ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 425อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 426อ่านอรรถกถา 26 / 427อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทุกนิบาต
๗. มิตตาเถรีคาถา

               ๗. อรรถกถามิตตาเถรีคาถา               
               คาถาว่า จาตุทฺทสึ ปญฺจทสึ เป็นต้นเป็นคาถาของพระเถรีชื่อมิตตาอีกองค์หนึ่ง.
               แม้พระเถรีชื่อมิตตาองค์นี้ก็สร้างสมบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี นางเกิดในตระกูลกษัตริย์ รู้ความแล้วเป็นนางในของพระเจ้าพันธุมะ เห็นพระเถรีผู้เป็นขีณาสพองค์หนึ่งซึ่งเป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี มีใจเลื่อมใส รับบาตรจากมือของพระเถรีนั้นแล้วใส่ของเคี้ยวอันประณีตจนเต็มไปถวายพร้อมกับผ้าสาฎกมีค่ามากสองผืน ด้วยบุญกรรมนั้น นางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก.
               ในพุทธุปปาทกาลนี้เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ รู้ความแล้ว ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้ศรัทธา ได้เป็นอุบาสิกา เวลาต่อมานางบวชในสำนักของพระมหาปชาบดีเถรี เจริญวิปัสสนาอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในพระนครพันธุมดีมีกษัตริย์พระนามว่าพันธุมราช ข้าพเจ้าเป็นมเหสีของท้าวเธอ ประพฤติร่วมกัน ในกาลนั้นข้าพเจ้าอยู่ในที่ลับนั่งคิดอย่างนี้ว่า บุญกุศลที่จะพาเราไปไม่ได้ทำไว้เลย เราจะต้องตกนรกที่มีความเร่าร้อนมาก ทั้งเผ็ดร้อนร้ายแรงแสนทารุณเป็นแน่ เราไม่สงสัยในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระราชากราบทูล คำนี้ว่า ขอพระองค์โปรดประทานสมณะองค์หนึ่งแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจักให้ท่านฉัน พระเจ้าข้า.
               พระราชาผู้ใหญ่ได้ประทานสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารับบาตรของท่าน เอาภัตตาหารอย่างประณีตใส่จนเต็ม ครั้นให้เต็มแล้วได้ทำภัตตาหารและของหอมเครื่องลูบไล้อย่างประณีต ปิดด้วยตาข่ายแล้วเอาผ้าเหลืองคลุมไว้ ข้าพเจ้าระลึกถึงเรื่องนั้นเป็นอารมณ์ของข้าพเจ้าตลอดชีวิต ทำจิตให้เลื่อมใสในเรื่องนั้น ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นมเหสีของเทวราช ๓๐ องค์.
               สิ่งที่ใจปรารถนาได้เกิดแก่ข้าพเจ้าสมปรารถนา ข้าพเจ้าได้เป็นมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๐ องค์ ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ตนเองท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่ ข้าพเจ้าพ้นจากเครื่องผูกพันทุกอย่างแล้ว มีการอุบัติไปปราศแล้ว อาสวะทุกอย่างหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี.
               ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้นข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ นี้เป็นผลแห่งบิณฑบาต ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ฯลฯ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๔๖ เอกปิณฑปาตทายิกาเถรีอปทาน

               ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาการปฏิบัติของตนได้กล่าวคาถาสองคาถานี้เป็นอุทานว่า
                         ข้าพเจ้าปรารถนาเทพนิกาย เข้าจำอุโบสถประกอบ
               ด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำแห่ง
               ปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ วันนี้ข้าพเจ้ามีภัตตาหาร
               มื้อเดียว มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏิ ไม่ปรารถนาเทพนิกาย
               ข้าพเจ้ากำจัดความกระวนกระวายในหทัยได้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จาตุทฺทสึ ปญฺจทสึ ได้แก่ ดิถีเป็นที่เต็มแห่งวัน ๑๔ ชื่อจาตุททสี. ดิถีเป็นที่เต็มแห่งวัน ๑๕ ชื่อปัญจทสี. ตลอดวันจาตุททสี ๑๔ ค่ำและวันปัญจทสี ๑๕ ค่ำ นั้นเชื่อมความว่าแห่งปักษ์.
               ก็บทนี้เป็นทุติยาวิภัตติใช้ในอรรถอัจจันตสังโยค (แปลว่า ตลอด) ประกอบความว่าตลอดดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นด้วย.
               บทว่า ปาฏิ หาริยปกฺขญฺจ ได้แก่ ปักษ์สำหรับผู้รักษาอุโบสถ และปักษ์แห่งอุโบสถศีลที่พึงรักษาในวัน ๑๓ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ๗ ค่ำและ ๙ ค่ำ โดยวันต้นเป็นวันเข้า วันสุดท้ายเป็นวันออกตามลำดับของวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำ.
               อฏฺฐงฺคสุสมาคตํ ความว่า ประกอบด้วยดีด้วยองค์ ๘ ประการมีเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น.
               อุโปสถํ อุปาคจฺฉึ แปลว่า เข้าไปอยู่จำ. ความว่า อยู่จำ.
               ที่ท่านกล่าวหมายถึงว่า
                         ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
               ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงงดเว้นเมถุนซึ่งมิใช่
               พรหมจรรย์ ไม่พึงบริโภควิกาลโภชน์ในราตรี ไม่พึงทัด
               ทรงดอกไม้และใช้ของหอม พึงนอนบนเตียง บนแผ่น
               ดิน หรือบนสันถัตเครื่องปูลาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าว
               อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละที่พระพุทธเจ้าทรง
               ประกาศเพื่อคุณคือความสิ้นทุกข์.๒-
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๑๐ อุโบสถสูตร

               บทว่า เทวกายาภินนฺทินี ประกอบความว่า ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งเทพนิกายมีชั้นจาตุมหาราชเป็นต้น จึงเข้าจำอุโบสถ เพราะหวังเกิดในเทพนิกายนั้น.
               บทว่า สาชฺช เอเกน ภตฺเตน ความว่า ข้าพเจ้านั้นวันนี้ คือในวันนี้แหละ มีเวลาบริโภคภัตตาหารหนเดียว.
               บทว่า มุณฺฑา สงฺฆาฏิปารุตา ความว่า โกนผมและคลุมร่างกายด้วยผ้าสังฆาฏิบวชแล้ว.
               บทว่า เทวกายํ น ปตฺเถหํ ความว่า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเทพนิกายอะไรๆ เพราะแม้มรรคอันเลิศข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว.
               เพราะเหตุนั้นแหละจึงกล่าวว่า วิเนยฺย หทเย ทรํ ความว่า กำจัดความกระวนกระวายคือกิเลสที่อยู่ในจิต ด้วยการถอนขึ้น. ก็คำนี้แหละเป็นการพยากรณ์พระอรหัตผลของพระเถรีนั้น.

               จบอรรถกถามิตตาเถรีคาถาที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ทุกนิบาต ๗. มิตตาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 425อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 426อ่านอรรถกถา 26 / 427อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9017&Z=9023
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=964
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=964
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :