ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 53อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 54อ่านอรรถกถา 26 / 55อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มหารถวรรคที่ ๕
๔. กักกฏรสทายกวิมาน

               อรรถกถากักกฏกรสทายกวิมาน               
               กักกฏกรสทายกวิมาน มีคาถาว่า อุจฺจมิทํ มณิถูณํ วิมานํ เป็นต้น.
               กักกฏกรสทายกวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์.
               สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเริ่มเจริญวิปัสสนา เกิดโรคปวดหูขึ้นมา ไม่อาจที่จะขวนขวายวิปัสสนาได้ เพราะมีร่างกายไม่สบาย แม้ประกอบยาต่างๆ ตามวิธีที่หมอทั้งหลายบอก โรคก็ไม่สงบ.
               ภิกษุนั้นได้กราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า โภชนะที่มีรสปูเป็นสัปปายะแก่เขา จึงตรัสแก่ภิกษุรูปนั้นว่า ภิกษุ เธอจงไปเที่ยวบิณฑบาตที่นาของชาวมคธ.
               ภิกษุนั้นคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นการณ์ไกล คงจักทรงเห็นอะไรๆ เป็นแน่ จึงทูลรับพระพุทธดำรัสว่า สาธุ พระเจ้าข้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ถือบาตรจีวรไปนาของชาวมคธ ได้ยืนบิณฑบาตที่ประตูกระท่อมของคนเฝ้านาคนหนึ่ง คนเฝ้านานั้นปรุงอาหารรสปูและหุงข้าวแล้ว คิดว่าพักเสียหน่อยหนึ่งแล้วจึงจักกิน นั่งอยู่ เห็นพระเถระจึงรับบาตร นิมนต์ให้นั่งในกระท่อม ได้ถวายภัตตาหารที่มีรสปู.
               เมื่อพระเถระฉันภัตตาหารนั้นได้หน่อยหนึ่งเท่านั้น โรคปวดหูก็สงบ เหมือนอาบน้ำร้อยหม้อ.
               พระเถระนั้นได้ความสบายใจเพราะอาหารเป็นสัปปายะ น้อมจิตไปโดยวิปัสนา ยังฉันไม่ทันเสร็จ ก็ทำอาสวะให้สิ้นไปโดยไม่เหลือ ตั้งอยู่ในพระอรหัต กล่าวกะคนเฝ้านาว่า อุบาสก โรคของอาตมาสงบ เพราะฉันบิณฑบาตของท่าน กายและใจสบาย แม้ท่านก็จักปราศจากทุกข์กายทุกข์ใจ ด้วยผลแห่งบุญของท่านนั้น ทำอนุโมทนาแล้วหลีกไป.
               สมัยต่อมา คนเฝ้านาตายไปบังเกิดในห้องแก้วไพฑูรย์ ประดับด้วยห้องรโหฐาน ๗๐๐ ห้อง ในวิมานทองเสาแก้วมณี ๑๒ โยชน์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               อนึ่ง ที่ประตูของวิมานนั้นมีปูทองอยู่ในสาแหรกแก้วมุกดา ซึ่งพิสูจน์ถึงกรรมตามที่สั่งสมไว้ ห้อยอยู่.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปในดาวดึงส์นั้นโดยนัยที่กล่าวแล้วก่อน เห็นวิมานนั้นแล้ว ได้ถามด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               วิมานเสาแก้วมณีนี้สูง ๑๒ โยชน์โดยรอบ มีห้องรโหฐาน ๗๐๐ ห้องโอฬาร มีเสาแก้วไพฑูรย์ ลาดด้วยเครื่องลาดที่ถูกใจ สวยงาม ท่านอยู่ดื่มกินในวิมานนั้น มีพิณทิพย์บรรเลงไพเราะ มีเบญจกามคุณ มีรสเป็นทิพย์ และเทพนารีแต่งองค์ด้วยเครื่องทองฟ้อนรำอยู่ เพราะบุญอะไร วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนั้น เพราะบุญอะไร ผลอันนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ท่าน.
               ดูก่อนเทวะผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
               เทพบุตรแม้นั้นได้พยากรณ์แก่พระเถระแล้ว เพื่อแสดงความนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า
               เทพบุตรนั้นดีใจ ถูกพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า
               ปูทองมีสิบขา ยืนอยู่ที่ประตู คอยเตือนสติให้ระลึก (ถึงกรรม) ได้สง่างาม เพราะบุญนั้น วรรณะของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้า และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า.
               ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอบอกแก่ท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าได้ทำบุญใดไว้ เพราะบุญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุจฺจํ ได้แก่ ขึ้นสูงไป.
               บทว่า มณิถูณํ ได้แก่ เสาแก้วมณีมีปัทมราคทับทิมเป็นต้น.
               บทว่า สมนฺตโต ได้แก่ ทั้ง ๔ ด้าน.
               บทว่า รุจกตฺถตา ได้แก่ ลาดด้วยแผ่นทองบนพื้นที่นั้นๆ.
               บทว่า ปิวสิ ขาทสิ จ ท่านกล่าวหมายน้ำดื่มที่หอมและสุธาโภชน์ที่ใช้ตามระยะกาล.
               บทว่า ปวทนฺติ แปลว่า บรรเลง.
               บทว่า ทิพฺพา รสา กาม คุเณตฺถ ปญฺจ ความว่า เบญจกามคุณไม่น้อย มีรสเป็นทิพย์มีอยู่ในที่นี้ คือในวิมานของท่านนี้.
               บทว่า สุวณฺณฉนฺนา ได้แก่ ประดับด้วยอาภรณ์ทอง.
               บทว่า สติสมุปฺปาทกโร ความว่า ทำให้เกิดสติ คือทำให้เกิดสติในบุญกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้ทิพยสมบัตินี้. อธิบายว่า ทำให้เกิดสติอย่างนี้ว่า เจ้าได้สมบัตินี้เพราะถวายอาหารรสปู.
               บทว่า นิฏฺฐิโต ชาตรูปสฺส ได้แก่ สำเร็จแล้วด้วยทอง ชื่อว่าชาตรูปมยะ. ปูชื่อว่ามีขา ๑๐ เพราะปูนั้นมีขา ๑๐ แบ่งเป็นข้างละ ๕ อยู่ที่ประตูย่อมสง่างาม ปูนั้นแหละประกาศบุญกรรมของข้าพเจ้า แก่เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่เช่นท่าน. อธิบายว่า ในเรื่องนี้ ไม่มีคำที่ข้าพเจ้าจะต้องพูด ด้วยเหตุนั้น เทพบุตรจึงกล่าวว่า เตน เม ตาทิโส วณฺโณ เป็นต้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถากักกฏกรสทายกวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ มหารถวรรคที่ ๕ ๔. กักกฏรสทายกวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 53อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 54อ่านอรรถกถา 26 / 55อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=1990&Z=2015
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=5902
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=5902
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :