ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 340อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 341อ่านอรรถกถา 26 / 342อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต
๗. คยากัสสปเถรคาถา

               อรรถกถาคยากัสสปเถรคาถาที่ ๗               
               คาถาของท่านพระคยากัสสปเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปาโต มชฺฌนฺหิกํ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี บังเกิดในเรือนมีตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ละการครองเรือนเพราะมีอัธยาศัยในการสลัดออก บวชเป็นดาบสสร้างอาศรมในราวป่า มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร.
               ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวไม่มีเพื่อน ได้เสด็จไปใกล้อาศรมของท่าน. ท่านถวายบังคมแล้วมีจิตเลื่อมใส เข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งตรวจดูเวลา แล้วได้น้อมผลพุทราอันน่ารื่นรมย์เข้าไปถวายแด่พระศาสดา.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว ละการครองเรือนเพราะมีอัธยาศัยในการสลัดออก บวชเป็นดาบสพร้อมด้วยดาบส ๒๐๐ คนอยู่ที่คยาประเทศ.
               ก็เพราะท่านอยู่ที่คยาประเทศ และเป็นกัสสปโคตร ท่านจึงได้ชื่อว่า "คยากัสสปะ."
               ท่านอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานเอหิภิกขุปสัมปทาพร้อมด้วยบริษัท แล้วทรงโอวาทด้วยอาทิตตปริยายสูตร ดำรงอยู่ในพระอรหัต.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ครั้งนั้น เรานุ่งหนังเสือ ห่มผ้าคากรอง บำเพ็ญวัตรจริยาอย่างหนัก ใกล้อาศรมของเรามีต้นพุทรา.
               ในกาลนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี เป็นเอก ไม่มีผู้เสมอสอง ทรงทำโลกให้ช่วงโชติอยู่ตลอดกาลทั้งปวง เสด็จเข้ามายังอาศรมของเรา เรายังจิตของตนให้เลื่อมใสและถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้มีวัตรอันงามแล้ว ได้เอามือทั้งสองกอบพุทรา ถวายแด่พระพุทธเจ้า
               ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้ เราได้ถวายพุทราใด ในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายพุทรา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ...พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๓๒

               ก็ท่านดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้วพิจารณาการปฏิบัติของตน
               เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผลโดยระบุการลอยบาปเป็นประธาน จึงได้กล่าว ๕ คาถาเหล่านี้ว่า
                                   เราลงไปลอยบาปในแม่น้ำคยา ที่ท่าคยผัคคุวันละ
                         ๓ ครั้ง คือเวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น เพราะคิดเห็นว่า
                         บาปใดที่เราทำไว้ในชาติก่อน บัดนี้เราจะลอยบาปนั้นใน
                         ที่นี้ ความเห็นอย่างนี้ได้มีแก่เราในกาลก่อน
                                   บัดนี้ เราได้ฟังวาจาอันเป็นสุภาษิต เป็นบทอัน
                         ประกอบด้วยเหตุผล แล้วพิจารณาเห็นเนื้อความได้ถ่อง
                         แท้ตามความเป็นจริง โดยอุบายอันชอบ จึงได้ล้างบาป
                         ทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีมลทิน หมดจดสะอาด เป็นทายาทผู้
                         บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุทรของ
                         พระพุทธเจ้า เราได้หยั่งลงสู่กระแสน้ำคือมรรคอันมีองค์
                         ๘ ลอยบาปทั้งปวงแล้ว เราได้บรรลุวิชชา ๓ และได้ทำ
                         กิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.

               บรรดาคาถาเหล่านั้น อันดับแรกมีความสังเขปดังต่อไปนี้ว่า
               ในเวลาเช้าคือในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ในเวลาเที่ยงวันคือในเวลากลางวัน ในตอนเย็นคือในเวลาเย็น.
               อธิบายว่า วันละ ๓ ครั้ง คือ ๓ วาระ เราลงน้ำและเรานั้นเมื่อลง ไม่ลงไปในเวลาใดเวลาหนึ่ง คือในบางครั้งบางคราว โดยที่แท้พากันกำหนดว่า การลอยบาปในแม่น้ำคงคา เมื่อถึงผัคคุนีนักขัตฤกษ์ ในอุตตรกาลแห่งผัคคุนีมาสอันได้นามว่าคยผัคคุ เราได้ประกอบพิธีลงสู่น้ำในแม่น้ำคยผัคคุ.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงอุบายอันเป็นเหตุประกอบพิธีการลงสู่น้ำในกาลนั้น จึงกล่าวคาถาว่า ยํ มยา ดังนี้เป็นต้น.
               คำเป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า
               เมื่อก่อนคือก่อนแต่การเข้าถึงศาสนาของพระศาสดาได้มีความเห็นอย่างนี้คือได้เห็นผิดแผกไปอย่างนี้ว่า บาปกรรมอันใดที่เราสั่งสมไว้ในกาลก่อน คือในชาติอื่นแต่ชาตินี้ บาปกรรมอันนั้น บัดนี้ลอยเสียคือทำให้ปราศไป คายเสีย ด้วยการลงสู่น้ำในท่าแม่น้ำคยานี้และในแม่น้ำคยาผัคคุนี้.
               บทว่า ธมฺมตฺถสหิตํ ปทํ เป็นบทแสดงไขโดยไม่ลบวิภัตติ.
               อธิบายว่า เราได้สดับวาจาอันเป็นภาษิต คือพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นส่วนที่ประกอบด้วยธรรมและอรรถ คืออันประกอบด้วยเหตุและผลในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด กระทำให้เป็นนิยยานิกะ นำสัตว์ออกด้วยดีโดยแท้จริง แล้วพิจารณาอรรถแห่งทุกข์เป็นต้น.
               ชื่อว่าถ่องแท้ เพราะเป็นของแท้โดยความเป็นปรมัตถ์. ชื่อว่าตามความเป็นจริง เพราะไม่มีความประพฤติผิดแผกในความเป็นอุบายแห่งความเป็นไป (ทุกข์) และการกลับ (นิโรธ) ตามสมควร.
               โดยอุบายอันแยบคาย คือโดยภาวะแห่งกิจมีการกำหนดรู้เป็นต้น คือพิจารณาว่า ทุกขสัจควรกำหนดรู้, สมุทัยสัจ ควรละ, นิโรธสัจ ควรกระทำให้แจ้ง, มรรคสัจ ควรทำให้เกิด.
               อธิบายว่า เห็นแล้ว แทงตลอดแล้วด้วยญาณจักษุ.
               บทว่า นินฺหาตสพฺพปาโปมฺหิ ความว่า เป็นผู้คายบาปทั้งปวงด้วยอริยมรรค อริยผล เพราะแทงตลอดสัจจะนั้นเองด้วยอาการอย่างนี้. เพราะเหตุนั้นนั่นแล เราจึงเป็นผู้ชื่อว่าหมดมลทินแล้ว เพราะไม่มีมลทินโดยไม่มีมลทินคือราคะเป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้นนั่นแล เราจึงเป็นผู้ชื่อว่าล้างแล้วสะอาดหมดจด เพราะมีกายสมาจารหมดจด เพราะมีวจีสมาจารหมดจด และเพราะมีมโนสมาจารหมดจด
               ชื่อว่าเป็นทายาท เพราะเป็นเบื้องต้นแห่งธรรมทายาทอันเป็นโลกุตระของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้ชื่อว่าหมดจด เพราะหมดจดจากมลทินคือกิเลสทั้งปวงพร้อมด้วยวาสนา.
               มีวาจาประกอบความว่า เป็นโอรสคือเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านั้นนั่นเอง เพราะมีอภิชาติอันเกิดแต่ความพยายามคืออกอันมีเทศนาญาณเป็นสมุฏฐาน.
               เพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นผู้อาบแล้วโดยปรมัตถ์แม้อีก จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า โอคยฺห เป็นต้นดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอคยฺห ความว่า ให้หยั่งลงแล้ว คือเข้าไปแล้วโดยลำดับ.
               บทว่า อฏฺฐงฺคิกํ โสตํ ได้แก่ กระแสแห่งมรรคอันเป็นที่ประชุมแห่งองค์ ๘ ด้วยองค์มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น.
               บทว่า สพฺพปาปํ ปวาหยึ ความว่า คายแล้วซึ่งมลทินคือบาปไม่มีส่วนเหลือ คือเป็นผู้อาบแล้วโดยปรมัตถ์ เพราะลอยเสียในแม่น้ำคืออริยมรรค.
               ต่อจากนั้นนั่นแล คำว่า เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว พุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้มีอรรถดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.

               จบอรรถกถาคยากัสสปเถรคาถาที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ปัญจกนิบาต ๗. คยากัสสปเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 340อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 341อ่านอรรถกถา 26 / 342อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6407&Z=6417
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=1386
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=1386
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :