บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
อรรถกถานาคสมาลเถรคาถาที่ ๑ เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านพระนาคสมาลเถระนี้บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา ในคิมหสมัยได้เห็นพระ ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในสักยราชตระกูล ได้นามว่านาคสมาละ เจริญวัยแล้วได้ศรัทธาบวชในสมาคมแห่งพระญาติ ได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค วันหนึ่ง ท่านเข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร เห็นหญิงนักฟ้อนคนหนึ่งประดับตกแต่งแล้วฟ้อนอยู่ ในเมื่อดนตรีกำลังประโคมอยู่ในหนทางใหญ่ เริ่มตั้งความสิ้นไปและความเสื่อมไปว่า วาโยธาตุอันกระทำให้วิจิตรนี้ย่อมเปลี่ยนแปร ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑- แผ่นดินร้อนดังเพลิง แผ่นดินดุจมีเถ้ารึงไหล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จจงกรมอยู่ที่กลางแจ้ง เรากั้นร่มขาวเดินทางไปได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าเข้าไปกลางแจ้งนั้น แล้วเกิดความคิดขึ้นว่า ภูมิภาคถูกพยับแดดแผ่คลุม แผ่นดินนี้จึงเป็นเหมือนถ่าน เพลิง พายุใหญ่ทำสรีรกายให้ลอยขึ้นได้ตั้งขึ้นอยู่ หนาวร้อนย่อมทำให้ลำบาก ขอได้โปรดรับร่มนี้อันเป็นเครื่องป้องกันลมและแดดเถิด ข้าพระองค์จักสัมผัสพระนิพพาน. พระชินเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงอนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา มีพระยศใหญ่ ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ทรงรับไว้ในกาลนั้น เราจักเป็นจอมเทวดา เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐ กัป ได้เป็นพระเจ้า เราได้เสวยกรรมของตนซึ่งก่อสร้างไว้ดีแล้วในปางก่อน นี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา ภพที่สุดกำลังเป็นไปอยู่ ถึงทุกวันนี้ชนทั้งหลายก็พากันกั้นเศวตฉัตรให้เราตลอดกาลทุกเมื่อ ในแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายร่มนั้นไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายร่ม เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระ ____________________________ ๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๔๗ ก็แลครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้พยากรณ์พระอรหัตผล โดยระบุข้อปฏิบัติของตนขึ้นเป็นประธานด้วย ๔ คาถาว่า เราเดินทางเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร ได้เห็นหญิงฟ้อนรำ คนหนึ่ง ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องอาภรณ์นุ่งห่มสวยงาม ทัด ทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์ ฟ้อนรำอยู่ในวงดนตรี ที่ถนนหลวง ท่ามกลางพระนคร เป็นดุจบ่วงแห่งมัจจุราชอัน ธรรมชาติมาดักไว้ เพราะฉะนั้น การกระทำไว้ในใจโดยอุบาย อันแยบคาย จึงบังเกิดขึ้นแก่เรา อาทีนวโทษปรากฏแก่เรา ความเบื่อหน่ายก็ตั้งลงมั่น ลำดับนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจาก สรรพกิเลส ขอท่านจงดูความที่แห่งธรรมเป็นธรรมอันดีเลิศ เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลงฺกตา ความว่า มีตัวประดับด้วยอาภรณ์มีกำไรมือเป็นต้น. บทว่า สุวสนา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มผ้าดี คือนุ่งผ้างาม. บทว่า มาลินี ได้แก่ ทัดทรงดอกไม้ คือมีพวงดอกไม้ประดับแล้ว. บทว่า จนฺทนุสฺสทา ได้แก่ มีร่างกายลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์. บทว่า มชฺเฌ มหาปเถ นารี ตูริเย นจฺจติ นฏฺฏกี ความว่า หญิงนักฟ้อนคือหญิงฟ้อนรำคนหนึ่งในสถานที่ตามที่กล่าวแล้ว ฟ้อนรำอยู่ในวงดนตรีมีองค์ ๕ ในท่ามกลางถนนพระนคร คือกระทำการฟ้อนรำอยู่ตามปรารถนา. บทว่า ปิณฺฑิกาย ได้แก่ เพื่อภิกษา. บทว่า ปวิฏฺโฐมฺหิ ได้แก่ เราเข้าไปยังพระนคร. บทว่า คจฺฉนฺโต นํ อุทิกฺขิสํ ความว่า เมื่อเดินไปบนถนนในพระนคร ตรวจดูถนนเพื่อกำจัดอันตราย ได้แลดูหญิงนักฟ้อนนั้น. ถามว่าเหมือนอะไร? แก้ว่า เหมือนบ่วงแห่งมัจจุราชอันธรรมชาติมาดักไว้. อธิบายว่า อารมณ์มีรูปเป็นต้นอันเป็นบ่วงแห่งมัจจุคือแห่งมัจจุราช อัน บทว่า ตโต แปลว่า เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ข้องอยู่เสมือนบ่วงแห่งมัจจุราช. บทว่า เม ได้แก่ เรา. บทว่า มนสีกาโร โยนิโส อุทปชฺชถ ความว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ว่า ร่างกระดูกนี้อันเอ็นเกี่ยวพันไว้ อันเนื้อฉาบทาไว้ อันผิวหนังปิดบังไว้ ไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดและปฏิกูล มีอันปิดบัง ย่ำยี ทำลาย กำจัดความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา จึงแสดงอาการอันแปลกเช่นนี้. บทว่า อาทีนโว ปาตุรหุ ความว่า เมื่อว่าโดยหัวข้อคือการเข้าไปทรงไว้ตามสภาวะของกายอย่างนี้ เมื่อเรามนสิการ ถือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป และความผุพังไปพร้อมด้วยกิจ (ตามความเป็นจริง) แห่งกายนั้น และแห่งจิตและเจตสิกอันอาศัยกายนั้น และเมื่อจิตและเจตสิกปรากฏโดยความเป็นภัย เหมือนเมื่อยักษ์และรากษสเป็นต้นปรากฏ อาทีนวโทษมีอาการเป็นอันมากปรากฏแก่เราในเพราะเหตุนั้น และย่อมได้รับอานิสงส์ในพระนิพพานโดยเป็นปฏิปักษ์ต่ออาทีนวโทษนั้น. บทว่า นิพฺพิทา สมติฏฺฐถ ความว่า ความเบื่อหน่ายย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งอาทีนวานุปัสสนา การตามพิจารณาเห็นโทษ คือนิพพิทาญาณย่อมสำเร็จแล้วในหทัยของเรา, จิตในการจับรูปธรรมและนามธรรมเหล่านั้น แม้เพียงครู่เดียวก็ไม่ปรากฏ. โดยที่แท้เกิด แต่เพียงวางเฉยในรูปธรรมนามธรรมนั้นเท่านั้น ด้วยอำนาจความเป็นผู้ใคร่จะพ้นเป็นต้น. บทว่า ตโต ความว่า เบื้องหน้าแต่วิปัสสนาญาณ. บทว่า จิตฺตํ วิมุจฺจิ เม ความว่า จิตของเราได้หลุดพ้นแล้วจากสรรพกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค ในเมื่อโลกุตรภาวนาเป็นไปอยู่. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงเหตุเกิดขึ้นแห่งผล. จริงอยู่ ในขณะแห่งมรรคจิต กิเลสทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมหลุดพ้น. ในขณะแห่งผลจิต กิเลสชื่อว่าหลุดพ้นแล้ว ฉะนี้แล. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. จบอรรถกถานาคสมาลเถรคาถาที่ ๑ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต ๑. นาคสมาลเถรคาถา จบ. |