ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 383อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 384อ่านอรรถกถา 26 / 385อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา โสฬสกนิบาต
๒. อุทายีเถรคาถา

               อรรถกถาอุทายีเถรคาถาที่ ๒               
               คาถาของท่านพระอุทายีเถระ มีคำเริ่มต้นว่า มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ ดังนี้.
               เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               พระเถระแม้นี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ ได้นามว่าอุทายี เจริญวัยแล้ว เห็นพระพุทธานุภาพในสมาคมพระญาติของพระศาสดา ได้ศรัทธาบวชแล้วบำเพ็ญวิปัสสนากรรม ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต,
               ก็พระอุทายีเถระทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ กาฬุทายี มาในก่อนเป็นบุตรของอำมาตย์, ลาลุทายี บุตรของโกวริยพราหมณ์, พระเถระนี้เป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อว่ามหาอุทายี.
               วันหนึ่ง ท่านอุทายีนี้นั่น เมื่อพระศาสดาทรงแสดงนาโคปมสูตร กระทำช้างเผือกประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงอันมหาชนพากันสรรเสริญ ให้เป็นอัตถุปบัติเหตุ ในเวลาจบเทศนานึกถึงคุณของพระศาสดา อันสมควรแก่กำลังญาณของตน ผู้มีใจอันปีติซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์กระตุ้นเตือน จึงคิดว่า
               มหาชนนี้สรรเสริญนาคซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่ใช่สรรเสริญมหานาคคือพระพุทธเจ้า เอาเถอะ เราจักกระทำคุณแห่งช้างมหาคันธะ คือพระพุทธเจ้าให้ปรากฏ ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะชมเชยพระศาสดา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         เราเคยได้ฟังมาจากพระอรหันต์ทั้งหลายว่า มนุษย์ทั้ง
               หลายย่อมนอบน้อมบุคคลใด ผู้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระพุทธ
               เจ้าผู้ตรัสรู้เอง มีตนอันได้ฝึกฝนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ดำเนินไป
               ในทางของพรหม ยินดีในการสงบระงับจิต ถึงฝั่งแห่งธรรม
               ทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็พากันนอบน้อมบุคคลนั้น
                         เทวดาและมนุษย์ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
               พระองค์ใด ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงออกจากป่าคือกิเลสมา
               สู่นิพพาน ออกจากกาม มายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำ
               อันพ้นแล้วจากหินฉะนั้น
                         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแลเป็นนาค รุ่งเรือง
               พ้นโลกนี้กับทั้งเทวโลก เหมือนภูเขาหิมวันต์รุ่งเรืองล่วงภูเขา
               เหล่าอื่นฉะนั้น เราจักแสดงนาคซึ่งเป็นนาคมีชื่อโดยแท้จริง
               เป็นเยี่ยมกว่าบรรดาผู้มีชื่อว่านาคทั้งหมด แก่ท่านทั้งหลาย
                         เพราะผู้ใดไม่ทำบาป ผู้นั้นชื่อว่านาค ความสงบเสงี่ยม
               และการไม่เบียดเบียน ๒ อย่างนี้เป็นเท้าหน้าทั้งสองของนาค
               สติสัมปชัญญะเป็นเท้าหลัง นาคคือช้างตัวประเสริฐควรบูชา
               มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติเป็นคอ มีปัญญา
               เครื่องค้นคว้าธรรมเป็นศีรษะ มีธรรมคือสมาวาสะเป็นท้อง มี
               วิเวกเป็นหาง
                         ช้างตัวประเสริฐคือพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้มีปกติเพ่ง
               ฌาน ยินดีในนิพพาน มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในภายใน คือเมื่อเดิน
               ก็มีจิตตั้งมั่น เมื่อยืนก็มีจิตตั้งมั่น นอนก็มีจิตตั้งมั่น แม้เมื่อนั่ง
               ก็มีจิตตั้งมั่น เป็นผู้สำรวมในที่ทั้งปวง อันนี้คือสมบัติของช้าง
               ตัวประเสริฐคือพระพุทธเจ้า
                         ช้างตัวประเสริฐคือพระพุทธเจ้านั้นบริโภคของอันหา
               โทษมิได้ ไม่บริโภคของที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่ม
               แล้วก็ไม่สั่งสมไว้ ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวผูกพันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น
               ไม่มีความห่วงใยเลย เที่ยวไปในที่ทุกหนทุกแห่ง
                         เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ มีกลิ่นหอมหวลชวนให้รื่นรมย์
               เกิดในน้ำเจริญในน้ำ ย่อมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉันใด พระพุทธเจ้า
               เสด็จอุบัติแล้วในโลก อยู่ในโลก ไม่ติดอยู่ด้วยโลก เหมือนดอก
               ปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉันนั้น
                         ไฟกองใหญ่ลุกโชน เมื่อหมดเชื้อก็ดับไป ก็เมื่อเถ้ายังมี
               อยู่ เขาเรียกกันว่า ไฟดับแล้วฉันใด อุปมาอันทำให้รู้เนื้อความ
               แจ่มแจ้งนี้ วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้วก็ฉันนั้น
                         พระมหานาคทั้งหลายจักรู้แจ้งนาคด้วยนาคอันพระพุทธ
               เจ้าทรงแสดงแล้ว พระพุทธนาคผู้ปราศจากราคะ โทสะและ
               โมหะ หมดอาสวะ เมื่อละสรีระร่างกายนี้แล้ว ก็ทรงหาอาสว
               กิเลสมิได้ จักเสด็จปรินิพพาน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนุสฺสภูตํ ความว่า เป็นคือบังเกิดในมนุษย์ หรือถึงอัตภาพมนุษย์.
               จริงอยู่ พระศาสดา แม้ทรงพ้นจากคติทั้งปวงด้วยทรงบรรลุอาสวักขยญาณ เขาก็เรียกว่ามนุษย์เหมือนกัน ด้วยอำนาจที่พระองค์ทรงถือปฏิสนธิในภพสุดท้าย ก็พระองค์เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม ด้วยอำนาจคุณ.
               บทว่า สมฺพุทฺธํ ความว่า เป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เองทีเดียว.
               บทว่า อตฺตทนฺตํ ได้แก่ ผู้ฝึกตนด้วยตนเอง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกพระองค์ด้วยการฝึกอย่างสูงสุด โดยจักษุบ้าง ฯลฯ โดยใจบ้าง ด้วยอริยมรรคที่พระองค์ให้เกิดขึ้นด้วยพระองค์เอง.
               บทว่า สมาหิตํ ความว่า ตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิ ๘ อย่าง และด้วยสมาธิอันเกิดจากมรรคและผล.
               บทว่า อิริยมานํ พฺรหฺมปเถ ความว่า ในคลองแห่งพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ หรือเป็นไปในคลองแห่งผลสมาบัติ อันประเสริฐคือสูงสุด ด้วยอำนาจการเข้าสมาบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่ดำเนินในคลองอันประเสริฐ ตามที่กล่าวแล้วตลอดกาลทั้งสิ้นก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ท่านก็กล่าวว่า อิริยมานํ เพราะอาศัยความเป็นผู้น้อมไปในอริยสมาบัตินั้น.
               บทว่า จิตฺตสฺสูปสเม รตํ ความว่า ยินดียิ่ง ในการสงบสังขารทั้งปวงคือในพระนิพพาน อันเป็นเหตุสงบแห่งจิต.
               บทว่า ยํ มนุสฺสา นมสฺสนฺติ สพฺพธมฺมาน ปารคุํ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายมีกษัตริย์และบัณฑิตเป็นต้น ย่อมนอบน้อมซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใด ผู้มีสมบัติอันสูงสุดอย่างยอดเยี่ยม ผู้ถึงฝั่งทั้ง ๖ คือถึงฝั่งแห่งอภิญญาแห่งธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้นทั้งหมด ๑ ถึงฝั่งแห่งปริญญา ๑ ถึงฝั่งแห่งภาวนา ๑ ผู้ถึงฝั่งแห่งการกระทำให้แจ้ง ๑ ถึงฝั่งแห่งสัมมาปฏิบัติ ๑ ถึงฝั่งแห่งปหานะ ๑.
               เมื่อบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมเป็นผู้น้อมไป โอนไป เงื้อมไป ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นด้วยกายวาจาและใจ.
               บทว่า เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ ความว่า ไม่ใช่พวกมนุษย์อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้ แม้เทวดาทั้งหลายในโลกธาตุหาประมาณมิได้ ก็ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
               ด้วยบทว่า อิติ เม อรหโต สุตํ นี้ ท่านแสดงว่า คำอย่างนี้ คือคำที่เราสดับมาแล้วอย่างนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อรหันต์และของพระธรรมเสนาบดีเป็นต้น ผู้กล่าวคำมีอาทิว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ด้วยเหตุมีความเป็นผู้ไกล (จากกิเลส) เป็นต้น.
               บทว่า สพฺพสํโยชนาตีตํ ความว่า ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งหมด ๑๐ ด้วยมรรค ๔ ตามสมควรพร้อมด้วยวาสนา.
               บทว่า วนา นิพฺพนมาคตํ ความว่า ผู้เข้าถึงความเบื่อหน่าย อันเว้นจากป่าคือกิเลสนั้น.
               บทว่า กาเมหิ เนกฺขมฺมรตํ ความว่า ออกจากกามโดยประการทั้งปวง แล้วยินดีในเนกขัมมะ ต่างด้วยบรรพชา ฌานและวิปัสสนาเป็นต้น.
               บทว่า มุตฺตํ เสลาว กญฺจนํ ความว่า เสมือนทองคำอันพ้นแล้วจากหิน เพราะมีสภาวะเป็นทองแท้ที่กำจัดสิ่งมิใช่ทองออกแล้ว.
               มีวาจาประกอบความว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
               บทว่า ส เว อจฺจรุจิ นาโค ความว่า พระองค์ไม่กระทำบาปโดยส่วนเดียว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เป็นผู้มีกำลังเหมือนช้าง เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้พระนามว่า นาค.
               บทว่า อจฺจรุจิ ความว่า พระองค์รุ่งเรืองพ้นโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก ด้วยความรุ่งเรืองแห่งพระกายและพระญาณของพระองค์.
               เหมือนอะไร? เหมือนขุนเขาหิมวันต์รุ่งเรืองล่วงภูเขาเหล่าอื่นฉะนั้น.
               อธิบายว่า พระองค์ทรงรุ่งเรืองยิ่ง เหมือนขุนเขาหิมวันต์รุ่งเรืองล่วงภูเขาเหล่าอื่นด้วยคุณมีภาวะที่ตนมีสาระมั่นคงหนักและใหญ่เป็นต้นฉะนั้น.
               บทว่า สพฺเพสํ นาคนามานํ ได้แก่ อหินาค นาคคืองู, หัตถินาค นาคคือช้าง, ปุริสนาค นาคคือคน.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ เสขนาค นาคคือพระเสขะ, อเสขนาค นาคคือพระอเสขะ, ปัจเจกพุทธนาค นาคคือพระปัจเจกพุทธ, พุทธนาค นาคคือพระพุทธเจ้า.
               บทว่า สจฺจนาโม ได้แก่ ชื่อว่านาคตามเป็นจริง.
               ก็พระอุทายีย่อมกล่าวซึ่งความที่นาคเป็นชื่อตามจริง ด้วยตนเองทีเดียว ด้วยคำว่า "เพราะผู้ใดไม่ทำบาป ผู้นั้นชื่อว่านาค" ดังนี้เป็นต้น.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงถึงพระพุทธนาคโดยอวัยวะ และเพื่อจะแสดงโดยชื่อก่อน จึงกล่าวว่า "เพราะผู้ใดไม่ทำบาป ผู้นั้นชื่อว่านาค."
               อธิบายว่า ชื่อว่านาค เพราะไม่กระทำบาปโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า โสรจฺจํ ได้แก่ ศีล.
               บทว่า อวิหึสา ได้แก่ กรุณา.
               ความที่พระพุทธนาคเป็นดังเท้าหน้า สมควรแล้วสำหรับนาคนั้น เพราะกระทำวิเคราะห์ว่า โสรัจจะและอวิหิงสาทั้งสองนั้นเป็นประธานแห่งกองคุณแม้ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ท่านพระอุทายีจึงกล่าวว่า "ความสงบเสงี่ยมและความไม่เบียดเบียน ๒ อย่างนี้ เป็นเท้าหน้าทั้งสองของนาคคือช้างตัวประเสริฐ" เมื่อจะกล่าวโดยความเป็นดังเท้าหลัง จึงกล่าวว่า "สติและสัมปชัญญะเป็นเท้าหลัง"
               บาลีว่า ตฺยาปเร ดังนี้ก็มี. จำแนกบทว่า เต อปเร ดังนี้เหมือนกัน.
               ศรัทธาในการยึดถือธรรมอันหาโทษมิได้เป็นดังงวงของช้างนั้น เหตุนั้นช้างนั้นชื่อว่ามีศรัทธาเป็นดังงวง. อุเบกขาอันต่างด้วยญาณ (ปัญญา) อันเป็นเวทนาบริสุทธิ์ดี เป็นงาขาวของช้างนั้นมีอยู่ เหตุนั้นช้างนั้น ชื่อว่ามีอุเบกขาเป็นงาขาว. มีปัญญาเป็นศีรษะ มีสติเป็นที่ตั้งมั่นของปัญญานั้น เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีสติเป็นคอ มีปัญญาเป็นศีรษะ.
               บทว่า วีมํสา ธมฺมจินฺตนา ความว่า การลูบคลำและการสูดกลิ่น สิ่งที่ควรกินและไม่ควรกินด้วยงวง ชื่อว่าปัญญาเครื่องพิจารณาของหัตถินาคฉันใด ความคิดซึ่งธรรมมีกุศลเป็นต้น ชื่อว่าปัญญาเครื่องพิจารณาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐฉันนั้น.
               ชื่อว่าสมาวาสะ เพราะเป็นที่อยู่ร่วมกันเสมอ ได้แก่การอยู่ร่วมกัน คือท้องอันเป็นที่รองรับได้แก่ธรรมกล่าวคือสมถะและวิปัสสนา เพราะเป็นที่รองรับอภิญญาและสมถะ, ธรรมเป็นที่อยู่เสมอคือท้องของนาคมีอยู่ เหตุนั้น นาคจึงเป็นผู้ชื่อว่ากุจฉิสมาวาสะ มีธรรมเป็นที่อยู่คือท้อง.
               บทว่า วิเวโก ได้แก่ อุปธิวิเวก.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ พระพุทธนาค. ชื่อว่าเป็นหาง เพราะหางเป็นอวัยวะที่สุด.
               บทว่า ฌายี ได้แก่ ผู้มีปกติเพ่งฌาน เพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์.
               บทว่า อสฺสาสรโต ความว่า ยินดีแล้วในพระนิพพานอันเป็นที่โล่งใจอย่างยิ่ง.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ สุสมาหิโต ความว่า มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในผลสมาบัติ อันเป็นอารมณ์ภายใน เพราะแสดงว่า การตั้งมั่นนี้นั่นเป็นไปได้ทุกกาลด้วยดี ท่านจึงกล่าวว่า ช้างตัวประเสริฐเมื่อเดินก็มีจิตตั้งมั่น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระทัยตั้งมั่นด้วยดีเป็นนิจ เพราะไม่มีความฟุ้งซ่าน เหตุละอุทธัจจะเสียได้. เพราะฉะนั้น พระองค์สำเร็จอิริยาบถใดๆ มีพระหทัยตั้งมั่นสำเร็จอิริยาบถนั้นๆ แล.
               บทว่า สพฺพตฺถ ได้แก่ ในอารมณ์ทั้งปวงและปิดกั้นความเป็นไปโดยประการทั้งปวง ในทวารทั้งปวง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า กายกรรมทั้งปวงเป็นตัวนำแห่งญาณ (ปัญญา) คือเป็นไปตามญาณ.
               บทว่า เอสา นาคสฺส สมฺปทา ความว่า นี้เป็นคุณสมบัติ คือเป็นความบริบูรณ์ด้วยคุณแห่งช้างตระกูลคันธะคือพระพุทธเจ้า ตามที่กล่าวแล้วและกำลังจะกล่าวอยู่ โดยนัยมีอาทิว่า สมฺพุทฺธํ.
               บทว่า ภุญฺชติ อนวชฺชานิ มีวาจาประกอบว่า บริโภคสิ่งที่ไม่ถูกติเตียน เพราะเพียบพร้อมอย่างยิ่งแห่งสัมมาอาชีวะ และไม่บริโภคสิ่งที่มีโทษ คือสิ่งที่ถูกติเตียน เพราะละมิจฉาชีพพร้อมด้วยวาสนาโดยประการทั้งปวง. และเมื่อจะบริโภคสิ่งที่ไม่มีโทษ ย่อมบริโภคสิ่งที่สะสมพร้อมคือสิ่งที่ควรเว้น.
               บทว่า สํโยชนํ ได้แก่ สังโยชน์ทั้ง ๑๐ อันสามารถจะให้สัตว์จมลงในวัฏฏะ เพราะประกอบสัตว์ไว้กับด้วยวัฏทุกข์.
               บทว่า อณุํ ถูลํ แปลว่า เล็กและใหญ่.
               บทว่า สพฺพํ เฉตฺวาน พนฺธนํ ความว่า ตัดเครื่องผูกคือกิเลสได้เด็ดขาดด้วยมรรคญาณ.
               บทว่า เยน ได้แก่ โดยทิสาภาคใดๆ มีโยชนาว่า เหมือนดอกบัวขาบที่เกิดในน้ำ ย่อมงอกงาม ไม่ติดอยู่ในน้ำ เพราะมีสภาวะไม่เข้าไปติดด้วยน้ำฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลกแล้วย่อมอยู่ในโลก ย่อมไม่ติดด้วยโลก เพราะไม่มีเครื่องฉาบทาคือตัณหา ทิฏฐิและมานะ.
               บทว่า คินิ แปลว่า ไฟ.
               บทว่า อนาหาโร แปลว่า ไม่มีเชื้อ.
               บทว่า อตฺถสฺสายํ วิญฺญาปนี ความว่า การทำให้ผู้อื่นรู้ คือการประกาศอรรถแห่งอุปไมย กล่าวคือคุณของพระศาสดา นี้ชื่อว่าเป็นอุปมาแห่งนาคคือช้างตัวประเสริฐ
               บทว่า วิญฺญูหิ ได้แก่ ผู้กำหนดรู้สัจธรรมที่พระศาสดาทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยคำนี้ท่านกล่าวหมายถึงตน.
               บทว่า วิญฺญิสฺสนฺติ เป็นต้น เป็นคำกล่าวถึงเหตุ.
               อธิบายว่า เพราะเหตุที่พระมหานาคคือพระขีณาสพ ตั้งอยู่ในวิสัยของตน จักรู้แจ้งซึ่งช้างคือช้างผู้มีกลิ่นหอมคือพระตถาคต อันนาคคือเราแสดงแล้ว ฉะนั้นเพื่อจะประกาศแก่ผู้ปุถุชนเหล่าอื่น เราจึงกล่าวอุปมานี้.
               บทว่า สรีรํ วิชหํ นาโค ปรินิพฺพิสฺสตฺยนาสโว ความว่า ช้างคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้ไม่มีอาสวะ ด้วยสอุปาทิเสสปรินิพพาน ณ ควงโพธิพฤกษ์ บัดนี้เมื่อทรงละร่างกายคืออัตภาพ จักปรินิพพานด้วยขันธปรินิพพาน.
               พระเถระครั้นประดับด้วยอุปมา ๑๔ อย่างนี้แล้วจึงพรรณนาพระคุณของพระศาสดา ด้วยคาถา ๑๖ คาถา มี ๖๔ บาท แล้วให้เทศนาจบลงด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

               จบอรรถกถาอุทายีเถรคาถาที่ ๒               
               จบอรรถกถาเถรคาถา โสฬสกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

               ในโสฬสกนิบาตนี้ พระเถระผู้มีมหิทธิฤทธิ์ ๒ รูป คือ
                         พระโกณฑัญญเถระ กับ
                         พระอุทายีเถระ
               ได้ภาษิตคาถาไว้องค์ละ ๑๖ คาถา รวมเป็น ๓๒ คาถา ฉะนี้แล.
               จบโสฬสกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา โสฬสกนิบาต ๒. อุทายีเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 383อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 384อ่านอรรถกถา 26 / 385อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7327&Z=7365
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=6564
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=6564
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :