ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 90อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 26 / 92อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค
๖. ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ

               อรรถกถาปัญจปุตตขาทกเปติวัตถุที่ ๖               
               เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภถึงนางเปรตผู้เคี้ยวกินบุตร ๕ คน จึงตรัสคำเริ่มต้นว่า นคฺคา ทุพฺพณฺณรูปาสิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า มีภรรยาของกฎุมพีคนหนึ่ง ในหมู่บ้านไม่ไกลแต่กรุงสาวัตถี เป็นหญิงหมัน. พวกญาติของกฎุมพีคนนั้นได้พากันกล่าวดังนี้ว่า ภรรยาของเจ้าเป็นหมัน พวกเราจะนำหญิงสาวคนอื่นมาให้เจ้า. เพราะความสิเนหาในภรรยานั้น เขาจึงไม่ปรารถนา (ภรรยาอื่น).
               ลำดับนั้น ภรรยาของกฎุมพีนั้นทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงกล่าวกะสามีอย่างนี้ว่า นาย ฉันเป็นหมัน ควรจะนำหญิงอื่นมา (เป็นภรรยา) วงศ์ตระกูลของท่านจะได้ไม่ขาดสูญ. เธอเมื่อถูกภรรยารบเร้าจะแต่งงานกะหญิงอื่น.
               ครั้นต่อมา นางได้ตั้งครรภ์. หญิงหมันมีความริษยาเป็นปกติ คิดว่า หญิงนี้ได้บุตรแล้วจักเป็นใหญ่แก่เรือนนี้ จึงหาอุบายให้ครรภ์ของนางตกไป จึงเกลี่ยกล่อมปริพาชิกาคนหนึ่งด้วยข้าวและน้ำเป็นต้น ให้ทำครรภ์ของนางให้ตกไป.
               นางเมื่อครรภ์ตกไปก็ได้แจ้งให้มารดาของตนทราบ.
               มารดาให้ประชุมพวกญาติของตนแล้วแจ้งความนั้นให้ทราบ. ญาติเหล่านั้นได้กล่าวกะหญิงหมันดังนี้ว่า เจ้าทำครรภ์ของหญิงนี้ให้ตก หญิงหมันตอบว่า ฉันไม่ได้ทำให้ตก ก็จงสบถ. หญิงหมันกล่าวเท็จทำการสบถว่า ถ้าฉันทำครรภ์ให้ตก ฉันก็จะพึงมีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ถูกความหิวกระหายครอบงำ ขอให้คลอดบุตรทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าครั้งละ ๕ คน แล้วกินเสียก็ยังไม่อิ่ม ขอให้ฉันมีกลิ่นเหม็นเป็นนิจ และถูกแมลงวันไต่ตอม. ไม่นานนักนางก็ทำกาละบังเกิดเป็นนางเปรต มีรูปร่างขี้เหร่อยู่ไม่ไกลบ้านนั้นนั่นเอง.
               ในกาลนั้น พระเถระ ๘ รูปออกพรรษาในชนบท มายังกรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา จึงเข้าไปพักในราวป่าอันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ไม่ไกลแต่บ้านนั้น.
               ลำดับนั้น นางเปรตนั้นได้แสดงตนแก่พระเถระทั้งหลาย.
               ในพระเถระเหล่านั้น พระสังฆเถระได้ซักถามนางเปรตนั้นด้วยคาถาว่า
               เจ้าเปลือยกาย มีรูปพรรณขี้เหร่ ส่งกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้ง แมลงวันจับเป็นกลุ่ม เจ้าเป็นใคร มายืนอยู่ในที่นี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นคฺคา แปลว่า ผู้ไม่มีผ้า.
               บทว่า ทุพฺพณฺณรูปาสิ ความว่า เจ้าเป็นผู้มีรูปขี้เหร่ คือประกอบด้วยรูปน่าเกลียดพิลึก.
               บทว่า ทุคฺคนฺธา คือ มีกลิ่นไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า ปูติ วายสิ ได้แก่ มีกลิ่นเหมือนซากศพ เหม็นคลุ้งออกจากกาย.
               บทว่า มกฺขิกาหิ ปริกิณฺณา ได้แก่ พวกแมลงวันหัวเขียวจับกลุ่มอยู่โดยรอบ.
               บทว่า กา นุ ตฺวํ ติฏฺฐติ ความว่า เจ้าเป็นใคร มีรูปเห็นปานนี้ มายืนอยู่ที่นี้, อธิบายว่า เที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้
               ลำดับนั้น นางเปรตนั้นถูกพระมหาเถระถามอย่างนั้น เมื่อจะประกาศตน จะให้เหล่าสัตว์เกิดความสลดจึงได้กล่าว ๓ คาถานี้ว่า
               ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเปรต ถึงทุคติเกิดในยมโลก เพราะกระทำกรรมชั่วไว้จึงต้องจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก. เวลาเช้าดิฉันคลอดบุตร ๕ คน เวลาเย็นอีก ๕ คน แล้วกินลูกเหล่านั้นทั้งหมดถึงลูก ๑๐ คนเหล่านั้น ก็ไม่อาจบรรเทาความหิวของดิฉันได้ หัวใจของดิฉันเร่าร้อนหมกมุ่น เพราะความหิว ดิฉันไม่ได้ดื่มน้ำที่ควรดื่ม ขอท่านจงดูดิฉันผู้ถึงความวอดวายเช่นนี้เถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น นางเปรตเรียกพระเถระด้วยความเคารพว่า ภทนฺเต.
               บทว่า ทุคฺคตา แปลว่า ถึงทุคติ.
               บทว่า ยมโลกิกา ได้แก่ รู้แจ้งเปตโลกอันได้นามว่า ยมโลก โดยภาวะที่นับเนื่องในเปตโลกนั้น.
               บทว่า อิโต คตา ความว่า จากมนุษยโลกนี้แล้วไป คือเกิดยังเปตโลก.
               บทว่า กาเลน ได้แก่ ในเวลาราตรีสว่าง.
               จริงอยู่ บทว่า กาเลน นี้ เป็นตติยาวิภัติใช้ในอรรถสัตตมีวิภัติ.
               บทว่า ปญฺจ ปุตฺตานิ แปลว่า ซึ่งบุตร ๕ คน.
               จริงอยู่ บทว่า ปุตฺตานิ นี้ ท่านกล่าวด้วยลิงควิปลาศ.
               บทว่า สายํ ปญฺจ ปุนาปเร ได้แก่ คลอดบุตรอื่นอีกในเวลาเย็น. มีวาจาประกอบความว่า กินบุตรทั้ง ๕ คน.
               บทว่า วิชายิตฺวาน ความว่า คลอดบุตรวันละ ๑๐ คน.
               บทว่า เตปิ นา โหนฺติ เม อลํ ความว่า บุตรทั้ง ๑๐ คนนั้นไม่เพียงพอเพื่อบรรเทาความหิวของเราสักวันหนึ่ง. ก็ในที่นี้ เพื่อสะดวกแก่คาถา ท่านจึงกล่าวให้เป็นทีฆะว่า นา.
               บทว่า ปริฑยฺหติ ธูมายติ ขุทาย หทยํ มม ความว่า ส่วนแห่งหทัยของดิฉัน ผู้อันความหิวบีบคั้น ย่อมหม่นไหม้เดือดร้อน คือเร่าร้อนอยู่ทุกด้าน ด้วยไฟในท้อง.
               บทว่า ปานียํ น ลเภ ปาตุํ ความว่า ดิฉันถูกความกระหายครอบงำ เมื่อเที่ยวไปในที่นั้นๆ ไม่ได้ เพื่อจะดื่มน้ำ.
               บทว่า ปสฺส มํ พฺยสนํ คตํ ความว่า นางเปรตได้ประกาศทุกข์ที่ตนเสวย แก่พระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงดูดิฉันผู้ถึงความวอดวายเช่นนี้ อันทั่วไปและไม่ทั่วไปแก่การเข้าถึงความเป็นเปรตเถิด.
               พระเถระได้ฟังดังนั้น เมื่อจะถามถึงกรรมที่นางเปรตนั้นกระทำ จึงกล่าวคาถาว่า
               เมื่อก่อน เธอทำความชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจาและใจ หรือเธอกินเนื้อบุตรทั้งหลาย เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺกฏํ ได้แก่ ทุจริต.
               บทว่า กิสฺสกมฺมวิปาเกน ได้แก่ ด้วยวิบากแห่งกรรมเช่นไร. อธิบายว่า ด้วยวิบากแห่งปาณาติบาตหรืออทินนาทานเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เกน กมุมวิปาเกน ด้วยวิบากแห่งกรรมอะไร.
               ลำดับนั้น นางเปรตเมื่อจะประกาศกรรมที่ตนกระทำแก่พระเถระ จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า
               เมื่อก่อน หญิงร่วมผัวของดิฉันคนหนึ่งมีครรภ์ ดิฉันคิดชั่วต่อเขา มีจิตคิดประทุษร้าย ได้กระทำครรภ์ให้ตกไป เขามีครรภ์ ๒ เดือนเท่านั้น ไหลออกเป็นโลหิต.
               ในกาลนั้น มารดาของเขาโกรธดิฉัน เชิญพวกญาติมาประชุมซักถาม ให้ดิฉันทำการสบถ และขู่เข็ญให้ดิฉันกลัว ดิฉันนั้นได้กล่าวคำสบถและมุสาวาทอย่างร้ายกาจว่า ถ้าดิฉันทำชั่วดังนั้น ขอให้ดิฉันกินเนื้อบุตรเถิด.
               ดิฉันมีกายอันเปื้อนด้วยหนองและโลหิตกินเนื้อบุตรทั้งหลาย เพราะวิบากแห่งกรรม คือการทำให้ครรภ์ตกและการพูดมุสาวาททั้ง ๒ นั้น.

               หญิงผู้ร่วมผัว ท่านเรียกว่า สปตี ในคาถานั้น.
               บทว่า ตสฺสา ปาปํ อเจตยึ ได้แก่ ได้คิดถึงกรรมชั่วหยาบแก่หญิงร่วมผัวนั้น.
               บทว่า ปทุฏฺฐมนสา แปลว่า มีจิตคิดประทุษร้าย หรือมีจิตชั่ว.
               บทว่า เทฺวมาสิโก ได้แก่ เขาตั้งครรภ์เพียง ๒ เดือน ชื่อว่า เทฺวมาสิกะ มีครรภ์ ๒ เดือน.
               บทว่า โลหิตญฺเญว ปคฺฆริ ความว่า ครรภ์วิบัติไหลออกเป็นโลหิต.
               บทว่า ตทสฺสา มาตา กุปิตา มยฺหํ ญาตี สมานยิ ความว่า ในกาลนั้น มารดาของหญิงร่วมผัวนั้นโกรธดิฉัน จึงประชุมพวกญาติของตน.
               ปาฐะว่า ตตสฺสา ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ตตสฺสา นั้น แยกบทเป็น ตโต อสฺสา
               บทว่า สปถํ แปลว่า การสาปแช่ง.
               บทว่า ปริภาสาปยิ ได้แก่ ขู่ให้กลัว.
               บทว่า สปถํ มุสาวาทํ อภาสิสํ ความว่า เมื่อดิฉันแสดงถึงกรรมชั่วที่ตนทำนั้นแหละว่าไม่ได้ทำ กล่าวมุสาวาท คือคำที่ไม่เป็นจริง ได้แก่คำสบถว่า ถ้ากรรมชั่วนั้น ดิฉันได้ทำแล้ว ขอให้ดิฉันพึงเป็นเช่นนี้.
               บทว่า ปุตฺตมงฺสานิ ขาทามิ สเจ ตํ ปกตํ มยา นี้ เป็นบทแสดงอาการที่กระทำสบถในเวลานั้น, อธิบายว่า ถ้าดิฉันได้ทำความชั่ว คือการทำครรภ์ให้ตกไปนั้น, ในอนาคตคือในการที่ดิฉันเกิดในภพใหม่ ขอให้ดิฉันพึงกินเฉพาะเนื้อบุตรของดิฉันเท่านั้น.
               บทว่า ตสฺส กมฺมสฺส ได้แก่ ปาณาติบาตกรรมที่หญิงหมันนั้นกระทำ ด้วยการทำให้ครรภ์ตกไปนั้น.
               บทว่า มุสาวาทสฺส จ ได้แก่ มุสาวาทกรรมด้วย.
               บทว่า อุภยํ ได้แก่ ด้วยวิบากแห่งกรรมทั้ง ๒.
               จริงอยู่ บทว่า อุภยํ นี้ เป็นปฐมาภัติ ใช้ในอรรถตติยาวิภัติ.
               มีวาจาประกอบความว่า บทว่า ปุพฺพโลหิตมกฺขิตา ความว่า ดิฉันเปื้อนหนองและเลือดด้วยอำนาจการไหลออกและด้วยอำนาจการแตกออก เคี้ยวกินเนื้อบุตร.
               นางเปรตนั้น ครั้นประกาศวิบากแห่งกรรมของตนอย่างนี้แล้ว จึงได้กล่าวกะพระเถระทั้งหลายอย่างนี้อีกว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ ดิฉันเป็นภรรยาของกฎุมพีชื่อโน้นในบ้านนี้เอง เป็นหญิงมีความริษยาเป็นปกติ กระทำกรรมชั่วจึงบังเกิดในกำเนิดเปรตอย่างนี้. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดังดิฉันขอโอกาส ขอท่านทั้งหลายจงไปยังเรือนของกฎุมพีคนนั้นเถิด กฎุมพีนั้นจักถวายทานแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงให้เขาอุทิศทักษิณานั้นแก่ดิฉัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ดิฉันจะหลุดพ้นจากเปตโลกนี้.
               พระเถระทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะอนุเคราะห์นางตั้งอยู่ในสภาวะการยกขึ้น เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านกฎุมพีนั้น.
               กฎุมพีเห็นพระเถระทั้งหลายแล้วเกิดความเลื่อมใส ต้อนรับแล้วรับบาตร นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ เริ่มให้ฉันด้วยอาหารอันประณีต. พระเถระทั้งหลายแจ้งเรื่องนั้นแก่กฎุมพี แล้วจึงให้เขาอุทิศทานนั้นแก่นางเปรตนั้น. ก็ขณะนั้นนั่นเอง นางเปรตนั้นปราศจากทุกข์นั้นแล้วได้รับสมบัติอันยิ่ง แสดงตนแก่กฎุมพีในเวลาราตรี.
               ลำดับนั้น พระเถระทั้งหลายไปยังกรุงสาวัตถีโดยลำดับ กราบทูลความนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้พร้อมมูลกันอยู่ โดยยกเรื่องนั้นขึ้นเป็นอุบัติเหตุ. ในเวลาจบเทศนา มหาชนได้รับความสลดใจ เว้นขาดจากความริษยาและความตระหนี่.
               เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาปัญจปุตตขาทกเปติวัตถุที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค ๖. ปัญจปุตตขาทิกเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 90อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 26 / 92อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3053&Z=3076
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=732
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=732
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :