ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 5อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 6อ่านอรรถกถา 26 / 7อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปิฐวรรคที่ ๑
๖. นาวาวิมานที่ ๑

               อรรถกถาปฐมนาวาวิมาน               
               นาวาวิมาน มีคาถาว่า สุวณฺณจฺฉทนํ นาวํ เป็นต้น.
               วิมานเรือนั้นเกิดขึ้นอย่างไร.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี ภิกษุจำนวน ๑๖ รูปจำพรรษาในอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง ออกพรรษาแล้ว ตั้งใจว่าจักเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าและจักฟังธรรม ก็พากันเดินทางไกลในฤดูร้อน มุ่งกรุงสาวัตถี ระหว่างทางกันดารไม่มีน้ำ.
               ในทางกันดารนั้น ภิกษุเหล่านั้นถูกความร้อนแผดเผา ลำบากกาย กระหายน้ำ ไม่ได้น้ำดื่ม พากันเดินไปไม่ไกลหมู่บ้านแห่งหนึ่ง. ในหมู่บ้านนั้น หญิงผู้หนึ่งถือภาชนะสำหรับใส่น้ำ เดินบ่ายหน้าไปยังบ่อน้ำเพื่อตักน้ำ.
               ขณะนั้น ภิกษุเหล่านั้นแลเห็นนาง ก็คิดว่า เมื่อไปในที่หญิงผู้นี้ไป อาจได้น้ำดื่ม ถูกความกระหายน้ำบังคับ ก็พากันเดินบ่ายหน้าไปทิศนั้น เห็นบ่อน้ำก็ยืนไม่ไกลหญิงนั้น.
               หญิงนั้นได้น้ำจากบ่อนั้นแล้วประสงค์จะกลับ แลเห็นภิกษุเหล่านั้น รู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้กระหายน้ำต้องการน้ำ จึงเข้าไปแสดงความเคารพยำเกรง นิมนต์ให้ฉันน้ำ. ภิกษุเหล่านั้นก็นำผ้ากรองน้ำออกจากถุงบาตร กรองน้ำแล้วก็ดื่มน้ำจนพอแก่ความต้องการ เอาน้ำลูบมือเท้าให้เย็น กล่าวคำอนุโมทนาในปานียทาน (ถวายน้ำดื่ม) แก่หญิงนั้นแล้ว ก็พากันไป.
               หญิงนั้นตั้งบุญนั้นไว้ในใจ รำลึกถึงในระหว่างๆ ต่อมาก็ตายไปบังเกิดในภพดาวดึงส์. ด้วยบุญญานุภาพของนาง วิมานใหญ่งดงามด้วยต้นกัลปพฤกษ์ก็เกิดขึ้น แม่น้ำกลาดเกลื่อนด้วยกองทรายและหาดทรายขาว ประหนึ่งประดับด้วยเงิน ประกอบด้วยข่ายมุกดา ไหลมาเฉพาะน้ำที่ใสไร้มลทิน ดังก้อนแก้วมณี ล้อมรอบวิมานนั้น. ณ สองฝั่งของแม่น้ำนั้น และใกล้ประตูอุทยานและวิมาน สระโบกขรณีขนาดใหญ่ประดับด้วยดงปทุม ๕ สี ก็บังเกิดพร้อมด้วยเรือทอง.
               เทวดาองค์นั้นเมื่อเสวยทิพยสมบัติในวิมานนั้น ก็เที่ยวระเริงเล่นอยู่ในเรือ.
               ต่อมาวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวเทวจาริกไป เห็นเทพธิดาองค์นั้นกำลังเล่นอยู่ในเรือ เมื่อจะถามถึงบุญกรรมที่นางทำไว้ จึงถามว่า
               ดูก่อนเทพนารี ท่านขึ้นเรือปิดทอง ยืนอยู่ ท่านลงเล่นสระโบกขรณี หักดอกปทุมด้วยมือ. กูฏาคารนิเวศของท่าน จัดไว้พิมพ์เดียวกัน ประหนึ่งเนรมิตเป็นสัดส่วน เมื่อส่องแสงก็สว่างไปรอบสี่ทิศ. เพราะบุญอะไร วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนั้น เพราะบุญอะไร ผลนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน และโภคะทุกอย่างที่น่ารัก จึงเกิดแก่ท่าน.
               ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

               ต่อนั้น เพื่อแสดงอาการที่เทวดาซึ่งถูกพระเถระถามแล้วกล่าวตอบ พระธรรมสังคาหกาจารย์ พระเถระผู้ร่วมทำสังคายนาจึงกล่าวคาถานี้ว่า
               เทวดาองค์นั้น ถูกท่านพระโมคคัลลานะถามดีใจ ครั้นแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้.

               อาการที่เทวดากล่าวตอบดังนี้ว่า
                         ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ในชาติก่อน
               ในมนุษยโลก ดีฉันพบภิกษุทั้งหลาย ลำบากกาย
               กระหายน้ำ จึงขวนขวายถวายน้ำให้ท่านดื่ม. ผู้ใดแล
               ขวนขวายถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้ลำบากกาย
               กระหายน้ำ แม่น้ำหลายสายที่มีน้ำเย็น มีสวนไม้มาก
               มีบุณฑริกบัวขาวมาก ย่อมเกิดมีแก่ผู้นั้น.
                         ลำน้ำหลายสายเรียงรายไหลล้อมรอบวิมานนั้น
               เป็นประจำมีแม่น้ำที่มีน้ำเย็น ลาดด้วยทราย มีมะม่วง
               สาละหมากหอม หว้า ราชพฤกษ์และแคฝอยมีดอกบาน
               สะพรั่ง. ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมได้วิมานอันประเสริฐสุด
               ประกอบด้วยภูมิภาคเช่นนั้น ที่สง่างามหนักหนา
                         นี้เป็นวิบากของกรรมนั้นทั้งนั้น ผู้ทำบุญไว้แล้ว
               ย่อมได้ผลเช่นนี้. กูฏาคารนิเวศของดีฉันจัดไว้พิมพ์
               เดียวกัน ประหนึ่งเนรมิตเป็นสัดส่วน เมื่อส่องแสงก็
               สว่างไปรอบสี่ทิศ เพราะบุญนั้น วรรณะของดีฉันจึง
               เป็นเช่นนั้น เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ดีฉัน และ
               โภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ดีฉัน.
                         ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดีฉันขอบอก
               แก่ท่าน ดีฉันครั้งเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญใด เพราะ
               บุญนั้น ดีฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะ
               ของดีฉันจึงส่องสว่างไปทุกทิศ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวณฺณจฺฉทนํ ได้แก่ ชื่อว่าปิดทอง เพราะข้างในกำบังด้วยฝาทั้งสองข้าง อันทำด้วยทองสีแดงจำหลักฝาอย่างวิจิตร และเพราะปิดข้างบนด้วยเครื่องประดับทำด้วยทอง โชติช่วงด้วยรัตนะต่างๆ.
               บทว่า นาวํ แปลว่า เรือ.
               จริงอยู่ เรือนั้น ชื่อว่าโปตะ เพราะข้ามไปจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้น. อนึ่ง ท่านเรียกว่านาวา เพราะนำสัตว์ไป.
               บทว่า นาริ เป็นคำอาลปนะ เรียกเทพธิดาองค์นั้น.
               ผู้ใดย่อมพาย่อมนำไป เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่านระ ผู้นำไป ได้แก่บุรุษผู้ชาย. เหมือนอย่างว่า สัตว์แรกเกิดโดยปกติ ย่อมนอนก่อน เหตุนั้น จึงเรียกกันว่าบุรุษ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ประเสริฐโดยปกตินอกจากนี้ฉันใด ที่เรียกว่านระ ก็เพราะอรรถว่านำไปฉันนั้น.
               จริงอยู่ บุคคลแม้เป็นบุตรผู้พี่ ก็ตั้งอยู่ในฐานะบิดา ฐานะมารดาของพวกพี่สาวได้. จะป่วยกล่าวไปไยถึงบุคคลผู้เป็นสามี. หญิงนั้นเป็นของนระ เหตุนั้น หญิงนั้นจึงชื่อว่านารี. ก็ชื่อนี้เขาเรียกกันอย่างนั้น แม้ในผู้หญิงนอกนี้ โดยที่ขยายความกันออกไปในพวกมนุษย์ผู้หญิง.
               บทว่า โอคาหสิ โปกฺขรณึ ความว่า ด้วยความยินดีในการอยู่ในน้ำ จึงเข้าไปยังสระทิพย์ ที่ได้ชื่อว่าโบกขรณี เพราะโดยมากในนั้นมีปทุมทิพย์ ที่เรียกกันว่าโปกขระ ในดอกไม้น้ำ ซึ่งทำด้วยรัตนะมากชนิดมีบัวแดงและบัวเขียวเป็นต้นอยู่.
               บทว่า ปทุมํ ฉินฺทสิ ปาณินา ความว่า ท่านหักด้วยมือของท่าน ก็เพราะประสงค์จะทำดอกบัวที่มีลีลาดังบัวทิพย์ ที่มีชั้นช่อและเกสรแห่งกลีบที่ทำด้วยทอง ให้มีก้านทำด้วยเงินคู่กับใบที่ทำด้วยรัตนะคือบุษราคัม.
               บทว่า ตสิเต แปลว่า กระหายน้ำ.
               บทว่า กิลนฺเต ได้แก่ มีกายลำบาก เพราะกระหายน้ำนั้น และเพราะเมื่อยล้าในการเดินทาง.
               บทว่า อุฏฺฐาย ได้แก่ ทำความขยันหมั่นเพียร. อธิบายว่า ไม่เกียจคร้าน.
               ด้วยบทว่า โย เว เป็นต้น เทวดาเมื่อจะแสดงวิธีอนุมานสิ่งที่ไม่เห็นกับสิ่งที่เห็นว่า แม้ชนเหล่าอื่นก็ย่อมได้ผลเช่นนี้ เพราะบุญที่เกิดแต่อุทกทาน ถวายน้ำ ที่เป็นต้นเหตุ เหมือนอย่างดีฉัน จึงกล่าวตอบความที่พระเถระถามโดยทั่วไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส และ ตํ ย่อมกินความถึงผู้ไม่กระทำบุญตามที่กล่าวมาแล้วด้วย.
               บทว่า อนุปริยนฺติ ได้แก่ ล้อมรอบตามความเหมาะสม ด้วยการล้อมรอบสถานที่อยู่ของผู้นั้น แม้ผู้นั้นก็ชื่อว่าถูกล้อมไว้ด้วย.
               บทว่า ติลกา ได้แก่ ต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีดอกคล้ายดอกชบา.
               บทว่า อุทฺทาลกา ได้แก่ ต้นไม้ที่ใช้กำจัดโรคลม ที่เราเรียกกันว่าราชพฤกษ์ก็มี.
               บทว่า ตํ ภูมิภาเคหิ แปลว่า ด้วยภูมิภาคเช่นนั้น. อธิบายว่า ด้วยภูมิประเทศที่มีสระโบกขรณี แม่น้ำและสวนดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อุเปตรูปํ ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นวิมานที่ควรสรรเสริญ. ท่านอธิบายว่า เป็นที่รวมรมณียสถานที่น่ารื่นรมย์มีสระโบกขรณีเป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า ภุสโสภมานํ ประกอบความว่า ได้วิมานอันประเสริฐสุด ซึ่งรุ่งเรืองหนักหนานัก.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาปฐมนาวาวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ปิฐวรรคที่ ๑ ๖. นาวาวิมานที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 5อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 6อ่านอรรถกถา 26 / 7อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=119&Z=152
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=870
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=870
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :