ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 369อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 370อ่านอรรถกถา 26 / 371อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต
๑. กาฬุทายีเถรคาถา

               อรรถกถาทสกนิบาต               
               อรรถกถากาฬุทายีเถรคาถาที่ ๑               
               ในทสกนิบาต มีคาถาของท่านพระกาฬุทายีเถระ ว่า องฺคาริโน ดังนี้เป็นต้น.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านพระกาฬุทายีเถระแม้นี้เกิดในเรือนอันมีสกุล ในพระนครหังสวดี เมื่อฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งแห่งผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส แล้วทำกรรมตั้งความปรารถนาเพื่อตำแหน่งนั้นแล้ว.
               เขาทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิตแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก จึงถือปฏิสนธิในเรือนอำมาตย์ ในกรุงกบิลพัสดุ์นั่นแล ในวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ของพวกเราถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดา, เกิดก็เกิดในวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์เหมือนกัน ดังนั้น ในวันนั้นนั่นแหละ พวกญาติจึงให้เด็กนั้นนอนบนเทริดที่ทำด้วยเนื้อผ้าดีชนิดหนึ่ง พากันนำไปสู่ที่บำรุงของพระโพธิสัตว์.
               จริงอยู่ สหชาติ ๗ เหล่านี้คือ ต้นโพธิพฤกษ์ ๑ พระมารดาของพระราหุล ๑ ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ขุม ๑ ช้างตระกูลอาโรหนิยะ ๑ ม้า กัณฐกะ ๑ นายฉันนะ ๑ กาฬุทายี ๑ ได้เกิดพร้อมกับพระโพธิสัตว์ เพราะเกิดในวันเดียวกันนั่นแล.
               ครั้นในวันตั้งชื่อ พวกญาติก็พากันตั้งชื่อเขาว่าอุทายี เพราะเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตรื่นเริงเบิกบาน แต่เพราะมีผิวพรรณค่อนข้างดำไปหน่อย จึงปรากฏชื่อว่ากาฬุทายี.
               กาฬุทายีนั้นถึงความเจริญขึ้นแล้ว เมื่อจะเล่นตามประสาเด็กก็เล่นกับพระโพธิสัตว์.
               ต่อมาภายหลัง เมื่อพระโลกนาถเจ้าเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์แล้ว บรรลุพระสัพพัญญุตญาณตามลำดับ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว ทรงอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร.
               พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว ทรงส่งอำมาตย์ผู้หนึ่งมีบุรุษ ๑,๐๐๐ คนเป็นบริวารไป ด้วยตรัสสั่งว่า จงนำลูกเรามาในที่นี้.
               อำมาตย์นั้นไปเฝ้าพระศาสดาในเวลาทรงแสดงธรรม จึงยืนฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัท พร้อมด้วยบุรุษก็บรรลุพระอรหัต.
               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ ตรัสกะทุกคนนั้นว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด. ในขณะนั้นนั่นเอง คนทั้งหมดก็ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นดังพระเถระมีอายุ ๖๐ ปี.
               ก็จำเดิมแต่บรรลุพระอรหัตแล้ว พระอริยะทั้งหลายก็เป็นผู้มีตนเป็นกลาง เพราะฉะนั้น จึงมิได้กราบทูลแด่พระทสพลให้ทรงทราบ ถึงสาสน์ที่พระราชาส่งไป.
               พระราชาทรงดำริว่า ส่วนแห่งกำลังคนที่มอบหมายหน้าที่ให้ก็ไม่ยอมกลับมา ข่าวสาสน์ก็ไม่ได้ยินเลย ดังนี้แล้วจึงทรงส่งอำมาตย์อีกคนหนึ่งพร้อมด้วยบุรุษ ๑,๐๐๐ คนไปอีก.
               เมื่ออำมาตย์นั้นปฏิบัติตามกันอย่างนั้น พระราชาจึงทรงส่งอำมาตย์คนอื่นไปอีก รวมส่งบุรุษถึง ๙,๐๐๐ คนพร้อมกับอำมาตย์อีก ๙ คน ด้วยประการฉะนี้. คนทั้งหมดบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็พากันนิ่งเฉยเสีย.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า คนมีประมาณตั้งเท่านี้ ช่างไม่มีความรักเยื่อใยในเราเสียเลย ไม่ยอมกราบทูลคำอะไรๆ แด่พระทศพล เพื่อการเสด็จมาในที่นี้ แต่อุทายีคนนี้แลเป็นผู้มีวัยเสมอกันกับพระทศพล เคยร่วมเล่นฝุ่นมาด้วยกันและจักมีความรักเยื่อใยในเรา เราจักส่งเจ้าคนนี้ไปดังนี้ จึงทรงมีรับสั่งให้เรียกอุทายีนั้นมาแล้ว ตรัสว่า พ่อคุณเอ๋ย! พ่อพร้อมด้วยบุรุษเป็นบริวาร ๑,๐๐๐ คน จงไปยังกรุงราชคฤห์แล้ว นำพระทศพลมาให้ได้ ดังนี้แล้ว จึงทรงส่งไป
               ฝ่ายกาฬุทายีอำมาตย์นั้น เมื่อจะไปจึงกราบทูลว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม หากข้าพระองค์จักได้การบวชไซร้ข้าพระองค์จึงจักนำพระผู้มีพระภาคเจ้ามาในที่นี้ ดังนี้ มีพระดำรัสตอบว่า เธอจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขอให้แสดงบุตรแก่เราก็แล้วกัน ดังนี้แล้วจึงไปยังกรุงราชคฤห์ พอดีในเวลาพระศาสดาทรงแสดงธรรม จึงยืนฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัท พร้อมด้วยบริวารก็บรรลุพระอรหัต ดำรงอยู่ในความเป็นเอหิภิกขุ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑- :-
               เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ เสด็จดำเนินทางไกล เที่ยวจาริกไปในเวลานั้น เราได้ถือเอาดอกปทุม ดอกอุบลและดอกมะลิซ้อนอันบานสะพรั่ง และถือข้าวสุกชั้นพิเศษมาถวายแด่พระศาสดา.
               พระมหาวีรชินเจ้าเสวยข้าวชั้นพิเศษอันเป็นโภชนะที่ดี และทรงรับดอกไม้นั้นแล้ว ทรงยังเราให้รื่นเริงว่า ผู้ใดได้ถวายดอกปทุมอันอุดม เป็นที่ปรารถนา เป็นที่น่าใคร่ในโลกนี้แก่เรา ผู้นั้นทำกรรมที่ทำได้ยากนัก ผู้ใดได้บูชาดอกไม้และได้ถวายข้าวชั้นพิเศษแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
               ผู้นั้นจักได้เสวยเทวรัชสมบัติ ๑๘ ครั้ง ดอกอุบล ดอกปทุมและดอกมะลิซ้อน จะมีในเบื้องบนผู้นั้น ด้วยผลแห่งบุญนั้น ผู้นั้นจักสร้างหลังคาอันประกอบด้วยของหอมอันเป็นทิพย์ไว้ในอากาศ จักทรงไว้ในเวลานั้น จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ครั้ง จักได้เป็นพระราชาในแผ่นดินครอบครองพสุธา ๕๐๐ ครั้ง
               ในกัปที่แสน พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นปรารถนาในกรรมของตนอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักได้เป็นบุรุษผู้มีชื่อเสียง ทำความเพลิดเพลินให้เกิดแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย แต่ภายหลังผู้นั้นอันกุศลมูลตักเตือนแล้วจักบวช จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะ นิพพาน
               พระโคดมผู้เผ่าพันธุ์ของโลก จักทรงตั้งผู้นั้นซึ่งบรรลุปฏิสัมภิทา ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะในเอตทัคคสถาน ผู้นั้นมีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับ ไม่มีอุปธิ จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าอุทายี.
               เรากำจัดราคะ โทสะ โมหะ มานะและมักขะได้แล้ว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่ เรายังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงโปรดปราน มีความเพียร มีปัญญา และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลื่อมใส ทรงตั้งเราไว้ในเอตทัคคสถาน. คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา ๔ ... ฯลฯ ... คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๓๖

               ก็ท่านพระกาฬุทายี ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วจึงคิดว่า รอก่อน กาลนี้ยังไม่สมควร เพื่อการเสด็จไปสู่พระนครอันเป็นสกุลเดิมของพระทศพล, แต่เมื่อถึงฤดูฝนแล้ว ไพรสณฑ์จะมีดอกไม้บานสะพรั่ง จึงจักเป็นกาลเหมาะเพื่อการเสด็จไป บนภูมิภาคที่ดารดาษด้วยติณชาติเขียวขจี ดังนี้แล้วจึงเฝ้ารอกาล เมื่อถึงฤดูฝนแล้ว พอจะพรรณนาชมหนทางไปเพื่อการเสด็จไปยังพระนครอันเป็นสกุลเดิมของพระศาสดา
               จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกและใบ
               สีแดงดุจถ่านเพลิง ผลิผลสลัดใบเก่าร่วงหล่นไป หมู่ไม้เหล่านั้น
               งดงามรุ่งเรืองดุจเปลวเพลิง ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรใหญ่
               เวลานี้เป็นเวลาสมควรอนุเคราะห์หมู่พระญาติ
                         ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกบานงดงาม
               ดี น่ารื่นรมย์ใจ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทั่วทิศโดยรอบ ผลัดใบเก่า
               ผลิดอกออกผล เวลานี้เป็นเวลาสมควรจะหลีกออกไปจากที่นี้ ขอ
               เชิญพระพิชิตมารเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เถิด
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฤดูนี้ก็เป็นฤดูที่ไม่หนาวนัก ไม่ร้อน
               นัก เป็นฤดูพอสบาย ทั้งมรรคาก็สะดวก ขอพวกศากยะและโกลิยะ
               ทั้งหลาย จงได้เข้าเฝ้าพระองค์ที่แม่น้ำโรหิณี อันมีปากน้ำอยู่ทาง
               ทิศใต้เถิด ชาวนาไถนาด้วยความหวังผล หว่านพืชด้วยความหวัง
               ผล พ่อค้าผู้เที่ยวหาทรัพย์ ย่อมไปสู่สมุทรด้วยความหวังทรัพย์
                         ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ด้วยความหวังผลอันใด ขอความหวัง
               ผลอันนั้น จงสำเร็จแก่ข้าพระองค์เถิด ชาวนาหว่านพืชบ่อยๆ ฝน
               ตกบ่อยๆ ชาวนาไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร
               บ่อยๆ พวกยาจกเที่ยวขอทานบ่อยๆ ผู้เป็นทานบดีให้บ่อยๆ
               ครั้นให้บ่อยๆ แล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ
                         บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อม
               ยังสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาดตลอด ๗ ชั่วคน
                         ข้าพระองค์ย่อมเข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าประเสริฐกว่า
               เทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำให้สกุลบริสุทธิ์ เพราะพระองค์
               เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า เป็นนักปราชญ์ สมเด็จพระบิดา
               ของพระองค์ ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่าสุทโธทนะ
               สมเด็จพระนางเจ้ามายาพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระ
               พุทธมารดา ทรงบริหารพระองค์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์มาด้วยพระครรภ์
               เสด็จสวรรคตไปบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์ สมเด็จพระนางเจ้ามายาเทวี
               นั้น ครั้นสวรรคตจุติจากโลกนี้แล้ว ทรงพรั่งพร้อมด้วยกามคุณอัน
               เป็นทิพย์ มีหมู่นางฟ้าห้อมล้อมบันเทิงอยู่ด้วยเบญจกามคุณ
                         อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีสิ่งใดจะย่ำยีได้
               มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย ไม่มีผู้จะเปรียบปาน ผู้คงที่
                         ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นพระบิดาของพระพุทธเจ้า ผู้
               เป็นพระบิดาแห่งอาตมภาพ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นพระอัยกา
               ของอาตมภาพโดยธรรม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า องฺคาริโน ได้แก่ ถ่านเพลิง ซึ่งแปลว่า ดุจถ่านเพลิง.
               ชื่อว่า องฺคาริโน เพราะอรรถว่าหมู่ไม้ทั้งหลายเหล่านั้นมีดอกและใบ มีสีดังแก้วประพาฬแดง.
               อธิบายว่า ดุจฝนถ่านเพลิง เกลื่อนกล่นด้วยตุ่มดอกไม้โกสุมสีแดงเข้ม.
               บทว่า อิทานิ แปลว่า ในกาลนี้.
               บทว่า ทุมา แปลว่า ต้นไม้ทั้งหลาย.
               บทว่า ภทนฺเต ได้แก่ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน เพราะเหตุนั้น ท่านผู้ประกอบด้วยคุณวิเศษ เขาจึงเรียกว่า ภทนฺเต เพราะทำการลบ อักษรเสียอักษรหนึ่ง. แต่พระศาสดาเป็นผู้เลิศกว่าผู้ประกอบด้วยคุณวิเศษทั้งหลาย เพราะฉะนั้น คำว่า ภทนฺเต จึงเป็นคำร้องเรียกสำหรับพระศาสดา.
               ก็คำว่า ภทนฺเต นี้เป็นคำปฐมาวิภัตติ มีที่สุดอักษรเป็น เอ ดุจในประโยคเป็นต้นว่า ถ้าทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ก็ได้รับความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ บัณฑิตพึงเห็นว่า ภทนฺเต ลงในอรรถว่า การตรัสรู้ชอบ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภทนฺเต เป็นอาลปนะ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ภทนฺต ศัพท์เดียวที่มีในระหว่างบท มีความหมายเสมอกับ ภทฺท ศัพท์.
               ชื่อว่า ผเลสิโน เพราะอรรถว่า ย่อมต้องการเผล็ดผล.
               อธิบายว่า จริงอยู่ แม้เมื่อไม่มีเจตนา แต่กลับยกขึ้นสู่กิริยาที่มีเจตนาแล้ว กล่าวเหมือนปรารภที่จะเด็ดผล จนถึงเวลาที่เด็ดเอาผลอันเผล็ดแล้ว ย่อมมุ่งจะให้เหล่ากอสูญสิ้นไปฉะนั้น.
               บทว่า ฉทนํ วิปฺปหาย ได้แก่ สลัดใบไม้เก่าๆ คือใบไม้เหลืองทั่วไปทิ้งเสีย.
               บทว่า เต โยค ทุมา แปลว่า ต้นไม้เหล่านั้น.
               บทว่า อจฺจิมนฺโต ว ปภาสยนฺติ ความว่า ย่อมส่องสว่างทั่วทุกทิศดุจเปลวไฟ หรือดุจกองไฟที่ลุกโพลง.
               บทว่า สมโย ได้แก่ กาล คือกาลพิเศษแห่งคำว่า เพื่ออนุเคราะห์.
               บทว่า มหาวีร ได้แก่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความกล้าหาญมาก.
               บทว่า ภาคี รสานํ ได้แก่ ผู้มีส่วนแห่งอรรถรส.
               สมจริงดังคำที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรสและธรรมรส ดังนี้เป็นต้น.
               ก็คำว่า มหาวีร ภาคี แม้นี้ บัณฑิตพึงทราบทั้งสองคำว่า กล่าวมุ่งถึงการตรัสรู้.
               ก็พระราชาองค์ต้น ชื่อว่า ภคีรถ ในปาฐะว่า ภาคีรถานํ. อธิบายว่า พวกเจ้าศากยะเป็นพระราชาก่อน เพราะตั้งวงศ์ก่อนกว่าเขา เพื่ออุปการะพระราชาเหล่านั้น.
               บทว่า ทุมานิ ท่านกล่าวไว้โดยความเป็นลิงควิปลาส. ได้แก่ ทุมา แปลว่า ต้นไม้ทั้งหลาย.
               บทว่า สมนฺตโต สพฺพทิสา ปวนฺติ ความว่า หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกบานแล้ว ในทิศทั้งปวง โดยรอบ คือโดยทุกพื้นที่ เพราะบานแล้วอย่างนั้น จึงส่งกลิ่น คือปล่อยกลิ่นหอมฟุ้งไปทุกทิศ.
               บทว่า อาสมานา ได้แก่ หวังอยู่ คือต้องการจะเก็บเอาผล. พระเถระครั้นแสดงถึงความรื่นรมย์แห่งหนทางที่จะไป เพราะงดงามด้วยหมู่ไม้ อย่างนี้แล้ว บัดนี้จึงแสดงถึงความสมบูรณ์แห่งฤดู ด้วยคำว่า เนวาติสีตํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า สุขา ฤดูที่สบาย คือน่าปรารถนา เพราะความเป็นฤดูไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก.
               บทว่า อุตุ อทฺธนิยา ได้แก่ ฤดูประกอบด้วยหนทางไกล ที่ควรไป.
               บทว่า ปสฺสนฺตุ ตํ สากิยา โกลิยา จ ปจฺฉามุขํ โรหินิยํ ตรนฺตํ ความว่า แม่น้ำชื่อว่าโรหิณี มีปากน้ำอยู่ทางทิศใต้ ไหลไปทางทิศเหนือ ระหว่างสากิยะชนบทและโกลิยะชนบท. และไหลจากทิศตะวันออกเฉียงใต้แห่งแม่น้ำนั้นไปยังกรุงราชคฤห์ เพราะฉะนั้น เมื่อจะข้ามแม่น้ำจากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ จึงต้องข้ามที่ปากน้ำทางทิศใต้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปสฺสนฺตุ ตํ ฯ เป ฯ ตรนฺตํ ดังนี้เป็นต้น.
               พระเถระพยายามอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อการเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ว่า ชาวสากิยะและโกลิยะชนบทจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อล่วงถึงปากแม่น้ำโรหิณี ทางทิศใต้.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะประกาศความปรารถนาของตนด้วยข้ออุปมา จึงกล่าวคาถาว่า อาสาย กสเต ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อาสาย กสเต เขตฺตํ ความว่า ชาวนา เมื่อจะไถนาก็ไถนาด้วยความหวังผล.
               บทว่า พีชํ อาสาย วปฺปติ ความว่า ก็ครั้นไถแล้ว เมื่อจะหว่านพืชก็หว่านคือหยอดพืชด้วยความหวังผล.
               บทว่า อาสาย วาณิชา ยนฺติ ความว่า พวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ย่อมแล่นเรือไปสู่มหาสมุทร เพื่อข้ามมหาสมุทรคือเพื่อเข้าไปยังประเทศหนึ่ง ด้วยความหวังทรัพย์.
               บทว่า ยาย อาสาย ติฏฺฐามิ ความว่า พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็อยู่ในที่นี้ด้วยความหวัง คือความปรารถนาผลอันใด คือด้วยความต้องการจะให้พระองค์เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์, ขอความหวังข้อนั้นของข้าพระองค์จงสำเร็จเถิด, พระองค์ควรเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ได้แล้ว ดังนี้,
               ก็ในข้อนี้ พระเถระกล่าวถึงความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำว่า อาสา เพราะเป็นเช่นกับความหวัง.
               พระเถระเพื่อจะแสดงถึงเหตุแห่งการอ้อนวอนตั้งหลายครั้ง โดยมีการพรรณนาถึงหนทางที่จะเสด็จไปเป็นต้น จึงกล่าวคำว่า ปุนปฺปุนํ ดังนี้เป็นอาทิ.
               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า :-
               เมื่อหว่านพืชด้วยเพียงการหว่านครั้งเดียวยังไม่สมบูรณ์ พวกชาวนาย่อมหว่านพืชบ่อยๆ คือหว่านซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ ที่ ๓ อีก. แม้เทพเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งฝนไม่ตกครั้งเดียวเท่านั้น แต่ตกบ่อยๆ คือตกตามฤดูกาลที่สมควร. ถึงพวกชาวนาก็มิใช่ไถนาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ไถนาบ่อยๆ เพื่อทำดินให้ร่วน หรือทำโคลนให้เป็นเทือก อันจะมีประโยชน์ทำให้ข้าวกล้าสมบูรณ์.
               แว่นแคว้นย่อมเข้าถึงคือเข้าถึงความสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร มีข้าวสาลีเป็นต้นบ่อยๆ ที่พวกมนุษย์น้อมนำเข้าไป ด้วยอำนาจการเก็บไว้ในยุ้งฉางเป็นต้น เพราะทำการสงเคราะห์ธัญชาติครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ยินดีว่า เท่านี้ก็เพียงพอละ.
               แม้พวกยาจกเที่ยวไป คือเข้าไปขอยังสกุลทั้งหลายบ่อยๆ มิใช่ขอเพียงครั้งเดียวเท่านั้น. ฝ่ายพวกทานบดีที่ถูกพวกยาจกเหล่านั้นขอแล้วก็ให้บ่อยๆ มิใช่ให้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น.
               ก็พวกทานบดี ครั้นให้ไทยธรรมบ่อยๆ อย่างนั้นแล้ว คือสั่งสมบุญที่สำเร็จด้วยทานไว้แล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ คือไปๆ มาๆ ได้แก่ ย่อมเข้าไปถึงเทวโลก ด้วยอำนาจการถือปฏิสนธิ. อธิบายว่า เพราะฉะนั้น แม้ข้าพระองค์ก็จะอ้อนวอนบ่อยๆ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงยังมโนรถของข้าพระองค์ให้ถึงที่สุดเถิด.
               บัดนี้ พระเถระอ้อนวอนพระศาสดาจะให้เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อประโยชน์ใด เพื่อจะแสดงซึ่งประโยชน์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า วีโร หเว ดังนี้เป็นต้น.
               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า :-
               บุรุษผู้มีความเพียร มีความอาจหาญ มีปัญญากว้างขวาง คือมีปัญญามากเกิด คือเกิดในสกุลใดย่อมชำระคนในสกุลนั้นตลอด ๗ ชั่วคนคือคู่แห่งบุรุษ ๗ จนถึงปิตามหยุคะที่ ๗ ให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยสัมมาปฏิบัติโดยส่วนเดียว เพราะเหตุนั้นจะป่วยกล่าวไปไยถึงวาทะของชาวโลกที่เป็นคำติเตียน จักมีในชนเหล่าอื่นเล่า.
               ข้าพระองค์ย่อมเข้าใจว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ประเสริฐ เพราะพระองค์เป็นเทพเจ้าผู้สูงสุดกว่าเทพเจ้าทั้งปวง ย่อมทรงอาจสามารถเพื่อทำสกุลแม้ที่นอกเหนือไปกว่านั้นให้บริสุทธิ์ได้ด้วยการห้ามเสียจากความชั่ว และด้วยการให้ดำรงอยู่ในความดี.
               เพราะเหตุไร? เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่าเป็นนักปราชญ์.
               อธิบายว่า
               เพราะความที่พระองค์ผู้พระศาสดาเกิดแล้วโดยอริยชาติ เป็นนักปราชญ์ พระองค์เป็นผู้รู้ จึงได้พระนามตามความจริงว่ามุนี เพราะอรรถว่ารู้ประโยชน์ส่วนพระองค์ และประโยชน์ส่วนสังคม และเพราะอรรถว่ารู้ซึ่งโลกนี้และโลกหน้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีความรู้ ชื่อว่ามุนิ. พระองค์มีพระนามตามความเป็นจริงว่า สมณะ บรรพชิต ฤาษี ดังนี้ ฉะนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุแห่งการได้เฉพาะซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียวแก่ปวงสัตว์ ข้าพระองค์จึงทูลอ้อนวอนพระองค์ เพื่อการเสด็จไปในกรุงกบิลพัสดุ์นั้น.
               บัดนี้ เมื่อพระเถระกล่าวว่า สตฺตยุคํ ดังนี้แล้ว เพื่อจะแสดงยุคะแห่งบิดาจึงกล่าวคำว่า สุทฺโธทโน นาม ดังนี้เป็นต้น.
               ชื่อว่า สุทฺโธทโน เพราะอรรถว่าผู้มีข้าวบริสุทธิ์เป็นชีวิต.
               จริงอยู่ พระพุทธบิดาผู้มีกายสมาจาร วจีสมาจารและมโนสมาจารอันบริสุทธิ์พิเศษโดยส่วนเดียว จึงเป็นผู้มีอาชีพอันบริสุทธิ์ดี เพราะพระองค์เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอภินิหารอย่างนั้น.
               บทว่า มายนามา ได้แก่ ได้นามว่ามายา เพราะพระองค์มีพระคุณที่หมู่ญาติและมิตรเป็นต้น จะพึงกล่าวว่า อย่าไปเลย ดังนี้ เหตุสมบูรณ์ด้วยคุณมีสกุล รูปร่าง ศีลและมารยาทเป็นต้น.
               บทว่า ปริหริยา แปลว่า ประคับประคอง.
               บทว่า กายสฺส เภทา ได้แก่ เบื้องหน้าแต่กายของตนล่วงลับไป ก็เป็นเช่นกับเจดีย์ของชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก.
               บทว่า ติทิวมฺหิ ได้แก่ ในดุสิตเทวโลก.
               บทว่า สา โยค มายาเทวี แปลว่า สมเด็จพระนางเจ้ามายาเทวีนั้น.
               บทว่า โคตมี ความว่า พระเถระ ระบุถึงพระนางเจ้าโดยพระโคตร.
               บทว่า ทิพฺเพหิ กาเมหิ ได้แก่ ด้วยวัตถุกามอันเป็นทิพย์ ที่นับเนื่องด้วยภพชั้นดุสิต,
               บทว่า สมงฺคิภูตา แปลว่า ประกอบพร้อมแล้ว.
               บทว่า กามคุเณหิ ได้แก่ ด้วยส่วนแห่งกามคุณทั้งหลาย.
               ก็ครั้นกล่าวว่า กาเมหิ ดังนี้แล้ว จึงแสดงว่า ย่อมบำรุงบำเรอด้วยวัตถุกามอันมีส่วนมากมาย ด้วยคำว่า กามคุเณหิ ดังนี้.
               บทว่า เตหิ ความว่า บังเกิดแล้วในหมู่เทพชั้นใด อันหมู่เทพชั้นดุสิตเหล่านั้นห้อมล้อมหรือบันเทิงอยู่ด้วยกามคุณเหล่านั้น.
               ก็คำว่า สมงฺคิภูตา ปริวาริตา นี้ ท่านแสดงเป็นอิตถีลิงค์ ที่หมายถึงอัตภาพในกาลก่อนซึ่งสำเร็จเป็นหญิง หรือหมายถึงความเป็นเทวดา. ส่วนการอุปบัติของเทพเกิดโดยความเป็นบุรุษเท่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระเถระอ้อนวอนแล้วอย่างนั้น ทรงเห็นว่า ประชาชนเป็นอันมากจะได้บรรลุคุณวิเศษ ในเพราะการเสด็จไปในกรุงกบิลพัสดุ์นั้น จึงมีพระขีณาสพ ๒๐,๐๐๐ รูปแวดล้อมแล้วเสด็จดำเนินไปยังหนทางที่จะไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ โดยการเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ไม่รีบด่วนนัก.
               พระเถระเข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยฤทธิ์ ยืนท่ามกลางอากาศ ข้างหน้าพระราชา. พระราชาทรงเห็นเพศที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร?
               เมื่อจะแสดงว่า ถ้าพระองค์จำอาตมภาพผู้เป็นบุตรอำมาตย์ที่พระองค์ส่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ไซร้ ขอพระองค์จงทรงรู้อย่างนี้เถิด ดังนี้
               จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า
                                   อาตมภาพ เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีสิ่งใดย่ำยีได้
                         มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย ไม่มีผู้เปรียบปาน ผู้คงที่
                                   ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นพระบิดาของพระพุทธเจ้า
                         ผู้เป็นพระบิดาแห่งอาตมภาพ ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็น
                         พระอัยกาของอาตมภาพโดยธรรม.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธสฺส ปุตฺโตมฺหิ ความว่า อาตมภาพเป็นบุตรผู้เป็นโอรสของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เพราะเกิดในอก.
               บทว่า อสยฺหสาหิโน ความว่า ชื่อว่าไม่มีใครจะย่ำยีได้ เพราะคนเหล่าอื่นไม่อาจเพื่อจะอดกลั้นนำไปซึ่งพระมหาโพธิสัตว์ เว้นไว้แต่ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้ คือเพราะการอดกลั้น การนำไปซึ่งโพธิสมภารและบุญญาธิการที่เป็นส่วนพระมหากรุณาทั้งสิ้น ใครๆ ย่ำยีไม่ได้.
               แม้ที่ยิ่งไปกว่านั้น เพราะข่มครอบงำมาร ๕ ที่ใครๆ ไม่อาจจะครอบงำได้เด็ดขาด เพราะคนเหล่าอื่นไม่สามารถจะข่มครอบงำได้ และเพราะอดทนต่อพุทธกิจที่คนเหล่าอื่นอดทนไม่ได้ กล่าวคือคำพร่ำสอนด้วยทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์ แก่เวไนยสัตว์ผู้สมควร ด้วยการหยั่งรู้ถึงการจำแนกสัตว์ต่างๆ ตามอาสยะ อนุสัย จริตและอธิมุตติ เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอสัยหสาหิโน เพราะความที่พระองค์ทรงบำเพ็ญคุณงามความดีในข้อนั้นไว้.
               บทว่า องฺคีรสสฺส ได้แก่ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณมีศีลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแล้วเป็นต้น. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายทุกส่วน ดังนี้. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อ ๒ ชื่อคือพระอังคีรสและพระสิทธัตถะนี้ พระพุทธบิดาเท่านั้นทรงขนานพระนามถวาย.
               บทว่า อปฺปฏิมสฺส ได้แก่ ไม่มีผู้เปรียบเสมอ.
               ชื่อว่า ตาทิโน เพราะสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะที่คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์.
               บทว่า ปิตุปิตา มยฺหํ ตุวํสิ ความว่า โดยโลกโวหาร พระองค์เป็นพระบิดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบิดาของอาตมภาพ โดยอริยชาติ.
               พระเถระเรียกพระราชาโดยชาติว่า สกฺก.
               บทว่า ธมฺเมน ได้แก่ โดยสภาวะ คืออริยชาติและโลกิยชาติ.
               พระเถระเรียกพระราชาโดยพระโคตรว่า โคตม.
               บทว่า อยฺยโกสิ ความว่า พระองค์เป็นพระบิดาใหญ่ (ปู่). ก็ในคาถานี้ พระเถระเมื่อจะกล่าวคำเริ่มต้นว่า พุทฺธสฺส ปุตฺโตมฺหิ ดังนี้จึงได้พยากรณ์ความเป็นพระอรหัตไว้.
               ก็พระเถระครั้นแสดงตนให้พระราชาทรงรู้จักอย่างนั้นแล้ว ได้รับการนิมนต์จากพระราชาผู้ทรงเบิกบานสำราญพระทัย ให้นั่งบนบัลลังก์อันมีค่ามากแล้ว พระราชาก็ทรงบรรจุโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ที่เขาจัดแจงไว้เพื่อพระองค์ ถวายแล้ว จึงแสดงอาการจะไป.
               ก็เมื่อพระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงประสงค์จะไปเสียเล่า? จงฉันก่อนเถอะ. พระเถระจึงตอบว่า อาตมภาพจักไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว จึงจักฉัน. พระราชาตรัสถามว่า ก็พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน? พระเถระตอบว่า พระศาสดามีภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูปกำลังเสด็จดำเนินมาตามหนทาง เพื่อเฝ้าพระองค์แล้ว.
               พระราชาตรัสว่า นิมนต์ท่านฉันบิณฑบาตนี้เสียก่อนที่บุตรของเราจะมาถึงพระนครนี้ แล้วถึงค่อยนำบิณฑบาตจากที่นี้ไปเพื่อ บุตรของเราตอนหลัง.
               พระเถระกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว บอกธรรมถวายแด่พระราชาและบริษัท ก่อนหน้าพระศาสดาเสด็จมานั่นเทียว ก็ทำคนในพระราชนิเวศน์ทั้งหมดให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย. เมื่อคนทั้งหมดกำลังเห็นอยู่นั่นแหละ ก็ปล่อยบาตรที่เต็มด้วยภัตรอันตนนำมาเพื่อถวายพระศาสดา ในท่ามกลางอากาศ แม้ตนเองก็เหาะขึ้นสู่เวหาสแล้ว น้อมเอาบิณฑบาตเข้าไปวางบนพระหัตถ์ ถวายพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงเสวยบิณฑบาตนั้นเสร็จแล้ว. เมื่อพระเถระเดินทางวันละ ๑ โยชน์ สิ้นหนทาง ๑๐ โยชน์อย่างนี้ นำเอาภัตตาหารจากกรุงราชคฤห์มาถวายแด่พระศาสดา.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทำสกุลให้เลื่อมใสว่า เธอทำคนในพระราชนิเวศน์ทั้งหมดของพระมหาราชเจ้าผู้พระบิดาของเรา ให้เลื่อมใสได้ ดังนี้แล.

               จบอรรถกถากาฬุทายีเถรคาถาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต ๑. กาฬุทายีเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 369อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 370อ่านอรรถกถา 26 / 371อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6913&Z=6945
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=4191
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=4191
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :