ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 334อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 335อ่านอรรถกถา 26 / 336อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต
๑. ราชทัตตเถรคาถา

               อรรถกถาปัญจกนิบาต               
               อรรถกถาราชทัตตเถรคาถาที่ ๑               
               ในปัญจกนิบาต คาถาของท่านพระราชทัตตเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ภิกฺขุ สีวถิกํ คนฺตฺวา ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๑๔ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อโลกว่างพระพุทธเจ้า บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเข้าไปยังไพรวันด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนั่งที่โคนไม้ในไพรวันนั้น มีจิตเลื่อมใสได้ถวายผลมะกอก อันบริสุทธิ์ดี.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลแห่งพ่อค้าเกวียน ในกรุงสาวัตถี มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่าราชทัตตะ เพราะอาราธนาท้าวเวสวัณมหาราชได้มา.
               ท่านเจริญวัยแล้วเอาเกวียน ๕๐๐ เล่มบรรทุกสินค้า ได้ไปยังกรุงราชคฤห์โดยการค้าขาย.
               ก็สมัยนั้น หญิงแพศยาคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ มีรูปงามน่าดูน่าชม เพราะประกอบด้วยความเป็นผู้เลอโฉมอย่างยิ่ง จึงได้ทรัพย์วันละ ๑,๐๐๐.
               ครั้งนั้น บุตรของพ่อค้าเกวียนให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ แก่หญิงแพศยานั้นทุกๆ วัน สำเร็จการอยู่ร่วมกัน ไม่นานนัก ทรัพย์ทั้งหมดก็สิ้นไป เป็นคนทุกข์ยาก เมื่อไม่ได้วัตถุแม้สักว่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เที่ยวหมุนเวียนไปข้างโน้นข้างนี้ ได้ถึงความสังเวชแล้ว.
               วันหนึ่ง ท่านได้ไปยังพระเวฬุวันมหาวิหารกับอุบาสกทั้งหลาย.
               ก็สมัยนั้น พระศาสดาแวดล้อมไปด้วยบริษัทเป็นอันมาก ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่. ท่านนั่งอยู่ที่ท้ายบริษัท ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา ได้ศรัทธาบวชแล้ว สมาทานธุดงค์อยู่ในป่าช้า.
               ในกาลนั้น บุตรของพ่อค้าเกวียนคนหนึ่งได้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้วอยู่ร่วมกับหญิงแพศยานั้น และหญิงแพศยานั้นเห็นรัตนะมีค่ามากในมือของเขา ให้เกิดความโลภขึ้นจึงให้ผู้เป็นนักเลงเหล่าอื่นฆ่าให้ตายแล้วถือเอารัตนะนั้น.
               ลำดับนั้น พวกมนุษย์รู้เรื่องนั้นของบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นแล้ว จึงส่งพวกมนุษย์ผู้สอดแนมไป. มนุษย์ผู้สอดแนมเหล่านั้นได้เข้าไปยังเรือนหญิงแพศยานั้น ในเวลาราตรี พากันฆ่านางให้ตายโดยไม่ทำผิวให้ถลอก แล้วทิ้งไว้ในป่าช้า.
               พระราชทัตตเถระเที่ยวอยู่ในป่าช้าเพื่อถือเอาอสุภนิมิต เข้าไปเพื่อทำไว้ในใจซึ่งซากศพของหญิงเพศยานั้น โดยเป็นของปฏิกูล กระทำไว้ในใจโดยแยบคายสิ้นวาระเล็กน้อย กระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายโดยภาวะที่ตายแล้วไม่นาน โดยที่สุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกไม่กระทบกระทั่งผิวเป็นต้น และเป็นวัตถุวิสภาคไม่ถูกส่วนกัน ให้เกิดกามราคะขึ้นในร่างนั้น มีใจสลดยิ่งนัก อบรมจิตของตน หลีกไป ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง โดยครู่เดียว แล้วถือเอาเฉพาะอสุภนิมิตที่ปรากฏตั้งแต่ต้นเท่านั้น กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ทำฌานให้เกิดขึ้น ทำฌานนั้นให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตในขณะนั้นนั่นเอง.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เราได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้าผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้อะไร ในป่าใหญ่ จึงได้เอาผลมะกอกมาถวายแด่พระสยัมภู
               ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๒๗

               ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาการปฏิบัติของตน เกิดปีติโสมนัส ได้กล่าว ๕ คาถาเหล่านี้ว่า
                         ภิกษุไปป่าช้าผีดิบ ได้เห็นซากศพผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เขาทิ้ง
                         ไว้ในป่าช้า มีหมู่หนอนฟอนกัดกินอยู่ ก็ธรรมดาคนที่ชอบ
                         สวยชอบงามบางพวกได้เห็นซากศพ อันเป็นของเลวทราม
                         ย่อมเกลียด แต่ความกำหนัดรักใคร่ย่อมเกิดแก่เรา เราเป็น
                         เหมือนคนตาบอด เพราะไม่เห็นของไม่สะอาดที่ไหลออก
                         จากทวารทั้ง ๙ ในซากศพนั้น ภายในเวลาหุงข้าวหม้อหนึ่ง
                         สุก เราหลีกออกจากที่นั้น เรามีสติสัมปชัญญะ เข้าไปสู่ที่ควร
                         แห่งหนึ่งทีนั้น การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันชอบจึงเกิด
                         ขึ้นแก่เรา โทษปรากฏแก่เรา ความเหนื่อยหน่ายก็ตั้งมั่น
                         ลำดับนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจากกิเลส ขอท่านจงดูความที่
                         ธรรมเป็นธรรมดีเลิศเถิด เพราะวิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว เรา
                         ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุ สีวถิกํ คนฺตฺวา ความว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเห็นภัยในสงสาร เข้าไปใกล้ป่าช้าผีดิบ เพื่อต้องการอสุภกรรมฐาน.
               ก็คำว่า ภิกฺขุ นี้ พระเถระกล่าวคำนี้ด้วยตนเองหมายเอาตน.
               พึงทราบวิเคราะห์ในบทว่า อิตฺถึ ดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า ถี คือมาตุคาม เพราะเป็นที่ไปคือไหลไปแห่งเลือดคือสุกกะ โดยภาวะเป็นที่สืบต่อแห่งสัตว์.
               อนึ่ง เมื่อว่าด้วยภาษาเดิม ภาษาที่ถูกอย่างนี้ ท่านเรียกว่า อิตฺถี ดังนี้ก็มี
               อนึ่ง ในบรรดาหญิงมีหญิงหมันเป็นต้นก็มีบัญญัติว่าหญิง เพราะเป็นเสมือนกับหญิงนั้น และเพราะไม่ล่วงสภาวะความเป็นหญิงไปได้.
               ก็ด้วยบทว่า อิตฺถี นี้ พระเถระกล่าวถึงซากศพหญิง.
               บทว่า อุชฺฌิตํ แปลว่า อันสละแล้ว คืออันเขาทอดทิ้งแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่น่าติเตียนนั่นเอง ได้แก่อันเขาทิ้งแล้วโดยภาวะที่ไม่มีความอาลัย.
               บทว่า ขชฺชนฺตึ กิมิหี ผุฏํ ความว่า เป็นของเต็มไปด้วยหมู่หนอนกัดกินอยู่.
               บทว่า ยํ หิ เอเก ชิคุจฺฉนฺติ มตํ ทิสฺวาน ปาปกํ ความว่า ผู้ที่มีชาติหลุดพ้นพวกหนึ่งย่อมเกลียด ทั้งไม่ปรารถนาจะดูซากศพที่ชั่วช้าลามกซึ่งตายไปแล้ว เพราะปราศจากอายุไออุ่นและวิญญาณ.
               บทว่า กามราโค ปาตุรหุ ความว่า กามราคะ ได้ปรากฏคือได้เกิดแก่เราแล้ว เพราะไม่มีการใส่ใจโดยแยบคายเป็นกำลัง ในซากศพนั้น.
               บทว่า อนฺโธว สวตี อหุํ ความว่า ของอันไม่สะอาดไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ในซากศพนั้น เมื่อมันกำลังไหลอยู่ เราก็เป็นเหมือนคนบอดเพราะไม่เห็นของอันไม่สะอาด.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         คนกำหนัดย่อมไม่รู้อรรถ คนกำหนัดย่อมไม่รู้เห็นธรรม
                         ความมืดบอดย่อมมีในคราวที่คนถูกราคะครอบงำ.

               และอาจารย์บางพวกกล่าวว่า "ดูก่อนพราหมณ์ กามฉันท์แล กระทำซึ่งความเป็นดังคนบอด และว่ากระทำให้เป็นดังคนไม่มีจักษุ," แต่ในที่นี้ อาจารย์บางพวกลง อาคม แล้วกล่าวความว่า ความไม่เป็นไปในอำนาจเพราะถูกกิเลสกลุ้มรุม หรือเป็นไปในอำนาจแห่งกิเลส.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวบาลีว่า อนฺโธว อสติ อหุํ เราเป็นผู้ไม่มีสติดังคนบอด แล้วกล่าวว่า เราเป็นผู้เว้นจากสติเหมือนคนบอดเพราะกามราคะ แต่คำทั้งสองนั้นไม่มีในบาลี.
               บทว่า โอรํ โอทนปากมฺหา ความว่า ภายในเวลาที่หม้อข้าวสุกครั้งหนึ่ง คือข้าวสุกในทะนานแห่งข้าวสารที่ล้างเปียกชุ่มดีแล้ว ย่อมสุกโดยเวลาเท่าใด ภายในเวลาแต่กาลเท่านั้นนั่นแล โดยกาลรวดเร็วแม้แต่กาลนั้น เราเมื่อบรรเทาราคะหลีกออกจากที่นั้น ราคะเกิดขึ้นแล้วแก่เราผู้ยืนอยู่ในที่ใด เราหลีกไปแล้ว ปราศไปแล้วจากที่นั้น.
               เราหลีกไปมีสติมีสัมปชัญญะ เข้าไปตั้งสมณสัญญาไว้ ชื่อว่ามีสติ โดยมนสิการถึงสติปัฏฐาน และเป็นผู้ชื่อว่ามีสัมปชัญญะ เข้าไปใกล้ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้นั่งเข้าสมาธิ เพราะรู้สภาวะแห่งธรรมโดยชอบนั่นเอง
               คำว่า ก็เมื่อเรานั่งแล้ว แต่นั้นมนสิการเกิดขึ้นแก่เราแล้ว คือเกิดขึ้นแล้วโดยแยบคาย ดังนี้เป็นต้นทั้งหมด มีนัยดังกล่าวในหนหลังนั่นแลฉะนี้.

               จบอรรถกถาราชทัตตเถรคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต ๑. ราชทัตตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 334อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 335อ่านอรรถกถา 26 / 336อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6336&Z=6349
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=872
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=872
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :