ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 193อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 194อ่านอรรถกถา 26 / 195อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๖
๗. กุฏิวิหารีเถรคาถา

               อรรถกถาทุติยกุฏิวิหารีเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระกุฏิวิหารีเถระ เริ่มต้นว่า อยมาหุ ปุราณิยา.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ท่านเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายพัดที่สานอย่างวิจิตรด้วยผลิตภัณฑ์ไม้อ้อแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ในฤดูร้อน พระศาสดาทรงยังเขาให้รื่นเริงด้วยพระคาถาอนุโมทนา.
               ในข้อความใดที่ยังมีข้อหลงเหลืออันควรกล่าวถึง ข้อความนั้นก็เหมือนกับที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องของพระอัญชนวนิยเถระ.
               ส่วนข้อที่แปลกกันมีดังนี้
               ได้ยินว่า พระเถระนี้บวชแล้ว โดยนัยดังกล่าวแล้วอยู่ในกุฏเก่าหลังหนึ่ง ไม่คิดจะบำเพ็ญสมณธรรม คิดแต่จะก่อสร้างอย่างเดียวว่า กุฏิของเราเก่าแล้ว เราควรทำกุฏิหลังใหม่.
               เทวดาผู้ใคร่ประโยชน์ต่อท่าน กล่าวคาถานี้ที่มีความชวนให้สลดใจ ภาษาง่ายๆ แต่มีใจความลึกซึ้งว่า
                                   กุฎีนี้เป็นกุฎีเก่า ท่านปรารถนากุฎีใหม่หลังอื่น
                         ก็จงละความหวังในกุฎีใหม่เสีย ดูก่อนภิกษุ กุฎีใหม่
                         นำทุกข์มาให้ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยํ เป็นคำชี้ให้เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้.
               บทว่า อหุ มีความหมายว่า ได้มีแล้ว เพื่อความสะดวกในการประพันธ์คาถา ท่านจึงกล่าวเป็นทีฆะ.
               บทว่า ปุราณิยา ความว่า มีมาในกาลก่อน คือมีมานานแล้ว.
               บทว่า อญฺญํ ปตฺถยเส นวํ กุฏึ ความว่า ท่านปรารถนา คือประสงค์ ได้แก่อยากได้กุฏิชื่อว่าหลังใหม่ เพราะเป็นกุฏิที่จะพึงบังเกิดในบัดนี้ อื่นจากหลังนี้ เพราะความที่กุฏิหลังนี้ทรุดโทรมโดยความเป็นของเก่า ก็ท่านจงละความหวังในกุฏิหลังใหม่เสียทั้งหมด คือจงคลายความหวัง คือความอยาก ได้แก่ความเห่อ แม้ในกุฏิหลังใหม่เหมือนในหลังเก่า ย่อมเป็นผู้มีจิตปราศจากความอยากได้ในกุฏิหลังใหม่นั้น โดยประการทั้งปวง.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะกุฏิหลังใหม่นำทุกข์มาให้ คือ ดูก่อนภิกษุ เพราะกุฏิที่ชื่อว่าใหม่ คือที่จะพึงให้เกิดในบัดนี้ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะนำทุกข์มาให้ ฉะนั้น เธออย่าทำทุกข์ใหม่อย่างอื่นให้เกิด จงอยู่ในกุฏิหลังเก่านั่นแหละ กระทำกิจที่ตนควรกระทำ.
               ก็ในคาถานี้มีอธิบายดังนี้
               ดูก่อนภิกษุ ท่านคิดว่า กุฏิที่มุงด้วยหญ้าหลังนี้ ชำรุดทรุดโทรม จึงหวังจะสร้างกุฏิที่มุงด้วยหญ้าใหม่หลังอื่น ไม่บำเพ็ญสมณธรรม ก็เมื่อปรารถนาอย่างนี้ ชื่อว่ายังปรารถนากุฏิคืออัตภาพต่อไป เพราะไม่พ้นจากการเกิดในภพใหม่ โดยไม่ได้ขวนขวายในภาวนา จึงชื่อว่ายังปรารถนาเพื่อจะสร้างอยู่นั่นเอง.
               ก็กุฏิคืออัตภาพนั้น เปรียบเหมือนกุฏิที่มุงด้วยหญ้าหลังใหม่ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเกี่ยวข้องกับทุกข์ต่างๆ มีชรา มรณะ โศกะและปริเทวะเป็นต้น ยิ่งเสียกว่าทุกข์ในการสร้างกุฏิ เพราะต้องลำบากในการกระทำ เพราะฉะนั้น ท่านจงคลายความหวัง ความเพ่งในกุฏิคืออัตภาพเหมือนคลายความหวังในการสร้างกุฏิหญ้าฉะนั้น คือจงเป็นผู้มีจิตปราศจากความกำหนัดในอัตภาพนั้นโดยประการทั้งปวง วัฏทุกข์จักไม่มีแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้.
               ก็พระเถระฟังคำของเทวดาแล้ว เกิดความสลดใจ เริ่มตั้งวิปัสสนา เพียรพยายามอยู่ ดำรงอยู่แล้วในพระอรหัตผลต่อกาลไม่นานเลย.
               สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่สงบระงับ มั่นคง ประทับนั่งบนอาสนะที่ลาดด้วยหญ้า เราเอาดอกอ้อมาผูกเป็นพัด แล้วน้อมถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมประชา ผู้คงที่ พระสัพพัญญูผู้เป็นนายกของโลก ทรงรับพัดแล้ว ทรงทราบความดำริของเรา ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า กายของเราดับแล้ว ความเร่าร้อนไม่มี ฉันใด จิตของท่านจงหลุดพ้นจากกองไฟ ๓ กอง ฉันนั้น
               เทวดาบางเหล่าที่อาศัยต้นไม้อยู่ มาประชุมกันทั้งหมดด้วยหวังว่า จักได้ฟังพระพุทธพจน์อันยังทายกให้ยินดี
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ที่นั้นแวดล้อมด้วยหมู่เทวดา เมื่อจะทรงยังทายกให้รื่นเริง จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ด้วยการถวายพัดนี้และด้วยการตั้งจิตไว้ ผู้นี้จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสุพพตะ ด้วยกรรมที่เหลือนั้นอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่า "มาลุตะ" ด้วยการถวายพัดนี้และด้วยการนับถืออันไพบูลย์ ผู้นี้จักไม่เข้าถึงทุคติตลอดแสนกัป ในกัปที่สามหมื่น จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๘ พระองค์มีพระนามว่าสุพพตะ ในกัปที่สองหมื่นเก้าพัน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามาลุตะอีก ๘ ครั้ง.
               เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระเถระตั้งอยู่ในพระอรหัตผลแล้ว ได้กล่าวคาถานั้นแหละซ้ำอีกว่า คาถานี้เป็นขอสับในการบรรลุพระอรหัตผลของเรา.
               ก็คาถานั้นแหละได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตผลของพระเถระ.
               ก็พระเถระนั้นได้มีนามว่ากุฏิวิหารีเถระ เพราะท่านได้คุณพิเศษ เพราะโอวาทเรื่องกุฏิฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาทุติยกุฏิวิหารีเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๖ ๗. กุฏิวิหารีเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 193อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 194อ่านอรรถกถา 26 / 195อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5308&Z=5310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=4530
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=4530
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :