บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร? แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ปลูกพืชคือกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในพระนครพันธุมดี ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา. ในวันหนึ่งกระทำพุทธบูชาร่วมกับพระราชาและชาวเมืองทั้งหลาย ต่อแต่นั้น ก็ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติในพระนครราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าวัจฉโคตตะ เพราะความที่เขาเป็นเหล่าวัจฉโคตร. เขาบรรลุนิติภาวะแล้ว ประสบความสำเร็จในวิชชาของพวกพราหมณ์ ไม่เห็นสาระในวิชชาเหล่านั้น จึงบวชเป็นปริพาชกเที่ยวไป เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว ทูลถามปัญหา เมื่อพระศาสดาทรงวิสัชนาปัญหานั้นแล้ว เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส บวชในสำนักของพระศาสดา เจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑- ภิกษุสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ ล้วนเป็นพระขีณาสพแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นผู้นำของโลก เป็นจอมประชา ประเสริฐกว่านระ มีพระรัศมีตั้งร้อย ดังอาทิตย์อุทัยเหลืองอร่าม เสด็จดำเนินไปเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ. เมื่อพระองค์ผู้เป็นผู้นำของโลก เสด็จดำเนินไป เราปัดกวาดถนนนั้น ได้ยกธงขึ้นที่ถนนนั้น ด้วยใจอันเลื่อมใส ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ยกธงใด ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายธง ในกัปที่ ๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระราชา มีพลมาก สมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงปรากฏนามว่าสุธชะ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้. ____________________________ ๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๑๕๕ ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ พิจารณาข้อปฏิบัติของตนแล้วเกิดความโสมนัส ได้กล่าวคาถาด้วยสามารถแห่งอุทานว่า เราเป็นผู้ได้ไตรวิชชา มักเพ่งธรรมอันประณีต ฉลาดในอุบายสงบใจ ได้บรรลุประโยชน์ของตน เสร็จกิจพระพุทธศาสนาแล้ว ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตวิชฺโชหํ ความว่า แม้ถ้าคนทั้งหลายจะรู้จักเราว่า เป็นพราหมณ์ผู้มีวิชชา ๓ เพราะถึงฝั่งแห่งไตรเพทในครั้งก่อน แต่วิชชาทั้ง ๓ นั้นเป็นเพียงชื่อ เพราะเป็นสภาพแห่งกิจของวิชชาในพระเวททั้งหลาย. แต่บัดนี้ เราชื่อว่าเป็นผู้มีวิชชา ๓ โดยปรมัตถ์ เพราะได้บรรลุวิชชา ๓ มีบุพเพ บทว่า เจโตสมถโกวิโท ความว่า เป็นผู้ฉลาดในอุบายเครื่องทำใจให้สงบ ด้วยการเข้าไปสงบระงับสังกิเลสธรรมอันกระทำความกำเริบแห่งจิต. พระเถระกล่าวถึงเหตุแห่งความเป็นผู้มีวิชชา ๓ ด้วยบทว่า เจโตสมถโกวิโท นี้. อธิบายว่า ความเป็นผู้มีวิชชา ๓ จะมีได้ก็ด้วยความสิ้นไปแห่งอาสวะ อันประกอบไปด้วยความเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ มิใช่ด้วย (อย่างอื่น) โดยสิ้นเชิง. บทว่า สทตฺโถ แปลว่า ประโยชน์ของตน. บทนี้ท่านทำ ก อักษรให้เป็น ท อักษร ดังในประโยคมีอาทิว่า อนุปฺปตฺตสทตฺโถ (มีประโยชน์ตนอันบรรลุแล้วโดยลำดับ). ก็พระอรหัต พึงทราบว่าเป็นประโยชน์ของตน. อธิบายว่า พระอรหัตนั้น ท่านเรียกว่า เป็นประโยชน์ของตน เพราะความที่พระอรหัตนั้นเป็นประโยชน์ของตน ด้วยอรรถว่าเนื่องกับตน ด้วยอรรถว่าไม่ละซึ่งตน ด้วยอรรถว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของตน. ประโยชน์ของตนนี้นั้นอันเราคือตัวเรา บรรลุแล้วโดยลำดับ คือถึงทับแล้ว. พระเถระแสดงถึงความเป็นผู้เพ่งธรรมอันประณีต ตามที่กล่าวแล้ว กระทำให้ถึงซึ่งยอด (คือพระอรหัต) ด้วยบทว่า สทตฺโถ นี้. จบอรรถกถาวัจฉโคตตเถรคาถา ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑๒ ๒. วัจฉโคตตเถรคาถา จบ. |