ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 39อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 40อ่านอรรถกถา 26 / 41อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔
๒. ปภัสสรวิมาน

               อรรถกถาปภัสสรวิมาน               
               ปภัสสรวิมาน มีคาถาว่า ปภสฺสรวรวณฺณนิเภ เป็นต้น.
               วิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงราชคฤห์. สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ได้เลื่อมใสในพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นอย่างยิ่ง ธิดาของเขาคนหนึ่งมีศรัทธาปสาทะ นางมีความเคารพนับถือในพระเถระมาก.
               อยู่มาวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์เข้าไปยังตระกูลนั้น. นางเห็นพระเถระแล้วเกิดโสมนัส ปูลาดอาสนะ เมื่อพระเถระนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว นางบูชาด้วยมาลัยดอกมะลิแล้วเอาน้ำอ้อยงบหวานอร่อยเกลี่ยลงในบาตรของพระเถระ พระเถระประสงค์จะอนุโมทนาจึงได้นั่ง.
               นางแจ้งให้ทราบเรื่องที่ฆราวาสไม่มีโอกาส (จะฟัง) เพราะมีกิจมาก กล่าวว่าดีฉันจักฟังธรรมในวันอื่น ไหว้พระเถระแล้วส่งไป. และในวันนั้นเอง นางตายไปบังเกิดในดาวดึงส์.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปพบนาง ได้ถามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ดูก่อนเทพธิดาผู้งาม มีรัศมีงามผุดผ่องยิ่งนัก นุ่งผ้าสีแดงงาม มีฤทธิ์มาก มีร่างกายงามลูบไล้ด้วยจุณจันทน์ ท่านเป็นใครมาไหว้อาตมาอยู่ อนึ่ง ท่านนั่งบนบัลลังก์ใดย่อมไพโรจน์ ดังท้าวสักกเทวราชในนันทนวโนทยาน บัลลังก์ของท่านนั้นมีค่ามาก งามวิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ ดูก่อนเทพธิดาผู้เจริญ เมื่อชาติก่อน ท่านได้สร้างสมสุจริตอะไร ได้เสวยวิบากแห่งกรรมอะไรในเทวโลก อาตมาถามแล้ว ขอท่านโปรดบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปภสฺสรวรวณฺณนิเภ ความว่า ชื่อว่านิภา เพราะอรรถว่าสว่าง คือส่องแสง. แสงสว่างคือวัณณา ชื่อว่าวัณณนิภา. เทพธิดาชื่อว่ามีรัศมีงามผุดผ่องยิ่งนัก เพราะเธอมีแสงสว่างคือวัณณะประภัสสร เพราะสว่างเหลือเกิน ประเสริฐคือสูงสุด เพราะไม่มีโทษของผิวพรรณ.
               คำว่า ปภสฺสรวรวณฺณนิเภ นี้ ท่านกล่าวร้องเรียก [คำอาลปนะ].
               บทว่า สุรตฺตวตฺถนิวาสเน แปลว่า นุ่งผ้าสีแดงงาม.
               บทว่า จนฺทนรุจิรคตฺเต ได้แก่ มีองค์งามเหมือนลูบไล้ด้วยจุณไม้จันทน์. อธิบายว่า ทุกส่วนแห่งเรือนร่างน่ารักน่าพึงใจ ดุจลูบไล้ด้วยจันทน์เทศหนาๆ หรือมีร่างกายงดงาม เพราะลูบไล้ด้วยจุณไม้จันทน์.
               พระเถระถามอย่างนี้แล้ว เทพธิดาได้พยากรณ์ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีฉันได้ถวายพวงมาลัยและน้ำอ้อยแด่พระคุณเจ้าผู้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ดีฉันจึงได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นในเทวโลก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แต่ดีฉันยังมีความเดือดร้อน ผิดพลาด เป็นทุกข์ เพราะดีฉันไม่ได้ฟังธรรม อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุนั้น ดีฉันจึงมากราบเรียนพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นผู้ควรอนุเคราะห์ดีฉัน โปรดชักชวนผู้ที่ควรอนุเคราะห์นั้นด้วยธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว ทวยเทพที่มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะก็รุ่งโรจน์ล้ำดีฉัน โดยอายุ ยศ สิริ ทวยเทพอื่นๆ ก็ยิ่งยวดกว่าโดยอำนาจและวรรณะ มีฤทธิ์มากกว่าดีฉัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาลํ ได้แก่ ดอกมะลิ.
               บทว่า ผาณิตํ ได้แก่ น้ำอ้อยที่เอารสคือน้ำของอ้อยทำ.
               บทว่า อนุตาโป ได้แก่ ความร้อนใจ.
               เทพธิดากล่าวเหตุแห่งความร้อนใจว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แต่ดีฉันยังมีความเดือดร้อน ผิดพลาด เป็นทุกข์ ดังนี้. บัดนี้ เทพธิดาแสดงเหตุโดยสรุปว่า ดีฉันนั้นไม่ได้ฟังธรรม. ในกาลนั้น ดีฉันนั้นไม่ได้ฟังธรรมของท่านผู้ประสงค์จะแสดง.
               เช่นไร คือที่พระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว.
               บทว่า สุเทสิตํ ธมฺมราเชน ความว่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว เพราะเป็นธรรมงามในเบื้องต้นเป็นต้น และเพราะเป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์โดยส่วนเดียว.
               บทว่า ตํ ความว่า เพราะเหตุนั้น คือเพราะเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว และเพราะการไม่ได้ฟังเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนสำหรับคนเช่นพวกเรา.
               บทว่า ตํ ได้แก่ ตุวํ แปลว่า ท่าน. อธิบายว่า แก่ท่าน.
               บทว่า ยสฺส ตัดบทเป็น โย อสฺส.
               บทว่า อนุกมฺปิโย แปลว่า ควรอนุเคราะห์.
               บทว่า โกจิ ได้แก่ คนใดคนหนึ่ง.
               บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ในธรรมมีศีลเป็นต้น.
               ปาฐะว่า ธมฺเมหิ ก็มี ความว่า ในศาสนธรรม.
               บทว่า หิ เป็นเพียงนิบาต หรือเป็นวจนวิปลาส.
               บทว่า ตํ ได้แก่ บุคคลที่พึงอนุเคราะห์.
               บทว่า สุเทสิตํ ได้แก่ ที่ทรงแสดงแล้วด้วยดี.
               บทว่า เต มํ อติวิโรจนติ ความว่า เทพบุตรผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างยิ่งเหล่านั้น ย่อมรุ่งโรจน์ล้ำดีฉัน.
               บทว่า ปตาเปน ได้แก่ ด้วยเดช คืออานุภาพ.
               บทว่า อญฺเญ ได้แก่ เหล่าใดอื่น.
               บทว่า มยา เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งปัญจมีวิภัตติ.
               เทพธิดาแสดงว่า ทวยเทพผู้มีวรรณะยิ่งกว่าและมีฤทธิ์มากกว่า [ดีฉัน] ทวยเทพเหล่านั้นล้วนแต่เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระรัตนตรัยทั้งนั้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวนั้นนั่นแล.

               จบอรรถกถาปภัสสรวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ ๒. ปภัสสรวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 39อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 40อ่านอรรถกถา 26 / 41อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=1421&Z=1442
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=4252
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=4252
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :