ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 28อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 29อ่านอรรถกถา 26 / 30อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓
๑. อุฬารวิมาน

               ปาริฉัตตกวรรควรรณนาที่ ๓               
               อรรถกถาอุฬารวิมาน               
               ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               อุฬารวิมาน มีคาถาว่า อุฬาโร เต ยโส วณฺโณ ดังนี้เป็นต้น.
               อุฬารวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต ใกล้กรุงราชคฤห์.
               สมัยนั้น ในตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งชอบให้ทาน ยินดีในการแจกจ่ายทาน. นางให้ของเคี้ยวของบริโภคก่อนอาหารอันเกิดขึ้นในเรือนนั้น ครึ่งหนึ่งจากส่วนแบ่งที่ตนได้. ตนเองบริโภคครึ่งหนึ่ง หากยังไม่ให้ก็ไม่บริโภค เมื่อยังไม่เห็นผู้ที่ควรให้ก็เก็บไว้แล้วให้ในเวลาที่ตนเห็น. นางให้แม้แก่ยาจก.
               ครั้นต่อมามารดาของนาง ชื่นชมยินดีว่าลูกสาวของเราชอบให้ทาน ยินดีในการแจกจ่ายทาน จึงให้เพิ่มขึ้นเป็นสองส่วนแก่นาง. อนึ่ง มารดาเมื่อจะให้ ย่อมให้เพิ่มขึ้นอีกในเมื่อลูกสาวได้แจกจ่ายส่วนหนึ่งไปแล้ว. นางทำการแจกจ่ายจากส่วนนั้นนั่นเอง.
               เมื่อกาลเวลาผ่านไปอย่างนี้ มารดาบิดาได้ยกลูกสาวนั้นซึ่งเจริญวัยแล้วแก่กุมารในตระกูลหนึ่งในเมืองนั้นนั่นเอง. แต่ตระกูลนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะออกบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในกรุงราชคฤห์ ได้ไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของพ่อผัวของนาง นางครั้นเห็นพระมหาโมคคัลลานะนั้นก็มีจิตเลื่อมใส นิมนต์ให้เข้าไปในบ้าน ไหว้แล้ว เมื่อไม่เห็นแม่ผัว นางจึงถือวิสาสะเอาขนมที่แม่ผัววางไว้ด้วยคิดว่า เราจักบอกให้แม่ผัวอนุโมทนา แล้วได้ถวายแก่พระเถระ.
               พระเถระกระทำอนุโมทนาแล้วกลับไป.
               นางจึงบอกแก่แม่ผัวว่า ฉันได้ให้ขนมที่แม่วางไว้แก่พระมหาโมคคัลลานเถระไปแล้ว. แม่ผัวครั้นได้ฟังดังนั้น จึงตะคอกต่อว่านางว่า นี่มันเรื่องอะไรกันจ๊ะ ไม่บอกกล่าวเจ้าของก่อน เอาไปให้สมณะเสียแล้ว แม่โกรธจัด ไม่ได้นึกถึงสิ่งควรไม่ควร คว้าสากที่วางอยู่ข้างหน้าทุบเข้าที่จะงอยบ่า เพราะนางเป็นสุขุมาลชาติ และเพราะจะสิ้นอายุ ด้วยการถูกทุบนั้นเองได้รับทุกข์สาหัส.
               ต่อมา ๒-๓ วัน นางก็ถึงแก่กรรมไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แม้เมื่อกรรมสุจริตอื่นก็มีอยู่ แต่ทานที่นางถวายแก่พระเถระเป็นทานน่าพอใจยิ่ง ได้ปรากฏแก่นาง.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ไปโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง จึงถามนางนั้นด้วยคาถาว่า
               ดูก่อนเทพธิดา ยศผิวพรรณของท่านโอฬารยิ่งนัก ยังทิศทั้งหมดให้สว่างไสว เหล่านารีฟ้อนรำขับร้อง เทพบุตรตกแต่งงดงาม ต่างบันเทิง แวดล้อมเพื่อบูชาท่าน.
               ดูก่อนสุทัสสนา วิมานเหล่านี้ของท่านเป็นสีทอง ท่านเป็นใหญ่กว่าเทพเหล่านั้น มีความสำเร็จในสิ่งที่ใคร่ทั้งหมด ท่านเกิดยิ่งใหญ่ บันเทิงในหมู่เทพ.
               ดูก่อนเทพธิดา เราขอถามท่าน ท่านจงบอกว่า นี้เป็นผลของกรรมอะไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยโส ได้แก่ บริวาร.
               บทว่า วณฺโณ ได้แก่ รัศมีวรรณะ คือแสงสรีระ.
               ส่วนบทว่า อุฬาโร นี้เป็นอันท่านกล่าวถึงบริวารสมบัติและวรรณสมบัติของเทวดานั้น เพราะกล่าวถึงความวิเศษ.
               ในสมบัติเหล่านั้น เพื่อแสดงถึงวรรณสมบัติที่ท่านกล่าวไว้โดยสังเขปว่า อุฬาโร เต วณฺโณ โดยพิสดาร ด้วยอำนาจแห่งวิสัยจึงกล่าวว่า สพฺพา โอภาสเต ทิสา เพื่อแสดงถึงบริวารสมบัติที่ท่านกล่าวไว้ว่า อุฬาโร เต ยโส ด้วยสามารถแห่งวัตถุโดยพิสดาร จึงกล่าวว่า นาริโย นจฺจนฺติ เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพา โอภาสเต ทิสา ได้แก่ รุ่งเรืองในทิศทั้งหมด หรือยังทิศทั้งหมดให้สว่างไสว. อธิบายว่า ย่อมรุ่งเรือง. อาจารย์บางพวกกล่าวเนื้อความแห่งบทว่า โอภาสยเต เป็นต้นเป็น โอภาสนฺเต ด้วยความคลาดเคลื่อนของคำ. อาจารย์พวกนั้นพึงเปลี่ยนวิภัตติเป็น วณฺเณน.
               อนึ่ง บทว่า วณฺเณน เป็นตติยาวิภัตติลงในอรรถว่าเหตุ. อธิบายว่า เพราะเหตุ คือเพราะความเป็นเหตุ.
               อนึ่ง บทว่า สพฺพา ทิสา เมื่อไม่เพ่งถึงทิศธรรมดา โดยกำเนิด ก็ไม่ต้องประกอบวจนะให้คลาดเคลื่อน
               แม้ในบทว่า นาริโย นี้ พึงนำบทว่า อลงฺกตา มาเชื่อมด้วย.
               ในบทว่า เทวปุตตา นี้แสดงว่าได้ลบ ออก. ควรใช้ว่า นาริโย เทวปุตฺตา จ ดังนี้.
               บทว่า โมเทนฺติ แปลว่า ย่อมบันเทิง.
               บทว่า ปูชาย ได้แก่ เพื่อบูชา หรือเป็นเครื่องหมายแห่งการบูชา. โยชนาว่า ฟ้อนรำขับร้อง.
               บทว่า ตวิมานิ ตัดบทเป็น ตว อิมานิ.
               บทว่า สพฺพกามสมิทฺธีนี ได้แก่ สำเร็จด้วยกามคุณ ๕ ทั้งหมด หรือด้วยวัตถุที่ท่านใคร่แล้วปรารถนาแล้วทั้งหมด.
               บทว่า อภิชาตา ได้แก่ เกิดดีแล้ว.
               บทว่า มหนฺตาสิ ได้แก่ ท่านเป็นใหญ่คือมีอานุภาพมาก.
               บทว่า เทวกาเย ปโมทสิ ได้แก่ ท่านย่อมบันเทิงด้วยความบันเทิงอย่างยิ่ง อันเป็นเหตุให้ได้สมบัติในหมู่เทพ.
                         ดีฉัน ในชาติก่อนเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก
               ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ได้เป็นสะใภ้ในตระกูลคนทุศีล
               ในเมื่อเขาไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ดีฉันมีศรัทธาและศีล
               ยินดีในการแจกตลอดกาล ได้ถวายขนมเบื้องแก่ท่าน
               ผู้ออกไปบิณฑบาต ดีฉันจึงบอกแก่แม่ผัวว่า สมณะมา
               ถึงที่นี่แล้ว ดีฉันจึงได้ถวายขนมเบื้องแก่สมณะนั้นด้วย
               มือของตน.
                         ด้วยเหตุนี้แหละ แม่ผัวนั้นจึงบริภาษว่า เองเป็น
               สาวไม่มีใครสั่งสอน ไม่ถามฉันเสียก่อนจะถวายทานแก่
               สมณะ แม่ผัวก็โกรธดีฉัน จึงเอาสากทุบดีฉันที่จะงอยบ่า
               ดีฉันไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้นาน ครั้นดีฉันสิ้นชีพจึง
               จุติจากที่นั้น มาเกิดเป็นสหายกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์.
                         เพราะบุญกรรมนั้น ผิวพรรณของดีฉันจึงเป็นเช่น
               นั้น และผิวพรรณของดีฉันย่อมสว่างไสวไปทุกทิศ ดังนี้.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า อสสทเธสุ โยชนาแก้ว่า ดีฉันมีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ในเมื่อแม่ผัวเป็นต้นไม่มีศรัทธา เพราะไม่มีความเชื่อในพระรัตนตรัยและความเชื่อผลของกรรม ตระหนี่ เพราะเป็นผู้มีมัจฉริยะจัด.
               บทว่า อปูวํ คือ ขนมเบื้อง.
               บทว่า เต เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ข้าพเจ้าบอกแก่แม่ผัวเพื่อให้รู้ว่าเอาขนมมาแล้ว และเพื่อให้อนุโมทนา.
               บทว่า อสฺสา ในบทว่า อติสฺสา นี้เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า สมณสฺส ททามหํ ได้แก่ ข้าพเจ้าถวายขนมเบื้องแก่สมณะ.
               โยชนาแก้ว่า แม่ผัวบริภาษว่า เพราะเองไม่เชื่อฟังข้า ฉะนั้น เองเป็นหญิงสาวที่ไม่มีใครสั่งสอน.
               บทว่า ปหาสิ แปลว่า ประหารแล้ว.
               บทว่า กูฏํ ในบทว่า กูฏงฺคจฺฉิ อวธิ มํ นี้ ท่านกล่าวว่าจะงอยบ่า.
               ชื่อว่า กูฏังคะ เพราะเป็นอวัยวะยอดนั่นเอง โดยลบบทต้นเสีย ชื่อว่า กูฏงฺคจฺฉิ เพราะทำลายจะงอยบ่านั้น. แม่ผัวโกรธจัดอย่างนี้จึงทุบดีฉัน คือตีจะงอยบ่าของดีฉัน. อธิบายว่า แม่ผัวฆ่าดีฉันจนตายด้วยความพยายามนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นาสกฺขึ ชีวิตุํ จิรํ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้นานดังนี้.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตา ได้แก่ พ้นด้วยดีจากทุกข์นั้น.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาอุฬารวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓ ๑. อุฬารวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 28อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 29อ่านอรรถกถา 26 / 30อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=817&Z=840
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=2886
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=2886
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :