ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 36อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 37อ่านอรรถกถา 26 / 38อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓
๙. วิสาลักขิวิมาน

               อรรถกถาวิสาลักขิวิมาน               
               วิสาลักขิวิมาน มีคาถาว่า กา นาม ตฺวํ วิสาลกฺขิ ดังนี้ เป็นต้น.
               วิสาลักขิวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตสัตตุทรงรับพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ได้รับมาสร้างพระสถูปและฉลองในกรุงราชคฤห์
               ลูกสาวช่างทำดอกไม้คนหนึ่งอยู่กรุงราชคฤห์ ชื่อสุนันทา เป็นอุบาสิกา เป็นอริยสาวิกา บรรลุโสดาบัน ได้ส่งพวงมาลัยและของหอมเป็นอันมากที่ส่งมาจากเรือนของบิดา ทำการบูชาพระเจดีย์ทุกๆ วัน. ทุกวันอุโบสถ นางได้ไปทำการบูชาด้วยตนเอง.
               ต่อมานางมีโรคอย่างหนึ่งเบียดเบียนถึงแก่กรรม ได้ไปเกิดเป็นบริจาริกาของท้าวสักกเทวราช. วันหนึ่ง นางได้เข้าไปยังสวนจิตรลดากับท้าวสักกะจอมเทพ. ณ ที่นั้น รัศมีของทวยเทพเหล่าอื่นถูกรัศมีของดอกไม้เป็นต้นกำจัด มีสีวิจิตรตระการตายิ่งนัก. แต่รัศมีของเทพธิดาสุนันทามิได้ถูกรัศมีดอกไม้เหล่านั้นครอบงำ คงอยู่เหมือนเดิม.
               ท้าวสักกเทวราชทรงเห็นดังนั้น มีพระประสงค์จะรู้สุจริตกรรมที่เทพธิดานั้นทำมา จึงได้สอบถามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ดูก่อนแม่เทพธิดาผู้มีตางาม เธอชื่อไรจึงได้มีหมู่นางฟ้าแวดล้อม เดินวนเวียนอยู่รอบๆ ในสวนจิตรลดาอันน่ารื่นรมย์ ในคราวที่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ล้วนแต่ขึ้นม้าขึ้นรถตกแต่งร่างกายงดงามเข้าไปยังสวนนั้นแล้วจึงมาในที่นี้.
               แต่เมื่อเธอมา พอมาถึงที่นี้กำลังเที่ยวในสวน รัศมีก็สว่างไสวไปทั้งสวนจิตรลดา แสงสว่างของสวนมิได้ปรากฏ รัศมีของเธอมาข่มเสีย ดูก่อนแม่เทพธิดาฉันถามเธอแล้ว ขอเธอจงบอกว่า นี้เป็นผลของกรรมอะไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กา นาม ตฺวํ คือ ในอัตภาพก่อน เธอชื่ออะไร. อธิบายว่า สมบัติคืออานุภาพเช่นนี้ของเธอได้มีขึ้นเพราะทำความดีไว้ ณ ที่ใด.
               บทว่า วิสาลกฺขิ คือ ผู้มีตางาม.
               บทว่า ยทา คือ ในกาลใด.
               บทว่า อิมํ วนํ ได้แก่ ใกล้สวนนี้มีชื่อว่า จิตรลดาวัน.
               บทว่า จิตฺรา โหนฺติ ได้แก่ ชื่อว่ามีลักษณะสวยงาม เพราะถึงพร้อมด้วยความวิเศษแม้จากแสงสว่างตามปกติ ของเครื่องประดับสรีระและผ้าเป็นต้นของตนโดยเคล้ากับรัศมีอันวิจิตรในสวนจิตรลดานี้.
               บทว่า อิธาคตา ได้แก่ มา คือ ถึงพร้อมกันในที่นี้ หรือว่าเป็นเหตุแห่งการมาถึงในที่นี้.
               บทว่า อิธ ปตตาย คือ เมื่อเทพธิดาเข้ามาถึงที่นี้.
               บทว่า เกน รูปํ ตเวทิสํ ความว่า เพราะเหตุไร รูป คือสรีระของเธอจึงเป็นเช่นนี้ คือมีรูปอย่างนี้. อธิบายว่า รูปของเธอข่มรัศมีสวนจิตรลดาจนหมด.
               ครั้นท้าวสักกะตรัสถามอย่างนี้แล้ว เทพธิดานั้นจึงได้ตอบด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ ผู้ทรงบำเพ็ญทานมาแต่กาลก่อน รูป คติ ฤทธิ์และอานุภาพของหม่อมฉันมีขึ้นด้วยกรรมใด ขอพระองค์จงทรงสดับกรรมนั้นเถิด.
               หม่อมฉันชื่อสุนันทา เป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์ ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล ยินดีในการแจกจ่ายทานทุกเมื่อ หม่อมฉันมีใจเลื่อมใสในท่านผู้ประพฤติตรง จึงได้ถวายผ้านุ่งห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะและประทีป ทั้งได้รักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอด ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมอยู่ในศีล ๕ เป็นนิตย์ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการพูดเท็จ จากการเป็นขโมย จากการประพฤตินอกใจ ไกลจากการดื่มน้ำเมา เป็นผู้ฉลาดในอริยสัจจธรรม เป็นอุบาสิกาของพระโคดมผู้มีจักษุ ผู้มียศ.
               ทาสีจากตระกูลญาติของหม่อมฉันนำดอกไม้มาให้ทุกวัน หม่อมฉันได้บูชาที่สถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกวัน
               อนึ่ง ในวันอุโบสถ หม่อมฉันมีใจเลื่อมใสได้ถือเอาดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ไปบูชาพระสถูปด้วยมือของตนเอง.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ รูป คติ ฤทธิ์และอานุภาพเช่นนี้มีขึ้นแก่หม่อมฉันเพราะกรรมนั้น มิใช่ว่าผลที่หม่อมฉันได้บูชาพระสถูปด้วยพวงมาลัย และที่หม่อมฉันได้รักษาศีลจะให้ผลเท่านั้นก็หามิได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ หม่อมฉันยังได้เป็นสกทาคามี ตามความหวังของหม่อมฉันอีกด้วย.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า คติ ได้แก่ เทวคตินี้ หรือการเกิด.
               บทว่า อิทฺธิ ได้แก่ เทพฤทธิ์นี้ หรือความสำเร็จสิ่งที่ประสงค์.
               บทว่า อานุภาโว ได้แก่ อำนาจ.
               เทพธิดาเรียกท้าวสักกะว่าปุรินททะ เพราะท้าวสักกะนั้นได้ให้ทานมาในกาลก่อน จึงเรียกว่าปุรินททะ.
               บทว่า ญาติกุลํ เทพธิดากล่าวหมายถึงเรือนของบิดา.
               บทว่า สทา มาลาภิหารติ ความว่า ทาสีจากตระกูลญาติได้นำดอกไม้มาให้หม่อมฉันทุกๆ วันตลอดเวลา.
               บทว่า สพฺพเมวาภิโรปยึ ความว่า หม่อมฉัน มิได้ใช้ดอกไม้และของอื่นๆ ทุกชนิดมีของหอมเป็นต้น ที่ทาสีนำมาจากเรือนของบิดาเพื่อประดับหม่อมฉันด้วยตนเอง แต่ได้นำไปบูชาพระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า อุโปสเถ จหํ คนฺตฺวา ความว่า ในวันอุโบสถหม่อมฉันไปยังที่ตั้งพระสถูป.
               บทว่า ยํ มาลํ อภิโรปยึ ความว่า ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้บูชาดอกไม้และของหอมที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าในครั้งนั้น.
               โยชนาแก้เป็น เตน กมฺเมน คือ ด้วยกรรมนั้น.
               บทว่า น ตํ ตาว วิปจฺจติ ความว่า หม่อมฉันเป็นผู้มีศีล.
               การรักษาศีลนั้น คือศีลที่หม่อมฉันรักษานั้นยังไม่ให้โอกาสที่จะได้ผลด้วยกำลังของบุญอันสำเร็จด้วยการบูชาก่อน คือยังไม่เริ่มให้ผล. อธิบายว่า ในอัตภาพต่อไป กรรมนั้นจึงจะมีผล.
               บทว่า อาสา จ ปน เม เทวินฺท สกทาคามินี สิยํ ความว่า ข้าแต่จอมเทพ ก็ความปรารถนาของหม่อมฉันว่า หม่อมฉันจะพึงเป็นสกทาคามีได้อย่างไรหนอ เป็นความปรารถนาเพื่ออริยธรรม มิใช่ปรารถนาเพื่อภพอันวิเศษ.
               เทพธิดาแสดงว่า ความปรารถนานั้นยังไม่สำเร็จเหมือนเนยใสที่หุงจากนมส้มตามต้องการ.
               บทที่เหลือมีนัยนี้เหมือนกัน.
               ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงบอกความนั้นแก่ท่านพระวังคีสเถระ ตามนัยที่พระองค์และเทพธิดานั้นกล่าวแล้ว.
               ท่านพระวังคีสะได้บอกแก่พระมหาเถระทั้งหลายผู้เป็นพระธรรมสังคาหกาจารย์ ครั้งทำสังคายนา. พระมหาเถระเหล่านั้นได้ยกเรื่องนั้นขึ้นสู่การสังคายนา ด้วยประการนั้นเอง.

               จบอรรถกถาวิสาลักขิวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓ ๙. วิสาลักขิวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 36อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 37อ่านอรรถกถา 26 / 38อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=1334&Z=1366
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=4041
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=4041
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :