ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 204อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 26 / 206อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗
๘. เอกุทนิยเถรคาถา

               อรรถกถาเอกุทานิยเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระเอกุทานิยเถระ เริ่มต้นว่า อธิเจตโส อปฺปมชฺชโต.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดเป็นยักษ์ผู้เสนาบดี ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าอัตถทัสสี เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้ถึงความเศร้าโศกปริเทวนาการว่า เราไม่มีลาภหนอ เราหาโอกาสได้ยากหนอ เพราะในเวลาที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ เราไม่ได้กระทำบุญมีทานเป็นต้นไว้.
               ครั้งนั้น สาวกของพระศาสดานามว่าสาคระ บรรเทาความโศกนั้น แนะนำให้บูชาพระสถูปของพระศาสดา.
               เขาบูชาพระสถูปอยู่ตลอด ๕ ปี จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั่นแหละ ด้วยบุญนั้นเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เข้าไปสู่สำนักของพระศาสดา ตามกาลเวลา.
               ก็ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงโอวาทพระสาวกทั้งหลายเนืองๆ ด้วยคาถาว่า อธิเจตโส. เขาได้ฟังโอวาทนั้นเกิดศรัทธาบวชแล้ว ก็แหละครั้นบวชแล้ว ร่ายพระคาถานั้นนั่นแหละบ่อยๆ. ท่านบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระโอวาทนั้นตลอดสองหมื่นปี ไม่อาจจะยังคุณพิเศษให้เกิดขึ้นได้ เพราะญาณยังไม่แก่กล้า.
               ก็ท่านจุติจากภพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภพนั่นแหละ แล้วเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ ด้วยสมบัติ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เห็นพุทธานุภาพในคราวที่พระองค์ทรงรับพระวิหารชื่อว่าเชตวัน ได้มีศรัทธา บรรพชาแล้ว กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว อยู่ในป่าได้ไปยังสำนักของพระศาสดา.
               ก็แลในสมัยนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรขวนขวายอธิจิตอยู่ในที่ไม่ไกลพระองค์ ทรงเปล่งอุทานนี้ว่า อธิเจตโส. พระเถระนี้ฟังพุทธอุทานนั้นแล้ว แม้จะอยู่ในป่า เพื่อเจริญภาวนาตลอดกาลนานก็เปล่งอุทานคาถานั้นแหละตามกาลเวลา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้เกิดสมัญญานามว่า เอกุทานิยเถระ
               ครั้นในวันหนึ่ง ท่านได้จิตเตกัคคตารมณ์ เจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัต
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ในลำดับกาล เมื่อพระสุคตเจ้าทรงพระนามว่าอัตถทัสสี เสด็จนิพพาน ในกาลนั้น ข้าพระองค์เข้าถึงกำเนิดยักษ์และบรรลุถึงยศ ข้าพระองค์คิดว่า การที่เมื่อเรามีโภคสมบัติ พระสุคตเจ้าผู้มีพระจักษุปรินิพพานเสียแล้วนั้น เป็นการเสื่อมลาภ อันได้แสนยากของเราหนอ ดังนี้
               พระสาวกนามว่าสาคระ รู้ความดำริของข้าพระองค์ ท่านต้องการจะถอนข้าพระองค์ขึ้น จึงมาในสำนักของข้าพระองค์กล่าวว่า จะโศกเศร้าทำไมหนอ อย่ากลัวเลย จงประพฤติธรรมเถิด ท่านผู้มีเมธาดี พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมวิทยาสมบัติของชนทั้งปวงว่า ผู้ใดพึงบูชาพระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ยังดำรงพระชนม์อยู่ก็ดี พึงบูชาพระธาตุ แม้ประมาณเท่าเมล็ดผักกาดของพระพุทธเจ้า แม้นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตอันเลื่อมใสของผู้นั้นเสมอกัน บุญก็มีผลมากเสมอกัน เพราะฉะนั้น ท่านจงทำสถูปบูชาพระธาตุของพระชินเจ้าเถิด.
               ข้าพระองค์ได้ฟังวาจาของท่านพระสาคระแล้วได้ทำพุทธสถูป ข้าพระองค์บำรุงพระสถูปอันอุดมของพระมุนีอยู่ ๕ ปี ข้าแต่พระองค์ผู้จอมประชา เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ ด้วยกรรมนั้น ข้าพระองค์เสวยสมบัติแล้ว ได้บรรลุพระอรหัต.
               ในกัปที่ ๗๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ พระองค์มีพระนามว่าภูริปัญญา สมบูรณ์แล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์กระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว ยับยั้งอยู่ด้วยวิมุตติสุข.
               วันหนึ่งถูกท่านพระธรรมภัณฑาคาริกเชื้อเชิญว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านจงแสดงธรรมแก่เรา ดังนี้ เพื่อจะทดสอบปฏิภาณ (ของท่าน) เพราะเหตุที่ท่านได้อบรมมาเป็นเวลานาน จึงได้กล่าวคาถานี้แหละความว่า
                         ความโศกทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้มีจิตมั่น ไม่ประมาท
                         เป็นมุนีศึกษาอยู่ในคลองแห่งโมไนย ผู้คงที่ ผู้สงบระงับ
                         มีสติทุกเมื่อ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อธิเจตโส แปลว่า มีจิตตั้งมั่น. อธิบายว่า ประกอบด้วยอรหัตผลจิตอันยิ่งกว่าจิตทั้งปวง.
               บทว่า อปฺปมชฺชโต แปลว่า ผู้ไม่ประมาทอยู่. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ประกอบไปด้วยการกระทำเป็นไปติดต่อในธรรมที่หาโทษมิได้ทั้งหลายด้วยความไม่ประมาท.
               บทว่า มุนิโน ความว่า พระขีณาสพ ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะรู้ซึ่งโลกทั้งสองอย่างนี้ คือผู้ใดรู้โลกทั้งสอง ด้วยเหตุนั้น ผู้นั้นท่านจึงเรียกว่ามุนี.
               อีกอย่างหนึ่ง ญาณ ท่านเรียกว่าโมนะ พระขีณาสพชื่อว่าเป็นมุนี เพราะประกอบด้วยโมนะกล่าวคือปัญญาในพระอรหัตผลนั้น. แก่ภิกษุผู้เป็นมุนีนั้น.
               บทว่า โมนปเถสุ สิกฺขโต ความว่า ผู้ศึกษาอยู่ในคลองแห่งโมนะ กล่าวคือญาณในพระอรหัตผล ได้แก่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันเป็นมรรคาแห่งอุบาย หรือศึกษาอยู่ในสิกขา ๓.
               ก็คำนี้ท่านกล่าวไว้โดยถือเอาปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               อธิบายว่า ได้แก่พระอรหันต์ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นในบทว่า โมนปเถสุ สิกฺโต นี้พึงเห็นความอย่างนี้ว่า แก่ภิกษุผู้ศึกษาอยู่อย่างนี้ คือแก่มุนีผู้ถึงความเป็นมุนีด้วยสิกขานี้.
               เพราะเหตุที่คำนี้ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ฉะนั้น บททั้งสองเหล่านี้ควรประกอบความอย่างนี้ว่า แก่ภิกษุผู้มีใจสูงด้วยสามารถแห่งมรรคจิตและผลจิตเบื้องต่ำ ผู้ไม่ประมาทด้วยสามารถแห่งความไม่ประมาทในข้อปฏิบัติธรรมเครื่องตรัสรู้ คืออริยสัจ ๔ ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะประกอบด้วยมรรคญาณอันเลิศ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านกล่าวเหตุแห่งความเพียรไว้ด้วยบทว่า อปฺปมชฺชโต สิกฺขโต ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้ความว่า แก่ภิกษุผู้มีใจสูง เพราะเหตุแห่งความไม่ประมาทและเพราะเหตุแห่งการศึกษา.
               บทว่า โสกา น ภวนฺติ ตาทิโน ความว่า ความเศร้าโศกทั้งหลายอันมีความพลัดพรากจากสิ่งที่ปรารถนาแล้วเป็นต้นเป็นวัตถุ ได้แก่ความเร่าร้อนแห่งจิตย่อมไม่มีในภายในของภิกษุผู้เช่นนั้น คือของมุนีผู้พระขีณาสพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความโศกทั้งหลายย่อมไม่มีแก่พระมุนี ผู้อเสกขะ ผู้ถึงแล้วซึ่งลักษณะแห่งตาทีบุคคล.
               บทว่า อุปสนฺตสฺส ความว่า ผู้เข้าไปสงบระงับแล้ว ด้วยการเข้าไปสงบกิเลสมีราคะเป็นต้นได้ตลอดไป.
               บทว่า สทา สตีมโต ความว่า ผู้ไม่เว้นจากสติตลอดกาลเป็นนิจ เพราะถึงแล้วซึ่งความไพบูลย์แห่งสติ.
               ก็ในคาถานี้ ด้วยบทว่า อธิเจตโส พึงทราบว่า ได้แก่อธิจิตตสิกขา. ด้วยบทว่า อปฺปมชฺชโต พึงทราบว่า ได้แก่อธิสีลสิกขา. ด้วยบทว่า มุนิโน โมนปเถสุ สิกฺขโต พึงทราบว่า ได้แก่อธิปัญญาสิกขา.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านประกาศอธิปัญญาสิกขา ด้วยบทว่า มุนิโน. ประกาศปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น แห่งโลกุตรสิกขาทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยบทว่า โมนปเถสุ สิกฺขโต. ประกาศอานิสงส์แห่งการทำสิกขาให้บริบูรณ์ ด้วยบทมีอาทิว่า โสกา น ภวนฺติ.
               ก็พระคาถานี้แหละได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตผลของพระเถระ.

               จบอรรถกถาเอกุทานิยเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๗ ๘. เอกุทนิยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 204อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 26 / 206อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5367&Z=5370
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=5297
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=5297
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :