ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 136อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 137อ่านอรรถกถา 26 / 138อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต
ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ก็สมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ อภิญญา ๖ และบุพภาควิปัสสนาอันเป็นอธิษฐานธรรม ย่อมอยู่ในเงื้อมมือ ของท่านผู้ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ได้โดยไม่ยากทีเดียว ส่วนคุณธรรมมีความเพียรเป็นต้น ก็หยั่งลงสู่ภายในแห่งบุพภาควิปัสสนานั้นทีเดียว.
               ก็ความอดทนอย่างยิ่ง ในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เพื่อปัจเจกโพธิญาณ หรือสาวกโพธิญาณ นี้ชื่อว่าวิริยะ. ความอดทนต่อความโกรธนั้นใด นี้ชื่อว่าขันติ. การให้ทาน การสมาทานศีลเป็นต้น และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อน (จากความเป็นจริง) อันใด นี้ชื่อว่าสัจจะ. การอธิษฐานใจที่ไม่หวั่นไหวแน่วแน่ อันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไปนั่นแหละ ชื่อว่าอธิษฐาน. การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้น นี้ชื่อว่าเมตตา. การวางเฉยในประการที่ไม่เหมาะสมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว ชื่อว่าอุเบกขา.
               ดังนั้น เมื่อทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ บารมีทั้งหลายมีวิริยบารมีเป็นต้น ย่อมชื่อว่าสำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้.
               ปฏิปทามีทานเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่ปัจเจกโพธิญาณก็ดี เพื่อประโยชน์แก่สาวกโพธิญาณก็ดี นั้นแหละชื่อว่าภาวนา เพราะอบรมคือบ่มสันดานของพระโพธิสัตว์เหล่านั้น.
               ปฏิปทาอันเนื่องด้วยสมถะและวิปัสสนา ที่เป็นไปแล้วในสันดานอันทานและศีลปรุงแต่งดีแล้วโดยพิเศษ เป็นเหตุให้พระพธิสัตว์เหล่านั้นสมบูรณ์ด้วยธรรมเป็นที่ประชุมแห่งการบำเพ็ญเพียรในเบื้องต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ย่อมมี
                         ในการบำเพ็ญเพียรเบื้องต้น ๕ ประการคืออะไรบ้าง?
                         ดูก่อนอานนท์ คือผู้บำเพียรเบื้องต้นในพระธรรมวินัย
                         นี้ ย่อมชื่นชมพระอรหัตผลในปัจจุบันนี้แหละ พลันที
                         เดียว ๑ ถ้ายังไม่ได้ชื่นชมอรหัตผลในทิฏฐธรรม โดย
                         พลัน ต่อมาในมรณสมัย จะได้ชื่นชมพระอรหัตผล ๑
                         ต่อไปเป็นเทพบุตร จะได้ชื่นชมพระอรหัตผล ๑ ต่อไป
                         จะได้เป็นผู้ตรัสรู้โดยฉับพลัน ในที่เฉพาะพระพักตร์
                         ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ในกาลภายหลังจะได้เป็น
                         พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ ดังนี้
               ด้วยประการดังพรรณนามานี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีอัตภาพอันอบรมแล้ว ด้วยการอบรมธรรมเป็นเครื่องถึงซึ่งฝั่ง อันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา และด้วยมรรคภาวนา กล่าวคือการตรัสรู้อันเป็นนิโรธคามินีปฏิปทา ย่อมได้ชื่อว่ามีตนอันอบรมแล้ว.
               ในวิเศษบุคคลเหล่านั้น สาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               ก็ด้วยบทว่า สีหานํ ว นี้ ในคาถานี้ พระธรรมสังคาหกาจารย์แสดงถึงความที่พระเถระทั้งหลาย อันปรปักษ์ของตนครอบงำไม่ได้ และพฤติกรรมที่ข่มขี่ข้าศึกเหล่านั้น โดยการแสดงพฤติกรรมที่เสมอด้วยสีหะ.
               ด้วยบาทคาถาว่า สีหานํว นทนฺตานํ ฯเปฯ คาถา นี้ ท่านแสดงถึงความที่พระเถระทั้งหลายเหล่านั้น อันข้าศึกทั้งหลายย่ำยีไม่ได้ โดยปรวาท และพฤติกรรมที่ข่มขี่ข้าศึกเหล่านั้น โดยการแสดงว่าเถรคาถาทั้งหลาย เป็นเช่นเดียวกับสีหนาท.
               ด้วยบทว่า ภาวิตตฺตานํ นี้ ท่านแสดงถึงเหตุแห่งการบันลือสีหนาทของพระเถระทั้งหลายเหล่านั้น.
               ในคาถานี้ พระเถระทั้งหลายท่านเรียกว่า เป็นเช่นกับสีหะ เพราะมีอัตภาพอันอบรมแล้ว และคาถาของพระเถระเหล่านั้น ท่านเรียกว่าเป็นเช่นกับด้วยสีหนาท.
               ด้วยบทว่า อตฺถูปนายิกา นี้ ท่านแสดงถึงประโยชน์ในการข่มขี่.
               ในบรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น สังกิเลสธรรม ชื่อว่าเป็นปรปักษ์ของพระเถระทั้งหลาย. สมุจเฉทปหานกับตทังควิกขัมภนปหาน ชื่อว่าการข่มขี่สังกิเลสธรรมนั้น.
               พระเถระเหล่านั้น ท่านเรียกว่าผู้มีตนอันอบรมแล้ว เพราะเมื่อสมุจเฉทปหาน พร้อมด้วยตทังควิกขัมภนปหานมีอยู่ ปฏิปัสสัทธิปหานและนิสสรณปหาน ย่อมชื่อว่าสำเร็จแล้วโดยแท้.
               ท่านกล่าวอธิบายความไว้ดังนี้
               ก็ในมรรคขณะ พระอริยะทั้งหลายชื่อว่าย่อมเจริญอัปปมาทภาวนา จำเดิมแต่ผลอันเลิศ (อรหัตผล) ไป ชื่อว่าผู้มีตนอันอบรมแล้ว.
               ในบรรดาปหาตัพพธรรมเหล่านั้น ท่านแสดงความสมบูรณ์ด้วยศีลของพระเถระเหล่านั้นด้วยตทังคปหาน แสดงความสมบูรณ์ด้วยสมาธิด้วยวิกขัมภนปหาน แสดงความสมบูรณ์ด้วยปัญญาด้วยสมุจเฉทปหาน แสดงผลของสัมปทาเหล่านั้นด้วยบทนอกนี้.
               ก็ท่านแสดงความที่ข้อปฏิบัติของพระเถระเหล่านั้น งามในเบื้องต้นด้วยศีล. และศีลชื่อว่างามในเบื้องต้น ด้วยข้อปฏิบัติ โดยพระบาลีว่า โก จาทิ กุสลานํ ธมฺมานํ สีลญฺจ สุวิสุทฺธํ (ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่ศีลที่บริสุทธิ์ดีแล้ว) บ้าง สีเล ปติฏฺฐาย (นระตั้งอยู่แล้วในศีล) บ้าง สพฺพปาปสฺส อกรณํ (การไม่ทำบาปทั้งปวง) บ้าง เพราะความเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณธรรม มีความไม่ต้องเดือดร้อนเป็นต้น.
               ท่านแสดงความงามในท่ามกลางด้วยสมาธิ สมาธิชื่อว่างามในท่ามกลางด้วยข้อปฏิบัติ โดยพระบาลีว่า จิตฺตํ ภาวยํ (ยังจิตให้เจริญอยู่) บ้าง กุสลสฺส อุปสมฺปทา (ยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม) บ้าง เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณมีอิทธิวิธะเป็นต้น.
               ท่านแสดงความงามในที่สุดด้วยปัญญา ปัญญาชื่อว่าเป็นที่สุดของข้อปฏิบัติ โดยพระบาลีว่า สจิตฺตปริโยทปนํ (การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว) บ้าง ปญฺญํ ภาวยํ (ยังปัญญาให้เจริญ) บ้าง ปัญญานั่นแหละชื่อว่างาม โดยเหตุที่ปัญญาเหนือกว่ากุศลธรรมทั้งหลาย เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ทั้งหลาย.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า
               บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวในนินทาและสรรเสริญทั้งหลาย เหมือนเขาหินเป็นแท่งทึบไม่สะท้านสะเทือนด้วยลมฉะนั้น ดังนี้.
               อนึ่ง ท่านแสดงความเป็นผู้มีวิชชา ๓ ด้วยสีลสัมปทา เพราะจะบรรลุวิชชา ๓ ได้ต้องอาศัยสีลสมบัติ. แสดงความเป็นผู้มีอภิญญา ๖ ด้วยสมาธิสัมปทา เพราะจะบรรลุอภิญญา ๖ ได้ต้องอาศัยสมาธิสมบัติ. แสดงความเป็นผู้มีปฏิสัมภิทาแตกฉาน ด้วยปัญญาสัมปทา เพราะจะบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ได้ต้องอาศัยปัญญาสมบัติ.
               ด้วยบทว่า อตฺถูปนายิกา นี้ พึงทราบว่า ท่านแสดงความนี้ไว้ว่า บรรดาพระเถระเหล่านั้น บางท่านได้วิชชา ๓ บางท่านได้อภิญญา ๖ บางท่านถึงปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
               อนึ่ง ท่านแสดงการงดเว้น ส่วนสุดกล่าวคือกามสุขัลลิกานุโยคของพระเถระเหล่านั้น ด้วยสีลสัมปทา. แสดงการงดเว้นส่วนสุดกล่าวคืออัตกิลมถานุโยค ด้วยสมาธิสัมปทา. แสดงการเสพมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยปัญญา
               อนึ่ง พึงทราบว่า ท่านแสดงการละโดยการก้าวล่วงกิเลสทั้งหลายของพระเถระเหล่านั้น ด้วยสีลสัมปทา. แสดงการละความกลุ้มรุมของกิเลสทั้งหลาย ด้วยสมาธิสัมปทา. แสดงการละอนุสัยของกิเลสทั้งหลาย ด้วยปัญญาสัมปทา.
               อีกอย่างหนึ่ง แสดงการชำระสังกิเลสคือทุจริต ด้วยสีลสัมปทา. แสดงการชำระสังกิเลสคือตัณหา ด้วยสมาธิสัมปทา. แสดงการชำระสังกิเลสคือทิฏฐิ ด้วยปัญญาสัมปทา.
               อีกอย่างหนึ่ง แสดงการก้าวล่วงอบาย ของพระเถระเหล่านั้นด้วยตทังคปหาน. แสดงการก้าวล่วงกามธาตุ ด้วยวิกขัมภนปหาน. แสดงการก้าวล่วงภพทั้งปวง ด้วยสมุจเฉทปหาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภาวิตตฺตานํ นี้ พึงทราบว่า ได้แก่ภาวนา ๓ คือ สีลภาวนา จิตตภาวนา ปัญญาภาวนา เพราะกายภาวนา หยั่งลงสู่ภายในแห่งภาวนา ๓ นั้น.
               คำที่ว่า สีลภาวนา จ ปฏิปตฺติยา อาทิดังนี้ทั้งหมด เช่นกับคำที่กล่าวแล้วในก่อน.
               ก็หมู่มฤคเหล่าอื่นย่อมอดทนการบันลือของสีหะไม่ได้ ที่ไหนจะอดทนการข่มขู่คุกคามได้ การบันลือของสีหะนั่นแหละจะข่มขู่คุกคามหมู่มฤคเหล่านั้นโดยแท้ฉันใด
               วาทะของอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะทนวาทะของพระเถระทั้งหลายไม่ได้ ที่ไหนจะทนการครอบงำได้ ที่แท้วาทะของพระเถระนั่นแหละจะครอบงำวาทะของเดียรถีย์เหล่านั้น.
               ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเถรวาทเป็นไปตามพระไตรลักษณ์ และหลักธรรมว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาบ้าง ว่านิพพานธาตุบ้าง เพราะโดยธรรมดาแล้ว ใครๆ ไม่สามารถจะคัดค้านให้เป็นอย่างอื่นไปได้.
               ก็คำใดที่จะพึงกล่าวในข้อนี้ คำนั้นจักแจ่มแจ้งข้างหน้า (คือในคัมภีร์ทั้งหลายเป็นอันมาก) ในอธิการนี้ พึงทราบการขยายความของคาถาแรก โดยสังเขปเท่านี้ก่อน
               ส่วนในคาถาที่ ๒ พึงทราบการขยายความ โดยมุขคือการแสดงการสัมพันธ์ดังต่อไปนี้
               ผู้ประสงค์จะสวดคาถาของพระเถระเหล่าใด ในบรรดาพระเถระเหล่านั้น เพื่อจะระบุพระเถระเหล่านั้น โดยชื่อ โดยโคตรและโดยคุณธรรม ด้วยสามารถแห่งสาธารณนาม ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถานามา ดังนี้.
               แต่ว่าโดยอสาธารณนามแล้ว เนื้อความจักแจ่มแจ้งในคาถานั้นๆ ทีเดียว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถานามา ความว่า มีชื่ออย่างไร. อธิบายว่า ปรากฎโดยชื่อ โดยนัยมีอาทิว่า สุภูติ มหาโกฏฐิกะ ดังนี้.
               บทว่า ยถาโคตฺตา ความว่า มีโคตรอย่างไร. อธิบายว่า ปรากฎแล้วโดยกำเนิดใดๆ โดยส่วนแห่งตระกูล โดยนัยมีอาทิว่า โคตมโคตร กัสสปโคตร ดังนี้.
               บทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน ความว่า มีปกติอยู่ด้วยธรรมเช่นใด. อธิบายว่า ไม่ตั้งอยู่ในความเป็นผู้ยิ่งด้วยปริยัติ (ไม่สนใจคันถธุระ) แต่มีปกติอยู่ด้วยสมาบัติตามสมควรอยู่ (สนใจวิปัสสนาธุระ).
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน ความว่า ผู้มีปกติอยู่ตามธรรมและในบรรดาทิพวิหารธรรมเป็นต้นอยู่เนืองๆ กับธรรมมีศีลเป็นต้น เช่นใดคืออยู่กับธรรมประเภทใด.
               บทว่า ยถาธิมุตฺตา ความว่า มีอธิมุตติเช่นใด คือในบรรดาสัทธาธิมุตติและปัญญาธิมุตติทั้งหลาย มีอธิมุตติอย่างใด.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ยถาธิมุตฺตา เพราะน้อมไปสู่พระนิพพาน ด้วยประการใดๆ ในมุขทั้งหลายมีสุญญตมุขเป็นต้น.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               อาสวะของท่านผู้มีจิตน้อมไปสู่พระนิพพาน ย่อมถึงความดับสูญ.
               ก็คำทั้งสองนี้พึงทราบด้วยสามารถแห่งธรรมที่เป็นบุพภาค. เพราะว่า การน้อมไปตามที่กล่าวแล้ว จะมีได้ในขณะก่อนได้บรรลุพระอรหัตเท่านั้น ต่อไปก็ไม่มี. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า นระใดไม่มีศรัทธา เป็นคนอกตัญญูและตัดที่ต่อเป็นต้น ดังนี้.
               ปาฐะว่า ยถาวิมุตฺตา ดังนี้บ้าง. ความก็ว่า พ้นแล้วด้วยประการใดๆ ในบรรดาปัญญาวิมุตติและอุภโตภาควิมุตติทั้งหลาย.
               บทว่า สปฺปญฺญา ความว่า มีปัญญา ด้วยปัญญาแม้ ๓ อย่างคือ ติเหตุกปฏิสนธิปัญญา (ปัญญาที่ประกอบด้วยไตรเหตุ) ๑ ปาริหาริกปัญญา (ปัญญาสำหรับบริหารตน) ๑ ภาวนาปัญญา (ปัญญาที่สำเร็จด้วยการภาวนา) ๑.
               บทว่า วิหรึสุ ความว่า อยู่แล้วด้วยผาสุวิหารตามที่ได้แล้วนั่นแหละ เพราะความเป็นผู้มีปัญญานั้นเอง.
               บทว่า อตนฺทิตา แปลว่า ผู้ไม่เกียจคร้าน. อธิบายว่า มีความหมั่นขยันในข้อปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ตน และในข้อปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ผู้อื่นตามกำลัง.
               ก็ในพระคาถานี้ ท่านแสดงความที่พระเถระเหล่านั้น ปรากฎแล้วโดยการประกาศด้วยศัพท์ว่า นามและโคตร. แสดงสีลสัมปทาและสมาธิสัมปทา ด้วยศัพท์ว่า พรหมวิหาร. แสดงปัญญาสัมปทา ด้วยบทว่า ยถาธิมุตฺตา สปฺปญฺญา นี้. แสดงวิริยสัมปทา อันเป็นเหตุแห่งสีลสัมปทาเป็นต้น ด้วยบทว่า อตนฺทิตา นี้. แสดงความที่พระเถระเหล่านั้นมีชื่อโดยการประกาศ ด้วยบทว่า ยถานามา นี้. แสดงถึงการประชุมแห่งสมบัติคือเหล่ากอพระอริยบุคคลผู้เป็นสัทธานุสารี และธัมมานุสารี ด้วยบทว่า ยถาโคตฺตา นี้. แสดงการประกอบด้วยสมบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยบทมีอาทิว่า ยถาธมฺมวิหาริโน. แสดงถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ของผู้ที่ดำรงอยู่ในอัตหิตสมบัติแล้ว ด้วยบทว่า อตนฺทิตา นี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยถานามา นี้ แสดงถึงชื่ออันมารดาบิดาทั้งหลายตั้งแล้วแก่พระเถระเหล่านั้น เพราะระบุเพียงชื่อ.
               บทว่า ยถาโคตฺตา นี้แสดงถึงความเป็นกุลบุตร เพราะระบุส่วนของตระกูล. แสดงถึงความที่พระเถระเหล่านั้นบวชด้วยศรัทธา ด้วยบทว่า ยถาโคตฺตา นั้น.
               บทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน นี้แสดงถึงจรณสมบัติ เพราะแสดงถึงความพร้อมเพรียงด้วยคุณมีศีลสังวรเป็นต้น.
               บทว่า ยถาธิมุตฺตา สปฺปญฺญา นี้แสดงถึงวิชชาสมบัติของพระเถระเหล่านั้น เพราะแสดงชัดถึงการบรรลุ ด้วยญาณสมบัติอันเป็นที่สุดของการสิ้นไปแห่งอาสวะ.
               บทว่า อตนฺทิตา นี้แสดงถึงอุบายเป็นเครื่องบรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงเหตุเพียงการประกาศชื่อของพระเถระเหล่านั้น ด้วยบทว่า ยถานามา นี้. ส่วนด้วยบทว่า ยถาโคตฺตา นี้ ท่านแสดงถึงสมบัติคือจักร ๒ ข้างท้าย. เพราะการประชุมแห่งโคตรสมบัติของพระอริยบุคคลผู้เป็นสัทธานุสารีและธัมมานุสารี ผู้ไม่ได้ตั้งตนไว้โดยชอบและไม่ได้กระทำบุญไว้ในปางก่อน จะมีไม่ได้เลย.
               แสดงถึงสมบัติ คือจักร ๒ ข้างต้นของพระเถระเหล่านั้น ด้วยบทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน นี้. เพราะเมื่ออยู่ในประเทศที่ไม่สมควรก็ดี เว้นจากการคบหากับสัตบุรุษก็ดี คุณพิเศษเหล่านั้นจะมีไม่ได้เลย. แสดงถึงการประกอบด้วยสมบัติ คือการฟังพระสัทธรรม ด้วยบทว่า ยถาธิมุตฺตา นี้. เพราะเว้นจากการประกาศของผู้อื่น (การฟังพระสัทธรรม) เสียแล้ว การแทงตลอดซึ่งสัจจธรรมของพระสาวกทั้งหลาย จะมีไม่ได้เลย. แสดงถึงเหตุแห่งการประพฤติโดยขมีขมัน เพื่อคุณพิเศษตามที่กล่าวแล้ว ด้วยบทว่า สปฺปญฺญา อตนฺทิตา นี้ เพราะแสดงถึงการเริ่มต้นของญายธรรม.
               อีกนัยหนึ่ง ในบทว่า ยถาโคตฺตา นี้ ท่านแสดงถึงความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการของพระเถระเหล่านั้น ด้วยการระบุถึงโคตร เพราะผู้ที่สมบูรณ์ด้วยโคตรตามที่กล่าวแล้ว จึงจะเกิดโยนิโสมนสิการ.
               ด้วยศัพท์ว่า ธัมมวิหาระ ในบทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน นี้ ท่านแสดงถึงการถึงพร้อมด้วยการฟังพระสัทธรรม เพราะเว้นจากการฟังธรรมเสียแล้ว จะไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้นได้เลย. แสดงถึงการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมถึงที่สุด ด้วยบทว่า ยถาธิมุตฺตา นี้ แสดงถึงความเป็นผู้มีสัมปชัญญะในที่ทั้งปวง ด้วยบทว่า สปฺปญฺญา นี้ แสดงถึงผู้ที่บำเพ็ญอัตหิตสมบัติให้บริบูรณ์ ตามนัยที่กล่าวแล้วดำรงอยู่ จะเป็นผู้ไม่ลำบากในการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ด้วยบทว่า อตนฺทิตา นี้.
               อนึ่ง แสดงถึงความสมบูรณ์ด้วยสรณคมน์ของพระเถระเหล่านั้น ด้วยบทว่า ยถาโคตฺตา นี้ เพราะระบุถึงเหล่าพระอริยเจ้าผู้สัทธานุสารี. แสดงสมาธิขันธ์ อันเป็นประธานของสีลขันธ์ ด้วยบทว่า ยถาธมฺมวิหาริโน นี้.
               ก็คุณของพระสาวกทั้งหลายมีสรณคมน์เป็นเบื้องต้น มีสมาธิเป็นท่ามกลาง มีปัญญาเป็นปริโยสาน เพราะฉะนั้น คุณของพระสาวกแม้ทั้งหมดจึงเป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยการแสดงคุณในเบื้องต้น ท่ามกลางและปริโยสาน.
               ก็สมบัติแห่งคุณเช่นนี้อันพระเถระเหล่านั้นบรรลุแล้วด้วยสัมมาปฏิบัติใด เพื่อจะแสดงสัมมาปฏิบัตินั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสิตฺวา ดังนี้.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺถ ได้แก่ ในเสนาสนะอันสงัดแล้วมีป่า โคนไม้และภูเขาเป็นต้นนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตตฺถ ตตฺถ ได้แก่ ในเวลาแห่งอุทานเป็นต้นนั้นๆ.
               บทว่า วิปสฺสิตฺวา แปลว่า เห็นแจ้งแล้ว. คือ ยังทิฏฐิวิสุทธิและกังขาวิตรณวิสุทธิ อันกำหนดนามรูป และกำหนดปัจจัยให้ถึงพร้อมบรรลุวิสุทธิที่ ๕ ตามลำดับแห่งการพิจารณากลาปะเป็นต้น ยังวิปัสสนาให้เขยิบสูงขึ้นด้วยสามารถแห่งการบรรลุถึงยอด แห่งปฏิปทาญาณและทัสสนวิสุทธิ.
               บทว่า ผุสิตฺวา แปลว่า ถึงแล้ว คือทำให้แจ้งแล้ว.
               บทว่า อจฺจุตํ ปทํ ได้แก่พระนิพพาน.
               อธิบายว่า พระนิพพานนั้น ท่านเรียกว่า อัจจุตะ เพราะเป็นที่ๆ ไม่มีจุติ โดยที่พระนิพพานนั้นมีการไม่ต้องจุติเองเป็นธรรมดา และโดยที่ผู้บรรลุพระนิพพานแล้ว ไม่มีเหตุอันทำให้ต้องจุติ.
               และเรียกว่า ปทะ เพราะความที่พระนิพพานนั้นไม่เจือด้วยสังขตธรรมทั้งหลาย และเพราะเป็นแดนอันผู้มุ่งพระนิพพานนั้นพึงดำเนินไป.
               บทว่า กตนฺตํ ได้แก่ ที่สุดแห่งกิจที่ตนทำเสร็จแล้ว.
               อธิบายว่า อริยมรรคที่พระโยคาวจรเหล่านั้นบรรลุแล้ว ชื่อว่าพระโยคาวจรกระทำแล้ว เพราะมรรคอันปัจจัยของตนให้เกิดแล้ว ส่วนผลอันเป็นที่สุดของพระอริยมรรคนั้น ท่านประสงค์เอาว่า กตันตะ (ที่สุดแห่งกิจอันตนทำแล้ว).
               อีกอย่างหนึ่ง สังขตธรรมทั้งหลาย ชื่อว่ากระทำแล้ว เพราะอันปัจจัยทั้งหลายกระทำแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว. ที่สุดแห่งสังขตธรรมอันปัจจัยกระทำแล้ว ชื่อว่าพระนิพพาน เพราะเป็นแดนสลัดออกซึ่งสังขตธรรมนั้น. ซึ่งที่สุดแห่งกิจอันตนทำสำเร็จเสร็จแล้วนั้น.
               บทว่า ปจฺจเวกฺขนฺตา ความว่า พิจารณาข้อปฏิบัติเฉพาะอริยผลและนิพพาน ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะว่า อริยผลนี้อันเราบรรลุแล้วหนอ ด้วยการบรรลุอริยมรรค อสังขตธาตุอันเราบรรลุแล้ว ดังนี้
               อีกอย่างหนึ่ง กิจ ๑๖ อย่างมีปริญญากิจเป็นต้นอันใด ที่พระอริยเจ้าควรกระทำ ชื่อว่าอันท่านทำแล้ว เพราะอันพระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในผลอันเลิศ ให้สำเร็จแล้ว คือให้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้วด้วยสามารถแห่งการแทงตลอดสัจจธรรม พิจารณาอยู่ซึ่งโสฬสกิจนั้น อันท่านทำแล้วอย่างนี้.
               ด้วยบทว่า ปจฺจเวกฺขนฺตา นี้ ท่านแสดงถึงการพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว.
               ส่วนการพิจารณา ๑๙ อย่างมีอิตรปัจจเวกขณะเป็นต้น ย่อมชื่อว่าเป็นอันท่านแสดงแล้ว โดยนัยก่อน.
               คำว่า อิมํ ในบทว่า อิมมตฺถํ นี้ ท่านกล่าวไว้โดยประสงค์ว่า เนื้อความแห่งเถรคาถาและเถรีคาถาทั้งสิ้น ใกล้เคียงและปรากฎชัดเจนทั้งแก่ตนและแก่พระมหาเถระผู้เป็นธรรมสังคากาจารย์ที่มาประชุมกันแล้ว ในที่นั้นเหล่าอื่น.
               บทว่า อตฺถํ ได้แก่ เนื้อความอันปฏิสังยุตด้วยโลกิยะและโลกุตระ ทั้งที่น้อมเข้าไปสู่ตน น้อมเข้าไปสู่ผู้อื่น อันข้าพเจ้าจะกล่าวด้วยคาถาทั้งหลายมีอาทิว่า ฉนฺนา เม กุฏิกา ดังนี้.
               บทว่า อภาสึสุ ความว่า กล่าวแล้วโดยผูกเป็นคาถา.
               ประกอบความว่า ท่านทั้งหลายจงฟังคาถาทั้งหลาย อันน้อมเข้าไปในตนของพระเถระเหล่านั้นผู้มีตนอันอบรมแล้ว อันข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป ณ บัดนี้.
               ท่านพระอานนท์ผู้เป็นธัมมภัณฑาคาริก แสดงความนี้ไว้ว่า ก็พระมหาเถระเหล่านั้น เมื่อกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าน้อมเข้าไปโดยส่วนเดียวซึ่งศาสนธรรม (คำสอน) ด้วยคาถาทั้งหลายอันประกาศความปฏิบัติชอบของตน (และ) ชักชวนผู้อื่นในการปฏิบัติชอบนั้น ด้วยการทำให้เป็นแจ้ง (แสดงธรรม) และพึงทราบว่า เมื่อแสดงอย่างนั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงการยกย่องเชิดชูพระเถระเหล่านั้นด้วยคาถาเหล่านี้ และยกถ้อยคำของพระเถรีและพระเถระเหล่านั้นขึ้นตั้งโดยเป็นนิทานให้เป็นหลักฐานสืบไป.


               จบนิทานกถาวรรณนา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ปฐมวรรค ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 136อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 137อ่านอรรถกถา 26 / 138อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4962&Z=4973
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :