ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 397อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 398อ่านอรรถกถา 26 / 399อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต
๑. มหากัสสปเถรคาถา

               อรรถกถาเถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต#-               
               อรรถกถากัสสปเถรคาถาที่ ๑               
               ในจัตตาลีสนิบาต คาถาของท่านพระมหากัสสปเถระ มีคำเริ่มต้นว่า น คเณน ปุรกฺขโต จเร ดังนี้.
               เรื่องนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระนี้ได้เป็นกุฏุมพีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ นามว่าเวเทหะ ในหังสวดีนคร. ท่านเป็นอุบาสกพุทธมามกะ ธรรมมามกะ สังฆมามกะ อยู่.
               ในวันอุโบสถวันหนึ่ง เขาบริโภคอาหารดีแต่เช้าตรู่ อธิษฐานองค์แห่งอุโบสถ ถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังวิหาร บูชาพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ก็ในขณะนั้น พระศาสดาทรงตั้งพระสาวกที่ ๓ นามว่ามหานิสภเถระ ในเอตทัคคะว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้ถือธุดงค์นี้ นิสภะเป็นเลิศ. อุบาสกได้ฟังดังนั้นจึงเลื่อมใส ในเวลาจบธรรมกถา เมื่อมหาชนลุกไป จึงถวายบังคมพระศาสดา เชื้อเชิญว่า พรุ่งนี้ขอพระองค์จงทรงรับภิกษาของข้าพระองค์เถิด.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกภิกษุสงฆ์มีมากแล. เขาทูลถามว่า มีเท่าไร พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่ามี ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป เขาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับภิกษาของข้าพระองค์ อย่าเหลือไว้ในวิหารแม้สามเณรรูปเดียว. พระศาสดาทรงรับแล้ว. อุบาสกทราบว่าพระศาสดาทรงรับแล้ว จึงไปยังเรือนจัดแจงมหาทาน วันรุ่งขึ้นจึงกราบทูลกาลแด่พระศาสดา.
               พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังเรือนอุบาสก ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้ ในเวลาจบอนุโมทนา ทรงรับข้าวยาคูเป็นต้น ได้ทรงกระทำการแจกภัต. แม้อุบาสกก็ได้นั่งอยู่ในสำนักพระศาสดา.
               ในระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระกำลังเที่ยวบิณฑบาต ดำเนินไปตามถนนนั้นนั่นแล. อุบาสกเห็นเข้า ลุกไปไหว้พระเถระ กล่าวว่า จงให้บาตรเถิดขอรับ. พระเถระได้ให้แล้ว. อุบาสกกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเข้าไปในที่นี้แหละ แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งในเรือน. พระเถระกล่าวว่า จักไม่สมควร อุบาสก. เขารับบาตรของพระเถระแล้วบรรจุบิณฑบาตให้เต็มแล้วได้ถวาย.
               ลำดับนั้น เขาตามส่งพระเถระ กลับแล้วนั่งในสำนักพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระ แม้เมื่อข้าพระองค์กล่าวว่า แม้พระศาสดาก็ประทับนั่งในเรือน ก็ไม่ปรารถนาจะเข้าไป ท่านมีคุณยิ่งกว่าคุณของพระองค์หรือ.
               จริงอยู่ ความตระหนี่คุณย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสอย่างนี้ว่า อุบาสก พวกเรารอภิกษาอยู่ จึงนั่งอยู่ในเรือน. ก็ภิกษุนั้นไม่นั่งเพ่งเล็งภิกษาอยู่อย่างนี้ พวกเราอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน เธออยู่ในป่าเท่านั้น พวกเราอยู่ในที่มุงบัง เธออยู่แต่ในกลางแจ้งเท่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า ข้อนี้และข้อนี้เป็นคุณของเธอดังนี้แล้ว จึงเป็นเสมือนยังมหาสมุทรให้เต็ม ทรงแสดงคุณของเธอ.
               แม้ตามปกติ อุบาสกเป็นผู้เลื่อมใสด้วยดียิ่งนัก เหมือนประทีปกำลังโพลงซึ่งลาดด้วยน้ำมัน คิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยสมบัติอย่างอื่นในอนาคต เราจะตั้งความปรารถนาเพื่อความเป็นเลิศกว่าผู้ถือธุดงค์ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง. เธอนิมนต์พระศาสดาแม้อีก ถวายมหาทานตลอด ๗ วันโดยทำนองนั้นนั่นแล ในวันที่ถวายไตรจีวรแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน นั่งแทบพระบาทมูลของพระศาสดา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน ข้าพระองค์ได้เข้าไปตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมมีเมตตาเป็นอารมณ์ ด้วยบุญกรรมนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาเทวสมบัติ สักกสมบัติ มารสมบัติ และพรหมสมบัติอย่างอื่น. ก็กรรมของข้าพระองค์นี้จงเป็นบุญญาธิการ เพื่อความเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงค์ ๑๓ เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุตำแหน่งที่พระมหานิสภเถระ ปรารถนาไว้ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต.
               พระศาสดาทรงตรวจดูว่า อุบาสกนี้ปรารถนาตำแหน่งใหญ่ เธอจักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงเห็นว่าจะสำเร็จ จึงตรัสพยากรณ์ว่า เธอปรารถนาตำแหน่งน่าชอบใจ ในอนาคตในที่สุดแห่ง ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดม จักเสด็จอุบัติ เธอจักเป็นสาวกที่ ๓ ของพระองค์ มีนามว่าพระมหากัสสปเถระ. อุบาสกได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า ขึ้นชื่อว่าถ้อยคำเป็นสองย่อม ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงได้สำคัญสมบัตินั้น เหมือนจะพึงได้ในวันรุ่งขึ้น. เธอถวายทานจนตลอดอายุ สมาทานรักษาศีล กระทำกัลยาณกรรมมีประการต่างๆ ทำกาละแล้วบังเกิดในสวรรค์.
               จำเดิมแต่นั้นมา เธอเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลก ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เสด็จเข้าไปอาศัยพันธุมวดีนคร ประทับอยู่ในมฤคทายวันอันเกษม จุติจากเทวโลกแล้ว บังเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่แห่งหนึ่ง.
               ก็ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงแสดงธรรมทุกๆ ๗ ปี ได้มีความเอิกเกริกอย่างใหญ่. เทวดาในชมพูทวีปทั้งสิ้นบอกว่า พระศาสดาจักแสดงธรรม. พราหมณ์ได้ฟังข่าวนั้นแล้ว ก็ท่านได้มีผ้านุ่งอยู่ผืนเดียวเท่านั้น นางพราหมณีก็เหมือนกัน. แต่ท่านทั้งสองมีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น เขาปรากฏในพระนครทั้งสิ้นว่า เอกสาฎกพราหมณ์.
               เมื่อมีการประชุมด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่งของพวกพราหมณ์ พราหมณ์นั้นจึงพักนางพราหมณีไว้ในเรือน ส่วนตนเองห่มผ้านั้นไป. เมื่อมีการประชุมของพวกพราหมณี ตนเองก็อยู่ในเรือน นางพราหมณีก็ห่มผ้านั้นไป. ก็วันนั้นพราหมณ์กล่าวกะนางพราหมณีว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธอจักฟังธรรมในกลางคืนหรือในกลางวัน. นางพราหมณีกล่าวว่า พวกเราชื่อว่าเกิดเป็นผู้หญิง ไม่ปรารถนาจะฟังในกลางคืน จักฟังในกลางวัน จึงได้พักพราหมณ์ไว้ในเรือน แล้วห่มผ้าพร้อมด้วยอุบาสิกาไปในกลางวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ฟังธรรมแล้วได้กลับมาพร้อมด้วยอุบาสิกาทั้งหลายนั่นแล.
               ลำดับนั้น พราหมณ์จึงพักนางพราหมณีไว้ในเรือน ห่มผ้านั้นไปวิหาร.
               สมัยนั้น พระศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาประดับแล้วในท่ามกลางบริษัท จับพัดวิชนีแสดงธรรมกถา ประหนึ่งเทวดาผู้วิเศษหยั่งลงสู่แม่น้ำในอากาศ หรือเหมือนทำเขาสิเนรุให้เป็นข้าวตูก้อนแล้วกดลงสู่สาครฉะนั้น. เมื่อพราหมณ์นั่งอยู่ที่ท้ายบริษัทฟังธรรมอยู่ ในปฐมยามนั้นเอง ปิติมีวรรณะ ๕ เกิดขึ้น ทำสรีระทั้งสิ้นให้เต็ม. เขาม้วนผ้าที่ตนห่มแล้วคิดว่า จักถวายแด่พระทสพล. ลำดับนั้น ความตระหนี่อันแสดงโทษตั้ง ๑,๐๐๐ เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว. เขาคิดว่า นางพราหมณีและเราก็มีผ้าผืนเดียวเท่านั้น. ผ้าห่มอะไรอื่นไม่มี ก็ธรรมดาว่าเราจะไม่ห่มแล้ว ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ได้เป็นผู้ใคร่จะไม่ให้โดยประการทั้งปวง.
               ครั้นปฐมยามทั้งมัชฌิมยามผ่านไป ปิติก็เกิดขึ้นแก่เขาเช่นนั้นเหมือนกัน. ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ไม่ปรารถนาจะให้เหมือนกัน ครั้นมัชฌิมยามทั้งปัจฉิมยามผ่านไป เขาก็เกิดปีติขึ้นเช่นนั้นเหมือนกัน.
               ในกาลนั้น เขาคิดว่า เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งยกไว้ก่อน เราจักรู้ในภายหลัง ดังนี้แล้วจึงม้วนผ้าวางไว้แทบบาทมูลของพระศาสดา ลำดับนั้น เขาจึงคู้มือซ้ายปรบด้วยมือขวาขึ้น ๓ ครั้ง บันลือขึ้นทั้งสามครั้งว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว.
               ก็สมัยนั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งฟังธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ก็ธรรมดาว่า เสียงว่าเราชนะแล้ว ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของพระราชา. ท้าวเธอทรงส่งบุรุษไปให้รู้ว่า เธอจงไป จงถามบุรุษนั่นเขากล่าวกระไร?
               เขาอันบุรุษนั้นไปถามแล้ว จึงตอบว่า พวกคนที่เหลือนี้ขึ้นสู่ยานช้างเป็นต้น ถือเอาดาบและโล่หนังเป็นต้นชนะเสนาอื่น ข้อนั้นไม่น่าอัศจรรย์. แต่เราย่ำยีจิตคือความตระหนี่แล้ว ถวายผ้าห่มแด่พระทศพล เหมือนคนเอาค้อนทุบศีรษะโคโกง ผู้มาข้างหลังแล้วให้มันหนีไป ข้อที่เราชนะความตระหนี่นั้นอัศจรรย์. บุรุษนั้นกลับมากราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา.
               พระราชาตรัสว่า พนาย พวกเราไม่รู้กรรมอันสมควรแด่พระทศพล พราหมณ์รู้แล้วดังนี้ ได้ส่งคู่ผ้าไปให้แล้ว. พราหมณ์เห็นดังนั้นจึงคิดว่า พระราชานี้ไม่ได้ให้อะไรๆ ก่อนแก่เราผู้นั่งนิ่ง ต่อเมื่อเรากล่าวคุณของพระศาสดา จึงได้ให้ ก็จะประโยชน์อะไรแก่เรา ด้วยวัตถุที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยคุณของพระศาสดา ดังนี้แล้วได้ถวายคู่ผ้าแม้นั้นแด่พระทศพลเท่านั้น.
               ฝ่ายพระราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอะไร? ครั้นทรงสดับว่า พราหมณ์นั้นถวายคู่ผ้าแม้นั้นแด่พระตถาคตนั่นแล. จึงประทานคู่ผ้า ๒ คู่แม้อื่นไปให้แล้ว พราหมณ์นั้นได้ถวายคู่ผ้าแม้เหล่านั้น. พระราชาจึงได้ประทานคู่ผ้าแม้อื่น ๔ คู่ ถึง ๓๒ คู่.
               ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่านี้เป็นเหมือนรับเพิ่มขึ้น จึงรับคู่ผ้าไว้ ๒ คู่ คือเพื่อประโยชน์แก่ตนคู่หนึ่งแก่นางพราหมณีคู่หนึ่ง แล้วได้ถวายคู่ผ้าทั้ง ๓๒ คู่แด่พระตถาคตนั่นแหละ. ก็จำเดิมแต่นั้นเธอได้เป็นผู้คุ้นเคยต่อพระศาสดา.
               ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเห็นเขาฟังธรรมอยู่ในสำนักพระศาสดาในฤดูหนาว จึงประทานผ้ากัมพลแดงที่พระองค์ทรงห่มมีราคา ๑๐๐,๐๐๐ แล้วตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป เธอจงห่มผ้านี้ฟังธรรม. เขาคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยผ้ากัมพลนี้ที่จะนำเข้าไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงได้ไปกระทำเป็นเพดานในเบื้องบนเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปยังพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในสำนักพระศาสดา ภายในพระคันธกุฎี. ก็สมัยนั้น พระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ กระทบผ้ากัมพล. ผ้ากัมพลรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง. พระราชาทรงแหงนดู ทรงจำได้ จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นผ้ากัมพลของข้าพระองค์. ข้าพระองค์ได้ให้เอกสาฎกพราหมณ์.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร มหาบพิตรบูชาพราหมณ์ เป็นอันพราหมณ์บูชาเราแล้ว. พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้ถึงสิ่งที่ควร เราไม่รู้ จึงทรงกระทำสิ่งซึ่งเป็นอุปการะแก่พวกมนุษย์ทั้งหมดให้เป็นอย่างละ ๘ แล้วได้ให้ทานชื่อหมวด ๘ ของสิ่งทั้งปวง แล้วทรงตั้งไว้ในตำแหน่งปุโรหิต.
               ฝ่ายปุโรหิตนั้นคิดว่า ชื่อว่าสิ่งอย่างละ ๘ๆ รวม ๖๔ อย่าง ได้ผูกสลากภัต ๖๔ ที่เป็นประจำแล้วถวายทานรักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในสวรรค์.
               เขาจุติจากอัตภาพนั้นอีก ในกัปนี้จึงบังเกิดในเรือนแห่งกุฎุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าทั้งสอง คือพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ และพระกัสสปทศพล.
               เขาเจริญวัยแล้ว อยู่ครองเรือน วันหนึ่งเที่ยวไปสู่ชังฆวิหารในป่า.
               ก็สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้ากระทำจีวรกรรมที่ฝั่งแม่น้ำ เริ่มจะรวบรวมผ้าอนุวาตที่ไม่เพียงพอวางไว้. เขาเห็นเข้าจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ท่านจึงรวบรวมวางไว้. พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า ผ้าอนุวาตไม่เพียงพอ. เขากล่าวว่า ท่านจงกระทำด้วยผ้านี้เถิดขอรับ แล้วได้ถวายผ้าอุตรสาฎกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอความเสื่อมเพราะสิ่งอะไรๆ จงอย่ามีแก่เราในที่เราเกิดแล้วๆ.
               เมื่อภรรยากับน้องสาวของเรากระทำความทะเลาะแม้ในเรือน พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาต. ลำดับนั้น น้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า หมายเอาภรรยาของเขา จึงตั้งความปรารถนาว่า เราพึงเว้นคนพาลเห็นปานนี้จากที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์. นางยืนอยู่ที่ลานเรือนได้ยินเข้าจึงคิดว่า ขอพระปัจเจกพุทธเจ้าจงอย่าบริโภคภัตที่หญิงนี้ให้ จึงเทบิณฑบาตทิ้ง แล้วได้ให้เต็มด้วยเปือกตม.
               ฝ่ายน้องสาวกล่าวว่า ดูก่อนคนพาล เจ้าจงด่า จงประหารเราก่อนเถิด การที่เจ้าเทภัตจากบาตรของท่านผู้เห็นปานนี้ ผู้บำเพ็ญบารมีมาสิ้น ๒ อสงไขย แล้วให้เปือกตมไม่ควรเลย.
               ลำดับนั้น การพิจารณาได้เกิดขึ้นแก่ภรรยาของเขา. นางกล่าวว่า จงหยุดเถิดเจ้าข้า ดังนี้แล้วเทเปือกตม ล้างบาตรขัดสีด้วยจุณหอม บรรจุให้เต็มด้วยภัตอันประณีตและด้วยอาหารมีรสอร่อย ๔ อย่าง แล้ววางสิ่งที่รุ่งเรืองด้วยเนยใส มีสีดังกลีบปทุมที่เขาราดไว้ในเบื้องบน ไว้ในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า บิณฑบาตนี้มีแสงสว่างฉันใด สรีระของเราจงมีแสงสว่างฉันนั้น.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้ว จึงเหาะไปแล้ว.
               ฝ่ายเมียและผัวทั้งสองบำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต บังเกิดในสวรรค์ จุติจากอัตภาพนั้นอีกเป็นอุบาสก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดเป็นบุตรแห่งเศรษฐี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิในกรุงพาราณสี. ฝ่ายภรรยาบังเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีนั้นนั่นแล. เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว ญาติทั้งหลายได้นำธิดาเศรษฐีนั้นนั่นแลมาให้ พอเมื่อนางเข้าไปสู่ตระกูลสามี ด้วยอานุภาพของบาปกรรมที่มีผลไม่น่าปรารถนาในกาลก่อน สรีระทั้งสิ้นได้เกิดมีกลิ่นเหม็น เหมือนเวจกุฎีที่เขาเปิดไว้ที่ธรณีประตู
               เศรษฐีกุมารถามว่า นี้กลิ่นของอะไร? ทราบว่าเป็นกลิ่นของเศรษฐีธิดาแล้วส่งไปเรือนแห่งตระกูล โดยทำนองที่เขานำมาว่า จงนำออกไป จงนำออกไป. นางนั้นอันสามีนั้นนั่นแหละขับไล่แล้วให้นำกลับมา ๗ ครั้ง.
               ก็สมัยนั้น พระกัสสปทศพลปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายได้พากันสร้างเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ถวายพระองค์ ด้วยอิฐแล้วด้วยทองสีแดง มีราคา ๑๐๐,๐๐๐ บุให้แท่งทึบ. เมื่อเขาสร้างเจดีย์นั้น เศรษฐีธิดานั้นคิดว่า เราถูกนำกลับมาถึง ๗ ครั้ง จะประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของเรา ดังนี้แล้ว จึงให้ทำลายเครื่องอาภรณ์ของตน ให้ก่ออิฐแล้วด้วยทองอันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ กว้างหนึ่งคืบ สูงสี่นิ้ว. ลำดับนั้น จึงถือเอาก้อนหรดาลและมโนศิลา แล้วถือเอาดอกอุบล ๘ กำไปยังที่กระทำเจดีย์.
               ก็ในขณะนั้น แนวอิฐที่วงล้อมเจดีย์ขาดไป ๑ ก้อน ธิดาเศรษฐีจึงกล่าวกะนายช่างว่า ท่านจงวางแผ่นอิฐนี้ไว้ในที่ว่างนี้. นายช่างกล่าวว่า ดูก่อนแม่นางผู้เจริญ ท่านมาทันเวลา จงวางเองเถิด. นางขึ้นไปแล้วประกอบก้อนหรดาลและมโนศิลาด้วยน้ำมัน วางก้อนอิฐให้ติดกับเครื่องเชื่อมนั้น กระทำการบูชาด้วยดอกอุบล ๘ กำมือไว้ข้างบน ไหว้แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอกลิ่นจันทน์จงฟุ้งออกจากกายของเรา ขอกลิ่นอุบลจงฟุ้งออกจากปาก ในที่ที่เกิดแล้วๆ ดังนี้แล้วไหว้เจดีย์กระทำประทักษิณได้ไปแล้ว.
               ครั้นในขณะนั้นนั่นเอง เศรษฐีบุตรใดนำนางไปสู่เรือนคราวก่อน ความระลึกถึงเพราะปรารภนางเกิดขึ้นแล้วแก่เศรษฐีนั้น. แม้ในพระนคร เขาก็ป่าวร้องเล่นนักษัตร. เขากล่าวกะอุปัฏฐากว่า ในกาลนั้น เขานำธิดาเศรษฐีมาในที่นี้ นางไปไหน?
               นางตอบว่า เธออยู่ในเรือนของตระกูล.
               เขากล่าวว่า ท่านจงนำนางมาเถิด เราจักเล่นนักษัตร. อุปัฏฐากเหล่านั้นไปยืนไหว้นาง ถูกนางถามว่า พ่อทั้งหลายพวกท่านมาทำไม จึงแจ้งเรื่องนั้น. นางกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย ฉันบูชาพระเจดีย์ด้วยเครื่องอาภรณ์ ฉันไม่มีเครื่องอาภรณ์. อุปัฏฐากเหล่านั้นไปบอกบุตรเศรษฐี.
               บุตรเศรษฐีกล่าวว่า พวกท่านจงนำนางมา นางจักได้เครื่องประดับ อุปัฏฐากเหล่านั้นนำมาแล้ว กลิ่นจันทน์และกลิ่นดอกอุบลเขียว ฟุ้งไปทั่วเรือนพร้อมด้วยการเข้าไปสู่เรือนของนาง. เศรษฐีบุตรถามนางว่า ครั้งก่อนกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากร่างกายของเจ้า แต่บัดนี้กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากร่างกาย และกลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของเจ้า นี้เป็นเพราะเหตุอะไร?
               นางบอกกรรมที่ตนทำตั้งแต่ต้น. บุตรเศรษฐีเลื่อมใสว่า พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริงหนอ, จึงล้อมสุวรรณเจดีย์ประมาณโยชน์หนึ่งด้วยผ้าคลุมอันทำด้วยผ้ากัมพล แล้วประดับด้วยดอกปทุมทอง ประมาณเท่าล้อรถในที่นั้นๆ ดอกปทุมทองเหล่านั้น ได้ห้อยลงประมาณ ๑๒ ศอก.
               เขาดำรงอยู่ในที่นั้นจนตลอดอายุ แล้วบังเกิดในสวรรค์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ในที่ประมาณโยชน์หนึ่งแต่กรุงสาวัตถี. แม้ธิดาเศรษฐีจุติจากเทวโลกแล้ว บังเกิดเป็นธิดาคนโตในราชตระกูล. เมื่อคนทั้งสองนั้นเจริญแล้ว ในบ้านที่อยู่ของกุมาร เขาป่าวร้องการเล่นนักษัตร. เขากล่าวกะมารดาว่า ดูก่อนแม่ ขอแม่จงให้ผ้าสาฎกแก่ฉัน ฉันจักเล่นนักษัตร. นางนำผ้าที่ชำระแล้วได้ให้ไป. เขากล่าวว่า แม่ นี้เป็นผ้าเนื้อหยาบ. นางได้นำผ้าอื่นให้ไป แม้ผ้านั้นเขาก็ห้าม.
               ลำดับนั้น มารดาจึงกล่าวกะเขาว่า ดูก่อนพ่อ เราเกิดในเรือนเช่นใด บุญเพื่อได้ผ้าเนื้อละเอียดจากที่นี้ ย่อมไม่มีแก่พวกเรา. เขากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ฉันจะไปสู่ที่ๆ จะได้ผ้าจ้ะแม่. นางกล่าวว่า ลูก วันนี้แหละ แม่ปรารถนาจะให้เจ้าได้รับราชสมบัติในกรุงพาราณสี. เขาไหว้มารดาแล้ว กล่าวว่า ฉันจะไปละ แม่. นางกล่าวว่า ไปเถิดลูก.
               ได้ยินว่า มารดาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า บุตรจักไปในที่ไหน บุตรจักนั่งอยู่ในที่นี้หรือที่ในเรือน.
               ก็เขาออกแล้วไปด้วยการกำหนดแห่งบุญ ไปยังกรุงพาราณสี นอนคลุมโปงอยู่ที่แผ่นมงคลศิลาในอุทยาน และวันนั้นเป็นวันที่ ๗ ที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคต.
               อำมาตย์ทั้งหลายจัดถวายพระเพลิงสรีระของพระราชาแล้ว นั่งอยู่ที่พระลานหลวงปรึกษากันว่า พระราชามีแต่พระธิดาองค์หนึ่งเท่านั้น แต่ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติอันไม่มีพระราชาจักพินาศ ใครจักเป็นพระราชา ดังนี้แล้วจึงกล่าวกันว่า ท่านจงเป็นพระราชา ท่านจงเป็นพระราชา.
               ปุโรหิตกล่าวว่า การคัดเลือกโดยไม่กำหนด การเห็นแก่หน้ากันมากไป ย่อมไม่สมควร เราจักปล่อยรถขาวเสี่ยงทายไป. อำมาตย์เหล่านั้นจึงเทียมม้าสินธพ ๔ ม้ามีสีดังดอกโกมุท แล้ววางราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ และเศวตฉัตรไว้บนรถนั่นเอง จึงปล่อยรถประโคมดุริยางค์ตามหลังไป รถออกทางด้านทิศตะวันออกมุ่งหน้าไปอุทยาน. อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า รถมุ่งหน้าไปทางอุทยานด้านที่คุ้นเคย พวกเราจงให้กลับ. ปุโรหิตกล่าวว่า ท่านอย่าให้กลับเลย. รถทำประทักษิณกุมารแล้วได้หยุดรอให้ขึ้นไป.
               ปุโรหิตเลิกชายผ้าแลดูพื้นเท้าพลางกล่าวว่า ทวีปนี้จงยกไว้ บรรดาทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มี ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวาร ผู้นี้ควรครองราชสมบัติ แล้วกล่าวว่า ท่านจงประโคมดนตรีแม้อีก จงประโคมดนตรีแม้อีก. ดังนี้แล้วจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง.
               ลำดับนั้น กุมารเปิดหน้าแลดู กล่าวว่า ท่านมาด้วยกรรมอะไร? พวกเขากล่าวว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชสมบัติถึงแก่ท่าน. กุมารถามว่า พระราชาอยู่ที่ไหน? อำมาตย์กล่าวว่า พระองค์สวรรคตแล้วนาย. กุมารถามว่า ล่วงไปกี่วันแล้ว. อำมาตย์กล่าวว่า วันนี้เป็นที่ ๗. กุมารถามว่า พระโอรสและพระธิดาไม่มีหรือ? อำมาตย์ทูลว่า พระธิดามีพระเจ้าข้า แต่พระโอรสไม่มี. กุมารกล่าวว่า เราจักครองราชสมบัติ.
               ในขณะนั้นนั่นเอง อำมาตย์เหล่านั้นจึงสร้างมณฑปอภิเษก ประดับราชธิดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง แล้วนำมายังพระอุทยาน กระทำอภิเษกแก่กุมาร. ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้น้อมนำผ้ามีราคา ๑๐๐,๐๐๐ เข้าไปให้แก่กุมารผู้ได้อภิเษก.
               กุมารกล่าวว่า นี่อะไรกันพ่อ. อำมาตย์ทูลว่า ผ้าสำหรับนุ่ง. กุมารถามว่า พ่อทั้งหลาย หยาบไปมิใช่หรือ? อำมาตย์ทูลว่า ไม่มีผ้าที่ละเอียดกว่านี้ ในบรรดาผ้าเครื่องใช้สอยของพวกมนุษย์ พระเจ้าข้า. กุมารกล่าวว่า พระราชาของท่านนุ่งผ้าเห็นปานนี้หรือ. อำมาตย์ทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า. กุมารกล่าวว่า ชะรอยว่าพระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ ท่านจงนำเหยือกน้ำทองคำมาให้เรา เราจักได้ผ้า. อำมาตย์นำเหยือกน้ำทองคำมาแล้ว.
               กุมารนั้นลุกขึ้นล้างมือ บ้วนปาก เอามือวักน้ำประพรมในปุรัตถิมทิศ. ขณะนั้นนั่นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้นผุดขึ้นทำลายแผ่นดินเป็นแท่งทึบ กุมารวักน้ำประพรมทั้ง ๔ ทิศอย่างนี้อีกคือในทิศทักษิณ ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ต้นกัลปพฤกษ์ ๓๒ ต้นผุดขึ้น กระทำให้เป็นกลุ่มละ ๘ ต้นในทุกทิศ.
               กุมารนั้นนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงพากันตีกลองร้องประกาศอย่างนี้ว่า หญิงทั้งหลายผู้ปั่นด้าย อย่าปั่นด้ายในแว่นแคว้นของพระเจ้านันทะ และให้ยกฉัตรประดับตกแต่งอยู่บนคอช้างตัวประเสริฐ เข้าไปยังพระนคร ขึ้นสู่ปราสาทแล้วเสวยมหาสมบัติ.
               เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ วันหนึ่ง พระเทวีทรงเห็นมหาสมบัติของพระราชา จึงแสดงอาการความเป็นผู้มีกรุณาว่า น่าอัศจรรย์ พระองค์มีตบะ. ก็เมื่อถูกถามว่า นี้อะไรกันเทวี จึงทูลว่า สมบัติของพระองค์มีมาก พระเจ้าข้า. ในอดีตกาล พระองค์ทรงเชื่อต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้กระทำกัลยาณกรรม บัดนี้ ไม่ทรงทำกุศลอันเป็นปัจจัยแก่อนาคตหรือ. พระราชาตรัสว่า จะให้แก่ใครบุคคลผู้มีศีลไม่มี. พระเทวีทูลว่า พระเจ้าข้า ชมพูทวีปไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ขอพระองค์จงให้จัดแจงทานเท่านั้น เราจะได้พระอรหันต์ทั้งหลาย.
               วันรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้จัดแจงทานที่ประตูด้านทิศตะวันออก. พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถแต่เช้าตรู่ หมอบลงบ่ายหน้าต่อทิศบูรพาในปราสาทชั้นบน ตรัสว่า ถ้าพระอรหันต์ทั้งหลายมีอยู่ในทิศนี้ไซร้ พรุ่งนี้แหละ ขอพระอรหันต์ทั้งหลายจงมารับภิกษาของพวกเราทั้งหลาย.
               พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีในทิศนั้น จึงได้ให้เครื่องสักการะแก่คนกำพร้าและยาจกทั้งหลาย. วันรุ่งขึ้นพระเทวีทรงจัดแจงทานที่ประตูด้านทักษิณ ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น. วันรุ่งขึ้นได้กระทำที่ประตูด้านทิศปัจฉิม แต่ในวันที่จัดแจงที่ประตูด้านทิศอุดร เมื่อพระเทวีเชื้อเชิญเหมือนอย่างนั้น.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ามหาปทุมะ ผู้เป็นหัวหน้าของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ บุตรของพระนางปทุมวดีผู้อยู่ที่หิมวันตประเทศ จึงเรียกพี่น้องชายทั้งหลายมาว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระเจ้านันทะเชื้อเชิญพวกท่าน พวกท่านจงรับทานของพระองค์เถิด. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว.
               วันรุ่งขึ้นจึงล้างหน้าที่สระอโนดาต แล้วมาทางอากาศ ลงที่ประตูด้านทิศอุดร. มนุษย์ทั้งหลายเห็นแล้วไปกราบทูลพระราชาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ มา พระเจ้าข้า. พระราชาพร้อมกับเทวีไปไหว้แล้วรับบาตร ให้อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าขึ้นสู่ปราสาท ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในที่นั้น ในที่สุดแห่งภัตกิจ พระราชาถวายแก่พระสังฆเถระ พระเทวีหมอบลงแทบเท้าของพระสังฆนวกะ ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ แล้วกระทำปฏิญญาว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักไม่ลำบากด้วยปัจจัย พวกเราจักไม่เสื่อมจากบุญ จึงจัดแจงที่เป็นที่อยู่โดยอาการทั้งปวงในพระอุทยาน คือบรรณศาลา ๕๐๐ ที่จงกรม ๕๐๐ แล้วให้อยู่ในที่นั้น.
               เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ ปัจจันตชนบทของพระราชากำเริบ พระราชาโอวาทพระเทวีว่า เราจะไปปราบปัจจันตชนบทให้สงบ เจ้าอย่าประมาทในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย. เมื่อพระราชายังไม่เสด็จกลับมานั่นแล อายุสังขารของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นไป.
               พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้าเล่นฌานตลอดยาม ๓ แห่งราตรี จึงยืนเหนี่ยวแผ่นกระดานเป็นที่ยึดหน่วง แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในเวลาอรุณขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงได้ยืนยึดหน่วงแผ่นกระดานที่เหลือ ด้วยอุบายนี้ปรินิพพานแล้ว.
               วันรุ่งขึ้น พระเทวีให้สร้างที่เป็นที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เกลี่ยดอกไม้ถวายธูป นั่งคอยดูการมาของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เมื่อไม่เห็นมาจึงส่งบุรุษไปว่า ไปเถิดพ่อ จงรู้พระผู้เป็นเจ้าคงจะมีความไม่ผาสุกอะไรๆ บ้างกระมัง.
               บุรุษนั้นไปเปิดประตูบรรณศาลาแห่งพระปัจเจกพุทธมหาปทุมะ เมื่อไม่เห็นในที่นั้น จึงไปสู่ที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึดหน่วง ไหว้แล้วกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วขอรับ. สรีระปริพพานจักกล่าวอะไร? เขาคิดว่า ชะรอยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะหลับ จึงไปเอามือลูบหลังเท้า ทราบว่าท่านปรินิพพานแล้ว เพราะเท้าเย็นและแข็งกระด้าง จึงได้ไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปที่ ๒ ไปยังสำนักพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปที่ ๓ ด้วยอาการฉะนี้. ทราบว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดปรินิพพานแล้ว.
               พระเทวีทรงกันแสงออกไปพร้อมกับชาวพระนคร ไปในที่นั้น ให้กระทำการเล่นอย่างสนุกสนาน ให้กระทำฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ให้ถือเอาพระธาตุสร้างพระเจดีย์ไว้.
               พระราชา ครั้นปราบปัจจันตชนบทให้สงบแล้ว จึงเสด็จมาตรัสถามพระเทวีผู้กระทำการต้อนรับว่า นางผู้เจริญ เจ้าไม่ประมาทต่อพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือ? พระผู้เป็นเจ้าไม่มีโรคหรือ?
               พระเทวีทูลว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว.
               พระราชาทรงพระดำริว่า มรณะย่อมเกิดขึ้นแก่บัณฑิตแม้เห็นปานนี้ ความพ้นของเราจักมีแต่ที่ไหน พระองค์ไม่เสด็จไปพระนคร เสด็จไปยังพระอุทยานเท่านั้น รับสั่งให้เรียกพระราชโอรสองค์โตมา แล้วมอบราชสมบัติแก่เธอ พระองค์เองบวชเป็นสมณะ.
               ฝ่ายพระเทวีทรงดำริว่า เมื่อพระราชานี้บวชแล้ว เราจักทำอะไรจึงบวชในอุทยานนั้นนั่นเอง แม้ทั้งสองพระองค์ยังฌานให้เกิดขึ้น จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในพรหมโลก.
               เมื่อท่านทั้งสองอยู่ในที่นั้นนั่นเอง พระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ประกาศธรรมจักรอันบวร เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ. เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าในกรุงราชคฤห์นั้น ปิปผลิมาณพนี้บังเกิดในท้องของพระอัครมเหสี ของกบิลพราหมณ์ ในมหาติตถพราหมณคาม ในมคธรัฐ, นางภัททกาปิลานีนี้บังเกิดในท้องของอัครมเหสีของโกสิยโคตรพราหมณ์ ในสาคลนคร ในมคธรัฐ.
               เมื่อท่านเหล่านั้นเจริญโดยลำดับ เมื่อปิปผลิมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปี นางภัททามีอายุครบ ๑๖ ปี มารดาบิดาแลดูบุตรแล้วคาดคั้นอย่างหนักว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าเจริญวัยแล้ว ชื่อว่าวงศ์ตระกูลจะต้องดำรงไว้. มาณพกล่าวว่า ท่านอย่ากล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ในคลองแห่งโสตประสาทของฉัน ฉันจักปรนนิบัติท่านตลอดเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยกาลล่วงไปแห่งท่าน ฉันจักออกบวช. โดยล่วงไป ๒-๓ วัน ท่านทั้งสองก็กล่าวอีก แม้ท่านก็ปฏิเสธเหมือนอย่างนั้นนั่นเอง. จำเดิมแต่นั้นมา ท่านก็กล่าวอย่างนั้นไม่ขาดระยะเลย.
               มาณพคิดว่า เราจักให้มารดาของเรายินยอม จึงให้แท่งทองสุกปลั่ง ๑,๐๐๐ แท่งอันช่างทองทำให้อ่อนตามต้องการทั้งปวงแล้ว สร้างรูปหญิงรูปหนึ่ง ในเวลาสิ้นสุดแห่งกรรม มีการเช็ดและบุเป็นต้นของแท่งทองนั้นก็ให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้สมบูรณ์ด้วยดี และเครื่องประดับต่างๆ ให้เรียกมารดามากล่าวว่า แม่ เมื่อฉันได้อารมณ์เห็นปานนี้จักอยู่ครองเรือน เมื่อไม่ได้จักไม่อยู่.
               นางพราหมณีผู้เป็นบัณฑิตคิดว่า บุตรของเรามีบุญ ได้เคยให้ทาน เคยทำอภินิหารไว้ เมื่อทำบุญ ไม่ได้เป็นผู้ๆ เดียวกระทำ โดยที่แท้เคยทำบุญร่วมกับเขาไว้ จึงเป็นผู้มีส่วนเปรียบด้วยรูปทอง ดังนี้แล้วจึงให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๘ คนมาให้อิ่มหนำด้วยกามทั้งปวง ให้ยกรูปทองขึ้นสู่รถส่งไปเพื่อให้รู้ว่า พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงไปในตระกูลที่เสมอกันโดยชาติโคตรและโภคะของเรา จงดูนางทาริกาเห็นปานนี้ จงกระทำรูปทองนี้แหละให้เป็นเครื่องบรรณาการแล้วจงกลับมา.
               พราหมณ์เหล่านั้นออกไปด้วยคิดว่า นี้เป็นกรรมชื่อของพวกเรา คิดว่าพวกเราจักไปในที่ไหน จึงคิดว่า ชื่อว่ามัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งหญิง เราจักไปมัททรัฐ ดังนี้แล้วได้ไปสาคลนคร ในมัททรัฐ. ได้วางรูปทองนั้นไว้ที่ท่าอาบน้ำในสาคลนครนั้น แล้วได้นั่งที่ควรข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พี่เลี้ยงของนางภัททา ให้นางภัททาอาบน้ำแล้ว แล้วประดับ ให้นั่งในห้องอันประกอบด้วยสิริ ตนเองก็ไปยังท่าน้ำเพื่ออาบน้ำ ได้เห็นรูปทองนั้นในที่นั้น คิดว่า ธิดานี้ใครๆ ไม่ได้นำมา มาอยู่ในที่นี้ได้อย่างไร? จึงได้แตะดูข้างหลังรู้ว่ารูปทอง จึงกล่าวว่า เราให้เกิดความสำคัญขึ้นว่า นี้ธิดาแม่เจ้าของเรา แต่นี้ไม่เหมือนธิดาแม่เจ้าของเรา แม้ผู้รับเครื่องนุ่งห่ม.
               ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจึงพากันห้อมล้อมรูปนั้นแล้วถามว่า รูปเห็นปานนี้เป็นธิดาของท่านหรือ? พี่เลี้ยงกล่าวว่า นี้อะไรกัน ธิดาแม่เจ้าของเรายังงามกว่ารูปทองเปรียบนี้ตั้ง ๑๐๐ เท่า ๑,๐๐๐ เท่า เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก กิจด้วยประทีปย่อมไม่มี แม่เจ้าย่อมกำจัดความมืด โดยแสงสว่างแห่งสรีระนั้นเอง.
               พวกเขาจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นจงมาเถิด แล้วพาคนค่อมนั้น ยกรูปทองขึ้นบนรถยืนอยู่ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร จึงได้แจ้งการมาให้ทราบ.
               พราหมณ์ปฏิสันถารแล้วถามว่า พวกท่านมาจากไหน? พวกพราหมณ์กล่าวว่า มาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ ในมหาติตถคาม. มคธรัฐพราหมณ์ถามว่า มาเพราะเหตุอะไร ? พวกพราหมณ์ตอบว่า เพราะเหตุชื่อนี้. พราหมณ์กล่าวว่า เป็นกรรมดีละพ่อทั้งหลาย พราหมณ์ของพวกเรามีชาติโคตรและสมบัติเสมอกัน เราจักให้นางทาริกา ดังนี้แล้วรับเอาเครื่องบรรณาการไว้. พวกเขาได้ส่งสาสน์ไปให้แก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้นางทาริกาแล้ว นางจงกระทำสิ่งที่ควรทำ.
               คนทั้งหลายได้ทราบข่าวนั้นแล้วจึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบว่า ได้ยินว่า ได้นางทาริกาแล้ว.
               มาณพคิดว่า เราคิดว่าจักไม่ได้ พวกเหล่านี้กล่าวว่าได้แล้ว เราไม่มีความต้องการ จักส่งหนังสือไป ดังนี้แล้วได้อยู่ในที่ลับเขียนหนังสือส่งไปว่า ขอนางภัททาจงได้ครองเรือนอันสมควรแก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย.
               ฝ่ายนางภัททาได้สดับว่า บิดาประสงค์จะให้เราแก่ชายโน้น จึงคิดว่า เราจักส่งหนังสือไปดังนี้แล้วได้อยู่ในที่ลับเขียนหนังสือส่งไปว่า พระลูกเจ้า พระลูกเจ้าจงได้ครองเรือนอันสมควรแก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด ดิฉันจักบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย.
               หนังสือทั้งสองได้มาประจวบกันในระหว่างทาง ถามว่าเป็นหนังสือของใคร? เมื่อได้คำตอบว่า เป็นหนังสือที่ปิปผลิมาณพส่งหนังสือถึงนางภัททา ก็เมื่อกล่าวว่า นางภัททาก็ส่งหนังสือถึงปิปผลิมาณพ. คนทั้งหลายได้อ่านหนังสือทั้งสองฉบับแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงดูกรรมของเด็กทั้งหลาย ดังนี้แล้วก็ฉีกทิ้งเสียในป่า จึงเขียนหนังสืออื่นซึ่งเหมือนกับหนังสือนั้น แล้วส่งไปข้างโน้นและข้างนี้.
               การสมาคมแห่งคนทั้งสองผู้ไม่ปรารถนาอยู่นั่นแหละ เพราะหนังสือที่เหมือนกัน ที่เกื้อกูลแก่ความยินดีทางโลกเท่านั้นของกุมารกับนางกุมาริกา ได้มีแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ในวันนั้นนั่นเอง ปิปผลิมาณพให้ร้อยพวงดอกไม้พวงหนึ่ง แม้นางภัททาก็ร้อย คนทั้งสองวางพวงดอกไม้ไว้บนท่ามกลางที่นอน บริโภคอาหารเย็นแล้ว คิดว่าเราจักขึ้นสู่ที่นอน,มาณพขึ้นสู่ที่นอนโดยทางข้างขวา, นางภัททาขึ้นทางซ้ายแล้วกล่าวว่า เราจักรู้ว่า ดอกไม้ย่อมเหี่ยว ณ ข้างของผู้ใด ราคะจิตเกิดแล้วแก่ผู้นั้น พวงดอกไม้นี้ไม่พึงเป็นดอกไม้สด.
               คนทั้งสองนั้นไม่ก้าวล่วงลงสู่ความหลับเลย ปล่อยให้ ๓ ยามแห่งราตรีล่วงไป เพราะกลัวแต่สัมผัสแห่งร่างกายของกันและกัน. ส่วนในกลางวันแม้เพียงยิ้มแย้มก็มิได้มี คนทั้งสองนั้นไม่ได้คลุกคลีด้วยโลกามิส ไม่ได้พิจารณาถึงขุมทรัพย์ตลอดเวลาที่มารดาบิดายังดำรงชีพอยู่ เมื่อมารดาบิดาทำกาละแล้วจึงพิจารณา.
               สมบัติของมาณพมีดังต่อไปนี้ :-
               ในวันหนึ่งควรได้จุณทองคำที่เขาขัดถูร่างกายแล้วพึงทิ้งไปประมาณ ๑๒ ทะนานโดยทะนานมคธ, สระใหญ่ ๖๐ สระผูกติดเครื่องยนต์ การงานประมาณ ๑๒ โยชน์, บ้านส่วย ๑๔ ตำบล เท่าเมืองอนุราธบุรี, ยานที่เทียมด้วยช้าง ๑๔, ยานที่เทียมด้วยม้า ๑๔, ยานที่เทียมด้วยรถ ๑๔.
               วันหนึ่งมาณพนั้นขึ้นม้าที่ประดับแล้วแวดล้อมไปด้วยมหาชน ไปยังที่ทำงาน ยืนอยู่ที่ปลายนา เห็นนกมีกาเป็นต้นจิกสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้นกัดกินจากที่ที่ถูกไถทำลาย จึงถามว่า พ่อทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้กินอะไร ชนทั้งหลายกล่าวว่า กินไส้เดือน ผู้เป็นเจ้า. มาณพกล่าวว่า บาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำย่อมมีแก่ใคร. ชนทั้งหลายตอบว่า มีแก่ท่านผู้เป็นเจ้า.
               เขาคิดว่า ถ้าบาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำมีแก่เราไซร้ ทรัพย์ ๘๗ โกฏิจักกระทำประโยชน์อะไรแก่เรา การงาน ๑๒ โยชน์จะทำอะไร สระที่ผูกติดเครื่องยนต์จะทำอะไร บ้านส่วย ๑๔ ตำบลจะทำอะไร เราจักมอบทรัพย์ทั้งหมดนี้ให้นางภัททกาปิลานี แล้วออกบวช.
               ในขณะนั้น แม้นางภัททกาปิลานีก็ให้ตากหม้อเมล็ดงา ๓ หม้อในภายในพื้นที่ นั่งแวดล้อมไปด้วยพี่เลี้ยง เห็นกาทั้งหลายจิกกินสัตว์ที่อยู่ในเมล็ดงา ก็ถามว่า แม่ สัตว์เหล่านี้กินอะไร? พวกพี่เลี้ยงกล่าวว่า กินสัตว์แม่เจ้า. นางถามว่า อกุศลย่อมมีแก่ใคร? พวกพี่เลี้ยงกล่าวว่า มีแก่ท่านแม่เจ้า. นางคิดว่า การที่เราได้ผ้า ๔ ศอกและข้าวสารเพียงทะนานหนึ่งย่อมควร ก็ถ้าอกุศลที่ชนมีประมาณเท่านี้กระทำ ย่อมมีแก่เราไซร้ เราก็ไม่สามารถเงยศีรษะขึ้นได้จากวัฏฏะแม้ตั้ง ๑,๐๐๐ ภพ พอลูกเจ้ามาถึงเท่านั้น เราก็จะมอบสมบัติทั้งหมดแก่ลูกเจ้า แล้วจักออกบวช.
               มาณพมาแล้ว อาบน้ำขึ้นสู่ปราสาท นั่งบนบัลลังก์อันมีค่ามาก. ลำดับนั้น ชนทั้งหลายก็จัดแจงโภชนะอันสมควรแก่พระเจ้าจักรพรรดินั้น. เมื่อชนผู้เป็นบริวารออกไปแล้ว ชนทั้งสองบริโภคแล้วอยู่ในที่ลับ นั่งอยู่ในที่อันผาสุก.
               ลำดับนั้น มาณพนั้นกล่าวกะนางภัททาว่า นางผู้เจริญ เธอมาสู่เรือนนี้นำทรัพย์มาประมาณเท่าไร?
               นาง. ๕๕,๐๐๐ เล่มเกวียน ลูกเจ้า.
               มาณพ. ทรัพย์ทั้งหมดคือทรัพย์ ๘๗ โกฏิ และสมบัติต่างโดยสระ ๖๐ ที่ผูกด้วยยนต์ที่มีอยู่ในเรือนนี้ทั้งหมด ฉันมอบให้แก่เธอเท่านั้น.
               นาง. ก็ท่านเล่า ลูกเจ้าจะไปไหน?
               มาณพ. เราจักบวช
               นาง. ลูกเจ้า แม้ดิฉันก็นั่งรอคอยการมาของท่านอยู่เท่านั้น ดิฉันก็จักบวช.
               ภพ ๓ ได้ปรากฏแก่คนทั้งสองนั้น เหมือนกุฎีที่มุงด้วยใบไม้ถูกไฟไหม้ฉะนั้น คนเหล่านั้นให้นำผ้าที่ย้อมน้ำฝาดและบาตรดินมาจากร้านตลาด ให้ปลงผมกันและกันแล้วกล่าวว่า พระอรหันต์เหล่าใดมีอยู่ในโลก เราทั้งหลายจงบวชอุทิศพระอรหันต์เหล่านั้น ดังนี้แล้วบวช ใส่บาตรเข้าในถุงคล้องไว้ที่ไหล่ ลงจากปราสาท. ใครๆ ในบรรดาทาสหรือกรรมกรในเรือน จำไม่ได้.
               ลำดับนั้น ชาวบ้านทาสคามจำคนทั้งสองนั้นผู้ออกจากพราหมณคาม ไปทางประตูทาสคามได้ ด้วยสามารถอากัปกิริยา. คนเหล่านั้นร้องไห้หมอบที่เท้า กล่าวว่า ผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พวกท่านทำพวกข้าพเจ้าไม่ให้มีที่พึ่งหรือ?
               คนทั้งสองนั้นกล่าวว่า พวกเรากล่าวว่า พนาย ภพทั้ง ๓ ปรากฏเหมือนบรรณศาลาที่ถูกไฟไหม้ จึงได้บวช ถ้าเราทำแต่ละคนในบรรดาท่านให้เป็นไทไซร้ แม้ตั้ง ๑๐๐ ปีก็ไม่พอ พวกท่านนั้นแหละจงชำระศีรษะของท่าน จงเป็นไทเถิด ดังนี้.
               เมื่อคนเหล่านั้นกำลังร้องไห้อยู่นั้นเองได้หลีกไปแล้ว.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต ๑. มหากัสสปเถรคาถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 397อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 398อ่านอรรถกถา 26 / 399อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8215&Z=8302
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10928
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10928
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :