บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร? แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าอัตถทัสสี ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว กระทำฉัตรเป็นชั้นๆ ด้วยดอกไม้ทั้งหลายไว้ที่สถูปของพระองค์ ได้ทำการบูชาแล้ว. ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าสามิทัตตะ. เขาถึงความเป็นผู้รู้โดยลำดับ ฟัง (ข่าวเรื่อง) อานุภาพของพระพุทธเจ้าแล้ว ไปสู่วิหารพร้อมด้วยอุบาสกทั้งหลาย เห็นพระศาสดากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของเขาแล้ว ทรงแสดงธรรมอนุโลมตามอัธยาศัยอันเป็นเหตุให้เขาได้ศรัทธาและความสลดใจในสงสาร. เขาได้มีศรัทธาจิต เกิดความสังเวชแล้วบวช อยู่อย่างคนเกียจคร้านตลอดเวลาเล็กน้อย เพราะญาณยังไม่แก่กล้า เป็นผู้อันพระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเร่งเร้าให้อาจหาญอีก จึงเรียนกรรมฐาน หมั่นขวนขวายในกรรมฐาน บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑- เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้สูงสุดกว่านระ ปรินิพพานแล้ว เราให้ช่างทำฉัตรเป็นชั้นๆ บูชาไว้ที่พระสถูป ได้มานมัสการพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ตามกาลอันสมควร ให้ทำหลังคาดอกไม้บูชาไว้ที่ฉัตร ตลอดเวลา ๑,๗๐๐ กัป เราได้เสวยเทวราชสมบัติ ไม่ต้องไปสู่ความเป็นมนุษย์เลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ภพทั้งปวงเราถอนขึ้นแล้ว ตัดบ่วงได้แล้ว จึงอยู่อย่างผู้หาอาสวะมิได้ ดุจนาคผู้พ้นจากบ่วงฉะนั้น การที่เราได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ นับว่าเป็นการมาที่ดีหนอ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้. ____________________________ ๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๔๓ ครั้นในเวลาต่อมา ท่านถูกภิกษุทั้งหลายถามว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านได้ เมื่อจะประกาศความที่พระศาสนาเป็นนิยยานิกธรรม และการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมของตนแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงได้กล่าวโดยเป็นการพยากรณ์พระอรหัตผลว่า เบญจขันธ์เรากำหนดรู้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ตั้งอยู่ ชาติสงสารสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจกฺขนฺธา ปริญฺญาตา ความว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อันเรากำหนดแล้ว คือรู้แล้ว แจ้งแล้ว ได้แก่แทงตลอดแล้วด้วยปริญญา ๓ คือรู้ว่านี้ทุกข์ ทุกข์มีเท่านี้ ไม่มีทุกข์ยิ่งไปกว่านี้ ดังนี้. บทว่า ติฏฺฐนฺติ ฉินฺนมูลา ความว่า บัดนี้ เบญจขันธ์เหล่านั้น ชื่อว่ามีรากอันเราตัดขาดแล้ว ตั้งอยู่จนถึงความดับแห่งจิตดวงสุดท้าย เพราะเบญจขันธ์เหล่านั้น เรากำหนดรู้แล้วด้วยอาการอย่างนั้นนั่นแหละ (และ) เพราะสมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราละได้แล้วโดยประการทั้งปวง. ส่วนเบญจขันธ์ที่หาปฏิสนธิมิได้ ย่อมดับไปด้วยการดับสนิทแห่งจิตดวงหลัง ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ชาติสงสารสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ดังนี้. ความของคาถานั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังทั้งหมดแล้วทีเดียว. จบอรรถกถาสามิทัตตเถรคาถา จบวรรควรรณนาที่ ๙ ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่าปรมัตถทีปนี ----------------------------------------------------- ในวรรคนี้ รวมพระเถระได้ ๑๐ รูป คือ ๑. พระสมิติคุตตเถระ ๒. พระกัสสปเถระ ๓. พระสีหเถระ ๔. พระนีตเถระ ๕. พระสุนาคเถระ ๖. พระนาคิตเถระ ๗. พระปวิฏฐเถระ ๘. พระอัชชุนเถระ ๙. พระเทวสภเถระ ๑๐. พระสามิทัตตเถระ .. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๙ ๑๐. สามิทัตตเถรคาถา จบ. |