ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 351อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 352อ่านอรรถกถา 26 / 353อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต
๖. สัปปทาสเถรคาถา

               อรรถกถาสัปปทาสเถรคาถาที่ ๖               
               คาถาของท่านพระสัปปทาสเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปณฺณวีสติ ดังนี้.
               เรื่องนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ได้ก่อสร้างกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน ไว้ในภพนั้นๆ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าสุทโธทนะในนครกบิลพัสดุ์ เขาได้มีชื่อว่าสัปปทาส. เขาเจริญวัยได้ความศรัทธาในคราวสมาคมพระญาติของพระศาสดา จึงบวช เพราะกิเลสครอบงำ จึงไม่ได้เจโตสมาธิ ประพฤติพรหมจรรย์ เกิดสลดใจ ภายหลังจึงนำศัสตรามา เจริญโยนิโสมนสิการก็ได้บรรลุพระอรหัต
               เมื่อจะพยากรณ์อรหัตผลจึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         นับตั้งแต่เราบวชมาแล้วได้ ๒๕ ปี ยังไม่เคยได้รับ
               ความสงบใจ แม้ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเลย เราไม่ได้เอกัคคตา
               จิต ถูกกามราคะครอบงำ ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำ
               ครวญออกไปจากที่อยู่ด้วยคิดว่า จักนำศัสตรามา ชีวิต
               ของเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า ก็คนอย่างเราจะลาสิกขา
               เสียอย่างไรได้ ควรตายเสียเถิดคราวนี้
                         เราได้ฉวยเอามีดโกนขึ้นไปนอนบนเตียง มีดโกน
               เล่มนั้น เรานำเข้าไปจ่อไว้แล้ว สามารถจะตัดเส้นเอ็นให้
               ขาดได้
                         ขณะนั้น โยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแก่เรา โทษปรากฏ
               แก่เรา ความเบื่อหน่ายในสังขารก็เกิดขึ้นแก่เรา เพราะ
               ความเบื่อหน่ายในสังขารนั้น จิตของเราหลุดพ้นแล้ว ขอ
               ท่านจงดูความที่ธรรมเป็นธรรมดีเถิด วิชชา ๓ เราได้บรรลุ
               แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺณวีสติวสฺสานิ ยโต ปพฺพชิโต อหํ ความว่า จำเดิมแต่ที่เราบวชนั้นเป็นเวลา ๒๕ ปี.
               บทว่า อจฺฉราสงฺฆาตมตฺตมฺปิ เจโตสนฺติ มนชฺฌคํ ความว่า เรานั้นประพฤติพรหมจรรย์มาตลอดกาลเท่านี้ ยังไม่ได้ความสงบใจ ความตั้งมั่นแห่งจิต ชั่วขณะแม้มาตรว่าลัดนิ้วมือเดียว คือแม้สักว่าดีดนิ้วมือ.
               ก็พระเถระไม่ได้เอกัคคตาจิตด้วยประการอย่างนี้ จึงกล่าวเหตุในข้อนั้นว่า ถูกกามราคะครอบงำ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฏิโต แปลว่า บีบคั้น. อธิบายว่า ครอบงำ.
               บทว่า พาหา ปคฺคยฺห กนฺทนฺโต ความว่า แหงนหน้าประคองแขนทั้งสองข้างคร่ำครวญว่า ในกาลที่เราบวชในพระศาสนาอันเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์แล้ว ไม่สามารถจะถอนตนขึ้นจากเปือกตมคือกิเลสได้นี้ เป็นไปไม่สมควรอย่างยิ่งในพระศาสนานี้.
               บทว่า วิหารา อุปนิกฺขมึ แปลว่า ออกไปภายนอกจากวิหารที่อยู่.
               เพื่อแสดงอุบายอันเป็นเหตุให้ออกไป ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เราจักนำศัสตรามา.
               วา ศัพท์ในบทว่า สตฺถํ วา อาหริสฺสามิ ในคาถานั้นเป็นวิกัปปัตถะ (คำแสดงความหมายให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง)
               ด้วย วา ศัพท์นั้น ท่านสงเคราะห์ชนิดของความมีอาทิว่า โดดจากต้นไม้หรือผูกคอตาย.
               บทว่า สิกฺขํ ได้แก่ อธิศีลสิกขา.
               บทว่า ปจฺจกฺขํ แปลว่า บอกคืน คือละเสีย.
               บาลีว่า ปจฺจกฺขา ดังนี้ก็มี อธิบายว่า ด้วยการบอกคืนสิกขา.
               บทว่า กาลํ แปลว่า ตาย. อธิบายว่า ชื่อว่าคนเช่นเราจะพึงตายด้วยการบอกคืนสิกขาได้อย่างไรเล่า.
               จริงอยู่ การบอกคืนสิกขา ชื่อว่าการตายในอริยวินัย.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุบอกคืนสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลวนั้น เป็นมรณะความตาย.
               ก็ในบาลีว่า สิกฺขํ ปจฺจกฺขาย มีวาจาประกอบความว่า ชื่อว่าคนเช่นเราพึงบอกคืนสิกขาแล้วกระทำกาละได้อย่างไรเล่า แต่จะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสิกขากระทำกาละ เพราะฉะนั้น เราจักนำศัสตรามา เราจะประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่.
               บทว่า ตทาหํ ได้แก่ ในคราวที่เราเบื่อหน่ายชีวิต เพราะไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ เพราะถูกกิเลสครอบงำ.
               บทว่า ขุรํ ได้แก่ มีดโกนที่ลับแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ศัสตราประดุจมีดโกน.
               บทว่า มญฺจกมฺหิ อุปาวิสึ ความว่า เพราะกลัวผู้อื่นห้าม เราจึงเข้าห้องแล้วนั่งบนเตียง.
               บทว่า ปรินีโต ได้แก่ นำเข้าไปใกล้แล้ว. อธิบายว่า พาดไว้ที่คอ.
               ด้วยบทว่า ธมนึ นี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่าเส้นเอ็นที่คอ ชื่อว่ากัณฐธมนิ ได้แก่ลำคอ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า เฉตฺตุํ แปลว่า เพื่อตัด.
               บทว่า ตโต เม มนสีกาโร โยนิโส อุทปชฺชถ ความว่า เราคิดว่าจักตายในคราวใด จึงเอามีดจ่อเพื่อตัดคอคือเส้นเอ็น ต่อจากนั้น เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ ปีติจึงเกิดขึ้นเพราะได้เห็นศีลบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ, กายของคนผู้มีใจประกอบด้วยปีติก็สงบ เพราะจิตของคนมีกายสงบซึ่งเสวยสุขอันปราศจากอามิส เป็นจิตตั้งมั่น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตโต ความว่า ภายหลังจากเอามีดจ่อที่คอ เมื่อเกิดบาดแผล จึงเกิดโยนิโสมนสิการอันข่มเวทนาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงการเกิดแห่งญาณ อันเป็นเครื่องพิจารณามรรคและผลที่ยิ่งกว่านั้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า โทษปรากฏแก่เรา ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

               จบอรรถกถาสัปปทาสเถรคาถาที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต ๖. สัปปทาสเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 351อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 352อ่านอรรถกถา 26 / 353อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6567&Z=6578
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=2474
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=2474
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :