ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 19อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 26 / 21อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ จิตตลดาวรรคที่ ๒
๓. อาจามทายิกาวิมาน

               อาจามทายิกาวิมาน               
               อาจามทายิกาวิมาน มีคาถาว่า ปิณฑาย เต จรนตสส ดังนี้เป็นต้น.
               อาจามทายิกาวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์.
               สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีครอบครัวหนึ่งเป็นอหิวาตกโรค คนในครอบครัวนั้นตายกันหมด เหลือหญิงคนหนึ่ง. หญิงนั้นทิ้งเรือนและทรัพย์และข้าวเปลือกที่อยู่ในเรือนทั้งหมด กลัวมรณภัย หนีไปทางช่องฝาเรือน หมดที่พึ่ง ไปเรือนของคนอื่น อยู่ข้างหลังเรือนของเขา.
               พวกผู้คนในเรือนนั้นคิดสงสาร ให้ข้าวต้มข้าวสวยและข้าวตังเป็นต้นที่เหลือในหม้อข้าวเป็นต้นแก่นาง.
               นางเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยข้าวตังของผู้คนเหล่านั้น.
               สมัยนั้น ท่านมหากัสสปะเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน ออกจากนิโรธนั้นแล้วคิดว่า วันนี้เราจักอนุเคราะห์ใครด้วยการรับอาหารหนอ จักเปลื้องใครจากทุคติและจากทุกข์ เห็นหญิงนั้นใกล้ตาย และกรรมของนางที่จะนำไปนรก และโอกาสแห่งบุญที่นางได้ทำแล้ว คิดว่า เมื่อเราไป หญิงคนนี้จักถวายข้าวตังที่ตนได้แล้ว เพราะบุญนั้นนั่นแหละ นางจักเกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี เมื่อเป็นดังนั้น เอาเถิดจำเราจักช่วยนางจากการตกนรก ให้นางสำเร็จสวรรค์สมบัติ ดังนี้
               ในเวลาเช้า นุ่งแล้ว ถือเอาบาตรและจีวรไป เดินมุ่งหน้าไปยังที่อยู่ของนาง.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพจำแลงเพศ [ปลอมตัว] น้อมอาหารทิพย์หลายรสมีแกงและกับหลายอย่างเข้าไปถวาย. พระเถระรู้ข้อนั้น ได้ห้ามว่า ท่านท้าวโกสิยะ พระองค์ได้ทรงทำกุศลไว้แล้ว เหตุอะไรจึงทรงทำอย่างนี้ ขอพระองค์โปรดอย่าได้แย่งสมบัติของคนเข็ญใจยากไร้เลย จึงยืนอยู่ข้างหน้าของหญิงนั้น.
               นางเห็นพระเถระแล้วคิดว่า พระเถระนี้เป็นผู้มีอานุภาพใหญ่ ในที่นี้ก็ไม่มีของกินหรือของเคี้ยวซึ่งควรถวายแก่พระเถระนี้ เพียงน้ำข้าวข้าวตังอันจืดเย็นไม่มีรสเกลื่อนไปด้วยหญ้าและผงธุลี ซึ่งอยู่ในภาชนะสกปรกนี้ เราไม่อาจจะถวายแก่พระเถระเช่นนี้ได้ จึงกล่าวว่าขอท่านจงโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด.
               พระเถระยืนนิ่งไม่ขยับเท้าแม้แต่ข้างเดียว ผู้คนอยู่ในเรือนนำภิกขาเข้าไปถวาย พระเถระก็ไม่รับ. หญิงเข็ญใจนั้นรู้ว่าพระเถระประสงค์จะรับเฉพาะของเรา จึงมาในที่นี้ก็เพื่ออนุเคราะห์เราเท่านั้น มีใจเลื่อมใส เกิดความเอื้อเฟื้อ ก็เกลี่ยข้าวตังนั้นลงในบาตรของพระเถระ.
               พระเถระแสดงอาการว่าจะฉันเพื่อให้ความเลื่อมใสของนางเจริญเพิ่มขึ้น. ผู้คนปูอาสนะแล้ว พระเถระก็นั่งบนอาสนะนั้นฉันข้าวตังนั้น ดื่มน้ำแล้วชักมือออกจากบาตร ทำอนุโมทนากล่าวกะหญิงเข็ญใจนั้นว่า ท่านได้เป็นมารดาของอาตมาในอัตภาพที่สามจากนี้ดังนี้แล้วก็ไป.
               นางยังความเลื่อมใสให้เกิดในพระเถระยิ่งนัก ทำกาละตายไปในยามต้นแห่งราตรีนั้นแล้ว ก็เข้าไปอยู่ร่วมกับเหล่าเทพนิมมานรดี.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่านางทำกาละแล้ว ทรงรำพึงอยู่ว่า นางเกิดยามกลาง [เที่ยงคืน] แห่งราตรี
               เมื่อถามถึงสถานที่เกิดของหญิงนั้น ได้ตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
               เมื่อพระคุณเจ้าเที่ยวไปบิณฑบาตยืนนิ่งอยู่ หญิงผู้ใดเข็ญใจยากไร้ อาศัยชายคาเรือนคนอื่น เลื่อมใสแล้วถวายข้าวตังด้วยมือตนเองแก่พระคุณเจ้า หญิงผู้นั้นละกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นไรหนอ เจ้าข้า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิณฺฑาย คือ เพื่อบิณฑบาต.
               คำว่า ตุณฺหีภูตสฺส ติฏฺฐโต นี้แสดงอาการเที่ยวบิณฑบาต. อธิบายว่า เจาะจงยืน.
               บทว่า ทลิทฺทา แปลว่า เข็ญใจ. บทว่า กปณา แปลว่า ยากไร้.
               ด้วยบทว่า ทลิทฺทา นี้ ท่านแสดงความเสื่อมโภคทรัพย์ของหญิงนั้น.
               ด้วยบทว่า กปณา นี้ แสดงความเสื่อมญาติ.
               บทว่า ปราคารํ อวสฺสิตา ความว่า อาศัยเรือนคนอื่น คืออาศัยชายคาเรือนของคนเหล่าอื่น.
               บทคาถาว่า กํ นุ สาทิสตํ คตา ความว่า ได้ไปทิศอะไร โดยเกิดในเทวโลกกามาวจร ๖ ชั้น ดังนั้น ท้าวสักกะทรงดำริว่าหญิงที่พระเถระทำอนุเคราะห์อยู่อย่างนั้น มีส่วนแห่งทิพยสมบัติอันโอฬาร แต่ก็มิได้เห็นเลย เมื่อไม่ทรงเห็นในเทวโลกชั้นต่ำสองชั้น ทรงนึกสงสัยจึงตรัสถาม.
               ลำดับนั้น พระเถระเมื่อทูลคำตอบโดยทำนองที่ท้าวเธอทูลถามแล้วนั่นแล ได้ทูลบอกสถานที่บังเกิดของหญิงนั้นแก่ท้าวสักกะนั้นว่า
                         เมื่ออาตมาเที่ยวไปบิณฑบาตยืนนิ่งอยู่ หญิงผู้ใด
               เข็ญใจยากไร้ อาศัยชายคาเรือนคนอื่น เลื่อมใสแล้วถวาย
               ข้าวตังด้วยมือตนเองแก่อาตมา หญิงผู้นั้นละกายมนุษย์
               แล้ว เคลื่อนพ้นจากความลำเค็ญนี้แล้ว ทวยเทพมีฤทธิ์
               มาก ชื่อชั้นนิมมานรดีมีอยู่ หญิงผู้ถวายเพียงข้าวตังนั้น
               ก็บันเทิงสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปฺปมุตฺตา ได้แก่ หลุดพ้นไปจากความมีโชคร้ายของมนุษย์ จากความเป็นอยู่ที่น่ากรุณาเป็นอย่างยิ่งนั้น.
               บทว่า โมทิตา จามทายิกา ความว่า ก็หญิงชื่อนั้นถวายทานเพียงข้าวตัง ยังบันเทิงอยู่ด้วยทิพยสมบัติในกามาวจรสวรรค์ชั้นที่ ๕ ท่านแสดงว่า ขอท่านจงดูผลของทานซึ่งพรั่งพร้อมด้วยเขตสัมปทา [คือพระทักษิไณยบุคคลผู้เป็นปฏิคาหก]
               ท้าวสักกะสดับว่าทานของหญิงนั้นมีผลใหญ่และมีอานิสงส์ผลใหญ่แล้ว เมื่อทรงสรรเสริญทานนั้นอีก จึงตรัสว่า
                         น่าอัศจรรย์จริงหนอ ทานที่หญิงผู้ยากไร้ตั้งไว้
               ดีแล้วในพระคุณเจ้ากัสสปะ ด้วยไทยทานที่นางนำมา
               แต่ผู้อื่น ทักษิณายังสำเร็จผลได้จริงหนอ
                         ข้อที่นารีผู้งามทั่วสรรพางค์ สามีมองไม่จืด ได้
               รับอภิเษกเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ก็
               ยังไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของอาจามทานนี้ [ถวายข้าวตัง]
                         ทองคำร้อยนิกขะ ม้าร้อยตัว รถเทียมม้าอัสดร
               ร้อยคัน หญิงสาวผู้สวมกุณฑลมณีจำนวนแสนนางก็ยัง
               ไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของอาจามทานนี้
                         พระยาช้างตระกูลเหมวตะ มีงางอน มีกำลังและ
               ว่องไว มีสายรัดทองคำ มีตัวใหญ่ มีเครื่องประดับเป็น
               ทอง ร้อยเชือก ก็ยังไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของอาจามทานนี้
                         ถึงแม้พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงครองความเป็นเจ้า
               ทวีปใหญ่ทั้งสี่ ก็ยังไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของอาจามทานนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโห เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่าอัศจรรย์.
               บทว่า วรากิยา แปลว่า หญิงยากไร้.
               บทว่า ปราภเตน ได้แก่ ไทยทานที่เขานำมาแต่คนอื่น. อธิบายว่า ที่ได้มาด้วยการเที่ยวขอจากเรือนของคนอื่น.
               บทว่า ทาเนน ได้แก่ ด้วยไทยธรรมเพียงข้าวตังที่พึงถวาย.
               บทว่า อิชฺฌิตฺถ วต ทกฺขิณา ความว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ทักษิณาทานสำเร็จผลแล้ว คือได้มีผลมาก รุ่งเรืองมาก กว้างใหญ่มากจริงหนอ.
               บัดนี้ ท้าวสักกะตรัสคำเป็นต้นว่า ยา มเหสิตฺตํ กาเรยฺย ดังนี้ ก็เพื่อแสดงว่า ถึงนางแก้วเป็นต้นก็ไม่ถึงทั้งส่วนร้อย ทั้งส่วนพันของทานนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพงฺคกลฺยาณี ความว่า สวยงามดีด้วยส่วนคือเหตุทั้งหมด หรืออวัยวะทุกส่วนที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำไม่ขาวนัก เกินวรรณมนุษย์ แต่ไม่ถึงวรรณทิพย์.
               บาทคาถาว่า ภตฺตุ จาโนมทสฺสิกา ได้แก่ สามีดูไม่จืดจาง คือน่าดู น่าเลื่อมใสอย่างดียิ่ง.
               บทว่า เอตสฺสา จามทานสฺส กลํ นาคฺฆติ โสฬสึ ความว่า แม้ความเป็นนางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ก็มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ กล่าวคือส่วนที่เขาแบ่งผลของอาจามทาน ที่นางถวายแล้วนั้นให้เป็น ๑๖ ส่วนจาก ๑๖ ส่วนนั้น แบ่งส่วนหนึ่งให้เป็นอีก ๑๖ ส่วน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทองคำ ๑๕ ธรณะเป็นนิกขะ อีกพวกกล่าวว่าร้อยธรณะ [เป็นนิกขะ].
               บทว่า เหมวตา ได้แก่ พระยาช้างเกิดในป่าหิมพานต์ หรือมีกำเนิดในตระกูลช้างเหมวตะ. ก็พระยาช้างเหล่านั้นตัวใหญ่ถึงพร้อมด้วยกำลังและความเร็ว.
               บทว่า อีสา ทนฺตา ได้แก่ มีงาดุจงอนรถ. อธิบายว่า มีงาคดแต่น้อยหนึ่ง [งอน] เพราะงางอนนั้น จึงกันงาขยายกว้างออกไปได้.
               บทว่า อุรูฬฺหวา ได้แก่ เพิ่มพูนด้วยกำลังความเร็ว และความบากบั่น. อธิบายว่า สามารถนำรบใหญ่ได้.
               บทว่า สุวณฺณกจฺฉา ได้แก่ สวมเครื่องประดับคอทองคำ. ก็ท่านกล่าวส่วนประกอบช้างทั้งหมดด้วยสายรัดกลางตัวช้างเป็นสำคัญ.
               บทว่า เหมกปฺปนิวาสสนา ได้แก่ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประดับช้างมีเครื่องลาดและปลอกช้างขลิบทองเป็นต้น.
               หลายบทว่า จตุนฺนํ มหาทีปานํ อิสฺสริยํ ความว่า เป็นเจ้ามหาทวีปทั้งสี่มีชมพูทวีปเป็นต้น ซึ่งมีทวีปน้อยเป็นบริวารทวีปละสองพัน. ด้วยบทนั้น ท่านกล่าวเอาสิริของพระเจ้าจักรพรรดิทั้งสิ้นนี้รุ่งเรืองด้วยรัตนะ ๗ ประการ.
               ก็คำซึ่งข้าพเจ้าไม่กล่าวไว้ในที่นี้ ก็มีนัยอย่างที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง.
               ท่านมหากัสสปเถระกราบทูลคำทั้งหมดที่ท้าวสักกเทวราชกับตนกล่าวแล้วในที่นี้ ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำคำนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่องแล้ว จึงทรงแสดงธรรมโดยพิสดารโปรดบริษัทที่ประชุมกัน. พระธรรมเทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนแล.

               จบอรรถกถาลขุมาวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ จิตตลดาวรรคที่ ๒ ๓. อาจามทายิกาวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 19อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 26 / 21อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=588&Z=617
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=2337
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=2337
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :