ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 94อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 95อ่านอรรถกถา 26 / 96อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค
๑๐. ขลาตยเปตวัตถุ

               อรรถกถาขัลลาฏิยะเปติวัตถุที่ ๑๐               
               พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภนางเปรตขัลลาฏิยะตนหนึ่ง จึงตรัสคำเริ่มต้นว่า กา นุ อนฺโต วิมานสฺมึ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี ยังมีหญิงผู้อาศัยรูปเลี้ยงชีพคนหนึ่ง รูปร่างสวย น่าดูน่าชม ประกอบด้วยผิวพรรณอันงดงามยิ่งนัก มีกำแห่งผมน่ารื่นรมย์ใจ.
               จริงอยู่ ผมของนางดำยาว ละเอียด อ่อนนุ่มสนิท มีปลายตวัดขึ้น เกล้าเป็นสองแฉกสยาย ห้อยย้อยลงจนถึงสายรัดเอว. คนหนุ่มเห็นความงามแห่งเส้นผมของนางนั้น โดยมากมีจิตปฏิพัทธ์ในนาง.
               ลำดับนั้น หญิง ๒-๓ คนถูกความริษยาครอบงำ ทนต่อความงามของผมนางนั้นไม่ได้ จึงพากันปรึกษา เอาสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ล่อหญิงคนใช้ของนางนั่นเอง ให้หญิงคนใช้ให้ยาอันเป็นเหตุทำเส้นผมของนางให้หลุดร่วงไป.
               ได้ยินว่า หญิงคนใช้นั้นประกอบยานั้นกับผงสำหรับอาบน้ำ ในเวลานางไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ก็ได้ให้แก่นาง. นางเอาผงนั้นจุ่มที่รากผมแล้วดำลงไปในน้ำ.
               พอนางดำน้ำเท่านั้น เส้นผมพร้อมทั้งรากผมได้หลุดร่วงไป และศีรษะของนางได้เป็นเช่นกับกะโหลกน้ำเต้าขม.
               ลำดับนั้น นางหมดเส้นผมโดยประการทั้งปวง เหมือนนกพิราบถูกถอนขนหัวฉะนั้น น่าเกลียดพิลึก เพราะความละอาย จึงไม่อาจเข้าไปในเมือง เอาผ้าคลุมศีรษะ สำเร็จการอยู่ในที่แห่งหนึ่งนอกเมือง พอ ๒-๓ วันผ่านไป นางหมดความละอาย กลับจากที่นั้นบีบเมล็ดงา กระทำการค้าน้ำมันและทำการค้าสุรา เลี้ยงชีพ.
               วันหนึ่ง เมื่อคน ๒-๓ คนเมาสุราหลับสนิท นางจึงลักเอาผ้าที่คนเหล่านั้นนุ่งไว้หลวมๆ.
               ภายหลังวันหนึ่ง นางเห็นพระขีณาสพเถระรูปหนึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต มีจิตเลื่อมใสจึงนำท่านไปยังเรือนของตน ให้นั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้ ได้ถวายแป้งที่บีบในรางผสมกับน้ำมันงา. เพื่อจะอนุเคราะห์นาง พระเถระจึงรับประเคนแป้งผสมน้ำมันงานั้นฉัน.
               นางมีจิตเลื่อมใส ได้ยืนกั้นร่ม. และพระเถระนั้น เมื่อจะทำนางให้มีจิตร่าเริง จึงทำอนุโมทนากถาแล้วหลีกไป. ก็ในเวลาที่อนุโมทนานั่นแหละ หญิงนั้นได้ตั้งความปรารถนาว่า พระคุณเจ้า ขอให้เส้นผมของดิฉันยาวละเอียด นุ่มสนิท ตวัดปลายเถิด.
               กาลต่อมา นางถึงแก่กรรม เพราะผลของกรรมที่คละกัน จึงเกิดเป็นหญิงอยู่โดดเดี่ยวในวิมานทอง ท่ามกลางมหาสมุทร. เส้นผมของนางสำเร็จตามอาการที่เธอปรารถนานั้นแหละ. แต่เพราะนางลักเอาผ้าของพวกมนุษย์ นางจึงได้เป็นหญิงเปลือย. นางเกิดบ่อยๆ ในวิมานทองนั้น เป็นหญิงเปลือยอยู่ตลอดพุทธันดรหนึ่ง.
               ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา เสด็จอุบัติในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีโดยลำดับ. พ่อค้าชาวกรุงสาวัตถี ๗๐๐ คนแล่นเรือไปสู่มหาสมุทรมุ่งไปยังสุวรรณภูมิ. นาวาที่พวกพ่อค้านั้นขึ้นไป ถูกกำลังลมพัดผันให้ปั่นป่วน จึงหมุนไปข้างโน้นข้างนี้ จนถึงประเทศที่นางเวมานิกเปรตนั้นอยู่.
               ลำดับนั้น นางเวมานิกเปรตนั้นจึงแสดงตนแก่พวกพ่อค้านั้นพร้อมด้วยวิมาน.
               หัวหน้าพ่อค้าเห็นดังนั้น เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาว่า :-
               น้องสาวเป็นใครหนออยู่ในวิมานนี้ ไม่ยอมออกจากวิมานเลยนี่ น้องสาวจงออกมาเถิดน้อง พี่อยากจะเห็นน้องข้างนอก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กา นุ อนฺโตวิมานสฺมึ ติฏฺฐนฺตี ความว่า หัวหน้าพ่อค้าถามว่า น้องอยู่ภายในวิมานเป็นใครหนอ เป็นหญิงมนุษย์หรืออมนุษย์.
               บทว่า นูปนิกฺขมิ ความว่า น้องไม่ยอมออกจากวิมานเลย.
               บทว่า อุปนิกฺขมสฺสุ ภทฺเท ปสฺสาม ตํ พหิฏฺฐิตํ ความว่า น้อง พวกเราปรารถนาจะเห็นน้องออกมาอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้น น้องจงออกมาจากวิมานเถิด.
               บาลีว่า อุปนิกฺขมสฺสุ ภทฺทนฺเต ดังนี้ก็มี อธิบายว่า ขอความเจริญจงมีแก่น้องสาวเถิด.

               ลำดับนั้น นางเวมานิกเปรตนั้น เมื่อจะประกาศตามที่ตนไม่อาจจะออกไปข้างนอกแก่พ่อค้านั้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
               ดิฉันเป็นหญิงเปลือยกาย มีแต่ผมปิดบังไว้ อึดอัด ละอายที่จะออกไปข้างนอก ดิฉันได้ทำบุญไว้น้อยนัก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฏียามิ ความว่า ดิฉันเป็นหญิงเปลือยกาย อึดอัดใจ ลำบากที่จะออกไปข้างนอก.
               บทว่า หรายามิ แปลว่า ละอาย.
               บทว่า เกเสหมฺหิ ปฏิจฺฉนฺนา ความว่า ดิฉันมีเส้นผมปิดบังไว้ คือมีผมคลุมร่างกาย.
               บทว่า ปุญฺญํ เม อปฺปกํ กตํ ความว่า ดิฉันทำกุศลกรรมไว้น้อย คือเล็กน้อย. อธิบายว่า เพียงถวายแป้งผสมน้ำมันเท่านั้น.

               ลำดับนั้น พ่อค้าประสงค์จะให้ผ้าห่มของตนแก่นางเวมานิกเปรตนั้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
               แน่ะน้องสาวคนสวย เอาเถอะ พี่จะให้ผ้าห่มเนื้อดีแก่น้อง เชิญน้องนุ่งผ้าผืนนี้แล้ว จงออกมาข้างนอก เชิญออกมาข้างนอกวิมานเถิดน้อง พี่จะขอพบน้องข้างนอก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนฺท แปลว่า เชิญเถิด.
               บทว่า อุตฺตรียํ แปลว่า ผ้าคลุมกาย. อธิบายว่า ผ้าห่ม.
               บทว่า ททามิ เต แปลว่า พี่จะให้แก่น้อง.
               บทว่า อิทํ ทุสฺสํ นิวาสย ได้แก่ น้องจงนุ่งผ้าห่มผืนนี้ของพี่เถิด.
               บทว่า โสภเณ แปลว่า แน่ะน้องผู้มีรูปร่างสวย.

               ก็แล พ่อค้าครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงนำเอาผ้าห่มของตนไปให้แก่นาง. นางเวมานิกเปรต เมื่อจะแสดงความที่พ่อค้าผู้มอบผ้าห่มให้อย่างนั้น เป็นการอนุเคราะห์แก่ตน และการที่พ่อค้าให้ผ้าห่มอย่างนั้นสำเร็จประโยชน์ จึงกล่าว ๒ คาถาว่า :-
               ผ้านั้น ถึงพี่จะให้ที่มือของดิฉันเอง ด้วยมือของพี่ก็ไม่สำเร็จแก่น้องได้ดอก ถ้าในหมู่มนุษย์นี้มีอุบาสกผู้มีศรัทธา เป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอพี่จงให้แก่อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่พี่จะให้แก่น้องแล้ว ค่อยอุทิศส่วนกุศลให้น้อง เมื่อพี่ทำอย่างนั้น น้องก็จะได้นุ่งห่มผ้านี้ตามปรารถนา ประสพความสุข.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺเถน หตฺเถ เต ทินฺนํ น มยฺหํ อุปกปฺปติ ความว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ทานที่พี่ให้ในมือของน้อง ย่อมไม่สำเร็จ คือย่อมไม่เผล็ดผล ได้แก่ไม่ควรเป็นเครื่องอุปโภคแก่ดิฉัน.
               บทว่า เอเสตฺถุปาสโก สทฺโธ ความว่า ผู้นี้ชื่อว่าอุบาสก เพราะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และชื่อว่าผู้มีศรัทธา เพราะประกอบด้วยความเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ย่อมมีอยู่ในที่นี้ คือในหมู่ประชุมชนนี้.
               บทว่า เอตํ อจฺฉาทยิตฺวาน มม ทกฺขิณมาทิสา ความว่า หัวหน้าพ่อค้าให้อุบาสกนั้นนุ่งห่มผ้าที่จะให้แก่เรา แล้วให้ทักษิณานั้นคือปัตติทานมัย อุทิศถึงฉัน.
               บทว่า ตถาหํ สุขิตา เหสฺสํ ความว่า เมื่อท่านทำอย่างนั้น ดิฉันก็จะมีความสุข นุ่งห่มผ้าทิพย์ จักได้รับความสุข.

               พวกพ่อค้าได้ฟังดังนั้นจึงให้อุบาสกนั้นอาบลูบไล้แล้วให้นุ่งผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง.
               พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะประกาศข้อความนั้น จึงได้กล่าว ๓ คาถาว่า :-
               ก็พ่อค้าเหล่านั้นยังอุบาสกนั้นให้อาบน้ำ ลูบไล้ด้วยของหอม แล้วให้นุ่งห่มผ้า อุทิศส่วนกุศลไปให้นางเวมานิกเปรตนั้น ในทันตาเห็นนั่นเอง วิบากย่อมเกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น โภชนะเครื่องนุ่งห่มและน้ำดื่ม ย่อมเกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในลำดับนั้น นางมีร่างกายบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าอันสะอาด งามกว่าผ้าแคว้นกาสี เดินยิ้มออกมาจากวิมานประกาศว่า นี้เป็นผลแห่งทักษิณา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ ได้แก่ ยังอุบาสกนั้น.
                ศัพท์เป็นเพียงนิบาต. มีวาจาประกอบความว่า บทว่า เต ได้แก่ พ่อค้าเหล่านั้น.
               บทว่า วิลิมฺเปตฺวาน ได้แก่ ไล้ทาด้วยของหอมชนิดดีเลิศ.
               บทว่า วตฺเถหจฺฉาทยิตฺวาน ความว่า ให้บริโภคโภชนะพร้อมทั้งกับข้าวอันสมบูรณ์ด้วยสีกลิ่นและรส แล้วให้นุ่งห่มผ้าคือให้นุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ได้แก่ให้ผ้า ๒ ผืน.
               บทว่า ตสฺสา ทกฺขิณมาทิสุํ ได้แก่ อุทิศส่วนบุญแก่นางเวมานิกเปรตนั้น.
               บทว่า อนุ ในบทว่า สมนนฺตภนุทฺทิฏฺเฐ นี้ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า ในทันใดที่ได้เห็นทักษิณานั้นนั่นแล.
               บทว่า วิปาโก อุปปชฺชถ ความว่า วิบากคือผลแห่งทักษิณาได้เกิดขึ้นแก่นางเวมานิกเปรตนั้น. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า วิบากเป็นเช่นไร นางเวมานิกเปรตจึงกล่าวว่า โภชนะเครื่องนุ่งห่มและน้ำดื่มเกิดขึ้นแล้ว.
               มีวาจาประกอบความว่า โภชนะอันเช่นกับโภชนะทิพย์มีประการต่างๆ ผ้าอันเช่นกับผ้าทิพย์ ซึ่งรุ่งโรจน์ด้วยสีหลายหลากและน้ำดื่มมีหลายชนิด ผลเช่นนี้ย่อมเกิดเพราะทักษิณา.
               บทว่า ตโต ได้แก่ ภายหลังแต่การได้รับวัตถุมีโภชนะตามที่ได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า สุทฺธา ได้แก่ มีร่างกายสะอาดด้วยการอาบน้ำ.
               บทว่า สุจิวสนา ได้แก่ นุ่งห่มผ้าอันสะอาดดี.
               บทว่า กาสิกุตฺตมธารินี ได้แก่ นุ่งห่มผ้าชนิดดี แม้กว่าผ้าของชาวกาสี.
               บทว่า หสนฺตี ความว่า นางเวมานิกเปรตพลางยิ้มแย้มออกมาจากวิมาน พร้อมการประกาศว่า ดูซิท่านทั้งหลาย นี่เป็นผลพิเศษแห่งทักษิณาของพวกท่านเป็นอันดับแรก.

               ลำดับนั้น พวกพ่อค้านั้นได้เห็นผลบุญโดยประจักษ์อย่างนี้ จึงเกิดอัศจรรย์จิตอย่างไม่เคยมีมาก่อน เกิดความเคารพนับถือมากในอุบาสกนั้น พากันกระทำอัญชลีกรรมเข้าไปนั่งใกล้อุบาสกนั้น.
               ฝ่ายอุบาสกให้พ่อค้าเหล่านั้นเลื่อมใสในธรรมกถาโดยประมาณยิ่ง และให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล. พวกพ่อค้านั้นจึงถามถึงกรรมที่นางเวมานิกเปรตนั้นกระทำไว้ด้วยคาถานี้ว่า :-
               วิมานของท่านช่างงดงาม มีรูปภาพอันวิจิตรด้วยดี สว่างไสว ดูก่อนนางเทพธิดา อันพวกข้าพเจ้าทั้งหลายถามแล้ว ขอท่านจงบอกเถิดว่า นี้เป็นผลของกรรมอะไร?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุจิตฺตรูปํ ได้แก่ มีรูปภาพอันวิจิตรที่เขาจัดแจงไว้ด้วยดีแล้ว โดยเป็นรูปช้างม้า สตรีและบุรุษเป็นต้น และโดยมาลากรรมและลดากรรมเป็นต้น.
               บทว่า รุจิรํ ได้แก่ น่ารื่นรมย์ น่าชมเชย.
               บทว่า กิสฺส กมฺมสฺสิทํ ผลํ ความว่า นี้เป็นผลของกรรมเช่นไร คือเป็นผลของทานมัย หรือของศีลมัย.

               นางเทพธิดานั้นถูกพวกพ่อค้านั้นถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะบอกผลกรรมทั้ง ๒ อย่างนั้นว่า นี้เป็นผลของกุศลกรรมนิดหน่อยที่ดิฉันกระทำไว้เป็นอันดับแรก แต่สำหรับอกุศลกรรมจักเป็นเช่นนี้ในนรกต่อไปดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า :-
               เมื่อดิฉันเป็นมนุษย์อยู่นั้น มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายแป้งคั่วอันเจือด้วยน้ำมันแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต มีจิตซื่อตรง. ดิฉันได้เสวยวิบากแห่งกุศลกรรมนั้น ในวิมานนี้สิ้นกาลนาน ก็ผลบุญนั้น เดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่นิดหน่อย พ้น ๔ เดือนไปแล้ว ดิฉันจักจุติจากวิมานนี้ จักไปตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส มี ๔ เหลี่ยม ๔ ประตู แบ่งเป็นห้องๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นแห่งนรกนั้น ล้วนแล้วด้วยเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ ดิฉันจักต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอดกาลนาน ก็การเสวยทุกข์เช่นนี้ เป็นผลของกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงเศร้าโศกอย่างแรงกล้า ที่จะไปเกิดในนรกนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุโน จรมานสฺส ได้แก่ แก่ภิกษุผู้ทำลายกิเลสรูปหนึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต.
               บทว่า โทณินิมฺมชฺชนํ ซึ่งแป้งคั่วมีน้ำมันซึมซาบอยู่.
               บทว่า อุชุภูตสฺส ความว่า ชื่อว่าถึงความเป็นผู้ซื่อตรง เพราะไม่มีกิเลสเครื่องทำความคดโกงแห่งจิต.
               บทว่า วิปฺปสนฺเนน เจตสา ความว่า ผู้มีจิตเลื่อมใสดีด้วยการเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม.
                อักษรในบทว่า ทีฆมนฺตรํ นี้กระทำการต่อบท. อธิบายว่า ระยะกาลนาน คือตลอดกาลนาน.
               บทว่า ตญฺจ ทานิ ปริตฺตกํ ความว่า ผลบุญ ๕ อย่าง บัดนี้มีนิดหน่อยคือเหลืออยู่น้อย เพราะวิบากแห่งกรรมมีผลสุกงอม ไม่นานนักก็จากที่นี้ไป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พ้น ๔ เดือนไปแล้ว ดิฉันจักจุติจากวิมานนี้ ดังนี้เป็นต้น. นางเปรตชี้แจงว่า พ้นจาก ๔ เดือน คือในเดือนที่ ๕ ถัดจาก ๔ เดือนไป ดิฉันจักจุติจากวิมานนี้.
               บทว่า เอกนฺตกุฏกํ ความว่า จักมีทุกข์แสนสาหัส เพราะจะต้องรับผลที่ไม่น่าปรารถนาอย่างแสนสาหัสนั่นแล.
               บทว่า โฆรํ แปลว่า ร้ายแรง. บทว่า นิรยํ ความว่า นรกอันได้นามว่านิรยะ เพราะทำวิเคราะห์ว่าเป็นที่ไม่มีความเจริญคือความสุข.
               บทว่า ปปติสฺสหํ ตัดเป็น ปปติสฺสามิ อหํ ข้าพเจ้าจักตกนรก. ก็ท่านกล่าวว่า จตุกฺกณฺณํ ดังนี้เป็นต้น เพื่อจะแสดงนรกนั้นโดยสรุป เพราะท่านแสดงถึงอเวจีมหานรก ในคำว่า นิรยํ นี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุกฺกณฺณํ แปลว่า ๔ เหลี่ยม.
               บทว่า จตุทฺวารํ ได้แก่ ประกอบด้วยประตู ๔ ด้านใน ๔ ทิศ.
               บทว่า วิภตฺตํ แปลว่า จำแนกด้วยดี.
               บทว่า ภาคโส แปลว่า โดยจำแนก.
               บทว่า มิตํ แปลว่า เป็นห้องๆ.
               บทว่า อโยปาการปริยนฺตํ แปลว่า ล้อมด้วยกำแพงที่ทำด้วยเหล็ก.
               บทว่า อยสา ปฏิกุชฺชิตํ แปลว่า ครอบแผ่นเหล็กล้วน ๆ.
               บทว่า เตชสา ยุตา ได้แก่ มีเปลวไฟลุกโพลงอยู่ไม่ขาดระยะด้วยไฟกองใหญ่ที่โพลงรอบด้าน.
               บทว่า สมนฺตา โยชนสตํ ได้แก่ แผ่ไปตั้ง ๑๐๐ โยชน์ในทุกทิศภายนอกโดยรอบอย่างนี้.
               บทว่า สพฺพทา แปลว่า ตลอดกาลทุกเมื่อ.
               บทว่า ผริตฺวา ติฏฺฐติ แปลว่า ซึมซาบตั้งอยู่.
               บทว่า ตตฺถ โยค มหานรกนั้น.
               บทว่า เวทิสฺสํ แปลว่า จักได้รับ คือจักได้เสวย.
               บทว่า ผลญฺจ ปาปกมฺมสฺส ความว่า การเสวยทุกข์เช่นนี้นี้ เป็นผลของกรรมชั่วที่ฉันได้ทำไว้.

               เมื่อนางเทพธิดานั้นประกาศผลแห่งกรรมที่ตนได้ทำไว้และภัยที่จะตกนรกในอนาคตอย่างนี้แล้ว อุบาสกนั้นมีความกรุณาเตือนใจให้คิดว่า เอาเถอะเราจักเป็นที่พึ่งของนาง แล้วกล่าวว่า ดูก่อนแม่เทพธิดา เธอสำเร็จความปรารถนาทุกอย่าง กลายเป็นผู้ประกอบด้วยสมบัติอันยิ่งด้วยอำนาจทานของเราผู้เดียวเท่านั้น แต่บัดนี้ เจ้าให้ทานแก่อุบาสกเหล่านี้แล้ว หวนระลึกถึงคุณแห่งพระศาสดา จักหลุดพ้นจากความเกิดในนรกได้.
               นางเปรตนั้นมีใจร่าเริง ยินดีกล่าวว่า ดีละ แล้วให้อุบาสกเหล่านั้นอิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำอันเป็นของทิพย์ ได้ให้ผ้าทิพย์และแก้วหลากชนิด. นางได้ถวายคู่ผ้าทิพย์มุ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ในมือของอุบาสกเหล่านั้น แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นางเวมานิกเปรตตนหนึ่งขอฝากไหว้ด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล้วจึงไปกรุงสาวัตถี แล้วส่งการถวายบังคมไปถึงพระศาสดาว่า ขอท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา ตามคำของเราเถิด. และในวันนั้นนั่นเอง นางได้นำเอาเรือนั้นไปจอดยังท่าที่อุบาสกเหล่านั้นปรารถนา ด้วยอิทธานุภาพของตน.
               ลำดับนั้น พ่อค้าเหล่านั้นออกจากท่านั้นแล้ว ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เข้าไปยังพระเชตวัน ถวายคู่ผ้านั้นแด่พระศาสดา และได้ให้พระองค์ทรงทราบถึงการฝากไหว้ของนางแล้วกราบทูลเรื่องนั้นตั้งแต่ต้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระศาสดาทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่บริษัทผู้พรั่งพร้อมกันอยู่.
               พระธรรมเทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน.
               ก็ในวันที่ ๒ อุบาสกเหล่านั้นได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว อุทิศส่วนบุญให้แก่นางเปรตนั้น. และนางได้จุติจากเปตโลกนั้นแล้ว บังเกิดในวิมานทอง ในภพชั้นดาวดึงส์ อันโชติช่วงไปด้วยรัตนะต่างๆ มีนางอัปสร ๑๐๐๐ นางเป็นบริวาร.

               จบอรรถกถาขัลลาฏิยะเปติวัตถุที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค ๑๐. ขลาตยเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 94อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 95อ่านอรรถกถา 26 / 96อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3141&Z=3181
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=1097
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=1097
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :