพิเศษอันเข้าไปอาศัยพระนิพพานนั้นแล ท่านประสงค์เอาแล้วในคาถานี้.
               บทว่า สาธุ จริตกํ ความว่า ความประพฤติมีความมักน้อยเป็นต้นนั้นแหละที่ประพฤติแล้ว เป็นความดี.
               อธิบายว่า ความประพฤติดีนั้นแหละ ท่านเรียกว่าจริตกะ. พระเถระแสดงพาหุสัจจะและความปฏิบัติอันสมควรแก่พาหุสัจจะนั้น ว่าเป็นความดี แม้ด้วยบททั้งสอง.
               บทว่า สทา ความว่า ในกาลทั้งปวง คือในกาลที่เป็นพระนวกะ มัชฌิมะและเถระ หรือในขณะแห่งอิริยาบถทั้งปวง.
               บทว่า อนิเกตวิหาโร ความว่า กามคุณ ๕ หรือธรรมคืออารมณ์ ๖ อันเป็นโลกิยะ ชื่อว่านิเกตะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง โดยเป็นที่อยู่อาศัยของกิเลสทั้งหลาย. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ผู้ที่มีความผูกพันในเบญจกามคุณที่มีรูปเป็นนิมิตอย่างกว้างขวาง เรากล่าวว่า นิเกตสารี ดังนี้เป็นอาทิ ข้อปฏิบัติเพื่อจะละเบญจกามคุณเหล่านั้น ชื่อว่าอนิเกตวิหาโร.
               บทว่า อตฺถปุจฺฉนํ ความว่า การถามของผู้ที่อยากจะรู้ความนั้น เข้าไปหากัลยาณมิตรแล้วถามถึงประโยชน์อันต่างด้วยทิฏฐธัมมิกประโยชน์ สัมปรายิกประโยชน์และปรมัตถประโยชน์ หรือการถามถึงประโยชน์ของสภาวธรรมต่างโดยกุศลเป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ ดังนี้ ชื่อว่าการถามสิ่งที่เป็นประโยชน์.
               บทว่า ปทกฺขิณกมฺมํ ความว่า ก็ครั้นถามสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นแล้ว ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน โดยความเคารพ ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติชอบ.
               บทว่า สาธุ แม้ในคาถานี้พึงนำมาประกอบเข้าด้วย.
               บทว่า เอตํ สามญฺญํ ความว่า การฟังใดที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า สาธุ สุตํ ดังนี้ ก็ดี ความประพฤติมักน้อยใดก็ดี การอยู่โดยไม่มีห่วงใยใดก็ดี นี้เป็นเครื่องหมายของสมณะ คือบ่งถึงความเป็นสมณะ. เพราะความเป็นสมณะ ย่อมมีด้วยปฏิปทานี้เท่านั้น ไม่มีด้วยปฏิปทาอื่น ฉะนั้น
               บทว่า สามญฺญํ จึงเป็นชื่อของมรรคและผลโดยตรง.
               ก็หรือข้อปฏิบัตินี้ ชื่อว่าอปัณณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด) สำหรับภิกษุนั้น.
               ก็คุณคือเครื่องหมายแห่งความเป็นสมณะนี้นั้นย่อมเกิดมีแก่ภิกษุเช่นใด เพื่อจะแสดงภิกษุเช่นนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อกิญฺจนสฺส (ผู้ไม่มีกังวล) ดังนี้ ได้แก่ผู้ไม่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง.
               อธิบายว่า เว้นจากการถือครอบครองสมบัติมี นา สวน เงิน ทอง ทาสีและทาสเป็นต้น.

               จบอรรถกถากุมาปุตตเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค ๖. กุมาปุตตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 172อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 173อ่านอรรถกถา 26 / 174อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5189&Z=5194
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=3475
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=3475
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :