ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 448อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 449อ่านอรรถกถา 26 / 450อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต
๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา

               ๑๑. อรรถกถาติงสมัตตาเถรีคาถา               
               คาถาของพระเถรี ๓๐ รูปมีว่า มุสลานิ คเหตฺวาน เป็นต้น.
               พระเถรีแม้เหล่านั้นได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน มาในภพนั้นๆ สั่งสมธรรมเครื่องปรุงแต่งวิโมกข์มาโดยลำดับ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถูกกรรมของตนกระตุ้นเตือนแล้วก็บังเกิดในเรือนครอบครัวนั้นๆ รู้เดียงสาแล้ว ฟังธรรมในสำนักพระปฏาจาราเถรี ได้ศรัทธาแล้ว พากันออกบวช มีศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญวัตรปฏิบัติอยู่.
               ต่อมาวันหนึ่ง พระปฏาจาราเถรีเมื่อให้โอวาทแก่ภิกษุณีเหล่านั้น จึงได้กล่าว ๒ คาถานี้ว่า
                         มาณพทั้งหลายถือสากตำข้าวเปลือก แสวงหา
               ทรัพย์ มาเลี้ยงดูบุตรภริยา.
                         ท่านทั้งหลายจงทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธ
               เจ้า ซึ่งทำแล้วไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง
                         ท่านทั้งหลายจงรีบล้างเท้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
               ส่วนหนึ่ง จงประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำตาม
               คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

               ในคาถานั้นมีความสังเขปดังนี้ว่า
               สัตว์เหล่านี้ถือสากตำข้าวเปลือก ทำงานตำข้าวในครกของคนอื่นๆ เพราะเหตุเลี้ยงชีพ ทำงานต่ำๆ เช่นนี้อย่างอื่น รวบรวมทรัพย์ได้พอสมควร เลี้ยงดูบุตรภริยา แต่งานนั้นของสัตว์เหล่านั้นเป็นงานต่ำ เป็นงานของปุถุชน เป็นทุกข์และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายละเว้นงานเนิ่นช้าที่ประกอบด้วยความเศร้าหมองเช่นนี้เสีย จงกระทำ จงพร้อมทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือไตรสิกขา จงให้บังเกิดในสันดานของตน
               พระเถรีกล่าวเหตุในเรื่องนี้ว่า คำสอนใดที่ทำแล้วไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง ได้แก่เพราะเหตุที่ทำคำสอนใด ไม่ต้องเดือดร้อนตามมาในปัจจุบันและอนาคต.
               บัดนี้ เพื่อแสดงกิจเบื้องต้นและวิธีประกอบเนืองๆ ในการทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นพระเถรีจึงกล่าวว่า ขิปฺปํ ปาทานิ โธวิตฺวา เป็นอาทิ.
               ในคำนั้น เพราะเหตุที่ความสุขในการนั่ง และการได้อุตุสัปปายะ ไม่มีแก่ผู้ไม่ล้างเท้า ไม่ล้างหน้า แต่ทั้งสองอย่างนั้นจะได้แก่ผู้ล้างเท้าและล้างหน้าแล้วนั่งในที่สมควรส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าพลาดขณะตามที่ได้แล้วนี้เสีย จงรีบล้างเท้าคือเท้าของตนแล้วนั่งในที่สมควรส่วนหนึ่ง คือในโอกาสที่สงัด ท่านทั้งหลายจงผูกจิตของตนไว้ในอารมณ์ ๓๘ เฉพาะอารมณ์ที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำ พร้อมกระทำศาสนา คือโอวาทคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยการเจริญกรรมฐานมีสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้ว.
               ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นอยู่ในโอวาทของพระเถรีนั้น เริ่มวิปัสสนาทำการภาวนา ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เพราะมีญาณแก่กล้า และเพราะสมบูรณ์ด้วยเหตุ เมื่อพิจารณาการปฏิบัติของตนได้กล่าวคาถาเหล่านี้ พร้อมด้วยคาถาโอวาทว่า
                         ภิกษุณีเหล่านั้นได้ฟังคำสั่งสอนของพระปฏาจารา
               เถรีนั้น ล้างเท้าแล้วเข้าไปนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้
               ประกอบความสงบใจเนืองๆ กระทำตามคำสั่งสอนของ
               พระพุทธเจ้า ในยามต้นแห่งราตรีระลึก ถึงชาติก่อนได้
               [บุพเพนิวาสญาณ] ในยามกลางแห่งราตรี ชำระทิพยจักษุ
               [จุตูปปาตญาณ] ได้ ในยามปลายแห่งราตรี ทำลายกอง
               แห่งความมืดได้ [อาสวักขยญาณ] พากันลุกขึ้นกราบเท้า
               พระเถรี พร้อมกับกล่าวว่า พวกเราทำตามคำสอนของพระ
               แม่เจ้าแล้ว จักอยู่ห้อมล้อมพระแม่เจ้า เหมือนทวยเทพชั้น
               ไตรทศห้อมล้อมพระอินทร์ ผู้ชนะในสงครามฉะนั้น พวก
               เรามีวิชชา ๓ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺสา ตา วจนํ สุตฺวา ปฏาจาราย สาสนํ ความว่า
               คำสั่งสอนคือคำโอวาทนั้นๆ ของพระปฏาจาราเถรีนั้น เพราะอรรถว่าเป็นคำสอนให้สละกิเลสทั้งหลาย ภิกษุณี ๓๐ รูปนั้นฟังแล้วรับคือรับคำด้วยเศียรเกล้า.
               บทว่า อุฏฺฐาย ปาเท วนฺทึสุ กตา เต อนุสาสนี ความว่า ภิกษุณีเหล่านั้นทำให้เป็นประโยชน์ คือทำไว้ในใจซึ่งคำสั่งสอนนั้นตามที่รับไว้แล้ว นั่งภาวนาในสถานตามที่สบาย ทำภาวนาให้ถึงที่สุดแล้ว ลุกจากอาสนะที่นั่ง เพื่อบอกคุณวิเศษที่ตนบรรลุ จึงเข้าไปหาพระเถรีกล่าวว่า ข้าแต่พระแม่มหาเถรี พวกเราทำตามอนุศาสนีของพระแม่เจ้าตามที่สั่งสอนแล้ว กราบเท้าของพระเถรีด้วยเบญจางคประดิษฐ์.
               บทว่า อินฺทํว เทวา ติทสา สงฺคาเม อปราชิตํ ความว่า ข้าแต่พระแม่มหาเถรี พวกเราจะอยู่ห้อมล้อมพระแม่เจ้า เหมือนทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ห้อมล้อมพระอินทร์ผู้ไม่พ่าย คือชนะในสงครามระหว่างเทวดากับอสูรฉะนั้น เพราะไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำ เพราะฉะนั้น ภิกษุณีเหล่านี้จึงประกาศความที่ตนเป็นผู้กตัญญูว่า พวกเรามีวิชชา ๓ ไม่มีอาสวะ.
               คำนี้ก็เป็นคำพยากรณ์พระอรหัตของภิกษุณีเหล่านี้ด้วย. แต่เมื่อว่าโดยอรรถในคำนี้ก็เป็นอย่างอื่น คำนั้นมีนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หนหลังทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาติงสมัตตาเถรีคาถาที่ ๑๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ปัญจกนิบาต ๑๑. ติงสมัตตาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 448อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 449อ่านอรรถกถา 26 / 450อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9250&Z=9265
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=3224
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=3224
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :