ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 267อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 268อ่านอรรถกถา 26 / 269อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๒
๑. มหาจุนทเถรคาถา

               วรรควรรณนาที่ ๒               
               อรรถกถามหาจุนทเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระมหาจุนทเถระ เริ่มต้นว่า สุสฺสูสา.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในตระกูลช่างหม้อ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี บรรลุนิติภาวะแล้ว เลี้ยงชีพด้วยงานของนายช่างหม้อ.
               วันหนึ่งเห็นพระศาสดาแล้ว มีใจเลื่อมใส ทำบาตรดินลูกหนึ่ง ตกแต่งเป็นอย่างดี ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของนางรูปสารีพราหมณี เป็นน้องชายคนเล็กของพระเถระชื่อว่าสารีบุตร ในนาลกคาม แคว้นมคธ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าจุนทะ.
               เขาเจริญวัยแล้ว บวชตามพระธรรมเสนาบดี อาศัยพระธรรมเสนาบดี เริ่มตั้งวิปัสสนา เพียรพยายามอยู่ ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ข้าพระองค์เป็นช่างหม้ออยู่ในหงสาวดี ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี มีโอฆะอันข้ามได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ข้าพระองค์ได้ถวายบาตรดินที่ทำดีแล้วแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ครั้นถวายบาตรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรง คงที่แล้ว เมื่อข้าพระองค์เกิดในภพย่อมได้ภาชนะทองและจานที่ทำด้วยเงิน ทำด้วยทองและทำด้วยแก้วมณี ข้าพระองค์บริโภคในถาด นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
               ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศกว่าชนทั้งหลายโดยยศ พืชแม้มีน้อยแต่หว่านลงในนาดี เมื่อฝนยังท่อธารให้ตกลงทั่วโดยชอบ ผลย่อมยังชาวนาให้ยินดีได้ฉันใด การถวายบาตรนี้ก็ฉันนั้น ข้าพระองค์ได้หว่านลงในพุทธเขต เมื่อท่อธารคือปีติตกลงอยู่ ผลจักทำข้าพระองค์ให้ยินดี.
               เขตคือหมู่และคณะมีประมาณเท่าใด ที่จะให้ความสุขแก่สรรพสัตว์เสมอด้วยพุทธเขตไม่มีเลย
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์
               ข้าพระองค์บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ก็เพราะได้ถวายบาตรใบหนึ่ง ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพระองค์ได้ถวายบาตรใดในกาลนั้น ด้วยการถวายบาตรนั้น ข้าพระองค์ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายบาตร. ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์กระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๙๒

               ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว เมื่อจะสรรเสริญอุปนิสัยของครูและการอยู่อย่างวิเวกอันเป็นเหตุแห่งสมบัติที่ตนได้แล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า
                         การฟังดีเป็นเหตุให้ฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา
                         บุคคลจะรู้ประโยชน์ก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว
                         ย่อมนำสุขมาให้
                         ภิกษุควรซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด ควรประพฤติธรรมอันเป็น
                         เหตุให้จิตหลุดพ้นจากสังโยชน์ ถ้ายังไม่ได้ประสบความยินดี
                         ในเสนาสนะอันสงัดและธรรมนั้น ก็ควรเป็นผู้มีสติ รักษาตน
                         อยู่ในหมู่สงฆ์ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุสฺสูสา ได้แก่ ความปรารถนาเพื่อจะฟังสุตะทั้งปวงที่ควรแก่การฟัง. แม้ความอยู่ร่วมกับครู ก็ชื่อว่า สุสฺสูสา.
               อธิบายว่า อันกุลบุตรผู้ปรารถนาจะฟังข้อความที่มีประโยชน์ต่างด้วยทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์เป็นต้น เข้าไปหากัลยามิตร เข้าไปนั่งใกล้ ด้วยการกระทำวัตรในเวลาใด ยังกัลยามิตรเหล่านั้นให้มีจิตโปรดปรานด้วยการเข้าไปนั่งใกล้ ย่อมมีความประสงค์จะเข้าไปนั่งใกล้ๆ กัลยาณมิตรบางคน
               ครั้นกุลบุตรเข้าถึงตัว เข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตรเหล่านั้นแล้ว พึงเงี่ยโสตลงสดับด้วยความปรารถนาเพื่อจะฟัง เพราะเหตุนั้น แม้การอยู่ร่วมกับครู ท่านจึงกล่าวว่า สุสฺสูสา (การฟังดี) เพราะเป็นต้นเหตุแห่งการฟังด้วยดี
               ก็การฟังดีนี้นั้น ชื่อว่า สุตวทฺธนี เพราะเป็นเหตุให้สุตะอันปฏิสังยุตด้วยสัจจปฏิจสมุปบาทเป็นต้น เจริญคืองอกงามแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยการฟังนั้น. อธิบายว่า ทำให้เป็นพหูสูต.
               บทว่า สุตํ ปญฺญาย วทฺธนํ ความว่า พาหุสัจจะนั้นใดที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เป็นผู้ทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะก็ดี ว่าบุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์มากดังนี้ก็ดี พาหุสัจจะนั้นย่อมยังปัญญาอันเป็นเหตุให้ละความชั่ว บรรลุถึงความดีให้เจริญ เพราะเหตุนั้น สุตะจึงชื่อว่ายังปัญญาให้เจริญ.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้มีสุตะเป็นอาวุธแล ย่อมละอกุศลได้ ย่อมยังกุศลให้เจริญได้ ย่อมละธรรมที่มีโทษ ย่อมยังธรรมที่ไม่มีโทษให้เจริญ ย่อมบริหารตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้.
               บทว่า ปญฺญาย อตฺถํ ปชานาติ ความว่า บุคคลผู้เป็นพหูสูตตั้งอยู่ในสุตมยญาณ (ญาณอันสำเร็จด้วยการฟัง) แล้วปฏิบัติอยู่ซึ่งข้อปฏิบัตินั้น ย่อมรู้และแทงตลอดอรรถอันต่างด้วยโลกิยะและโลกุตระ จำแนกออกเป็นทิฏฐธรรมเป็นต้นและจำแนกออกโดยอริยสัจมีทุกขสัจเป็นต้น ด้วยการสอบสวนข้อความตามที่ได้ฟังมาและด้วยภาวนาคือการเข้าไปเพ่งธรรม.
               สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า บุคคลรู้เหตุ รู้ผลของสุตะตามที่ได้เรียนมาแล้ว ย่อมปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม ดังนี้.
               และตรัสว่า บุคคลย่อมพิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาอรรถอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรซึ่งการเพ่ง เมื่อธรรมควรซึ่งการเพ่งมีอยู่ ฉันทะย่อมเกิด ผู้ที่มีฉันทะเกิดแล้วย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้วย่อมพิจารณา ครั้นพิจารณาแล้วย่อมตั้งความเพียร ผู้ที่มีความเพียรย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจด้วยกาย และเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งปรมัตถสัจนั้นด้วยปัญญา.
               บทว่า ญาโต อตฺโถ สุขาวโห ความว่า ประโยชน์มีทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์เป็นต้นก็ดี ประโยชน์ในทุกขสัจเป็นต้นก็ดี ตามที่กล่าวแล้วที่ตนรู้แล้ว คือบรรลุแล้วตามความเป็นจริง ย่อมนำมาคือให้สำเร็จความสุขต่างโดยโลกิยสุขและโลกุตรสุข.
               ประโยชน์ย่อมไม่มี แก่ผู้ที่มีปัญญาภาวนาตามที่ตนทรงไว้ ด้วยเหตุเพียงการฟังอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระเถระเมื่อจะแสดงถึงวิธีปฏิบัติแห่งภาวนาปัญญานั้น จึงกล่าวว่า ภิกษุควรซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุให้จิตหลุดจากสังโยชน์.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น พระเถระกล่าวถึงกายวิเวก ด้วยบทว่า เสเวถ ปนฺตานิ เสนาสนานิ.
               ก็ด้วยบทนั้น กายวิเวกก็คือการอยู่อย่างสงัดของผู้ที่ควรแก่วิเวกนั่นเอง เพราะการละสังโยชน์จะกล่าวถึงต่อไป (ข้างหน้า) เพราะฉะนั้น สังวรมีศีลสังวรเป็นต้น พึงทราบว่า สำเร็จแล้วโดยไม่ได้กล่าวไว้ในคาถานี้.
               บทว่า จเรยฺย สํโยชนวิปฺปโมกฺขํ ความว่า จิตย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์ได้โดยประการใด ภิกษุพึงประพฤติ คือ พึงปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาและมรรคภาวนาโดยประการนั้น.
               บทว่า สเจ รตึ นาธิคจฺเฉยฺย ตตฺถ ความว่า ภิกษุยังไม่ประสบความยินดีในเสนาสนะอันสงัด และในธรรมคือกุศลอันยิ่งเหล่านั้น คือไม่ประสบความยินดียิ่ง เพราะไม่ได้คุณพิเศษ ติดต่อเป็นลำดับไป พึงเป็นผู้มีตนอันรักษาแล้ว คือมีจิตอันรักษาแล้วโดยกำหนดกรรมฐาน พึงเป็นผู้มีสติอยู่ด้วยการเข้าไปตั้งไว้ ซึ่งสติเป็นเครื่องรักษาในทวารทั้ง ๖ ในสงฆ์คือในหมู่แห่งภิกษุ และเมื่อเธออยู่อย่างนี้ พึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์โดยแท้.

               จบอรรถกถามหาจุนทเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ ๑. มหาจุนทเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 267อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 268อ่านอรรถกถา 26 / 269อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=5748&Z=5756
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=8986
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=8986
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :