ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 260อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 261อ่านอรรถกถา 26 / 262อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑
๔. คังคาตีริยเถรคาถา

               อรรถกถาคังคาตีริยเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระคังคาตีริยเถระ เริ่มต้นว่า ติณฺณํ เม ตาลปตฺตานํ.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ได้ยินมาว่า พระเถระนี้เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บรรลุความเป็นผู้รู้แล้วเป็นผู้มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสนา ได้ถวายน้ำดื่มแด่ภิกษุสงฆ์.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของคฤหบดีคนหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าทัตตะ.
               เขาเจริญวัยแล้วอยู่ครอบครองเรือน ไม่รู้จักความเป็นอคมนียัฏฐาน จึงทำการล่วงละเมิด. ต่อมารู้จักความเป็นอคมนียัฏฐานแล้ว จึงเกิดความสลดใจ บวชแล้ว รังเกียจกรรมนั้น ดำรงตนตามลูขปฏิปทา (ปฏิบัติอย่างเศร้าหมอง) ถือบังสุกุลจีวรและบาตรดินมีลักษณะคล้ายหม้อรดน้ำศพ กระทำกุฎีด้วยใบตาล ๓ ใบอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้สมญานามว่า คังคาตีริยะ.
               ท่านอธิษฐานจิตว่า เรายังไม่ได้บรรลุพระอรหัต จะไม่สนทนากับใครๆ แล้วเป็นผู้นิ่งอยู่ตลอดปีแรก ไม่ยอมทำวจีเภท (ไม่ยอมพูดจา) เลย อยู่แล้ว.
               ในปีที่สอง ถูกหญิงคนหนึ่งในโคจรคาม ประสงค์จะทดลองว่า เป็นใบ้หรือเปล่า จึงเมื่อจะเทน้ำนมลงในบาตร แกล้งทำเป็นมือพิการเทราดลงไป เผลอเปล่งวาจาออกไปว่า พอละน้องหญิง. แต่ในปีที่ ๓ เพียรพยายามอยู่บรรลุพระอรหัตแล้วในระหว่างพรรษาทีเดียว.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ในภิกษุสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยมของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ จึงได้ตักน้ำใส่หม้อน้ำฉันจนเต็ม ในเวลาที่เราจะต้องการน้ำ จะเป็นยอดภูเขา ยอดไม้ ในอากาศ หรือพื้นดิน น้ำย่อมเกิดแก่เราทันที.
               ในกัปที่แสน แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการให้น้ำเป็นทาน. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๘๗

               ก็พระเถระครั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลด้วยมุขคือการชี้แจงข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นของตน ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า
                         เราทำกระท่อมด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
                         บาตรของเราเหมือนดังหม้อสำหรับรดน้ำศพและจีวร
                         ของเราเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง ๒ พรรษา เรา
                         พูดเพียงคำเดียว ในภายในพรรษาที่ ๓ เราทำลาย
                         กองความมืด คืออวิชชาได้แล้ว ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติณฺณํ เม ตาลปตฺตานํ คงฺคาตีเร กุฏี กตา ความว่า เราสร้างกุฏีไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อป้องกันฝนด้วยใบตาล ๓ ใบ ซึ่งหล่นลงมาจากต้นตาล.
               พระเถระแสดงความสันโดษด้วยเสนาสนะของตน ด้วยบทนั้น.
               สมจริงดังคำเป็นคาถาที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า
                         สำหรับภิกษุผู้มีความเพียร นั่งขัดสมาธิ ไม่
                         คุกเข่า เป็นการเพียงพอที่จะอยู่ได้สบาย.

               ปาฐะว่า ตาลปตฺตีนํปิ ดังนี้ก็มี ความก็อย่างนั้น.
               บทว่า ฉวสิตฺโตว เม ปตฺโต ความว่า บาตรของเราเหมือนดังหม้อสำหรับตักน้ำรดศพ. อธิบายว่า คล้ายหม้อนํ้าสำหรับรดนํ้านมให้คนตาย.
               บทว่า ปํสุกูลญฺจ จีวรํ ความว่า และจีวรของเราก็เป็นดังผ้าคลุกฝุ่นที่ทำด้วยเศษผ้า (ผ้าขี้ริ้ว) ที่เขาทิ้งแล้วในที่ทั้งหลายมีระหว่างทางและป่าช้าเป็นต้น
               พระเถระแสดงความสันโดษด้วยบริขาร ด้วยบททั้งสอง.
               บทว่า ทวินฺนํ อนฺตรวสฺสานํ ความว่า ในระหว่างพรรษาทั้งสอง คือในปีที่บรรลุพระอรหัต นับแต่บวชแล้ว.
               บทว่า เอกา วาจา เม ภาสิตา ความว่า เราพูดเพียงคำเดียว คือกล่าวห้ามการถวายนํ้านมว่า พอละน้องหญิงเท่านั้น. การเปล่งคำพูดอย่างอื่น มิได้มีเลยในพรรษานั้น พระเถระแสดงการสำรวมกายวาจา อย่างอุกฤษฏ์ด้วยบทนั้น.
               บทว่า ตติเย อนฺตรวสฺสมฺหิ ความว่า ในระหว่างปีที่ ๓ ได้แก่ ยังไม่ทันครบปีที่ ๓ นั่นเอง.
               บทว่า ตโมขนฺโธ ปทาลิโต ความว่า กองแห่งความมืดอันเราทำลายแล้วด้วยมรรคอันเลิศ. อธิบายว่า กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน คืออวิชชาอันเราตัดขาดแล้ว.
               ด้วยบทว่า ตโมขนฺโธ ปทาลิโต นั้น พระเถระกล่าวถึงการละกิเลสทั้งปวงได้โดยไม่เหลือ เพราะตั้งอยู่เป็นอันเดียวกันกับอวิชชานั้น.

               จบอรรถกถาคังคาตีริยเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ ๔. คังคาตีริยเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 260อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 261อ่านอรรถกถา 26 / 262อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5695&Z=5700
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=8546
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=8546
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :