ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 471อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 472อ่านอรรถกถา 26 / 473อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ติงสนิบาต
๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา

               อรรถกถาเถรีคาถา ติงสนิบาต               
               อรรถกถาสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา               
               ในติงสนิบาต คาถาว่า ชีวกมฺพวนํ รมฺมํ เป็นต้นเป็นคาถาของพระสุภาชีวกัมวนิกาเถรี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พระเถรีแม้รูปนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สร้างสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาในภพนั้นๆ อบรมกุศลมูล เพิ่มพูนสัมภารธรรมเครื่องปรุงแต่งวิโมกข์มาโดยลำดับ มีญาณแก่กล้า มาในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงราชคฤห์ มีนามว่าสุภา.
               เล่ากันมาว่า นางมีส่วนแห่งเรือนร่างประกอบด้วยผิวพรรณดั่งทอง เพราะฉะนั้น นางจึงมีนามคล้อยตามไป ด้วยว่า สุภา แปลว่า งาม.
               ขณะพระศาสดาเสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์ นางก็ได้ศรัทธาเป็นอุบาสิกา ต่อมาเกิดความสังเวชในสังสารวัฏ เห็นโทษในกามทั้งหลาย และกำหนดเอาเนกขัมมะการบวชเป็นทางเกษม บวชในสำนักพระนางปชาบดีโคตมี บำเพ็ญวิปัสสนา ๒-๓ วันเท่านั้นก็ดำรงอยู่ในพระอนาคามิผล.
               ต่อมา วันหนึ่ง ชายนักเลงหญิงคนหนึ่งเป็นชาวกรุงราชคฤห์ เป็นหนุ่มแรกรุ่น เห็นพระเถรีกำลังเดินไปเพื่อพักกลางวันที่ชีวกัมพวันวิหาร เกิดจิตปฏิพัทธ์ขึ้นมา ก็ยืนกั้นขวางทางไว้ กล่าวเชิญชวนด้วยกามารมณ์
               พระเถรีเมื่อจะประกาศโทษของกามทั้งหลายและอัธยาศัยในเนกขัมมะการบวชของตนด้วยประการต่างๆ จึงกล่าวธรรมแก่ชายผู้นั้น ชายผู้นั้นแม้ฟังธรรมกถาแล้วก็ไม่ยอมถอย ยังติดตามอยู่นั่นแหละ พระเถรีเห็นเขาไม่อยู่ในถ้อยคำของตน และยังชื่นชอบที่ลูกตา ก็กล่าวว่า เอาเถิด ท่านคงชอบลูกตา แล้วก็ควักลูกตาข้างหนึ่งของตนมอบให้เขา.
               ลำดับนั้น ชายผู้นั้นก็สะดุ้งเกิดสลดใจ สิ้นร่านรักในพระเถรีนั้น ขอขมาพระเถรีแล้วก็หลีกไป.
               พระเถรีก็ไปสำนักพระศาสดา พร้อมกับที่พบพระศาสดานั่นแหละ ตาของพระเถรีก็กลับเป็นปกติดังเดิม.
               ลำดับนั้น พระเถรียืนอยู่ ถูกปิติที่ดำเนินไปในพระพุทธคุณสัมผัสไม่ขาดสาย.
               พระศาสดาทรงทราบอาจาระทางจิตของพระเถรี ทรงแสดงธรรม ตรัสบอกกรรมฐานเพื่ออรหัตมรรค พระเถรีข่มปิติได้แล้ว ทันใดนั้นเอง เจริญวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔.
               ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้วอยู่ด้วยผลสุขและนิพพานสุข พิจารณาทบทวนข้อปฏิบัติของตน ก็กล่าวคาถาที่ตนกับชายนักเลงหญิงนั้นกล่าวแล้วเป็นอุทาน.
               พระสุภาเถรีได้เปล่งคาถาเหล่านี้ว่า
                                   ชายนักเลงหญิงกั้นขวางพระสุภาภิกษุณี ซึ่งกำลัง
                         เดินไปชีวกัมพวันวิหารที่น่ารื่นรมย์ พระสุภาภิกษุณีได้
                         พูดกะชายผู้นั้นว่า
                                   ท่านบุตรช่างทอง ข้าพเจ้าทำผิดอะไรต่อท่าน
                         ท่านจึงมายืนกั้นขวางข้าพเจ้าไว้ ชายไม่ควรถูกต้องหญิง
                         นักบวช.
                                   เหตุไร ท่านจึงยืนกั้นข้าพเจ้าผู้มีบทอันบริสุทธิ์
                         ด้วยสิกขาที่พระสุคตทรงแสดงไว้ในสัตถุศาสนาของ
                         ข้าพเจ้าที่ควรเคารพ ผู้ไม่มีกิเลสดังเนิน เหตุไร ท่านผู้
                         มีจิตขุ่นมัว จึงยืนกั้นข้าพเจ้าผู้ไม่มีจิตขุ่นมัว ท่านผู้มี
                         จิตมีราคะ จึงยืนกั้นข้าพเจ้าผู้ปราศจากราคะ ผู้ไม่มี
                         กิเลสดังเนิน ผู้มีใจหลุดพ้นแล้วในขันธ์ทั้งปวง.

               ชายนักเลงหญิงกล่าวว่า
                                   แม่นางยังสาวสวยไม่ทรามเลย บรรพชาจักทำ
                         อะไรแก่แม่นางได้ โปรดทิ้งผ้ากาสายะเสีย มาสิ เรามา
                         ร่วมอภิรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานงามเถิด.
                                   ต้นไม้ทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยเกสรดอกไม้ โชย
                         กลิ่นหอมไปทั่วป่า ฤดูต้นวสันต์น่าสบาย มาสิ เรามา
                         ร่วมอภิรมย์กันในป่าที่มีดอกไม้บานงามเถิด.
                                   ต้นไม้ทั้งหลาย ยอดออกดอกบานแล้ว ต้องลม
                         ไหว ระริก ดังจะมีเสียงครวญ แม่นางจักมีความยินดี
                         อะไรกัน ผิว่า แม่นางจักเข้าป่าเพียงผู้เดียว.
                                   ป่าใหญ่ หมู่สัตว์ร้ายอาศัยอยู่ คลาคล่ำด้วย
                         ช้างพลายตกมันและช้างพัง ไม่มีผู้คน น่าสะพรึงกลัว
                         แม่นางไม่มีเพื่อน ยังปรารถนาจะเข้าไปหรือ.
                                   แม่นางผู้งามไม่มีใครเปรียบเอย แม่นางท่อง
                         เที่ยวไปเหมือนตุ๊กตา ที่ช่างสร้างด้วยทอง แม่นาง
                         ตามใจข้า ก็จะงดงามด้วยผ้าสวย ที่เนื้อเกลี้ยงเกลา
                         ละเอียดของแคว้นกาสี ดังเทพนารีในสวนจิตรลดา
                         [สวรรค์ดาวดึงส์] เชียวละ.
                                   แม่นางผู้มีดวงตาโศกดังกินนรีเอย ข้าจะยอม
                         อยู่ใต้อำนาจแม่นาง ถ้าเราจะอยู่ร่วมกันในกลางป่า
                         เพราะสัตว์ที่น่ารักกว่าแม่นางของข้าไม่มีเลย.
                                   ถ้าแม่นางเชื่อข้า แม่นางก็จะมีความสุข มาสิ
                         มาครองเรือนกัน แม่นางจะอยู่บนปราสาทที่ปราศ
                         จากลมพาน หญิงทั้งหลายจะคอยปรนนิบัติแม่นาง
                         แม่นางจะนุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียดของแคว้นกาสี สวม
                         มาลัยลูบไล้ประเทืองผิว ข้าจะทำอาภรณ์เครื่องประดับ
                         ต่างๆ มากชนิด ที่เป็นทองแก้วมณีและมุกดาแก่แม่
                         นาง.
                                   เชิญขึ้นที่นอนไหมมีค่ามาก สวยงาม ปูด้วย
                         ผ้าโกเชาว์ขนยาว อ่อนนุ่มดังสำลี คลุมด้วยผ้าที่ซัก
                         ธุลี สะอาดแล้ว ตกแต่งด้วยจันทน์แก่นหอม.
                                   ดอกอุบล โผล่พ้นน้ำ มิมีมนุษย์เชยชมแล้ว
                         ฉันใด แม่นางก็เป็นพรหมจารีฉันนั้น เมื่อส่วนแห่ง
                         เรือนร่างของแม่นาง ยังไม่มีใครเชยชม ก็จะชราร่วง
                         โรยไปเสียเปล่าๆ.

               พระสุภาเถรีถามว่า
                                   ในร่างที่มีอันจะต้องแตกสลายเป็นธรรมดา
                         ซึ่งเต็มด้วยซากศพ รังแต่จะรกป่าช้านี้ อะไรที่ท่าน
                         เข้าใจว่าเป็นสาระ เพราะเห็นสิ่งใด จึงเกิดติดใจขึ้น
                         มา ขอท่านโปรดบอกสิ่งนั้นมาสิ.

               ชายนักเลงหญิงตอบว่า
                                   เพราะเห็นดวงตาของแม่นาง ประดุจดวงตา
                         ลูกเนื้อทราย ประดุจดวงตากินนรีในระหว่างเขา
                         ฤดีร่านรักของข้าก็ยิ่งกำเริบ.
                                   เพราะเห็นดวงตา อุปมาดังยอดดอกอุบล และ
                         ดวงหน้าพิมลดังรูปทองของแม่นาง ความใคร่ความ
                         ปรารถนาของข้าก็ยิ่งกำเริบ.
                                   แม่นางผู้มีดวงตาโศกดังกินนรีเอย แม้ข้าจะ
                         ไปไกลแสนไกล ก็จะยังคงรำลึกถึงดวงตาอันบริสุทธิ์
                         ที่มีขนตายาวงอน เพราะว่าอะไรๆ ที่น่ารักกว่าดวงตา
                         ของแม่นาง สำหรับข้าไม่มีเลย.

               พระสุภาเถรีกล่าวว่า
                                   ท่านมาต้องการข้าพเจ้าผู้เป็นบุตรของพระพุทธ
                         เจ้า ก็ชื่อว่าท่านปรารถนาจะเดินไปตามทางที่มิใช่ทาง
                         ชื่อว่าแสวงหาดวงจันทร์เอามาเป็นของเล่น ชื่อว่าต้อง
                         การจะกระโดดขึ้นเขาสิเนรุ.
                                   เพราะว่า ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก บัดนี้ ข้าพเจ้า
                         ไม่มีอารมณ์ เป็นที่มีราคะความกำหนัดเลย ข้าพเจ้าไม่
                         รู้ดอกว่า ราคะนั้นเป็นเช่นไร เพราะราคะนั้น ข้าพเจ้า
                         กำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งราก ด้วยอริยมรรค.
                                   ราคะนั้น ข้าพเจ้ายกออกแล้ว เหมือนเอาเชื้อไฟ
                         ออกจากหลุมถ่านไฟ เหมือนเอาภาชนะใส่ยาพิษออก
                         จากไฟ ข้าพเจ้าไม่รู้ดอกว่า ราคะนั้นเป็นเช่นไร เพราะ
                         ราคะนั้น ข้าพเจ้ากำจัดเสียแล้วพร้อมทั้งราก ด้วยอริย
                         มรรค.
                                   หญิงผู้ใดไม่พิจารณาปัญจขันธ์ หรือไม่เข้าเฝ้า
                         พระศาสดา ขอท่านโปรดประเล้าประโลมหญิงเช่นนั้น
                         เถิด ท่านนั้นจะต้องเดือดร้อน เพราะสุภาภิกษุณีซึ่งรู้
                         ตามความจริงผู้นี้.
                                   เพราะว่า สติของข้าพเจ้ามั่นคงไม่ว่าในการด่า
                         และการไหว้ และในสุขและทุกข์ เพราะรู้ว่าสังขตสังขาร
                         ที่ปัจจัยปรุงแต่งเป็นอสุภะไม่งาม ใจข้าพเจ้าจึงไม่ติด
                         อยู่ในอารมณ์ทั้งปวงเลยทีเดียว
                                   ข้าพเจ้านั้นเป็นสาวิกาของพระสุคต ดำเนินไป
                         ด้วยยาน คือมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ถอนกิเลส
                         ดุจลูกศรเสียแล้ว ไม่มีอาสวะ ยินดีอยู่แต่ในเรือนว่าง.
                                   รูปเขียนที่ช่างบรรจงเขียนไว้สวยงาม หรือรูป
                         ไม้ รูปใบลานที่เขาผูกด้วยด้าย และติดไว้ด้วยตะปู
                         ทำท่ารำต่างๆ ข้าพเจ้าเห็นมาแล้ว เมื่อรูปนั้นถูกรื้อ
                         ออก ปลดด้ายและตะปูออก ก็บกพร่อง [ไม่เป็นรูป]
                         กระจัดกระจายออกเป็นชิ้นๆ ก็ไม่พึงได้สภาพที่ชื่อ
                         ว่ารูป บุคคลจะพึงตั้งใจไว้ในรูปนั้นไปทำไม.
                                   ร่างกายนี้ก็เปรียบด้วยรูปนั้น เว้นจากธรรม
                         เหล่านั้นเสียก็เป็นไปไม่ได้ แม้ร่างกายเว้นจากธรรม
                         ทั้งหลายก็เป็นไปมิได้ บุคคลจะพึงตั้งใจไว้ในรูปนั้น
                         ไปทำไม.
                                   บุคคลพึงดูรูปจิตรกรรม ที่จิตรกรระบายด้วย
                         หรดาล ทำไว้ที่ฝาผนัง ในจิตรกรรมนั้น ท่านก็ยัง
                         เห็นวิปริต สัญญาความสำคัญว่ามนุษย์ ไร้ประโยชน์
                         จริงๆ.
                                   ดูก่อนคนตาบอด ท่านยังจะเข้าไปใกล้ร่าง
                         ที่ว่างเปล่า เหมือนพยับแดดที่ปรากฏต่อหน้า โดย
                         อาการลวง เหมือนต้นไม้ทองในความฝัน เหมือน
                         รูปของมายากล นักเล่นกลแสดงกลางฝูงชนว่าเป็น
                         ของจริง.
                                   ฟองที่อยู่กลางดวงตา มีน้ำตา มีมูลตา เกิดที่
                         ดวงตานั้น ส่วนของตาต่างๆ ก็มารวมกัน เหมือน
                         ก้อนครั่ง ที่วางอยู่ในโพรงไม้

                                   พระสุภาเถรีผู้มีดวงตางาม มีใจไม่ข้องไม่ติด
                         อยู่ในดวงตานั้น ก็ควักดวงตาออกจากเบ้าตา ส่งมอบ
                         ให้ชายนักเลงหญิงผู้นั้นทันที พร้อมกับกล่าวว่า เชิญ
                         นำดวงตานั้นไปเถิด ข้าพเจ้าให้ท่าน.

                                   ทันใดนั้นเอง ความร่านรักในดวงตานั้นของ
                         ชายนักเลงหญิงนั้นก็หายไป เขาขอขมาพระเถรีด้วย
                         คำว่า
                                   ข้าแต่แม่นางผู้เป็นพรหมจารี ขอความสวัสดี
                         พึงมีแก่แม่นางเถิด ความประพฤติอนาจารเช่นนี้ จัก
                         ไม่มีต่อไปอีกละ.

               พระสุภาเถรีกล่าวว่า
                                   ท่านกระทบกระทั่งชนเช่นข้าพเจ้า ก็เหมือน
                         กอดกองไฟที่ลุกโชน เหมือนจับงูพิษร้าย ความสวัสดี
                         ก็คงมีแก่ท่านบ้างดอก ข้าพเจ้ารับขมาท่าน.
                                   พระสุภาภิกษุณีนั้นพ้นจากชายนักเลงหญิง
                         นั้นแล้ว ก็ไปสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พอเห็น
                         พระบุณยลักษณ์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ จักษุก็
                         กลับเป็นปกติเหมือนอย่างเดิม.

               บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า ชีวกมฺพวนํ ได้แก่ สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ.
               บทว่า รมฺมํ ได้แก่ น่ารื่นรมย์.
               เขาว่า สวนมะม่วงนั้นน่าปลื้มใจ น่ารื่นรมย์ใจอย่างยิ่ง เพราะพรั่งพร้อมด้วยภูมิภาค และพรั่งพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ โดยอาการที่ปลูกต้นไม้ไว้.
               บทว่า คจฺฉนฺตึ ได้แก่ ผู้เดินเข้าไปมุ่งสวนมะม่วงเพื่อพักกลางวัน.
               บทว่า สุภํ ได้แก่ พระเถรีผู้มีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ธุตฺตโก ได้แก่ ชายนักเลงหญิง.
               เขาว่า ลูกชายของช่างทองผู้มีสมบัติมากผู้หนึ่งเป็นชาวกรุงราชคฤห์ เป็นคนหนุ่มสะสวย เป็นชายนักเลงหญิง ผู้มัวเมาเที่ยวไป เขาพบพระเถรีนั้นเดินสวนทางมาก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ จึงยืนขวางทาง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชายนักเลงหญิงยืนกั้นไว้.
               อธิบายว่า ห้ามเราไป.
               บทว่า ตเมนํ อพฺรวี สุภา ความว่า พระสุภาภิกษุณีกล่าวกะชายนักเลงหญิงที่ยืนกั้นคนนั้นนั่นแหละ ก็ในข้อนั้น พระเถรีกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น ทำประหนึ่งว่าเป็นคนอื่นว่า สุภาภิกษุณีผู้กำลังเดินไป.
               สุภาภิกษุณีได้กล่าวดังนี้ คาถานี้ท่านพระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ โดยแสดงการเชื่อมคาถาที่พระเถรีกล่าวแล้ว.
               พระสุภาเถรีกล่าวว่า พระสุภาภิกษุณีได้กล่าวดังนี้แล้ว กล่าวคำว่า เราทำผิดอะไรต่อท่าน เป็นต้นก็เพื่อแสดงอาการที่พระเถรีนั้นกล่าวแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ เต อปราธิตํ มยา ความว่า ท่าน เราทำผิดอะไรต่อท่าน.
               บทว่า ยํ มํ โอวริยาน ติฏฺฐสิ อธิบายว่า ด้วยความผิดอันใด ท่านจึงยืนกั้นเราผู้กำลังเดินไป คือห้ามการเดินไป ความผิดอันนั้นไม่มีดอกนะจ๊ะ.
               พระเถรีเมื่อแสดงว่า ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ ด้วยสำคัญว่า เราเป็นหญิง การปฏิบัติแม้อย่างนี้ก็ไม่สมควร จึงกล่าวว่า น หิ ปพฺพชิตาย อาวุโส ปุริโส สมฺผุสนาย กปฺปติ ความว่า
               ดูก่อนท่านบุตรช่างทอง แม้โดยจารีตโลก ชายก็ไม่ควรถูกต้องนักบวชทั้งหลาย ส่วนหญิงนักบวชไม่สมควรถูกต้องแม้แต่สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ การถูกต้องชายยกไว้ก่อนก็ได้ หญิงนักบวชนั้นไม่สมควรถูกต้องชายแม้ผู้มีของภายนอกด้วยของภายนอก โดยอำนาจราคะเลยทีเดียว.
               ด้วยเหตุนั้น พระเถรีจึงกล่าวว่า ครุเก มม สตฺถุสาสเน เป็นต้น
               ข้อนั้นมีความว่า
               สิกขาเหล่าใดอันพระสุคตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงบัญญัติเฉพาะภิกษุณีทั้งหลาย ไว้ในสัตถุศาสนาของเรา ที่หนักดังฉัตรหินคือที่ควรเคารพ เหตุไร ท่านจึงยืนกั้นเราผู้กำลังเดินไป ซึ่งเป็นอย่างนี้คือเป็นผู้มีบทอันบริสุทธิ์ คือมีส่วนกุศลอันบริสุทธิ์ ด้วยสิกขาเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าไม่มีกิเลสดังเนิน เพราะไม่มีกิเลสดังเนินมีราคะเป็นต้น โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า อาวิลจิตฺโต ความว่า เพราะเหตุไร ท่านผู้มีจิตขุ่นมัวด้วยอำนาจวิตกมีกามวิตกเป็นต้นอันกระทำความขุ่นมัวแห่งจิต จึงยืนกั้นเรา ผู้ชื่อว่าไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีความขุ่นมัวนั้น ท่านผู้มีกิเลสดุจละออง ด้วยอำนาจกิเลสดุจละอองคือราคะเป็นต้น ผู้มีกิเลสดังเนิน ยืนกั้นเราผู้ชื่อว่าปราศจากกิเลสดุจละออง ผู้ไม่มีกิเลสดังเนิน. ผู้ชื่อว่ามีใจหลุดพ้นแล้ว เพราะหลุดพ้นเด็ดขาดในที่ทั้งปวงคือในเบญจขันธ์.
               เมื่อพระเถรีกล่าวอย่างนี้แล้ว ชายนักเลงหญิงเมื่อจะแจ้งความประสงค์ของตน จึงกล่าวคาถา ๑๐ คาถาโดยนัยว่า ทหรา จ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทหรา ได้แก่ วัยรุ่นคืออยู่ในปฐมวัย.
               บทว่า อปาปิกา จสิ ได้แก่ มีรูปไม่เลว. อธิบายว่า มีรูปสวยอย่างยิ่งด้วย.
               บทว่า กึ เต ปพฺพชฺชา กริสฺสติ ชายนักเลงหญิงกล่าวด้วยความประสงค์ว่า บรรพชาจักทำอะไรแก่แม่นางผู้อยู่ในปฐมวัย มีรูปสวยอย่างนี้ หญิงแก่หรือหญิงรูปขี้เหร่ดอก ควรจะบวชเสีย.
               บทว่า นิกฺขิปา ได้แก่ จงละทิ้ง. บาลีว่า อุกฺขิปา ก็มี ความว่า จงเปลื้อง.
               บทว่า มธุรํ ได้แก่ งาม. อธิบายว่า กลิ่นหอม.
               บทว่า ปวนฺติ แปลว่า โชยกลิ่น.
               บทว่า สพฺพโส คือ รอบๆ.
               บทว่า กุสุมรเชน สมุฏฺฐิตา ทุมา ความว่า ต้นไม้เหล่านี้เป็นเหมือนเกิดเอง ด้วยละอองดอกไม้ของตัวเอง กล่าวคือเรณูดอกไม้ที่เกิดขึ้นโดยลมพัดอ่อนๆ.
               บทว่า ปฐมวสนฺโต สุโข อุตุ ความว่า ฤดูต้นเดือนวสันต์นี้และมีสัมผัสสบาย กำลังดำเนินไป.
               บทว่า กุสุมิตสิขรา ได้แก่ มียอดดอกบานดีแล้ว.
               บทว่า อภิคชฺชนฺติว มาลุเตริตา ได้แก่ ถูกลมพานไหวคล้ายครวญ คือตั้งอยู่ประหนึ่งส่งเสียงครวญ.
               ด้วยบทว่า ยทิ เอกา วนโมคหิสฺสสิ ชายนักเลงหญิงกล่าวอย่างนี้ เพราะร่านรักในสุขที่เกี่ยวกับตนว่า ถ้าแม่นางจะเข้าป่าคนเดียว แม่นางจะมีความยินดีอะไรในป่านั้นเล่า.
               บทว่า วาฬมิคสงฺฆเสวิตํ ได้แก่ อันกลุ่มเนื้อร้ายมีราชสีห์และเสือเป็นต้นเข้าไปอาศัยอยู่ในที่นั้นๆ.
               บทว่า กุญฺชรมตฺตกเรณุโลฬิตํ ได้แก่ เป็นถิ่นเกลื่อนกล่นด้วยช้างพลายตกมันและช้างพัง ด้วยการทำจิตใจของเหล่าเนื้อกวางให้เดือดร้อน และด้วยการหักกิ่งไม้และกอไม้เป็นต้น.
               ไม่มีเหตุเช่นนี้ในป่านั้นทุกเมื่อก็จริง ขึ้นชื่อว่าป่าก็ต้องเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ชายนักเลงหญิงประสงค์จะให้พระเถรีนั้นหวาดกลัว จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า รหิตํ ได้แก่ เว้นจากชนคือปราศจากผู้คน.
               บทว่า ภึสนกํ ได้แก่ น่าเกิดภัย.
               บทว่า ตปฺปนียกตาว ธีติกา ความว่า แม่นางเที่ยวไปประดุจตุ๊กตา ที่ช่างตกแต่งด้วยทองสีแดง คือประดุจรูปปฏิมาทองที่นายช่างยนต์ผู้ฉลาดตกแต่งโดยการประกอบยนต์ บัดนี้นี่แหละ แม่นางก็ยังเที่ยวไปทางโน้นทางนี้.
               บทว่า จิตฺตลเตว อจฺฉรา ได้แก่ ประดุจเทพอัปสรในสวนชื่อว่าจิตตลดา.
               บทว่า กาสิกสุขุเมหิ ได้แก่ เนื้อละเอียดอย่างยิ่ง ที่เกิดขึ้นในแคว้นกาสี.
               บทว่า วคฺคุภิ ได้แก่ ที่เกลี้ยงสนิท.
               บทว่า โสภสี สุวสเนหิ นูปเม ได้แก่ แม่นางผู้งามไม่มีใครเปรียบคือเว้นที่จะเปรียบได้เลย บัดนี้ แม่นางอยู่ในอำนาจเรา ก็จะงดงามด้วยผ้านุ่งห่ม เพราะฉะนั้น ชายนักเลงหญิงจึงกล่าวกะพระเถรีดังกล่าวแล้ว ดังหนึ่งว่า เป็นไปจริงส่วนเดียว ตามความประสงค์ของตน.
               บทว่า อหํ ตว วสานุโค สิยํ ความว่า ข้าพเจ้ายอมอยู่ใต้อำนาจแม่นาง จะยอมสนองทุกกิจการ.
               บทว่า ยทิ วิหเรมเส กานนนฺตเร ความว่า ผิว่าเราทั้งสองจะอยู่ร่วมอภิรมย์กันในกลางป่า ชายนักเลงหญิงกล่าวถึงเหตุแห่งภาวะที่ตกอยู่ใต้อำนาจว่า เพราะว่าสัตว์ที่น่ารักกว่าแม่นาง สำหรับข้าพเจ้าไม่มีเลย.
               อีกนัยหนึ่ง ชายนักเลงหญิงกล่าวหมายถึงชีวิตของตนว่า ปาณะ.
               อธิบายว่า เพราะว่า ชีวิตของข้าพเจ้าที่จะเป็นที่รักกว่าแม่นางไม่มีเลย.
               บทว่า กินฺนริมนฺทโลจเน แปลว่า ดูราแม่นางผู้มีดวงตาโศกเหมือนกินนรเอย.
               บทว่า ยทิ เม วจนํ กริสฺสสิ สุขิตา เอหิ อคารมาวส ความว่า ถ้าแม่นางจะเชื่อข้า ก็จงละการนั่งคนเดียว การนอนคนเดียว ละทุกข์ในพรหมจรรย์เสีย มาสิ มาเสพสุขด้วยกามสมบัติ อยู่ครองเรือนกัน.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สุขิตา เหติ อคารมาวสนฺติ.
               เนื้อความของอาจารย์พวกนั้นว่า แม่นางจักประสบสุข คนทั้งหลายเขาก็อยู่ครองเรือนกัน.
               บทว่า ปาสาทนิวาตวาสินี ได้แก่ อยู่ในปราสาทที่ปราศจากลมพาน.
               บาลีว่า ปาสาทวิมานวาสินี ก็มี ความว่า อยู่ในปราสาทเสมือนวิมาน.
               บทว่า ปริกมฺมํ ได้แก่ การขวนขวาย.
               บทว่า ธารย ได้แก่ จงครอง คือจงนุ่งและจงห่ม.
               บทว่า อภิโรเปหิ ได้แก่หรือจงแต่ง อธิบายว่า จงประดับเรือนร่าง โดยตกแต่งประดับประดา.
               บทว่า มาลวณฺณกํ ได้แก่ มาลัย และของหอมของลูบไล้.
               บทว่า กญฺจนมณิมุตฺตกํ ได้แก่ ประกอบด้วยทอง และแก้วมณี และแก้วมุกดา.
               อธิบายว่า แต่งด้วยแก้วมณีและแก้วมุกดาที่ประกอบด้วยทอง.
               บทว่า พหุํ ได้แก่ มีมากประการต่างโดยเครื่องประดับมือเป็นต้น.
               บทว่า วิวิธํ ได้แก่ ต่างๆ อย่างโดยรูปพรรณหลากชนิด.
               บทว่า สุโธตรชปจฺฉทํ ได้แก่ มีผ้าปิดที่ลอกละอองออกแล้ว เพราะฟอกดี.
               บทว่า สุภํ ได้แก่ สวยงาม.
               บทว่า โคนกตูลิกสนฺถตํ ได้แก่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์สีดำขนยาวและผ้าสำลีที่เต็มด้วยขนหงส์เป็นต้น.
               บทว่า นวํ ได้แก่ ใหม่เอี่ยม.
               บทว่า มหารหํ ได้แก่ มีค่ามาก.
               บทว่า จนฺทนมณฺฑิตสารคนฺธิกํ ได้แก่ มีกลิ่นหอมอวล เพราะตกแต่งด้วยจันทน์มีแก่นมีจันทน์แดงเป็นต้น.
               อธิบายว่า แม่นางโปรดขึ้นสู่ที่นอนเห็นปานนั้น แล้วโปรดนอน โปรดนั่งตามสบาย.
               ในบทว่า อุปฺปลํ จุทกา สมุคฺคตํ ดังนี้ อักษรเป็นเพียงนิบาต ความว่า ดอกอุบลที่ผุดโผล่ชูพ้นน้ำตั้งอยู่บานแล้ว.
               บทว่า ยถา ตํ อมนุสฺสเสวิตํ ความว่า ก็ดอกอุบลนั้นพึงไร้มนุษย์เสพ คือใครๆ มิได้เชยชมแล้ว เพราะเกิดในสระโบกขรณี ที่รากษสหวงแหนแล้ว.
               บทว่า เอวํ ตฺวํ พฺรหฺมจารินี ได้แก่ แม่นางก็เป็นพรหมจารีเหมือนดอกอุบลบานดีนั้นฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า สเกสงฺเคสุ ความว่า เมื่อส่วนแห่งเรือนร่างของตนอันใครๆ มิได้เชยชมแล้ว แม่นางก็จักถึงความชรา คือจะแก่คร่ำคร่าไปเสียเปล่าๆ.
               เมื่อชายนักเลงหญิงประกาศความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระเถรีเมื่อจะตัดความประสงค์นั้นในเรื่องนั้น ด้วยการชี้ชัดถึงสภาพของร่างกาย จึงกล่าวคาถาว่า กึ เต อิธ เป็นต้น
               คาถานั้นมีความว่า
               ท่านบุตรช่างทอง ในร่างอันไม่สะอาดนี้ คือที่สำคัญกันว่ากายนี้ อันเต็มไปด้วยซากศพมีผมเป็นต้น ต้องแตกสลายไปส่วนเดียวเป็นธรรมดา รังแต่จะรกป่าช้า ชื่อว่าอะไรเล่าที่ท่านเข้าใจ ชื่นชมว่าเป็นสาระ เพราะเห็นสิ่งอันใด ความไร้ใจ คือความขาดความดำริแห่งใจในอารมณ์อย่างหนึ่ง หรือความไม่ไร้ใจ จึงปรากฏกลายเป็นความสุขใจขึ้น ท่านจงบอกสิ่งอันนั้นแก่เราสิ.
               ชายนักเลงหญิงฟังคำอย่างนี้แล้ว ถึงแม้ว่ารูปของพระเถรีนั้นงดงามโดยความสันทัด แต่นับตั้งแต่แรกเห็น ก็มีจิตปฏิพัทธ์ที่จุดรวมแห่งความสนใจ [ทิฏฐิ] อันใดเมื่อจะอ้างจุดรวมแห่งความสนใจ [ทิฏฐิ] อันนั้น จึงกล่าวคาถาว่า อกฺขีนิ ตูริยาริว เป็นต้น
               พระเถรีนี้เป็นผู้มีอินทรีย์อันสงบ เพราะเป็นผู้สำรวมด้วยดีแล้วโดยแท้ แต่เพราะเหตุที่เขาถูกลวงด้วยอากัปกิริยามีความสง่างามแห่งจริตเองเป็นต้น ที่สันทัดพิเศษด้วยแง่งอน อันเป็นจุดรวมแห่งความสนใจซึ่งเขาหาได้ที่ดวงตาทั้งสองของพระเถรีนั้น ที่ประดับด้วยประสาททั้ง ๕ อันผ่องใส ที่สำเร็จมาด้วยอานุภาพกรรม อันมีดวงตาที่มั่นคงผ่องใส เสงี่ยมสงบเป็นจุดรวม จึงเกิดเป็นนักเลงหญิงขึ้นมาฉะนั้น ความกำหนัดด้วยอำนาจทิฏฐิของเขาจึงถึงความไพบูลย์เป็นพิเศษ.
               เนื้อทรายเรียกว่า ตูริ ในบทว่า อกฺขีนิ จ ตูริยาริว ในคาถานั้น ศัพท์เป็นเพียงนิบาต.
               อธิบายว่า ดวงตาทั้งสองของแม่นางประหนึ่งดวงตาของลูกเนื้อทราย.
               บาลีว่า โกริยาริว ก็มี ท่านอธิบายว่า ประหนึ่งดวงตาของแม่ไก่ร้องกระต๊าก.
               บทว่า กินฺนริยาริว ปพฺพตนฺตเร ความว่า ดวงตาของแม่นางเหมือนดวงตาของกินนรีที่ท่องเที่ยว ณ ท้องภูเขา.
               บทว่า ตว เม นยนานิ ทกฺขิย ความว่า เพราะเห็นดวงตาของแม่นางมีคุณพิเศษที่กล่าวมาแล้ว ความอภิรมย์ในกามจึงกำเริบแก่ข้าพเจ้าอย่างยิ่งคือทับทวี.
               บทว่า อุปฺปลสิขโรปมานิ เต ได้แก่ ดวงตาของแม่นางเสมือนปลายดอกอุบลแดง.
               บทว่า วิมเล แปลว่า ไร้มลทิน.
               บทว่า หาฎกสนฺนิเภ ได้แก่ หน้าของแม่นางเสมือนหน้าของรูปทอง. ประกอบความว่า เพราะเห็นดวงตาทั้งสอง.
               บทว่า อปิ ทูรคตา ได้แก่ แม้ไปยังที่อันไกล.
               บทว่า สรมฺหเส ความว่า ข้าไม่คิดถึงสิ่งไรอื่น รำลึกถึงแต่ดวงตาทั้งสองของแม่นางเท่านั้น.
               บทว่า อายตปมฺเห ได้แก่ ขนตายาว.
               บทว่า วิสุทฺธทสฺสเน ได้แก่ ดวงตาที่ไร้มลทิน.
               บทว่า น หิ มตฺถิ ตยา ปิยตฺตโร นยนา ความว่า ไม่มีอะไรอื่นของข้าพเจ้าที่จะเป็นที่รักกว่าดวงตาของแม่นาง.
               ความจริง คำว่า ตยา เป็นตติยาวิภัติใช้ในอรรถฉัฏฐีวิภัติ.
               พระเถรีเมื่อจะเปลี่ยนความปรารถนาของชายผู้นั้น ซึ่งพร่ำเพ้อถึงสิ่งนั้นๆ เหมือนคนบ้า เพราะความงามของจักษุดังนี้ จึงกล่าวคาถา ๑๒ คาถาโดยนัยว่า อปเถน เป็นต้น
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปเถน ปยาตุมิจฺฉสิ ประกอบความว่า ท่านบุตรช่างทองเมื่อสตรีอื่นมีอยู่ ท่านผู้ใดต้องการคือปรารถนาเราผู้เป็นบุตรพระพุทธเจ้า คือเป็นโอรสธิดาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ท่านผู้นั้น เมื่อทางตรงอันเกษมมีอยู่ ชื่อว่าปรารถนาจะไป คือประสงค์จะเดินไปตามทางที่มิใช่ทาง คือตามทางผิดที่มีภัยกั้นด้วยหนาม. ชื่อว่าแสวงหาดวงจันทร์เป็นของเล่น คือประสงค์จะทำดวงจันทร์ให้เป็นของเล่น. ชื่อว่าปรารถนาจะกระโดดเขาพระเมรุ คือประสงค์จะกระโดดขึ้นขุนเขาสิเนรุซึ่งสูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ แล้วยืนอยู่ต่อมา เพราะฉะนั้น ท่านนั้นปรารถนาเราผู้เป็นบุตรพระพุทธเจ้า.
               บัดนี้ พระเถรีกล่าวว่า นตฺถิ เป็นต้นก็เพื่อแสดงว่าอารมณ์นั้น มิใช่วิสัยของตน และว่าความปรารถนานำมาแต่ความคับแค้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราโค ยตฺถปิ ทานิ เม สิยา ความว่า บัดนี้ ราคะของเราพึงมีพึงเป็นในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นไม่มีเลยในโลกทั้งเทวโลก.
               บทว่า นปิ นํ ชานามิ กีริโส ความว่า เราไม่รู้จักราคะนั้นว่าเป็นเช่นไร.
               คำว่า อถ ในบทว่า อถ มคฺเคน หโต สมูลโก เป็นเพียงนิบาต ราคะพร้อมทั้งราก โดยราก กล่าวคืออโยนิโสมนสิการ ความใส่ใจโดยไม่แยบคาย เรากำจัดคือถอนได้แล้วด้วยอริยมรรค.
               บทว่า อิงฺคาลกุยา ได้แก่ จากหลุมถ่าน.
               บทว่า อุชฺฌิโต ได้แก่ เหมือนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ลมพัดฟุ้งขึ้นแล้ว. อธิบายว่า เหมือนเชื้อไฟ.
               บทว่า วิสปตฺโตริว ได้แก่ เหมือนภาชนะยาพิษ.
               บทว่า อคฺคิโต กโต ความว่า ที่ปราศจากคือเอาออกจากไฟ คือถ่านไฟ. อธิบายว่า นำออก คือทำลายเสียไม่ให้เหลือแม้เพียงเศษของยาพิษ.
               บทว่า ยสฺสา สิยา อปจฺจเวกฺขิตํ ความว่า ขันธบัญจกนี้พึงเป็นของอันหญิงใดไม่พิจารณา ไม่กำหนดรู้แล้วด้วยญาณ.
               บทว่า สตฺตา วา อนุสาสิโต สิยา ความว่า พระศาสดาพึงเป็นผู้อันหญิงใด ไม่เข้าเฝ้าแล้ว เพราะไม่เห็นตัวธรรม.
               บทว่า ตฺวํ กาทิสิกํ ปโลภย ความว่า ท่านเอยโปรดประเล้าประโลม เข้าไปหาหญิงเห็นปานนั้น ผู้ไม่เฟ้นสังขาร ผู้ไม่พิจารณาโลกุตรธรรม ด้วยกามทั้งหลายเถิด.
               บทว่า ชานนฺตึ โส อิมํ วิหญฺญสิ ความว่า ท่านนั้นอาศัยสุภาภิกษุณีรูปนี้ผู้รู้ความเป็นไปและความกลับตามเป็นจริงคือแทงตลอดสัจจะ ย่อมเดือดร้อนเอง คือจะถึงความคับแค้น ความทุกข์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต.
               บัดนี้ พระเถรีเมื่อจะแสดงความที่ชายผู้นั้นจะถึงความคับแค้น ด้วยการชี้แจงเหตุ จึงกล่าวว่า มยฺหํ หิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิ เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่าเหตุ.
               บทว่า อกฺกุฏฺฐวนฺทิเต ได้แก่ ในการด่าและการไหว้.
               บทว่า สุขทุกฺเข ได้แก่ ในสุขและทุกข์ หรือเพราะประสพอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า สตี อุปฏฺฐิตา ได้แก่ สติที่ประกอบด้วยการพิจารณา มั่นคงตลอดกาล.
               บทว่า สงฺขตมสุภนฺติ ชานิย ได้แก่ รู้ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เป็นสังขารว่าไม่งาม เพราะเป็นที่ไหลออกของกิเลสและของไม่สะอาด.
               บทว่า สพฺพตฺเถว ความว่า ใจของเราไม่ติดอยู่ใน ๓ ภพ ทุกภพ ด้วยกิเลสเครื่องฉาบคือตัณหาเป็นต้นเลย.
               บทว่า มคฺคฏฺฐงฺคิกยานยายินี ได้แก่ ดำเนินไปคือเข้าไปสู่บุรีคือพระนิพพาน ด้วยยานอันเป็นอริยะ กล่าวคือมรรคประกอบด้วยองค์ ๘.
               บทว่า อุทฺธฏสลฺลา ได้แก่ มีกิเลสดุจลูกศรคือราคะเป็นต้น อันถอนเสียแล้วจากสันดานของตน.
               บทว่า สุจิตฺติตา ได้แก่ อันแต่งคือทำให้งามด้วยดี โดยอาการมีมือเท้าและหน้าเป็นต้น.
               บทว่า โสมฺภา ได้แก่ รูปเขียน.
               บทว่า ทารุกปิลฺลกานิ วา ได้แก่ รูปที่จัดแต่งด้วยท่อนไม้เป็นต้น.
               บทว่า ตนฺตีหิ ได้แก่ เอ็นและด้าย.
               บทว่า ขีลเกหิ ได้แก่ ท่อนไม้ที่เขาตั้งไว้ เพื่อทำเป็นมือ เท้า หลังและหูเป็นต้น.
               บทว่า วินิพทฺธา ได้แก่ ผูกด้วยอาการต่างอย่าง.
               บทว่า วิวิธํ ปนจฺจกา ได้แก่ ทำท่ารำที่เขาจัดตั้งไว้ ด้วยการชักและปล่อยเป็นต้น ซึ่งด้ายยนต์เป็นอาทิ.
               ประกอบความว่า อันเขาเห็นเหมือนร่ายรำอยู่.
               บทว่า ตมฺหุทฺธเฏ ตนฺติขีลเก ความว่า อาศัยสิ่งที่ประกอบให้วิเศษด้วยการตั้งการแต่งอย่างดี จึงมีชื่อว่ารูป เมื่อด้ายและไม้ เขาถอดออกจากที่ปลดออกจากเครื่องผูก ทำกันแลกันให้บกพร่อง เพราะทำให้เป็นส่วนๆ ก็เรี่ยรายกระจัดกระจาย เพราะทิ้งอยู่ในที่นั้นๆ.
               บทว่า น วินฺเทยฺย ขณฺฑโส กเต ความว่า เมื่อส่วนของรูปใบลาน ถูกทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย บุคคลก็ไม่พบ ไม่ได้ใบลาน เมื่อเป็นดังนั้น บุคคลจะพึงตั้งใจไว้ในรูปนั้นทำไม.
               อธิบายว่า บุคคลจะพึงตั้งใจความสำคัญใจ ไว้ในส่วนของรูปใบลานนั้นทำไม คือพึงตั้งความสำคัญใจ ในตอไม้หรือในเชือก หรือในก้อนดินเป็นต้น สัญญานั้นไม่พึงตกไปในอวัยวะที่เป็นวิสังขาร แม้บางคราว.
               บทว่า ตถูปมา ได้แก่ ก็เสมือนรูปนั้น คือเสมือนรูปใบลานนั้น.
               ถ้าจะถามว่าอะไรเล่าท่านพระเถรีจึงกล่าวว่า เทหกานิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เทหกานิ ได้แก่ อวัยวะส่วนแห่งร่างกายมีมือเท้าและหน้าเป็นต้น.
               บทว่า มํ ความว่า ปรากฏเนื่องกับเรา.
               บทว่า เตหิ ธมฺเมหิ ได้แก่ จากธรรมเหล่านั้นมีปฐวีธาตุเป็นต้น และจักษุเป็นต้น.
               บทว่า วินา น วตฺตนฺติ ความว่า ด้วยว่าชื่อว่าร่างกายพ้นธรรมมีปฐวีธาตุเป็นต้น ที่ตั้งโดยประการนั้นๆ มีอยู่ก็หาไม่.
               บทว่า ธมฺเมหิ วินา น วตฺตติ ความว่า ร่างกายเว้นจากอวัยวะคือธรรม คืออวัยวะเสีย ก็ไม่เป็นไปก็ไม่ได้เพื่อเป็นดังนั้น บุคคลจะพึงตั้งใจไปในร่างกายนั้นทำไม.
               อธิบายว่า บุคคลจะพึงตั้งใจความสำคัญใจว่า ร่างกายหรืออวัยวะมีมือเท้าเป็นต้นในอะไรเล่า คือในปฐวีธาตุหรืออาโปธาตุเป็นต้น เพราะเหตุที่ในความเป็นธรรมคือปฐวีธาตุเป็นต้นและประสาท มีสมัญญาว่าร่างกายบ้าง มือเท้าเป็นต้นบ้าง สัตว์บ้าง หญิงบ้าง ชายบ้าง ฉะนั้น เราผู้รู้ตามเป็นจริง จึงไม่ยึดมั่นในร่างกายนั้น.
               บทว่า ยถา หริตาเลน มกฺขิตํ อทฺทส จิตฺติกํ ภิตฺติยา กตํ อธิบายว่า บุคคลพึงดู พึงเห็นรูปหญิงที่จิตรกรผู้ฉลาดป้ายระบายด้วยหรดาลที่ฝาผนัง คือวาดระบายด้วยหรดาลนั้นให้งดงาม เพราะความพรั่งพร้อมด้วยกิริยามีการชู (มือ) การทอด [แขน] เป็นต้นก็มีสัญญาความสำคัญว่า ฝาผนังนี้ที่ตั้งอยู่โดยไม่พิง เป็นมนุษย์หรือหนอ สัญญานั้นก็ไร้ประโยชน์ เพราะประโยชน์กล่าวคือความเป็นมนุษย์ไม่มีอยู่ในรูปหญิงนั้น.
               ส่วนชายผู้นั้นเห็นวิปริตในรูปหญิงนั้นอย่างเดียวว่าเป็นมนุษย์คือไม่ถือตามความเป็นจริง ทั้งถือว่าเป็นหญิงชายในอาการสักว่าเป็นกองแห่งธรรมฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็พึงเห็นฉันนั้น.
               บทว่า มายํ วิย อคฺคโต กตํ ได้แก่ เสมือนพยับแดดที่ปรากฏข้างหน้า โดยอาการลวง.
               บทว่า สุปินนฺเตว สุวณฺณปาทปํ ความว่า ความฝันนั่นแลชื่อว่าสุปินันตะ ประหนึ่งต้นไม้ทองที่ปรากฏในความฝันนั้น.
               บทว่า อุปคจฺฉสิ อนฺธ ริตฺตกํ ความว่า ดูก่อนท่านผู้เขลาเหมือนคนตาบอดเอย ท่านยังจะเข้าไปยึดมั่นอัตภาพนี้ที่ว่างเปล่า เว้นสาระภายใน ดั่งมีสาระว่านั่นของเรา.
               บทว่า ชนมชฺเฌริว รุปฺปรูปกํ ความว่า เช่นเดียวกับรูปมายากลที่นักเล่นกลแสดงท่ามกลางมหาชน ปรากฏประหนึ่งว่ามีสาระ.
               อธิบายว่า ไม่มีสาระ.
               บทว่า วฏฺฏนิริว แปลว่า เหมือนก้อนครั่ง.
               บทว่า โกฏโรหิตา ได้แก่ ตั้งอยู่ในโพรง คือโพรงไม้.
               บทว่า มชฺเฌ ปุพฺพุฬกา ได้แก่ เสมือนฟองน้ำที่ตั้งขึ้นกลางหนังตา.
               บทว่า สอสฺสุกา ได้แก่ ประกอบด้วยน้ำตา.
               บทว่า ปีฬโกฬิกา ได้แก่ ขี้ตา.
               บทว่า เอตฺถ ชายติ ได้แก่ โชยกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นที่ปลายสองข้างที่ดวงตานั้น.
               อีกนัยหนึ่ง ต่อมที่เกิด ณ หนังตาเรียกกันว่า ปีฬโกฬิกา.
               บทว่า วิวิธา ได้แก่ มากอย่าง โดยวงกลมสีขาวและเขียว และพื้นทั้ง ๗ มีสีแดงและเหลืองเป็นต้น.
               บทว่า จกฺขุวิธา ได้แก่ ส่วนแห่งจักษุ หรือประการแห่งจักษุ เพราะจักษุนั้นเป็นกลาปมากกลาป.
               บทว่า ปิณฺฑิตา ได้แก่ เกิดขึ้น.
               พระเถรีชี้แจงถึงความที่จักษุของผู้ที่ร่านรักในจักษุเป็นของไม่งามและความที่จักษุนั้นเป็นของไม่เที่ยง เพราะตั้งอยู่ไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล้ว ครั้นแล้วพระเถรีก็ยังถูกชายผู้นั้นซึ่งร่านรักในจักษุพัวพัน จำต้องควักดวงตาของตนให้เขาไป เหมือนคนบางคนถือเอาสิ่งของซึ่งใครๆ ก็อยากได้ เดินทางกันดารที่มีโจร ถูกพวกโจรพัวพัน ก็จำต้องให้สิ่งของที่น่าอยากได้นั้นไปฉะนั้น
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า อุปฺปาฏิย จารุทสฺสนา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปฺปาฏิย ได้แก่ ควักคือนำออกจากเบ้าตา.
               บทว่า จารุทสฺสนา ได้แก่ ดวงตาที่น่ารัก ดวงตาที่น่าจับใจ.
               บทว่า น จ ปชฺชิตฺถ ได้แก่ ไม่ถึงความติดข้องในจักษุนั้น.
               บทว่า อสงฺคมานสา ความว่า พระเถรีผู้มีจิตไม่ติดข้องในอารมณ์แม้ไรๆ จึงกล่าวว่า เชิญรับจักษุที่ท่านต้องการไป ต่อแต่นั้น จงถือเอาก้อนที่ไม่สะอาด ซึ่งท่านสำคัญว่าจักษุ เพราะเราให้แล้ว ครั้นถือเอาแล้ว จงนำจักษุที่ประกอบด้วยประสาท นำไปยังสถานที่ท่านปรารถนาเถิด.
               บทว่า ตสฺส จ วิรมาสิ ตาวเท ความว่า ในทันใดนั่นเองคือในขณะที่พระเถรีควักลูกตานั่นแล ราคะของชายนักเลงหญิงนั้น ก็หายไป.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในลูกตา หรือในพระเถรีนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในที่นั้นนั่นเอง.
               บทว่า ขมาปยิ แปลว่า ให้พระเถรียกโทษให้แล้ว.
               บทว่า โสตฺถิ สิยา พฺรหมจาริ นี้ความว่า ข้าแต่แม่นางพรหมจารีผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ ขอความไม่มีโรคพึงมีแก่แม่นางเถิด.
               บทว่า น ปุโน เอทิสกํ ภวิสฺสติ ความว่า เบื้องหน้าแต่นี้ไป จักไม่มีการประพฤติอนาจารอย่างนี้.
               อธิบายว่า ข้าจักไม่ทำละ.
               บทว่า อาสาทิย ได้แก่ กระทบ.
               บทว่า เอทิสํ ได้แก่ ผู้ปราศจากราคะในอารมณ์ทั้งปวงเห็นปานนี้.
               บทว่า อคฺคึ ปชฺชลิตํว ลิงฺคิย ได้แก่ เหมือนกอดไฟที่ลุกโชน.
               บทว่า ตโต แปลว่า จากชายนักเลงหญิงนั้น.
               บทว่า สา ภิกฺขุนี ได้แก่ พระสุภาภิกษุณีนั้น.
               บทว่า อคมี พุทฺธวรสฺส สนฺติกํ ได้แก่ เข้าไปยังสำนัก คือเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า ปสฺสิย วรปุญฺญลกฺขณํ ได้แก่ เห็นพระมหาปุริสลักษณะอันบังเกิดด้วยบุณยสมภารอันสูงสุด.
               บทว่า ยถา ปุราณกํ ได้แก่ จักษุได้กลับเป็นปกติ เหมือนเก่า คือเหมือนเมื่อก่อนควัก.
               คำที่มิได้กล่าวในระหว่างๆ ในเรื่องนี้ ก็รู้ได้ง่ายเหมือนกัน เพราะมีนัยที่กล่าวมาแล้ว.

               จบอรรถกถาสุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา               
               จบอรรถกถาติงสนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ติงสนิบาต ๑. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 471อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 472อ่านอรรถกถา 26 / 473อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9927&Z=10028
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=6632
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=6632
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :