ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 371อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 372อ่านอรรถกถา 26 / 373อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต
๓. มหากัปปินเถรคาถา

               อรรถกถามหากัปปินเถรคาถาที่ ๓               
               คาถาของท่านพระมหากัปปินเถระ มีเริ่มต้นว่า อนาคตํ โย ปฏิกจฺจ ปสฺสติ ดังนี้เป็นต้น.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านพระมหากัปปินเถระนี้บังเกิดในเรือนมีสกุล ในนครหังสาวดี รู้เดียงสาแล้วฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุ จึงกระทำบุญญาธิการที่จะเป็นเหตุให้เกิดตำแหน่งนั้นแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น.
               เขาทำกุศลในภพนั้นจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีสกุล ในกรุงพาราณสี รู้เดียงสาแล้ว เป็นหัวหน้าหมู่คน ๑,๐๐๐ คน ร่วมช่วยกันสร้างบริเวณใหญ่อันประดับด้วยห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง.
               ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดทำกุศลจนตลอดชีวิต มอบหน้าที่ให้อุบาสกนั้นพร้อมด้วยบุตรและภริยา พากันบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลก เป็นหัวหน้าและมนุษยโลก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง.
               ในคนเหล่านั้น หัวหน้าคณะ ก่อนหน้าแต่พระศาสดาของพวกเรา ทรงบังเกิดขึ้นนั่นแล ทรงบังเกิดในพระราชวัง ในพระนครชื่อว่ากุกกุฏะ ในปัจจันตประเทศ พระกุมารนั้นมีพระนามว่ากัปปินะ.
               พวกบุรุษที่เหลือพากันบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ ในนครนั้นนั่นแหละ. พอพระราชบิดาเสด็จล่วงไป กัปปินกุมารทรงได้รับเศวตฉัตร เป็นพระเจ้ามหากัปปินะ.
               พระเจ้ามหากัปปินะนั้น เพราะพระองค์ได้ฟังสมบัติอันน่าปลื้มใจ พอเช้าตรู่ก็ทรงส่งพวกราชทูตไปตามประตูเมืองทั้ง ๔ โดยพลันว่า พวกเจ้ากลับจากที่ที่พบเห็นพวกพหูสูตแล้ว จงบอกให้เราทราบเถิด.
               ก็โดยสมัยนั้น พระศาสดาของพวกเราเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงอาศัยกรุงสาวัตถีประทับอยู่.
               ในกาลนั้น พวกพ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีพากันถือเอาสิ่งของที่เกิดขึ้นในกรุงสาวัตถี ไปสู่พระนครนั้นแล้ว เก็บสิ่งของแล้วพากันคิดว่า พวกเราจักเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว แล้วพากันถือบรรณาการไป กราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาทรงให้เรียกเขาเหล่านั้นมาแล้ว เมื่อพวกเขามอบถวายบรรณาการแล้วยืนไหว้ จึงตรัสถามว่า พวกเจ้าพากันมาจากไหน? พวกเขากราบทูลว่า จากกรุงสาวัตถี พระเจ้าข้า.
               พระราชาจึงตรัสถามว่า ที่แว่นแคว้นมีภิกษาหาได้ง่ายแลหรือ พระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรมหรือเปล่า? พวกเขากราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ.
               พระราชาตรัสถามว่า ในประเทศของพวกเจ้า มีธรรมเช่นไรที่กำลังเป็นไปในบัดนี้.
               พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้อนั้น พวกข้าพระองค์มิอาจจะกราบทูลด้วยทั้งใบหน้าอันเศร้าหมอง พระเจ้าข้า.
               พระราชาจึงทรงพระราชทานน้ำด้วยพระสุวรรณภิงคาร.
               พวกพ่อค้าเหล่านั้นล้างหน้าแล้ว จึงบ่ายหน้าไปทางพระทศพล ประคองอัญชลีแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาว่า พระพุทธรัตนะอุบัติขึ้นแล้ว ในประเทศของพวกข้าพระองค์.
               เพียงได้สดับคำว่า พุทฺโธ เท่านั้น ปีติก็เกิดขึ้นแผ่ไปทั่วพระสรีระทั้งสิ้นของพระราชา.
               ต่อแต่นั้น พระราชาก็ตรัสว่า พ่อคุณทั้งหลาย พ่อจงกล่าวคำว่า พุทฺโธ อีกเถิด. พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์ขอกล่าวย้ำอีกว่า พุทฺโธ.
               พระราชารับสั่งให้พวกพ่อค้ากล่าวอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ทรงเลื่อมใสในบทนั้นนั่นแลว่า บทว่า พุทฺโธ เป็นบทที่มีคุณหาประมาณมิได้ ดังนี้แล้ว พระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้แล้วตรัสถามว่า พ่อคุณจงพากันกล่าวบทอื่นอีกเถิด.
               พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาว่า พระธรรมรัตนะอุบัติขึ้นแล้วในโลก.
               พระราชาทรงสดับบทแม้นั้นแล้วพระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้เหมือนอย่างนั้นแล แล้วตรัสถามว่า พ่อคุณจงพากันกล่าวบทอื่นอีกเถิด. พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระสังฆรัตนะอุบัติขึ้นแล้ว.
               พระราชาทรงสดับบทแม้นั้นแล้วพระราชทานทรัพย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ให้แล้วเสด็จออกจากที่นั้นด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า.
               แม้พวกอำมาตย์ก็ออกไปแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน.
               พระราชาพร้อมด้วยอำมาตย์ ๑,๐๐๐ คนเสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว ทรงกระทำสัจจะอธิษฐานว่า ถ้าพระศาสดาทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะจริงไซร้ ขอน้ำจงอย่าเปียกแม้เพียงกีบเท้าม้าเหล่านี้เลย แล้วเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาอันเต็มเปี่ยมไปบนหลังน้ำนั่นแล เสด็จข้ามแม่น้ำแม้อื่นอีกที่กว้างตั้งกึ่งโยชน์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เสด็จถึงแม่น้ำใหญ่สายที่ ๓ ชื่อว่าจันทภาคาแล้ว เสด็จข้ามแม่น้ำแม้นั้น ด้วยการทำสัจจะอธิษฐานนั้นเหมือนกัน.
               ในเวลาใกล้รุ่งวันนั้นเอง แม้พระศาสดาทรงออกจากพระมหากรุณาสมาบัติแล้ว ทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นว่า วันนี้พระเจ้ามหากัปปินะจะทรงสละละราชสมบัติ พร้อมด้วยอำมาตย์ผู้เป็นบริวาร ๑,๐๐๐ คนจักเดินทางมาสิ้นหนทาง ๓๐๐ โยชน์ เพื่อบวชในสำนักของเรา แล้วทรงดำริว่า เราควรทำการต้อนรับพวกเขาเหล่านั้น แล้วทรงทำการชำระพระสรีระแต่เช้าตรู่ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต เฉพาะพระองค์เองเท่านั้น เสด็จไปทางอากาศ ประทับนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ที่โคนต้นนิโครธใหญ่ ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ ประการไป ณ ที่เฉพาะ ต่อท่าที่พระราชาเป็นต้นเหล่านั้นข้ามที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา.
               พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นกำลังพากันข้ามท่านั้นอยู่ ก็พลันแลดูพระพุทธรัศมีที่แผ่ซ่านไปทางโน้นทางนี้ ทรงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงความตกลงใจด้วยการเห็นเท่านั้นว่า พวกเรามาเพื่อมุ่งพระศาสดาพระองค์ใด นี่คือพระศาสดาพระองค์นั้นแน่นอน ดังนี้แล้ว ตั้งแต่ที่ที่เห็นแล้วก็น้อมกายลง กระทำการนอบน้อมเป็นอย่างยิ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระราชาทรงจับที่ข้อพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา แล้วประทับนั่งพร้อมกับอำมาตย์ ๑,๐๐๐ คน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นแล้ว. ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พระราชาพร้อมกับบริษัท ทรงดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑- :-
               พระพิชิตมารผู้ทรงรู้จบธวรมทั้งปวงพระนามว่าปทุมุตตระ ปรากฏในอัษฎากาศเหมือนพระอาทิตย์ปรากฏในอากาศ ในสรทกาลฉะนั้น พระองค์ยังดอกบัวคือเวไนยสัตว์ให้บานด้วยพระรัศมีคือพระดำรัส สมเด็จพระโลกนายกทรงยังเปือกตมคือกิเลส ให้แห้งไปด้วยพระรัศมีคือพระปรีชา ทรงกำจัดยศของพวกเดียรถีย์เสียด้วยพระญาณปานดังเพชร เหมือนพระอาทิตย์กำจัดความมืดฉะนั้น
               สมเด็จพระทิพากรเจ้าทรงส่องแสงสว่างจ้า ทั้งกลางคืนและกลางวัน ในที่ทุกหนทุกแห่ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณ เหมือนสาครเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ ทรงยังเมฆ คือธรรมให้ตกลงเพื่อหมู่สัตว์ เหมือนเมฆยังฝนให้ตกฉะนั้น.
               ครั้งนั้น เราเป็นผู้พิพากษาอยู่ในพระนครหังสวดี ได้เข้าไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าปทุมุตตระ ซึ่งกำลังประกาศคุณของพระสาวกผู้มีสติ ผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายอยู่ ทรงยังใจของเราให้ยินดี เราได้ฟังแล้วเกิดมีปีติโสมนัส นิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยศิษย์ ให้เสวยและฉันแล้ว ปรารถนาฐานันดรนั้น.
               ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีส่วนเสมอด้วยหงส์ มีพระสุรเสียงเหมือนหงส์และมโหระทึก ได้ตรัสว่า จงดูมหาอำมาตย์ผู้นี้ ผู้แกล้วกล้าในการตัดสิน หมอบอยู่แทบเท้าของเรา มีกายประดุจลอยขึ้นและมีใจฟูด้วยปีติ มีวรรณะเหมือนแสงแห่งแก้วมุกดา งดงามนัยน์ตาและหน้าผ่องใส มีบริวารเป็นอันมาก ทำราชการมียศใหญ่ มหาอำมาตย์นี้เขาปรารถนาตำแหน่งภิกษุผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ เพราะพลอยยินดี
               ด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้ เขาจักไม่เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป จักเสวยความเป็นผู้มีโชคดีในหมู่ทวยเทพ และจักเสวยความเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ จักบรรลุถึงพระนิพพานด้วยผลกรรมส่วนที่เหลือ ในแสนกัปแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก. มหาอำมาตย์นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมเนรมิต จักเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่ากัปปินะ
               ต่อแต่นั้น เราก็ได้ทำสักการะด้วยดีในพระศาสนาของพระชินสีห์ ละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดุสิต.
               เราครองราชย์ในเทวดาและมนุษย์ โดยเป็นส่วนๆ แล้ว เกิดในสกุลช่างหูกที่ตำบลบ้านใกล้พระนครพาราณสี เรากับภรรยามีบริวารแสนคน ได้อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ได้ถวายโภชนาหารตลอดไตรมาส แล้วให้ครองไตรจีวร.
               เราทั้งหมดจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นไตรทศ เราทั้งหมดจุติจากสวรรค์นั้นแล้วกลับมาเป็นมนุษย์อีก พวกเราเกิดในกุกกุฏบุรี ข้างป่าหิมพานต์ เราได้เป็นราชโอรสผู้มียศใหญ่ พระนามว่ากัปปินะ พวกที่เหลือเกิดในสกุลอำมาตย์ เป็นบริวารของเรา เราเป็นผู้ถึงความสุขอันเกิดแต่ความเป็นมหาราชา ได้สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ ได้สดับข่าวสาสน์อุบัติของพระพุทธเจ้า ที่พวกพ่อค้าบอกดังนี้ว่า
               พระพุทธเจ้าผู้เอกอัครบุคคลไม่มีใครเสมอเหมือน เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงประกาศพระสัทธรรมอันเป็นธรรมไม่ตาย เป็นอุดมสุข และสาวกของพระองค์เป็นผู้หมั่นขยัน พ้นทุกข์ ไม่มีอาสวกิเลส.
               ครั้นเราได้สดับคำของพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ได้ทำการสักการะพวกพ่อค้าสละราชสมบัติ พร้อมด้วยอำมาตย์เป็นพุทธมามกะ พากันออกเดินทาง ได้พบแม่น้ำมหาจันทานที มีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง ทั้งไม่มีท่าน้ำ ไม่มีแพ ข้ามได้ยาก มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว เราระลึกถึงพระพุทธคุณแล้ว ก็ข้ามแม่น้ำไปได้โดยสวัสดี
               ถ้าพระพุทธองค์ทรงข้ามกระแสน้ำคือภพไปได้ ถึงที่สุดแห่งโลก ทรงรู้แจ้งชัดไซร้ ด้วยสัจจวาจานี้ ก็ขอให้การไปของเราจงสำเร็จ
               ถ้ามรรคเป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบได้ เป็นเครื่องให้โมกขธรรม เป็นธรรมสงบระงับ นำความสุขมาให้ได้ไซร้ ด้วยสัจวาจานี้ ก็ขอให้การไปของเราจงสำเร็จ
               ถ้าพระสงฆ์เป็นผู้ข้ามพ้นหนทางกันดารไปได้ เป็นเนื้อนาบุญอันเยี่ยมไซร้ ด้วยสัจจวาจานี้ ก็ขอให้การไปของเราจงสำเร็จ
               พร้อมกับที่เราได้ทำสัจจะอันประเสริฐ ดังนี้ น้ำได้ไหลหลีกออกไปจากหนทาง.
               ลำดับนั้น เราได้ข้ามไปขึ้นฝั่งแม่น้ำอันน่ารื่นรมย์ใจได้โดยสะดวก ได้พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ เหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังอุทัย ดังภูเขาทองที่ลุกโพลง เหมือนไม้ประทีปที่ถูกไฟไหม้โชติช่วง ผู้อันสาวกแวดล้อมเปรียบดังพระจันทร์ที่ประกอบด้วยดวงดาว ยังเทวดาและมนุษย์ให้เพลิดเพลิน ปานท้าววาสวะผู้ยังฝนคือรัตนะให้ตกลง
               เราพร้อมด้วยอำมาตย์ถวายบังคมแล้วเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของเรา ได้แสดงพระธรรมเทศนา เราฟังธรรมอันปราศจากมลทินแล้ว ได้กราบทูลพระพิชิตมารว่า ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ขอได้ทรงโปรดให้พวกข้าพระองค์ได้บรรพชาเถิด พวกข้าพระองค์เป็นผู้ลงสู่ภพแล้ว
               พระมหามุนีผู้สูงสุดได้ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด พร้อมกันกับพระพุทธดำรัส เราทุกคนล้วนทรงเพศเป็นภิกษุ เราทั้งหลายอุปสมบทแล้ว เป็นภิกษุผู้โสดาบันในพระศาสนา ต่อแต่นั้น พระผู้นำชั้นพิเศษได้เสด็จเข้าพระเชตวันมหาวิหารแล้ว ทรงสั่งสอนเรา เราอันพระพิชิตมารทรงสั่งสอนแล้วได้บรรลุพระอรหัต.
               ลำดับนั้น เราได้สั่งสอนภิกษุพันรูป แม้พวกเขาทำตามคำสอนของเรา ก็เป็นผู้ไม่มีอาสวะ. พระพิชิตมารทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้น จึงทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ณ ท่ามกลางมหาชนว่า ภิกษุกัปปินะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ
               กรรมที่ได้ทำไว้ในแสนกัป ได้แสดงผลให้เราในครั้งนี้ เราพ้นจากกิเลสดุจดังลูกศรที่พ้นจากแล่ง เราได้เผากิเลสของเราแล้ว เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... ฯลฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๒๓

               ก็ชนเหล่านั้นทั้งหมด ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว จึงพากันขอบวชกะพระศาสดา. พระศาสดาตรัสกะชนเหล่านั้นว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด. การบรรพชาและอุปสมบทนั้นนั่นแล จึงได้มีแล้วแก่ชนเหล่านั้น. พระศาสดาทรงอาศัยภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น จึงได้เสด็จไปยังพระเชตวัน โดยอากาศ.
               ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพวกภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกของท่านมหากัปปินะนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย กัปปินะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายบ้างไหม? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระเถระย่อมไม่แสดง, ท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อยประกอบความเพียรอยู่ด้วยความสุขในทิฏฐธรรมอยู่ ไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาท ดังนี้.
               พระศาสดาจึงทรงให้เรียกหาพระเถระมาแล้ว ตรัสถามว่า กัปปินะ ได้ยินว่า เธอไม่ยอมให้แม้เพียงโอวาทแก่พวกอันเตวาสิก จริงไหม? พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริง พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า พราหมณ์ เธออย่าทำอย่างนั้น, ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมแก่พวกภิกษุผู้เข้าไปหาแล้ว. พระเถระรับพระดำรัสพระศาสดา ด้วยเศียรเกล้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้าข้า แล้วให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาเมื่อจะตั้งตำแหน่งพระเถระผู้สาวกของพระองค์ ตามลำดับ จึงทรงตั้งเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย.
               ต่อมาวันหนึ่ง พระเถระ เมื่อจะกล่าวสอนนางภิกษุณีทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
                                   ผู้ใดพิจารณาเห็นแจ้ง หรือแสวงหาประโยชน์ ย่อม
                         พิจารณาเห็นกิจทั้งสอง คือสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็น
                         ประโยชน์อันยังไม่มาถึง ได้ก่อนอมิตรหรือศัตรูของผู้นั้น
                         ซึ่งคอยแสวงหาช่องอยู่ไม่ทันเห็น ผู้นั้นเรียกว่า ผู้มีปัญญา
                                   ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว อบรม
                         แล้วโดยลำดับตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อม
                         ยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์เพ็ญพ้นจากกลีบ
                         เมฆ ฉะนั้น
                                   จิตของเราผ่องใสแล้วหนอ อบรมดีแล้วหาประมาณ
                         มิได้ เป็นจิตประคองไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมยังทิศทั้งปวง
                         ให้สว่างไสว บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังมีชีวิต
                         อยู่ได้เป็นแน่แท้ ส่วนบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ถึงจะมีทรัพย์
                         ก็เป็นอยู่ไม่ได้ ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว
                         เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ.
                                   นรชนในโลกนี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญา แม้ในเวลา
                         ที่ตนตกทุกข์ ก็ย่อมได้รับความสุข ธรรมนี้มิใช่มีในวันนี้
                         ไม่ใช่น่าอัศจรรย์ และไม่ใช่ไม่เคยมีมาแล้ว แต่ดูเหมือน
                         เป็นของที่ไม่เคยมีในโลก ซึ่งเป็นที่เกิดที่ตาย เมื่อสัตว์
                         เกิดมาแล้ว ก็มีความเป็นอยู่กับความตายแน่แท้ สัตว์ที่
                         เกิดมาแล้วๆ ในโลกนี้ ย่อมตายไปทั้งนั้น เพราะสัตว์ทั้ง
                         หลาย มีอย่างนี้เป็นธรรมดา
                                   ชีวิตอันใดเป็นประโยชน์แก่บุรุษเหล่าอื่น ชีวิตอัน
                         นั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว อันการร้อง
                         ไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้เกิดผล ไม่ทำให้เกิด
                         ความสรรเสริญ สมณะและพราหมณ์ไม่สรรเสริญเลย
                                   การร้องไห้ย่อมเบียดเบียนจักษุและร่างกายทำให้
                         เสื่อมวรรณะ กำลังและความคิด ชนทั้งหลายผู้เป็นข้าศึก
                         ย่อมมีจิตยินดี ส่วนชนผู้เป็นมิตรก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย
                         เพราะฉะนั้น บุคคลพึงปรารถนาท่านผู้เป็นนักปราชญ์
                         เป็นพหูสูตให้อยู่ในสกุลของตน เพราะกิจทุกอย่างจะสำเร็จ
                         ได้ ก็ด้วยกำลังปัญญาของท่านที่เป็นนักปราชญ์ และเป็น
                         พหูสูตเท่านั้น เหมือนบุคคลข้ามแม่น้ำอันเต็มฝั่งด้วยเรือ
                         ฉะนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาคตํ ความว่า ยังไม่มาถึง คือยังไม่ประสบ.
               บทว่า ปฏิกจฺจ แปลว่า ก่อนกว่านั่นเทียว.
               บทว่า ปสฺสติ แปลว่า ย่อมเห็น.
               บทว่า อตฺถํ ได้แก่ กิจ.
               บทว่า ตํ ทฺวยํ ได้แก่ สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์.
               บทว่า วิทฺเทสิโน ได้แก่ อมิตร.
               บทว่า หิเตสิโน ได้แก่ มิตร.
               บทว่า รนฺธํ ได้แก่ ช่อง.
               บทว่า สเมกฺขมานา แปลว่า ผู้แสวงหา.
               มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
               บุคคลใดเห็นไตร่ตรองพิจารณาถึงกิจทั้ง ๒ อย่างคือ สิ่งที่จะนำประโยชน์และไม่นำประโยชน์มาให้แก่ตน อันยังไม่มาถึง ด้วยปัญญาจักษุเหมือนเรา ได้ก่อนกว่า, อมิตรของบุคคลผู้นั้น หรือมิตรโดยมีอัธยาศัยไม่เกื้อกูลกัน แสวงหาช่อง โดยอัธยาศัยที่เกื้อกูลกัน ย่อมไม่เห็นได้, บุคคลผู้มีปัญญาเช่นนั้น มีความประพฤติไม่ขาดสาย เพราะฉะนั้น พวกท่านพึงเป็นผู้ประพฤติเช่นนั้นเถิด.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงคุณในการเจริญอานาปานสติ เพื่อจะประกอบบทเหล่านั้นในคาถานั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า อานาปานสตี ยสฺส ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อานํ ได้แก่ ลมหายใจออก.
               บทว่า อปานํ ได้แก่ ลมหายใจเข้า.
               สติมีการกำหนดลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเป็นอารมณ์ ชื่อว่า อานาปานสติ.
               ก็ในที่นี้ เมื่อว่าถึงหัวข้อแห่งสติ ท่านประสงค์ถึงการเจริญสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินั้น.
               บทว่า ยสฺส ได้แก่ พระโยคีรูปใด.
               บทว่า ปริปุณฺณา สุภาวิตา ความว่า อบรมให้เจริญด้วยดี บริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ด้วยความบริบูรณ์แห่งสติปัฏฐาน ๔ และอาการ ๑๖ และด้วยความบริบูรณ์แห่งโพชฌงค์ ๗ วิชชาและวิมุตติทั้งหลาย.
               บทว่า อนุปุพฺพํ ปริจิตา ยถา พุทฺเธน เทสิตา ความว่า อบรมแล้วคือเสพ ได้แก่เจริญตามลำดับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ โดยเนื้อความเป็นต้นว่า ภิกษุนั้นมีสติกำหนดลมหายใจออก ดังนี้.
               บทว่า โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา ความว่า
               พระโยคาวจรนั้นพ้นจากอุปกิเลสมีอวิชชาเป็นต้นแล้ว ย่อมยังสังขารโลกที่ตกลงสู่สันดานของตน และที่ตกลงสู่สันดานของบุคคลอื่น ให้สว่างไสวแจ่มแจ้งด้วยแสงสว่างแห่งญาณ เปรียบเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากความหม่นหมองมีเมฆหมอกเป็นต้น ย่อมยังโอกาสโลกนี้ให้สว่างไสวด้วยแสงสว่างแห่งดวงจันทร์ ฉะนั้น.
               อธิบายว่า เพราะฉะนั้น พวกท่านพึงพากันเจริญอานาปนสติภาวนาเถิด.
               บัดนี้ พระเถระครั้นทำตนให้เป็นอุทาหรณ์แล้ว เมื่อจะแสดงการประกอบความเพียรในภาวนาว่ามีผล จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า โอทาตํ วต เม จิตฺตํ ดังนี้เป็นต้น.
               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า
               จิตของเราผ่องใส บริสุทธิ์แล้วหนอ เพราะปราศจากมลทินคือนีวรณธรรม, ชื่อว่าอบรมดีแล้ว หาประมาณมิได้ เพราะค่าที่ตนอบรมแล้ว โดยประการที่ราคะเป็นต้นที่เป็นตัวทำประมาณ อันตนละได้แล้ว และนิพพานอันหาประมาณมิได้ อันตนได้ทำให้ประจักษ์แจ้งแล้ว.
               ต่อแต่นั้น ก็ตรัสรู้คือแทงตลอดสัจจะ ๔ ประการ เป็นผู้มีจิตอันประคองไว้แล้วจากฝ่ายแห่งสังกิเลสทั้งปวง ย่อมยังทิศมีทิศตะวันออกเป็นต้นที่ส่องสว่างได้ยากเป็นต้น ให้สว่างไสว เพราะข้ามพ้นความสงสัยในธรรมนั้นได้ และเพราะปราศจากโมหะในธรรมทั้งปวงได้.
               เพราะฉะนั้น พระเถระจึงแสดงว่า ถึงพวกท่านก็พึงอบรมจิตอย่างนั้นเถิด.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า ปัญญาแม้นอกนี้ ก็เหมือนอย่างปัญญาที่สำเร็จด้วยภาวนา ซึ่งมีอุปการะเป็นอันมากแก่บุรุษ ด้วยเป็นเครื่องชำระมลทินแห่งจิตให้สะอาดเป็นต้นได้ จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า ชีวเต วาปิ สปฺปญฺโญ ดังนี้เป็นต้น.
               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า
               คนมีปัญญาแม้จะสิ้นทรัพย์ สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ก็ยังเป็นอยู่ได้ ด้วยการเลี้ยงชีพอันปราศจากโทษ.
               จริงอยู่ ชีวิตของคนมีปัญญา ชื่อว่าเป็นอยู่ได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า พุทธาทิบัณฑิตกล่าวถึงคนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่า มีชีวิตประเสริฐ ดังนี้เป็นต้น.
               ส่วนคนมีปัญญาทราม เพราะไม่ได้ปัญญา ย่อมทำประโยชน์ที่เป็นไปในทิฏฐธรรมและประโยชน์ที่เป็นไปในสัมปรายิกภพ ให้ฉิบหายไป แม้จะมีทรัพย์สมบัติ ก็เป็นอยู่ไม่ได้, เพราะได้รับการติเตียนเป็นต้น ชื่อว่าความเป็นอยู่ ย่อมไม่มีแก่เขา.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะตนไม่รู้จักอุบาย ทรัพย์ตามที่สะสมไว้ก็ย่อมพินาศไป แม้ชีวิตก็ไม่สามารถเพื่อจะรักษาไว้ได้เลย. เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายว่า แม้ปาริหาริยปัญญา พวกท่านก็พึงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงอานิสงส์แห่งปัญญา พระเถระจึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า ปญฺญา สุตวินิจฺฉินี ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺญา สุตวินิจฺฉินี ความว่า ธรรมดาว่า ปัญญานี้นั้นเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟังมาแล้ว คือตัดสินชี้ขาดในประโยชน์ที่ตนฟังมาแล้ว คือที่มาปรากฏทางโสตประสาท โดยใจความเป็นต้นว่า นี้เป็นอกุศล นี้เป็นกุศล นี้เป็นสิ่งมีโทษ นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษดังนี้.
               บทว่า กิตฺติสิโลกวทฺธนี ความว่า เป็นความเจริญด้วยเกียรติคุณและความสรรเสริญต่อหน้า คือมีความสรรเสริญแผ่ไปทั่วเป็นสภาพ.
               จริงอยู่ เกียรติคุณเป็นต้น ย่อมมีแก่ผู้มีปัญญาเท่านั้น เพราะมีวิญญูชนทั้งหลายสรรเสริญเป็นธรรมดา.
               บทว่า ปญฺญาสหิโต ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยปาริหาริยปัญญาและวิปัสสนาปัญญา.
               บทว่า อปิ ทุกฺเขสุ สุขานิ วินฺทติ ความว่า ย่อมได้เฉพาะซึ่งความสุข แม้ที่ไม่มีอามิส เพราะการหยั่งลงสู่สภาวะที่เป็นจริง ด้วยสัมมาปฏิบัติในขันธ์และอายตนะเป็นต้น ที่มีความทุกข์เป็นสภาวะโดยส่วนเดียว.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะกล่าวสอนธรรมอันปฏิสังยุตด้วยอนิจจตา อันจะนำมาซึ่งความเป็นนักปราชญ์แก่นางภิกษุณีเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาที่เหลือ โดยมีใจความเป็นต้นว่า นายํ อชฺชตโน ธมฺโม ดังนี้.
               ในบาทคาถานั้น มีเนื้อความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               ธรรมนี้ใดมีความเกิดและความตายเป็นสภาวะแก่ปวงสัตว์ ธรรมนี้นั้นมิใช่จะเพิ่งมีในวันนี้ คือมิใช่มีมาไม่นาน, ไม่ใช่น่าอัศจรรย์ เพราะเป็นไปทุกๆ วัน, ทั้งไม่ใช่ไม่เคยมีมาแล้ว เพราะความไม่เคยมีมาแล้วในกาลก่อน หามิได้. เพราะฉะนั้น พึงเป็นเหมือนสิ่งที่เคยมีมาในโลก ซึ่งเป็นที่เกิดที่ตาย คือที่สัตว์พึงเกิด และพึงตายโดยส่วนเดียว เพราะมีความตายเป็นสภาวะ.
               จริงอยู่ เหตุอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่ขณิกมรณะ.
               เพราะเมื่อสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความเป็นอยู่กับความตายแน่แท้ คือเมื่อสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความตายเป็นที่สุดอย่างเดียวต่อจากความเกิด เพราะขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วมีความแตกไปเป็นธรรมดาโดยส่วนเดียว.
               ก็คำว่า มีชีวิตเป็นอยู่ในคาถานั้นอันใด อันนั้นจัดเป็นโลกโวหาร, โลกโวหารนั้นมีที่สุดเป็นอเนก เพราะเนื่องด้วยปัจจัยมากมายแห่งอุปาทานนั้น เพราะกล่าวคำนี้อย่างนี้แล้ว ฉะนั้น จึงกล่าวว่า สัตว์ที่เกิดมาแล้ว ในโลกนี้ ย่อมตายไปทั้งนั้น เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ได้แก่ เป็นปกติของสัตว์ทั้งหลาย คือความตายย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว จึงกล่าวว่า ความตายเนื่องด้วยความเกิดขึ้น.
               บัดนี้ เพราะเพื่อจะทำการกำจัดความเศร้าโศกของพวกนางภิกษุณี แม้ผู้ที่มีจิตถูกความเศร้าโศกผูกพันแล้ว ฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า น เหตทตฺถาย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น เหตทตฺถาย มตสฺส โหติ ความว่า
               ชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ คือเป็นเครื่องหมายแห่งชีวิต ของคนที่ตายไปแล้ว การร้องไห้เป็นประโยชน์แก่บุรุษเหล่าอื่นอันใด ข้อนั้นที่จะเป็นประโยชน์แห่งชีวิตของหมู่สัตว์ที่ตายไปแล้วนั้น ขอพักไว้ก่อน, เพราะไม่มีประโยชน์แก่ใครๆ เลย,
               ก็คนเหล่าใดย่อมพากันร้องไห้, การร้องไห้ถึงคนตาย คือมีคนตายเป็นเครื่องหมายของคนเหล่านั้น ย่อมไม่ทำให้เกิดผล ไม่ทำให้เกิดความสรรเสริญ คือย่อมไม่นำเกียรติยศและความบริสุทธิ์ใจมาให้เลย.
               บทว่า น วณฺณิตํ สมณพฺราหฺมเณหิ ได้แก่ แม้วิญญูชนจะสรรเสริญก็ไม่มี คือโดยที่แท้ วิญญูชนจะติเตียนถ่ายเดียว.
               พระเถระเมื่อจะแสดงว่า โทษของคนผู้ที่ร้องไห้อยู่ มิใช่จะมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้แม้นอกนี้ก็ยังมีอยู่ ดังนี้ จึงกล่าวคาถาว่า จกฺขุํ สรีรํ อุปหนฺติ ดังนี้เป็นต้นยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจะชักชวนนางภิกษุณีเหล่านั้นในการเข้าไปหากัลยาณมิตร เพื่อป้องกันเสียซึ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์มีความเศร้าโศกเป็นต้น จึงได้กล่าวคาถาสุดท้ายโดยใจความเป็นต้นว่า ตสฺมา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะการร้องไห้ย่อมกระทบกระทั่ง คือเบียดเบียนจักษุและสรีระของบุคคลผู้ร้องไห้อยู่ เพราะการร้องไห้นั้นจึงทำให้วรรณะ กำลังและความคิด เสื่อมไปคือพินาศไป,
               โจร คือผู้ที่เป็นข้าศึกของบุคคลผู้ร้องไห้อยู่ ย่อมมีจิตยินดี ปราโมทย์ เอิบอิ่มใจ.
               ส่วนมิตรผู้มุ่งประโยชน์เกื้อกูล ก็พลอยมีทุกข์ลำบากใจไปด้วย
               ฉะนั้น บุคคลพึงปรารถนา ท่านผู้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ เพราะประกอบพร้อมด้วยปัญญาที่เกิดในธรรม และท่านผู้ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะเพียบพร้อมด้วยพาหุสัจจะอันอิงอาศัยประโยชน์มีทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์เป็นต้น ให้อยู่ในสกุลของตน คือพึงมุ่งหวังได้แก่พึงทำให้เป็นผู้เข้าถึงสกุล.
               บทว่า เยสํ มีวาจาประกอบความว่า
               กุลบุตรทั้งหลายจะข้ามพ้นกิจของตน คือจะถึงซึ่งฝั่งได้ก็ด้วยกำลังปัญญา เพราะปัญญาเป็นสมบัติของท่านผู้ที่เป็นนักปราชญ์ และบัณฑิตพหูสูตเหล่าใด พึงปรารถนานักปราชญ์เป็นต้นเหล่านั้นให้อยู่ในสกุลเถิด เปรียบเหมือนบุคคลจะข้ามน้ำอันเต็มเปี่ยมของห้วงน้ำใหญ่ได้พ้นก็ด้วยเรือฉะนั้น.
               พระเถระ ครั้นกล่าวสอนธรรมแก่นางภิกษุณีเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว จึงหยุดเทศนา.
               นางภิกษุณีเหล่านั้นตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระบรรเทาความเศร้าโศกแล้ว ปฏิบัติโดยแยบคายอยู่ ทำประโยชน์ของตนให้บริบูรณ์ได้แล้วแล.

               จบอรรถกถามหากัปปินเถรคาถาที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ทสกนิบาต ๓. มหากัปปินเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 371อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 372อ่านอรรถกถา 26 / 373อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=6965&Z=6993
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=4553
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=4553
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :