ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 174อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 175อ่านอรรถกถา 26 / 176อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค
๘. ควัมปติเถรคาถา

               อรรถกถาควัมปติเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระควัมปติเถระ เริ่มต้นว่า โย อิทฺธิยา สรภุํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ท่านเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เห็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิขี มีใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชาด้วยดอกไม้. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญไว้มากอย่าง ให้สร้างฉัตรและไพรที ไว้บนเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าโกนาคมนะ.
               ก็ท่านบังเกิดในเรือนมีตระกูลแห่งใดแห่งหนึ่ง ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ. ก็ในตระกูลนั้นได้มีฝูงโคเป็นอันมาก. พวกนายโคบาลก็เฝ้ารักษาฝูงโคนั้น ถึงมาณพผู้นี้ก็เที่ยวตรวจดูกิจกรรมที่พวกนายโคบาลขวนขวายประกอบแล้ว ทุกซอกมุมในฝูงโคนั้น.
               เขาเห็นพระเถระผู้ขีณาสพรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตในบ้าน แล้วทำภิตกิจนอกบ้าน ณ ประเทศแห่งหนึ่งทุกๆ วัน คิดว่า พระคุณเจ้าจักลำบากด้วยความร้อนของแดด ดังนี้ จึงให้ยกท่อนซึก ๔ ท่อนมาวางซ้อนกิ่งซึก ๔ กิ่งบนต้นซึกเหล่านั้น ได้กระทำสาขามณฑปถวายแล้ว.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปลูกต้นซึกไว้ใกล้มณฑป เพื่อจะอนุเคราะห์เขา พระเถระจึงนั่งใต้ต้นซึกนั้นทุกๆ วัน.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาจุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว บังเกิดในวิมานชั้นจาตุมหาราชิกะ. ป่าไม้ซึกใหญ่อันระบุถึงกรรมเก่าของเขาเกิดใกล้ประตูวิมานมีดอกไม้เหล่าอื่นที่สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น เข้าไปช่วยเสริมความงามทุกฤดูกาล ด้วยเหตุนั้น วิมานนั้นจึงปรากฏนามว่า "เสรีสกวิมาน".
               เทวบุตรนั้นท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตลอดพุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ เป็นผู้มีชื่อว่าควัมปติ ในบรรดาสหายผู้เป็นคฤหัสถ์ทั้ง ๔ ของพระยสเถระ สดับว่า ท่านพระยสบวชแล้วจึงได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยสหายของตน.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว ในเวลาจบพระธรรมเทศนา เขาดำรงอยู่ในอรหัตผล พร้อมด้วยสหายทั้งหลาย.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เมื่อก่อนเราเป็นพรานเนื้อเที่ยวอยู่ในป่า ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี ทรงรู้จบธรรมทั้งปวง เรามีจิตเลื่อมใส โสมนัสในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้ประกอบไปด้วยพระมหากรุณา ทรงยินดีในประโยชน์ เกื้อกูลสรรพสัตว์ จึงได้บูชาด้วยดอกอัญชันเขียว.
               ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๑๗

               ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่ในอัญชนวัน เมืองสาเกต.
               ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังเมืองสาเกต แล้วประทับอยู่ในพระวิหารอัญชนวัน เสนาสนะไม่พออาศัย. ภิกษุเป็นอันมากพากันนอนที่เนินทราย ริมน้ำสรภู ใกล้ๆ พระวิหาร.
               ครั้งนั้น เมื่อห้วงน้ำหลากมาในเวลาเที่ยงคืน พวกสามเณรเป็นต้นส่งเสียงร้องดังลั่น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว สั่งท่านพระควัมปติไปว่า ดูก่อนควัมปติ เธอจงไปจงสะกด (ข่ม) ห้วงน้ำไว้ ทำให้ภิกษุทั้งหลายอยู่อย่างสบาย.
               พระเถระรับพระพุทธดำรัสว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า แล้วสะกดกระแสน้ำให้หยุดด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ห้วงน้ำนั้นได้หยุดตั้งอยู่ดุจยอดเขา แต่ไกลทีเดียว.
               จำเดิมแต่นั้นมา อานุภาพของพระเถระได้ปรากฏแล้วในโลก.
               ครั้นวันหนึ่ง พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระเถระ นั่งท่ามกลางเทวบริษัทจำนวนมาก แล้วแสดงธรรมอยู่ เมื่อจะทรงสรรเสริญพระเถระ เพื่อประกาศคุณของท่าน ด้วยความอนุเคราะห์สัตวโลก จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาว่า
                         เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันนอบน้อมพระควัมปติ
                         ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์ ไม่ติดอยู่ใน
                         กิเลสและตัณหาไรๆ ไม่หวั่นไหวต่ออะไรทั้งสิ้น เป็นผู้
                         ผ่านพ้นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นมหามุนี เป็นผู้ถึงฝั่งแห่ง
                         ภพ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธิยา ได้แก่ ฤทธิที่สำเร็จด้วยอธิษฐาน.
               บทว่า สรภุํ ได้แก่ แม่น้ำที่มีนามอย่างนี้ว่า สรภู ตามที่กล่าวขานเรียกกันในโลก.
               บทว่า อฏฺฐเปสิ ความว่า บังคับไม่ให้น้ำไหล คือให้ไหลกลับ ให้ตั้งอยู่เป็นกองน้ำใหญ่ ดุจยอดเขา.
               บทว่า อสิโต ตัดบทเป็น น สิโต แปลว่าไม่ติดอยู่ คือเว้นจากกิเลสเป็นที่อาศัย คือตัณหาและทิฏฐิ หรือไม่ผูกพัน ด้วยกิเลสเครื่องผูกพันแม้ไรๆ เพราะถอนสังโยชน์กล่าวคือกิเลสเป็นเครื่องผูกพันทั้งหมดได้.
               ต่อแต่นั้น เทวดาและมนุษย์แม้ทั้งปวงก็พากันนอบน้อมพระควัมปติผู้ชื่อว่าไม่หวั่นไหว เพราะไม่มีกิเลสเครื่องหวั่นไหวทั้งหลาย ผู้ผ่านพ้นเครื่องข้องทั้งปวงนั้น คือผู้เช่นนั้น ชื่อว่าผู้พ้นเครื่องข้องทั้งปวง เพราะก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องคือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะและทิฏฐิเสียได้แล้วตั้งอยู่ ชื่อว่าเป็นมหามุนี เพราะเป็นมุนีผู้อเสกขะ ต่อแต่นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ เพราะถึงพระนิพพานอันเป็นฝั่งแห่งภพแม้ทั้งสิ้น อันต่างด้วยกามภพและกรรมภพเป็นต้น.
               บทว่า เทวา นมสฺสนฺติ ความว่า แม้เทวดาทั้งหลายยังนอบน้อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงสัตว์นอกนี้.
               ในเวลาจบพระคาถา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่หมู่ชนเป็นอันมาก.
               พระเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล ก็ได้กล่าวคาถานี้แหละด้วยคิดว่า เราจักบูชาพระศาสดา ดังนี้.

               จบอรรถกถาควัมปติเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต จตุตถวรรค ๘. ควัมปติเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 174อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 175อ่านอรรถกถา 26 / 176อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5201&Z=5206
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=3584
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=3584
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :