|
   
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต๑๑. อุบาลีเถรคาถา อรรถกถาอุบาลีเถรคาถา
คาถาของท่านพระอุบาลีเถระ มีคำเริ่มต้นว่า สทฺธาย อภินิกฺขมฺม.
มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
แม้ท่านพระอุบาลีเถระนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้เกิดขึ้นในคฤหาสน์ของผู้มีสกุล ในนครหงสาวดี วันหนึ่งฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย ทำกรรมคือบุญญาธิการแล้วได้ปรารถนาฐานันดรนั้น.
ท่านบำเพ็ญกุศลตลอดชีวิตแล้ว ท่องเที่ยวไปมาในเทวโลกและมนุษยโลก มาในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ถือปฏิสนธิในเรือนของช่างกัลบก มารดาและบิดาได้ขนานนามของท่านว่าอุบาลี.
ท่านเจริญวัยแล้ว เป็นที่เลื่อมใสของกษัตริย์ทั้ง ๖ มีท่านอนุรุทธะเป็นต้น เมื่อพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ได้ออกบวชพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ที่ออกไปเพื่อต้องการบวช. วิธีบวชของท่านมีมาแล้วในพระบาลี.
ท่านครั้นบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้รับเอากรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์อยู่ป่าเถิด.
พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เมื่อเธออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้นจักเจริญ แต่เมื่อปฏิบัติอยู่ในสำนักของเราทั้งหลาย ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จักบริบูรณ์.
พระเถระรับพระพุทธดำรัสแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ไม่นานเลย ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล.
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ในอปทานว่า
ในหงสาวดีนคร พราหมณ์ชื่อว่าสุชาต สะสมทรัพย์ไว้ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเพียงพอ
เป็นนักศึกษา ทรงจำมนต์ไว้ได้ ถึงฝั่งแห่งไตรเพท จบลักษณะอิติหาสและบารมีในธรรมของตน
สาวกของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องเว้นมีสิกขาอย่างเดียวกัน เป็นทั้งผู้จาริก เป็นทั้งดาบสท่องเที่ยวไปตามพื้นดินในครั้งนั้น.
ท่านเหล่านั้นห้อมล้อมข้าพเจ้า ชนจำนวนมากบูชาข้าพเจ้า ด้วยสำคัญว่าเป็นพราหมณ์ผู้เปรื่องปราชญ์ แต่ข้าพเจ้าไม่บูชาอะไร.
ในกาลครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีมานะ กระด้าง ไม่เห็นผู้ที่ควรบูชา
คำว่า พุทฺโธ ไม่มีตลอดเวลาที่พระชินเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น.
วันคืนล่วงไปๆ พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงมีจักษุ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงขจัดความมืดทั้งมวลออกไป.
เมื่อศาสนาแผ่ออกไปในหมู่กษัตริย์และหนาแน่นขึ้น ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้ามายังนครหงสาวดี.
พระองค์ผู้ทรงมีจักษุได้ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่พระบิดา เวลานั้นบริษัททั้งหลายโดยรอบประมาณ ๑ โยชน์.
บรรดามนุษย์ทั้งหลาย ท่านผู้เขาสมมติแล้วในครั้งนั้น ได้แก่ดาบสชื่อสุนันทะ ได้ใช้ดอกไม้บัง (แสงแดด) ตลอดทั่วทั้งพุทธบริษัท ในครั้งนั้น.
และเมื่อพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดทรงประกาศสัจจะทั้ง ๔ ที่ปะรำดอกไม้ บริษัทแสนโกฏิได้บรรลุธรรม.
พระพุทธเจ้าทรงหลั่งฝนคือพระธรรม เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ครั้นถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าทรงสรรเสริญสุนันทดาบส.
สุนันทดาบสนี้ เมื่อท่องเที่ยวไปมาในภพที่เป็นเทวโลกหรือมนุษยโลก จักเป็นผู้ประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ ท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย. ในแสนกัปจักมีพระศาสดาในโลกผู้ทรงสมภพจากราชตระกูลพระเจ้าโอกกากราช พระนามว่าโคดม โดยพระโคตร.
พระองค์จักทรงมีพุทธชิโนรส ผู้เป็นธรรมทายาทที่พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นพุทธสาวกโดยนามว่าปุณณมันตานีบุตร.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงให้ชนทั้งหมดกระหยิ่มใจ ทรงแสดงพลญาณของพระองค์ จึงได้ทรงสรรเสริญสุนันทดาบส อย่างนี้ในครั้งนั้น. ชนทั้งหลายพากันประนมมือนมัสการสุนันทดาบส กระทำสักการะในพระพุทธเจ้า แล้วชำระคติของตนให้ผ่องใส.
ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว ได้มีความดำริในเรื่องนั้นว่า แม้เราก็จักทำสักการะโดยวิธีที่จะเห็นพระโคตมพุทธเจ้า.
ข้าพเจ้าครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงได้คิดถึงกิริยาของข้าพเจ้าว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจะประพฤติกรรมในบุญเขตที่ยอดเยี่ยม.
ก็ภิกษุผู้เป็นนักปาฐกรูปนี้ พูดได้ทุกอย่างในพระศาสนา ถูกยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในพระวินัย เราปรารถนาตำแหน่งนั้น.
โภคะของเราไม่มีผู้นับได้ ไม่มีผู้ให้กระเทือนได้ เปรียบเหมือนสาคร เราจะสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าด้วยโภคะนั้น.
ข้าพเจ้าได้ซื้อสวนชื่อว่าโสภณะ ด้านหน้าพระนครด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง สร้างสังฆารามถวาย.
ข้าพเจ้าได้สร้างสังฆารามแต่งเรือนยอดปราสาท มณฑป ถ้ำ คูหาและที่จงกรมให้เรียบร้อย.
ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนอบกาย โรงไฟ โรงเก็บน้ำและห้องอาบน้ำถวายแด่พระภิกษุสงฆ์.
ข้าพเจ้าได้ถวายปัจจัยนี้ทุกอย่างคือ ตั่ง เตียง ภาชนะ เครื่องใช้สอยและยาประจำวัด.
ข้าพเจ้าครั้นเริ่มตั้งอารักขาก็ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง ขออะไรๆ อย่าได้เบียดเบียนท่านเลย ข้าพเจ้าได้สร้างที่อยู่อาศัยให้ท่านผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่ไว้ในสังฆารามด้วยทรัพย์จำนวนแสน สร้างที่อยู่อาศัยนั้นอย่างไพบูลย์แล้ว ได้น้อมถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ข้าพระองค์สร้างพระอารามสำเร็จแล้ว ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์จงทรงรับ ข้าพระองค์จักถวายพระอารามนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียร ผู้ทรงมีจักษุ ขอพระองค์ทรงรับพระวิหารนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นนายก ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว ทรงรับเครื่องบูชาทั้งหลาย ทรงรับพระอารามนั้น. ข้าพเจ้าได้ทราบการทรงรับของพระสรรเพชญ์ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ได้เตรียมโภชนะไว้ ได้ทูลให้ทรงทราบเวลาแห่งภัต.
เมื่อข้าพเจ้าทูลให้ทรงทราบเวลาแล้ว พระปทุมุตตรพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นนายก พร้อมด้วยพระขีณาสพพันหนึ่ง ได้เสด็จเข้าไปสู่อารามของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้ารู้กาลเวลาที่พระองค์และพระขีณาสพทั้งหลายประทับนั่งแล้ว จึงได้ให้ท่านเหล่านั้นอิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ.
ครั้นทราบกาลเวลาที่เสวยแล้ว จึงได้ทูลคำนี้ว่า
อารามชื่อว่าโสภณะ ข้าพระองค์ซื้อด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง สร้างด้วยทรัพย์จำนวนเท่านั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระมุนีเจ้า ขอพระองค์จงทรงรับอารามนั้น. ด้วยการถวายอารามนี้ และด้วยเจตนาและประณิธาน ข้าพระองค์เมื่อเกิดในภพ ขอให้ได้สิ่งที่ข้าพระองค์ปรารถนา.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นทรงรับสังฆารามที่สร้างเรียบร้อยแล้วได้ประทับนั่งที่ท่ามกลางสงฆ์ ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
เขาผู้ใดได้มอบถวายสังฆารามที่สร้างเรียบร้อยแล้วแด่พระพุทธเจ้า เราตถาคตจะกล่าวสรรเสริญเขาผู้นั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำของเราผู้กล่าวอยู่.
จตุรงคเสนา คือพลช้าง พลม้า พลรถและพลเดินเท้า จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม.
เครื่องดุริยางค์หกหมื่นและกลองทั้งหลายที่ตกแต่งไว้อย่างเหมาะสม จักประโคม ห้อมล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลของการถวายสังฆาราม.
หญิงสาวแปดหมื่นหกพันนางแต่งตัวอย่างสวยสม นุ่งห่มพัสตราภรณ์ที่สวยงาม ประดับประดาด้วยแก้วมณี และแก้วกุณฑล มีขนตางอน หน้าตายิ้มแย้ม มีตะโพกผึ่งผาย เอวบางร่างน้อย ห้อมล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลของการถวายสังฆาราม.
ผู้นี้จักรื่นเริงใจอยู่ในเทวโลกเป็นเวลาสามหมื่นกัป จักเป็นท้าวสักกะเสวยเทวราชสมบัติถึงพันครั้ง จักได้เสวยสมบัติทั้งหมดที่ราชาแห่งทวยเทพจะพึงประสบ จักเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่บกพร่อง เสวยเทวราชสมบัติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้นตั้งพันครั้ง เสวยราชสมบัติอันไพบูลย์ในแผ่นดินนับครั้งไม่ถ้วน.
ใน (อีก) แสนกัปจักมีพระศาสดาในโลกผู้ทรงสมภพในราชตระกูลโอกกากราช พระนามว่าโคตมะ โดยพระโคตร. พระองค์จักทรงมีพุทธชิโนรสผู้เป็นธรรมทายาทที่พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นพุทธสาวกโดยนามว่าอุบาลี. เธอจักบำเพ็ญบารมีในพระวินัย เป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระชินะ และเป็นผู้หาอาสวะมิได้.
พระสมณโคดมผู้ล้ำเลิศในหมู่ศากยะ ทรงรู้ยิ่งซึ่งสิ่งทั้งหมดนี้แล้ว จักประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทรงแต่งตั้งเธอไว้ในเอตทัคคะ.
ข้าพระองค์ปรารถนาคำสั่งสอนของพระองค์ โดยหมายเอาประโยชน์ใดที่นับไม่ถ้วน
ประโยชน์นั้นคือธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง ข้าพระองค์ได้บรรลุแล้ว.
คนต้องราชทัณฑ์ถูกหลาวแทง เมื่อไม่ประสบความสบายเพราะหลาวก็ปรารถนาจะให้พ้นไปทีเดียวฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องอาชญาของภพ ถูกหลาวคือกรรมแทง ถูกเวทนาคือความหิวระหายรบกวน ไม่ประสบความสำราญในภพ ข้าพระองค์ถูกไฟ ๓ กองเผาลนจึงแสวงหาความรอดพ้น ดุจผู้ต้องราชทัณฑ์ฉะนั้น
ชายผู้กล้าหาญถูกยาเบื่อ เขาจะเสาะแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์ที่จะแก้ยาเบื่อรักษาชีวิตไว้ เมื่อแสวงหาก็จะพบยาขนานศักดิ์สิทธิ์ที่แก้ยาเบื่อได้ ครั้นดื่มยานั้นแล้วก็จะสบาย เพราะรอดพ้นไปจากพิษยาเบื่อฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเหมือนนรชนผู้ถูกยาเบื่อ ถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว ต้องแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์คือพระสัทธรรม เมื่อแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์คือพระธรรม ก็ได้พบคำสั่งสอนของพระศากยมุนี คำสั่งสอนนั้นล้ำเลิศกว่าโอสถทุกอย่าง บรรเทาลูกศรทั้งมวลได้ ครั้นดื่มธรรมโอสถที่ถอนพิษทุกอย่างได้แล้ว ข้าพระองค์ก็สัมผัสพระนิพพานที่ไม่แก่ไม่ตาย มีภาวะเยือกเย็น
คนที่ถูกผีสิงเดือดร้อนเพราะเคราะห์คือผี ต้องเสาะแสวงหาหมอไล่ผี เพื่อให้รอดพ้นจากผี
เมื่อแสวงหาก็พึงพบหมอผู้ฉลาดในทางภูตวิทยา หมอนั้นต้องขับภูตผีพร้อมทั้งมูลเหตุให้เขาเพื่อให้พินาศไปฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เดือดร้อนเพราะเคราะห์คือความมืด เสาะแสวงหาแสงสว่างคือญาณ เพื่อให้รอดพ้นจากความมืด จึงได้พบพระศากยมุนีผู้ทรงกำจัดความมืดคือกิเลสออกไปได้ พระองค์ได้ทรงกำจัดความมืดให้ข้าพระองค์ เหมือนหมอผีขับผีฉะนั้น
ข้าพระองค์ตัดทอนกระแสแห่งสงสารได้ขาด กั้นกระแสตัณหาไว้ได้ ถอนภพทั้งหมดขึ้นได้ เหมือนหมอผีขับผีออกไปโดยมูลเหตุฉะนั้น
นกครุฑโฉบเอางูไปเป็นอาหารของตน ยังสระใหญ่ร้อยโยชน์โดยรอบให้กระเพื่อม มันจับงูได้แล้วจะจิกให้ตายเอาหัวห้อยลงพาบินหนีไปตามที่นกต้องการฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ก็เช่นนั้นเหมือนกัน เป็นเสมือนนกครุฑที่มีกำลัง เมื่อแสวงหาอสังขตธรรม ข้าพระองค์คายโทสะออกไปแล้ว ได้เห็นสันติบทที่เป็นธรรมอันประเสริฐอย่างยอดเยี่ยม นำเอาพระธรรมนั้นไปพำนักอยู่ เหมือนนกครุฑนำเอางูไปพักอยู่ฉะนั้น.
เถาวัลลี ชื่ออาสาวดีเกิดในสวนจิตรลดา เถาวัลลีนั้น หนึ่งพันปีจึงจะออกผล ๑ ผล ทวยเทพจะพากันเฝ้าแหนผลของเถาอาสาวดีนั้น เมื่อมันมีผลระยะนานขนาดนั้น เถาวัลลีนั้นจึงเป็นที่รักของทวยเทพ เมื่อเป็นอย่างนี้ เถาอาสาวดีจึงเป็นเถาวัลลีชั้นยอด
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์หมายใจไว้แสนกัป ขอบำรุงพระองค์ นมัสการทั้งเช้าทั้งเย็น เหมือนทวยเทพมุ่งหมายเถาอาสาวดีฉะนั้น การปรนนิบัติและการนมัสการของข้าพระองค์ ไม่เป็นหมันไม่เป็นโมฆะ ข้าพระองค์ผู้สงบแล้ว แม้มาแต่ไกลก็ไม่แคล้วคลาดขณะไปได้
ข้าพระองค์ค้นหาอยู่ก็ไม่พบปฏิสนธิในภพ ข้าพระองค์ปราศจากอุปธิ หลุดพ้นแล้ว สงบระงับแล้ว ท่องเที่ยวไปอยู่ อุปมาเสมือนว่า ดอกปทุมบานเพราะแสงพระอาทิตย์ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีระ ข้าพระองค์ก็เช่นนั้นเหมือนกัน เบิกบานแล้วเพราะพุทธรัศมี ในกำเนิดนกกระยางจะไม่มีตัวผู้ ทุกครั้งที่ฟ้าร้อง มันจะตั้งท้องทุกคราว ตั้งท้องอยู่นานจนกว่าฟ้าจะไม่ร้อง จะพ้นจากภาระ (ตกฟอง) ต่อเมื่อฝนตกฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ตั้งครรภ์คือพระธรรม เพราะเสียงฟ้าคือพระธรรมที่ร้องเพราะเมฆคือพระธรรมของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระองค์ทรงครรภ์คือบุญอยู่เป็นเวลาแสนกัป จะพ้นภาระ (คลอด) จนกว่าฟ้าคือพระธรรมจะหยุดร้อง
ข้าแต่พระศากยมุนี เมื่อใด พระองค์ (ผู้เสมือนฟ้า) ทรงร้องที่กรุงกบิลพัสดุ์บุรีรมย์ เมื่อนั้น ข้าพระองค์จึงจะพ้นจากภาระ เพราะฟ้าคือพระธรรม (หยุดร้อง) ข้าพระองค์ได้คลอดพระธรรมทั้งหมดเหล่านี้ คือ สุญญตะ (วิโมกข์) ๑
อนิมิตตะ (วิโมกข์) ๑ และอปฺณิหิตะ (วิโมกข์) ๑ (โลกุตระ) ผล ๔ อย่าง ๑.
ข้าพระองค์ปรารถนาคำสั่งสอนของพระองค์ มุ่งหมายถึงประโยชน์อันใดที่นับประมาณไม่ถ้วน
ประโยชน์นั้นคือสันติบท (พระนิพพาน) อันยอดเยี่ยม ข้าพระองค์ได้บรรลุแล้ว
ข้าพระองค์ไม่มีผู้เสมอเหมือน ข้าพระองค์ประสบบารมีในพระวินัยแล้ว ทรงจำคำสอนไว้ได้ เหมือนภิกษุผู้แสวงหาคุณผู้เป็นนักพูดแม้ฉะนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความเคลือบแคลงในพระวินัยทั้ง ๕ คัมภีร์ คือทั้งขันธกะและที่แบ่งออกเป็น ๓ คัมภีร์ (จุลวรรค มหาวรรคและบริวารวรรค) หรือทั้งในอักขระ ทั้งในพยัญชนะ ในพระวินัยนี้ ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดทั้งในนิคคหกรรม ปฏิกรรม ฐานะและอฐานะ โอสารณกรรมและวุฏฐาปนกรรม ถึงบารมีในพระวินัยทั้งหมด
อีกอย่างหนึ่ง ข้าพระองค์ยกบทขึ้นมาตั้งแล้วไขความออกไปโดยกิจ ๒ อย่างแล้ววางไว้ในขันธกะ ในพระวินัย ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดล้ำในนิรุตติศาสตร์ ฉลาดทั้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีสิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศผู้หนึ่งในพระศาสนาของพระศาสดา
วันนี้ ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในรูป บรรเทาข้อกังขาทุกอย่าง ตัดความสงสัยทั้งสิ้นในพระศาสนาของพระสมณศากยบุตร ทั้งที่เป็นบท (ใหญ่) บทย่อย ทั้งที่เป็นอักขระเป็นพยัญชนะ ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในทุกอย่างทั้งในเบื้องต้น ทั้งในเบื้องปลาย
พระราชาผู้ทรงมีกำลัง ทรงกำราบการรบกวนของผู้อื่น ทรงชนะสงครามแล้ว ทรงให้สร้างพระนครขึ้น ณ ที่นั้น ทรงให้สร้างกำแพงบ้าง คูบ้าง เสาเขื่อนบ้าง ซุ้มประตูบ้าง ป้อมบ้างนานาชนิดเป็นจำนวนมากไว้ในพระนครนั้น ทรงให้สร้างทางสี่แยก สนาม ตลาดจ่ายและสภาสำหรับวินิจฉัยสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ไว้ในพระนครนั้น
พระองค์ทรงตั้งเสนาและอำมาตย์ไว้เพื่อปราบหมู่อมิตร เพื่อรู้ช่องทางและมิใช่ช่องทาง และเพื่อรักษาพลนิกายไว้ พระองค์ทรงตั้งคนผู้ฉลาดในการเก็บสิ่งของให้เป็นภัณฑารักษ์ไว้เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าสิ่งของ ด้วยพระราชประสงค์ว่าสิ่งของของเราอย่าได้สูญหายไป
ผู้ใดสำเร็จ (การศึกษา) แล้วและปรารถนาความเจริญแก่พระราชาพระองค์ใด
พระราชาพระองค์นั้นจะประทานเรื่องให้เขาเพื่อปฏิบัติต่อมิตร (ประชาชน).
เมื่อนิมิตเกิดขึ้น พระองค์จะทรงตั้งผู้ฉลาดในลักษณะทั้งหลาย ผู้เป็นนักศึกษาและทรงจำมนต์ไว้ได้ ให้ดำรงอยู่ในความเป็นปุโรหิตผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณเหล่านี้ เรียกว่ากษัตริย์ พวกเขาจะพากันพิทักษ์รักษาพระราชาทุกเมื่อ เหมือนนกจากพรากรักษาญาติตนที่เป็นทุกข์ฉะนั้นฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีระ พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นเสมือนกษัตริย์ผู้กำจัดอมิตรได้แล้ว เรียกได้ว่าพระธรรมราชาของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก พระองค์ทรงกำจัดเหล่าเดียรถีย์บ้าง มารพร้อมทั้งเสนาบ้าง ความมืดมนอนธการบ้างได้แล้ว ได้ทรงเนรมิตนครธรรมขึ้น ทรงทำศีลให้เป็นกำแพง ทรงทำพระญาณของพระองค์ให้เป็นซุ้มประตูไว้ที่พระนครนั้น
ข้าแต่พระธีรเจ้า สัทธาของพระองค์เป็นเสาระเนียด การสังวรเป็นนายทวารบาล สติปัฏฐานเป็นป้อม
ข้าแต่พระมุนี พระปัญญาของพระองค์เป็นสนาม และพระองค์ได้ทรงสร้างธรรมวิถี มีอิทธิบาทเป็นทางสี่แยก พระวินัย ๑ พระสูตร ๑ พระอภิธรรม ๑ พระพุทธพจน์ทั้งสิ้นมีองค์ ๙ นี้เป็นธรรมสภาของพระองค์
สุญญตวิหารสมาบัติ ๑ อนิมิตตวิหารสมาบัติ ๑ อปณิหิตสมาบัติ ๑ อเนญชธรรม ๑ นิโรธธรรม ๑ นี้เป็นกุฏีธรรมของพระองค์
ธรรมเสนาบดีของพระองค์ มีนามว่าสารีบุตร ผู้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้เลิศทางปัญญา และเป็นผู้ฉลาดในปฏิภาณ
ข้าแต่พระมุนี ปุโรหิตของพระองค์ มีนามว่าโกลิตะ ผู้ฉลาดในจุตูปปาตญาณ ผู้ถึงบารมีด้วยฤทธิ์
ข้าแต่พระมุนี ผู้พิพากษาของพระองค์ มีนามว่ากัสสปะ เป็นผู้เลิศในธุดงคคุณเป็นต้น เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งวงศ์เก่าแก่ มีเดชสูงยากที่จะเข้าถึงได้
ข้าแต่พระมุนี ผู้รักษา (คลัง) พระธรรมของพระองค์ มีนามว่าอานนท์ เป็นพหูสูต ทรงจำพระธรรมไว้ได้ และรู้ปาฐะทุกอย่างในพระศาสนา
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นมหาฤาษี ทรงตั้งพระเถระเหล่านั้นไปทั้งหมด แล้วทรงมอบหมายการวินิจฉัย (อธิกรณ์) ที่ท่านผู้เป็นปราชญ์แสดงไว้แล้วในพระวินัยให้แก่ข้าพเจ้า พุทธสาวกรูปใดรูปหนึ่งก็ตามถามปัญหาในพระวินัย ข้าพเจ้าไม่มีความคิดในเรื่องนั้นว่าจะบอกเรื่องอื่นนั่นแหละแก่เขาในพุทธเขตมีพุทธสาวกประมาณเท่าใดในพุทธสาวกจำนวนเท่านั้น ไม่มีผู้เสมอกับข้าพเจ้าในทางพระวินัย เว้นไว้แต่พระมหามุนี และผู้ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน
พระสมณโคดมประทับนั่ง ณ (ท่ามกลาง) ภิกษุสงฆ์ทรงเปล่งพระสุรเสียงอย่างนี้ว่า
พระอุบาลีไม่มีผู้เสมอเหมือน ทั้งในพระวินัยและขันธกะทั้งหลาย นวังคสัตถุศาสน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทั้งหมดนั้น หยั่งลงในพระวินัย พุทธสาวกมีประมาณเท่าใด มีปกติเห็นพระวินัยว่า พระวินัยเป็นรากเหง้า (ของนวังคสัตถุศาสน์นั้น)
|