ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 84อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 26 / 86อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗
๑๑. สุนิกขิตตวิมาน

               อรรถกถาสุนิกขิตตวิมาน               
               สุนิกขิตตวิมาน มีคาถาว่า อุจฺจมิทํ มณิถูณํ เป็นต้น.
               สุนิกขิตตวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี.
               สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะจาริกไปในเทวโลก ถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ขณะนั้นเทพบุตรองค์หนึ่งยืนอยู่ที่ประตูวิมานของตน เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะเกิดความเคารพนับถือมาก เข้าไปหาแล้วไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ยืนประคองอัญชลีอยู่.
               เล่ากันมาว่า เทพบุตรนั้น ในอดีตกาล ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะเสด็จดับขันธปรินิพพาน มหาชนได้สร้างพระสถูปทองโยชน์หนึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ บริษัท ๔ ได้พากันเข้าไปบูชาที่พระเจดีย์ด้วยของหอมดอกไม้และธูปเป็นต้นเสมอๆ.
               เมื่อคนอื่นๆ ไปบูชาด้วยดอกไม้ที่พระเจดีย์นั้น อุบาสกคนหนึ่งเห็นดอกไม้ที่วางไว้ไม่เรียบร้อยในที่ที่คนทั้งหลายเหล่านั้นบูชา จึงจัดวางดอกไม้เหล่านั้นอย่างเรียบร้อยทีเดียวในที่นั้นเอง ได้บูชาด้วยดอกไม้ซึ่งจัดอย่างวิเศษเป็นส่วนๆ มีสัณฐานน่าดูน่าเลื่อมใส ครั้นแล้วก็ยึดการบูชาด้วยดอกไม้นั้นเป็นอารมณ์ ระลึกถึงพระคุณของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใส ตั้งบุญนั้นไว้ในหทัย.
               เวลาต่อมา อุบาสกนั้นทำกาละตายไปบังเกิดในวิมานทอง ๑๒ โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้นเอง เขาได้มีอานุภาพมากและบริวารมาก.
               คำว่า ตสฺมึ ขเณ อญฺญตโร เทวปุตฺโต ฯเปฯ อฏฺฐาสิ ดังนี้ กล่าวหมายถึงเทพบุตรนั้น.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามถึงกรรมสุจริตที่เทพบุตรกระทำ โดยมุ่งประกาศสมบัติตามที่ได้ไว้ ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               วิมานเสาแก้วมณีนี้สูง ๑๒ โยชน์ โดยรอบมีห้องรโหฐานงามโอฬาร ๗๐๐ ห้อง ล้วนเสาแก้วไพฑูรย์ ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดที่งดงาม ท่านนั่งและดื่มกินในวิมานนั้น และพิณทิพย์ก็บรรเลงไพเราะ มีกามคุณห้า มีรสเป็นทิพย์ และเทพนารีที่แต่งองค์ด้วยทองฟ้อนรำอยู่ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีวรรณะงามเช่นนั้น เพราะบุญอะไร ผลอันนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ท่าน.
               ดูก่อนเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
               เทพบุตรนั้นได้กล่าวถึงกรรมที่ตนกระทำแก่พระมหาโมคคัลลานเถระนั้นด้วยคาถาหลายคาถา. พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายเมื่อแสดงเรื่องนั้นกล่าวว่า
               เทพบุตรนั้นดีใจ ถูกพระโมคคัลลานะถามแล้ว ครั้นแล้วก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า
               ข้าพเจ้าได้จัดดอกไม้ที่เขาวางกันไว้ไม่เรียบร้อย ให้เรียบร้อย แล้ววางไว้ที่พระสถูปของพระสุคต จึงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ เพราะบุญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ผลอันนี้จึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้า และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า.
               ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอบอกท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าได้ทำบุญใดไว้ เพราะบุญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุนฺนิกฺขิตฺตํ มาลํ ได้แก่ วางไว้ไม่เรียบร้อย เพราะวางตามสะดวกใจ ไม่วางโดยจัดแต่งเป็นพิเศษมีวางติดๆ กันเป็นต้น ในสถานที่กระทำการบูชาที่พระเจดีย์.
               อีกอย่างหนึ่ง ดอกไม้วางไว้ไม่เรียบร้อยเพราะถูกลมพัด.
               บทว่า สุนิกฺขิปิตฺวา ได้แก่ วางไว้เรียบร้อย คือวางให้น่าดูน่าเลื่อมใส โดยจัดแต่งเป็นพิเศษ.
               บทว่า ปติฏฺฐเปตฺวา ได้แก่ ให้ดอกไม้ตั้งอยู่อย่างวิเศษเป็นส่วนๆ เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า เมื่อวางดอกไม้นั้น เพ่งพระเจดีย์ของพระศาสดา ให้กุศลธรรมตั้งอยู่ในสันดานของเรา.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาสุนิกขิตตวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

               จบอรรถกถาสุนิกขิตตวรรคที่ ๗ ประดับด้วยเรื่อง ๑๑ เรื่องในวิมานวัตถุ แห่งปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาปุริสวิมาน               
               -----------------------------------------------------               

               รวมวิมานที่มีในวรรคนี้คือ
                         ๑. จิตตลดาวิมาน
                         ๒. นันทนวิมาน
                         ๓. มณิถูณวิมาน
                         ๔. สุวรรณวิมาน
                         ๕. อัมพวิมาน
                         ๖. โคปาลวิมาน
                         ๗. กัณฐกวิมาน
                         ๘. อเนกวัณณวิมาน
                         ๙. มัฏฐกุณฑลีวิมาน
                         ๑๐. เสริสสกวิมาน
                         ๑๑. สุนิกขิตตวิมาน
               -----------------------------------------------------               

               คำท้ายเรื่อง               
                         ก็ด้วยกถาเพียงที่กล่าวมานี้
                         เทศนาอันใด อำนวยประโยชน์แก่โลกทั้งปวง เมื่อจะ
               ประกาศสมบัติมีวิมานเป็นต้นของเทวดาทั้งหลายและเหตุ
               ของวิมานนั้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมชี้ชัดถึงความที่บุญทั้ง
               หลายแม้จำนวนเล็กน้อย ก็มีผลโอฬารเพราะเจตนา [ของ
               ทายก] และพระทักขิไณยบุคคลพรั่งพร้อม.
                         พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายผู้ฉลาดในกถาวัตถุ
               และรู้เรื่องอย่างดี ร่วมกันสังคายนา เทศนาใดไว้ว่า วิมาน
               วัตถุ เพื่อจะประกาศความของวิมานวัตถุนั้น ข้าพเจ้าได้
               อาศัยนัยที่มาในอรรถกถาเก่า จึงเริ่มแต่งอรรถกถาซึ่งมีชื่อ
               ว่า ปรมัตถทีปนี เพราะประกาศปรมัตถ์อรรถอย่างสูง ใน
               วิมานวัตถุนั้น ตามสมควรในเรื่องนั้นๆ
                         อรรถกถาปรมัตถทีปนีนั้นมีบาลีจำนวน ๑๗ ภาณวาร
               มีวินิจฉัยอันไม่สับสนก็จบลงแล้ว ดังนั้น ข้าพเจ้าผู้แต่งอรรถ
               กถาปรมัตถทีปนีนั้น ได้ประสบบุญอันใด ด้วยอานุภาพแห่ง
               บุญอันนั้น ขอสัตว์ผู้มีเรือนร่างจงหยั่งรากมั่นคง ลงสู่คำสั่ง
               สอนของพระโลกนาถ ด้วยข้อปฏิบัติมีศีลเป็นต้นอันบริสุทธิ์
               จงเป็นภาคีมีส่วนแห่งวิมุตติรสกันหมดทุกตัวสัตว์เถิด.
                         ขอศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงยั่งยืนอยู่
               ในโลก ขอหมู่ปราณสัตว์ทุกหมู่เหล่าจงมีความเคารพใน
               ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นนิจเถิด ขอฝนจง
               ตกต้องตามฤดูกาล ขอพระราชาผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน ผู้แนบ
               แน่นในพระสัทธรรม จงปกครองประชาชาวโลกโดยธรรม
               เทอญ.

               จบอรรถกถาขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ชื่อปรมัตถทีปนี ที่อาจารย์ธรรมปาละผู้อยู่ในพทรติตถวิหารแต่งไว้ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาวิมานวัตถุ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตวรรคที่ ๗ ๑๑. สุนิกขิตตวิมาน จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 84อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 26 / 86อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=2940&Z=2971
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=30&A=8726
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=30&A=8726
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :