ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

หน้าต่างที่ ๓ / ๙.

               ฝ่ายชาวเมืองรัมมนครเล่าได้เข้าไปสู่นครแล้ว ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พวกเขา ให้มหาชนดำรงอยู่ในสรณะเป็นต้น แล้วเสด็จออกจากรัมมนครไป. ต่อจากนั้น พระองค์ทรงดำรงอยู่ตลอดพระชนมายุขัย ทรงกระทำพุทธกิจครบทุกอย่างแล้ว เสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ โดยลำดับ. คำที่ควรจะกล่าวในที่นั้นทั้งหมด พึงทราบตามนัย ที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ในพุทธวงศ์นั้นเถิด.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในพุทธวงศ์นั้นว่า
               ในกาลนั้น ชนเหล่านั้นอังคาสพระโลกนาถ พร้อมทั้งพระสงฆ์แล้ว ได้ถึงพระศาสดาทีปังกรเป็นสรณะ. พระตถาคตยังคนบางคนให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์ บางพวกก็ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ อีกพวกก็ให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ ทรงประทานสามัญผลสูงสุด ๔ แก่บางคน บางคนก็ทรงประทานธรรมที่ไม่มีสิ่งใดเสมอ คือปฏิสัมภิทา. บางคน พระนราสภก็ทรงประทานสมาบัติอันประเสริฐ ๘ อย่าง. บางคนก็ทรงมอบให้ ซึ่งวิชชา ๓ อภิญญา ๖. พระมหามุนีทรงสั่งสอนหมู่ชนด้วยความพยายามนั้น ศาสนาของพระโลกนาถได้แผ่ไพศาลแล้ว. เพราะเหตุนั้น พระทีปังกรผู้เป็นผู้นำ มีพระหนุใหญ่ [ผึ่งผาย] มีพระวรกายเหมือนของโคอุสภะ [สง่างาม] ทรงให้ชนเป็นอันมากข้ามถึงฝั่ง ทรงปลดเปลื้องทุคติให้. พระมหามุนีทอดพระเนตร เห็นชนที่พอจะตรัสรู้ธรรมได้ แม้ในที่ไกลได้แสนโยชน์ ก็เสด็จไปถึง โดยขณะเดียว ให้เขาตรัสรู้ได้.
               ในการได้บรรลุมรรคผล ครั้งแรก [ปฐมโพธิกาล] พระพุทธเจ้าให้สัตว์ตรัสรู้ได้หนึ่งร้อยโกฏิ. ในการได้บรรลุมรรคผลครั้งที่สอง [มัชฌิมโพธิกาล] พระนาถะให้สัตว์ตรัสรู้ได้แสนโกฏิ และการได้บรรลุมรรคผลครั้งที่สาม [ปัจฉิมโพธิกาล] ได้มีแต่สัตว์เก้าสับพันโกฏิ ในเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมในเทวพิภพ การประชุมของพระศาสดาทีปังกรได้มีสามครั้ง การประชุมครั้งแรกมีชนแสนโกฏิ อีกครั้งเมื่อพระชินเจ้าประทับอยู่วิเวก ที่ยอดเขานารทะ พระขีณาสพผู้ปราศจากมลทินร้อยโกฏิประชุมกัน. ในกาลใด พระมหาวีระประทับอยู่บนเขาในเมืองสุทัสนะ ในกาลนั้น พระมหามุนีทรงห้อมล้อมไปด้วยพระขีณาสพเก้าสิบพันโกฏิ. เราในสมัยนั้น เป็นชฏิลผู้มีตบะกล้า เหาะไปในที่กลางหาวได้ ได้สำเร็จในอภิญญา ๕ การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่ชนนับได้เป็นสิบพัน ยี่สิบพัน การตรัสรู้ของคนเพียงหนึ่งคน สองคน ไม่จำเป็นต้องนับ. ในกาลนั้น ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร แผ่ไปกว้างขวาง ชนรู้กันมากมาย มั่งคั่ง แพร่หลาย บริสุทธิ์ผุดผ่อง พระผู้ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มากนับได้สี่แสนห้อมล้อม พระทีปังกรผู้ทรงรู้แจ้งโลกในกาลทุกเมื่อ ในสมัยนั้น ใครๆ ก็ตามจะละภพมนุษย์ไป [ตาย] เขาเหล่านั้นมิได้บรรลุอรหัต ยังเป็นเสขบุคคล จะต้องถูกเขาตำหนิติเตียน.
               พระพุทธศาสนาก็บานเบิก ด้วยพระอรหันต์ผู้คงที่ งามสง่าอยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก ด้วยพระขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน นครชื่อรัมมวดี กษัตริย์ทรงพระนาม สุเมธ เป็นพระชนก พระชนนีทรงพระนามว่า สุเมธา ของพระศาสดาทีปังกร. พระองค์ทรงครองเรือนอยู่หมื่นปี มีปราสาทอย่างดีที่สุดอยู่สามหลัง ชื่อรัมมะ สุรัมมะและสุภะ. มีเหล่านารีแต่งตัวสวยงามนับได้สามแสน พระมเหสีพระนามว่า ปทุมา พระราชโอรสพระนามว่า อุสภขันธกุมาร พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยคชสารยานพระที่นั่งต้น ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม ครั้นทรงประพฤติปธานจริยาแล้ว ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ พระมหามุนีทีปังกร มหาวีรชินเจ้า อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร แล้วประทับอยู่ในนันทาราม ประทับนั่งที่ ควงไม้ซึก ทรงปราบปรามเดียรถีย์ ได้ทรงกระทำการย่ำยีเดียรถีย์ ที่โคนต้นซึกอันน่ารื่นรมย์ มีพระอัครสาวกคือ พระสุมังคละและพระติสสะ พระศาสดาทีปังกรมีพระอุปฐากนามว่า สาคระ มีพระอัครสาวิกา คือ พระนางนันทาและพระนางสุนันทา ต้นไม้ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกกันว่า ต้นปิปผลิ
               พระมหามุนีทีปังกรมีพระวรกายสูงได้ ๘๐ ศอก พญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง เป็นต้นไม้ประจำทวีปดูงาม. พระผู้แสวงหาพระคุณใหญ่นั้น มีพระชนมายุได้แสนปี พระองค์ทรงพระชนม์อยู่เท่านั้น ทรงให้เหล่าชนเป็นอันมากข้ามถึงฝั่ง [นิพพาน] พระองค์พร้อมทั้งพระสาวก ให้พระสัทธรรมสว่างไสว แล้วให้มหาชนข้ามถึงฝั่ง รุ่งโรจน์อยู่ ราวกะกองอัคคี ปรินิพพานแล้ว. พระฤทธิ์ พระยศและจักรรัตนะที่พระบาททั้งสอง ทุกอย่างก็อันตรธานไปหมด สังขารทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า ดังนี้ และหลังจากพระทีปังกร ก็มีพระนายกทรงพระนามว่า โกณฑัญญะ ทรงมีพระเดชหาที่สุดมิได้ ทรงมีพระยศนับไม่ได้ มีพระคุณหาประมาณมิได้ ยากที่ใครจะต่อกรได้.

               ก็ในกาลต่อจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร ล่วงมาได้หนึ่งอสงไขย พระศาสดาทรงพระนามว่าโกณฑัญญะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้การประชุมสาวกของพระองค์ก็ได้มีสามครั้ง ในการประชุมครั้งแรกมีสาวกแสนโกฏิ ในครั้งที่สองมีพันโกฏิ ในครั้งที่สามมีเก้าสิบโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า วิชิตาวี ได้ถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นับได้แสนโกฏิ. พระศาสดาทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วทรงแสดงธรรม เขาฟังธรรมกถาของพระศาสดา แล้วสละราชสมบัติ ออกบวช. เขาเรียนพระไตรปิฎก ทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้นแล้ว มีฌานไม่เสื่อมไปเกิดในพรหมโลก.
               ก็สำหรับพระโกณฑัญญพุทธเจ้า พระนครนามว่า รัมมวดี. กษัตริย์พระนามว่า อานันทะ เป็นพระราชบิดา พระเทวีพระนามว่า สุชาดา เป็นพระราชมารดา. พระภัตทะและพระสุภัททะ เป็นพระอัครสาวก. พระพุทธอุปฐากนามว่า อนุรุทธะ. พระติสสาเถรีและพระอุปติสสาเถรี เป็นพระอัครสาวิกา. ต้นไม้ที่ตรัสรู้ชื่อ สาลกัลยาณี [ต้นขานาง]. พระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก ประมาณพระชนมายุได้แสนปี.
               ในกาลต่อจากพระองค์ล่วงได้หนึ่งอสงไขย ในกัปเดียวกันนั่นแหละ มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๔ พระองค์ คือ พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า มังคละ ได้มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง ในการประชุมครั้งแรก ได้มีภิกษุแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๒ แสนโกฏิ. ครั้งที่ ๓ เก้าสิบโกฏิ. ได้ยินว่า พระภาดาต่างพระมารดาของพระองค์นามว่า อานันทกุมาร ได้เสด็จมายังสำนักของพระศาสดา เพื่อต้องการฟังธรรม พร้อมกับบริษัทนับได้ ๙๐ โกฏิ พระศาสดาตรัสอนุบุพพิกถาแก่พระองค์. พระองค์พร้อมกับบริษัทได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระศาสดาทรงเล็งดูบุรพจริยาของกุลบุตรเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยแห่งบาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวา ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุ มาเถิด. ในขณะนั้นนั่นเอง เขาทั้งหมดก็ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยา ประดุจพระเถระมีพรรษาได้ ๖๐ ถวายบังคมพระศาสดาห้อมล้อมแล้ว นี้เป็นการประชุมของพระสาวกครั้งที่ ๓ ของพระองค์.
               พระรัศมีจากพระสรีระของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีประมาณ ๘๐ ศอกเท่านั้นโดยรอบ ฉันใด แต่ของพระมังคละหาเป็นฉันนั้นไม่. ส่วนพระรัศมีจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แผ่ไปตลอดหมึ่นโลกธาตุตั้งอยู่ ตลอดกาลเป็นนิตย์ ต้นไม้แผ่นดิน ภูเขา และทะเล เป็นต้น โดยที่สุดจนชั้นหม้อข้าวเป็นต้น ได้เป็นประหนึ่งว่า ปกคลุมไว้ด้วยแผ่นทองคำ. อนึ่ง ประมาณพระชนมายุของพระองค์ได้เก้าหมื่นปี ตลอดเวลาประมาณเท่านี้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นต้น ไม่สามารถที่จะส่องแสงด้วยรัศมีของตน การกำหนดเวลา กลางคืนและกลางวันไม่ปรากฏมี ตอนกลางวัน เหล่าสัตว์ท่องเที่ยวไปด้วยแสงสว่างของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เหมือนกับด้วยแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ชาวโลกรู้กำหนดเวลากลางคืน และกลางวันได้ ด้วยอำนาจแห่งดอกไม้ที่บาน ในเวลาเย็น และนกเป็นต้น ในเวลาเช้า.
               ถามว่า ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายองค์อื่นไม่มีอานุภาพนี้หรือ? แก้ว่า ไม่มีหามิได้. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าแม้เหล่านั้น เมื่อทรงมุ่งหวังอยู่ พึงแผ่พระรัศมีไปได้ตลอดโลกธาตุหมื่นหนึ่ง หรือยิ่งกว่านั้น ก็พระรัศมีจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ามังคละ ได้แผ่ไปตลอดโลกธาตุหมื่นหนึ่ง ตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว เหมือนพระรัศมีแค่วาหนึ่งของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ด้วยอำนาจความปรารถนาในกาลก่อน.
               ได้ยินว่า ในกาลที่ท่องเที่ยวไปเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ดำรงอยู่ในอัตภาพเช่นกับพระเวสสันดร พร้อมด้วยบุตรและภริยา อยู่ที่ภูเขาเช่นกับเขาวงกต. ครั้งนั้น มียักษ์คนหนึ่งชื่อขรทาฐิกะ ได้ยินว่า พระมหาบุรุษมีอัธยาศัยชอบให้ทาน จึงเข้าไปหาด้วยเพศแปลงเป็นพราหมณ์แล้ว ขอทารกสองคนกะพระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราให้ลูกน้อย ดังนี้แล้ว ยินดีร่าเริง ทำให้แผ่นดินมีน้ำล้อมรอบไหวอยู่ ได้ให้ทารกแม้ทั้งสองแล้ว ยักษ์ยืนพิงพะนักพิง ในที่สุดแห่งที่จงกรม. เมื่อพระมหาสัตว์เห็นอยู่นั่นเอง เคี้ยวกินทารกเหมือนกำรากไม้ ความโทมนัสแม้เท่าปลายเส้นผม มิได้เกิดขึ้นแก่พระมหาบุรุษ เพราะมองดูยักษ์ แม้จะเห็นปากของมัน กำลังหลั่งสายเลือดออกมาอยู่ ดูราวกะว่า เปลวไฟในปากที่พออ้าขึ้น เมื่อเขาคิดอยู่ว่า ทานอันเราให้ดีแล้วหนอ ปีติและโสมนัสอย่างใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นทั่วตัว. เขาได้กระทำความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งทานของเรานี้ในอนาคต ขอรัศมีจงฉายออก โดยทำนองนี้นี่แหละ. เพราะอาศัยความปรารถนานั้นของเขา รัศมีจึงฉายออกจากสรีระของเขา ผู้เป็นพระพุทธเจ้าแผ่ซ่านไปตลอดที่เพียงนั้น. บุรพจริยาแม้อื่นอีกของพระองค์ก็ยังมี
               ได้ยินว่า พระองค์ในกาลเป็นพระโพธิสัตว์ เห็นเจดีย์ของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง คิดว่า เราควรบริจาคชีวิตแด่พระพุทธเจ้าองค์นี้ จึงพันสรีระทั้งหมด โดยทำนองที่พันประทีปด้าม เอาเนยใสใส่จนเต็มถาดทองคำมีค่าแสนหนึ่ง สูงได้หนึ่งศอกกำ จุดไส้ตะเกียงพันหนึ่งในถาดนั้น เอาศีรษะเทินถาดนั้นไว้ แล้วให้จุดไฟทั่วตัว กระทำประทักษิณเจดีย์ ให้ล่วงไปตลอดคืนหนึ่ง. เมื่อเขาแม้พยายามอยู่อย่างนี้จนถึงเวลาอรุณขึ้น ความร้อนก็มิได้ระคายเคืองแม้เพียงขุมขน ได้เป็นประหนึ่งว่า เข้าไปในห้องแห่งดอกบัวหลวง. จริงอยู่ ธรรมดาว่า ธรรมนี้ย่อมรักษาคนผู้รักษาตนอยู่. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               ธรรมแลย่อมรักษาบุคคลผู้ปกติประพฤติธรรม     ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ.

               เพราะผลแห่งกรรมแม้นี้ แสงสว่างจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงแผ่ซ่านไปตั้งอยู่ตลอดหมื่นโลกธาตุ.
               ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของพวกเรา เป็นพราหมณ์ชื่อ สุรุจิ คิดว่า เราจักนิมนต์พระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าฟังธรรมกถาอันไพเราะ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ ขอพระองค์จงรับภิกษา ในเรือนของข้าพระองค์เถิด.
               ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมีความต้องการด้วยภิกษุมีประมาณเท่าไร? พระศาสดาตรัส.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุผู้เป็นบริวารของพระองค์มีประมาณเท่าไร? พราหมณ์ทูลถาม.
               ในคราวนั้น พระศาสดาทรงมีการประชุมเป็นครั้งแรกพอดี เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า มีประมาณแสนโกฎิ. พราหมณ์จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์แม้ทั้งหมด จงทรงรับภิกษาของข้าพระองค์ เถิด. พระศาสดาทรงรับแล้ว. พราหมณ์ ครั้นนิมนต์เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น แล้วไปสู่เรือนคิดว่า เราสามารถถวายข้าวต้ม ภัต และผ้าเป็นต้น แต่ภิกษุสงฆ์มีประมาณเท่านี้ได้ แต่ที่นั่งจักเป็นอย่างไร ดังนี้. ความคิดนั้นของเขาทำให้เกิด ความร้อนขึ้นแก่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวเทวราช ผู้ประทับยืนอยู่ในที่สุดแห่งแปดหมื่นสี่พันโยชน์. ท้าวสักกะทรงดำริว่า ใครหนอแลต้องการจะให้เราเคลื่อนจากอาสนะนี้ ทรงตรวจตราอยู่ด้วยทิพยจักษุ ทรงเห็นพระมหาบุรุษ ทรงดำริว่า สุรุจิพราหมณ์นี้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข คิดแล้ว เพื่อต้องการที่นั่ง ควรที่เราจะไปในที่นั้น ถือเอาส่วนบุญบ้าง จึงทรงเนรมิตร่างเป็นเพศช่างไม้ มีมือถือมีด และขวาน ได้ปรากฏตัวข้างหน้าของพระมหาบุรุษกล่าวว่า ใครๆ มีงานที่จะต้องจ้างทำบ้าง. พระมหาบุรุษเห็นเขาแล้ว จึงถามว่า ท่านจักทำงานอะไร? เขากล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าศิลปะ ที่ข้าพเจ้าไม่รู้ไม่มี ผู้ใดจะให้เราทำงานใด เป็นบ้านก็ตาม มณฑปก็ตาม เรารู้ที่จะทำงานนั้นแก่ผู้นั้น. พระมหาบุรุษกล่าวว่า ถ้ากระนั้น งานของเรามีอยู่. เขากล่าวว่า งานอะไรนะท่าน.
               ภิกษุแสนโกฏิ ข้าพเจ้านิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้. ท่านจักกระทำมณฑปที่นั่งของภิกษุเหล่านั้น ได้ไหม.
               ข้าพเจ้าทำได้ ถ้าท่านจักสามารถให้ค่าจ้างแก่ข้าพเจ้าได้.
               เราจักสามารถ พ่อ.
               เขารับปากว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักกระทำ. จึงไปตรวจดูที่ว่างแห่งหนึ่ง ที่ว่างมีประมาณสิบสองโยชน์ ได้มีพื้นราบเรียบ ประหนึ่งมณฑลกสิณ. เขาคิดว่า ขอมณฑปสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จงปรากฏขึ้นในที่มีประมาณเท่านี้. ในทันใดนั้น มณฑปก็แทรกแผ่นดินขึ้นมา. ที่เสาสำเร็จด้วยทองคำของปราสาทนั้น มีหม้อน้ำสำเร็จด้วยเงินตั้งอยู่. ที่เสาสำเร็จด้วยเงิน มีหม้อน้ำสำเร็จด้วยทองคำ ที่เสาแก้วมณีมีหม้อน้ำสำเร็จด้วยแก้วประพาฬ. ที่เสาสำเร็จด้วยแก้วประพาฬ มีหม้อน้ำสำเร็จด้วยแก้วมณี. ที่เสาสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ มีหม้อน้ำสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการเหมือนกัน. ต่อจากนั้น เขาก็มองดู ด้วยคิดว่า ขอน้ำข่ายกระดึง จงห้อยย้อยอยู่ตามระหว่างแห่งมณฑป พร้อมกับการมองดู นั่นเอง ตาข่ายกระดึงก็ห้อยย้อยลงแล้ว เสียงอันไพเราะของตาข่ายกระดึง ที่ถูกลมอ่อนรำเพยพัด ก็เปล่งเสียงออกมา ราวกะว่า เสียงอันไพเราะแห่งดนตรี ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ จึงดูไม่ต่างอะไรกับเวลาที่ ทิพยสังคีตบรรเลงอยู่. เขาคิดว่า ในระหว่างๆ ขอให้พวงของหอมและพวงดอกไม้ จงห้อยย้อยลงมา พวงของหอมและพวงดอกไม้ก็ห้อยย้อยลงมาแล้ว. เขาคิดว่า ขออาสนะและแท่นที่รองนั่ง สำหรับภิกษุที่นับได้แสนโกฏิ จงแทรกแผ่นดินขึ้นมา. ในทันใดนั้นเอง ต่างก็แทรกขึ้นมา เขาคิดว่า ที่ทุกๆ มุม ขอให้หม้อน้ำแทรกขึ้นมามุมละใบ. หม้อน้ำก็แทรกขึ้นมา เขาเนรมิตสิ่งต่างๆ มีประมาณเท่านี้ เสร็จแล้ว จึงไปยังสำนักของพราหมณ์ แล้วกล่าวว่า มานี่แน่ะท่าน ท่านจงตรวจดูมณฑปแล้วให้ค่าจ้างแก่เรา. พระมหาบุรุษไปตรวจดูมณฑปแล้ว. เมื่อเขากำลังตรวจดูอยู่นั่นแหละ ทั่วตัวได้สัมผัสกับปีติ ๕ ชนิดตลอดเวลา.
               ทีนั้น เมื่อเขามองดูมณฑปอยู่ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า มณฑปนี้ คนเป็นมนุษย์กระทำไม่ได้ แต่เพราะอาศัยอัธยาศัยของเรา คุณของเรา ภพของท้าวสักกะจะร้อนแน่นอน ก่อนนี้ ท้าวสักกเทวราชจักสร้างมณฑปนี้ขึ้น ดังนี้. เขาคิดว่า การถวายทานเพียงวันเดียวเท่านั้น ในมณฑปเห็นปานนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย เราจักถวายทานตลอด ๗ วัน. จริงอยู่ ทานภายนอก แม้มีประมาณสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะทำความยินดีให้แก่พระโพธิสัตว์ได้ แต่ในเวลาที่เขาตัดศีรษะที่ประดับประดาแล้ว ควักลูกตาทั้งสองข้างที่หยอดยาตาแล้ว ฉีกเนื้อหัวใจออกแล้วให้ไป พระโพธิสัตว์จะมีความยินดีนัก เพราะอาศัยการบริจาคนี้. เมื่อพระโพธิสัตว์ แม้ของพวกเราสละกหาปณะห้าแสนทุกวัน ให้ทานอยู่ที่ประตูทั้ง ๔ และที่ท่ามกลางพระนคร ในเรื่องสิวิราชชาดก ทานนั้นก็หาสามารถให้เกิดความยินดีในการบริจาคไม่.   แต่ในกาลใด   ท้าวสักกเทวราชปลอมตัวมาในรูปของพราหมณ์ ขอลูกตาทั้งสองข้างของเขา. ในกาลนั้น เมื่อเขาควักลูกตาเหล่านั้น ให้อยู่นั่นแหละ ความร่าเริงได้เกิดขึ้นแล้ว จิตมิได้เป็นอย่างอื่นแม้เท่าปลายเส้นผม. ขึ้นชื่อว่า อิ่มใจเพราะอาศัยทานที่ให้แล้ว โดยอาการอย่างนี้หามีแก่พระโพธิสัตว์ไม่. เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษแม้นั้น จึงคิดว่า เราควรจะถวายทานแก่ภิกษุทั้งหลายนับได้แสนโกฏิตลอด ๗ วัน จึงให้พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ประทับนั่งในมณฑปนั้น ได้ถวายทานชื่อควปานะตลอด ๗ วัน ที่เรียกว่า ควปานะนั้น ได้แก่ โภชนะที่เขาใส่นมจนเต็มหม้อใหญ่แล้ว ยกขึ้นตั้งบนเตาไฟ ใส่ข้าวสารนิดหน่อยในน้ำนม ที่ต้มสุกแล้วในหม้อต้ม แล้วปรุงรสด้วยน้ำผึ้ง ผงน้ำตาลกรวด และเนยใสที่ต้มแล้ว ก็มนุษย์นี้แหละไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูได้ แม้แต่เทวดาก็ต้องสลับกัน จึงจะเลี้ยงดูได้. แม้ที่มีประมาณ ๑๒ และ ๑๓ โยชน์ ก็ไม่เพียงพอที่จะบรรจุภิกษุทั้งหลายได้เลย แต่ภิกษุเหล่านั้นนั่งได้ด้วยอานุภาพของตน.
               ในวันสุดท้าย เขาให้ล้างบาตรของภิกษุทุกรูป แล้วใส่เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น จนเต็มบาตร เพื่อต้องการให้เป็นเภสัช พร้อมด้วยไตรจีวร ผ้าสาฎกที่เป็นจีวร ซึ่งภิกษุนวกะในหมู่สงฆ์ได้รับ ไปได้มีราคาถึงหนึ่งแสน. พระศาสดา เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา ทรงใคร่ครวญดูว่า บุรุษนี้ได้ถวายมหาทานเห็นปานนี้ เขาจักได้เป็นอะไรหนอ ทอดพระเนตรเห็นว่า เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม ในที่สุดแห่งสองอสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัปในอนาคต ดังนี้ จึงตรัสเรียกพระมหาบุรุษมา แล้วทรงพยากรณ์ว่า ท่านล่วงกาลมีประมาณเท่านี้แล้ว จักได้เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคดม.
               พระมหาบุรุษได้ฟังคำพยากรณ์ แล้วคิดว่า นัยว่า เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้า จะประโยชน์อะไรของเรา ด้วยการอยู่ครองเรือน เราจักบวช จึงทอดทิ้งสมบัติ เห็นปานนั้น ประดุจก้อนเขฬะ แล้วบวชในสำนักของพระศาสดา. ครั้นบวชแล้วเล่าเรียนพระพุทธวจนะ ให้อภิญญาและสมาบัติเกิดขึ้นแล้ว ในเวลาสิ้นอายุได้ไปบังเกิดในพรหมโลก.
               ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า มังคละ มีชื่อว่า อุตตระ แม้พระราชมารดาก็ทรงพระนามว่า อุตตรา แม้พระราชบิดาทรงเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า อุตตระ. พระอัครสาวกสององค์นามว่า สุเทวะหนึ่ง ธรรมเสนะหนึ่ง พระอุปฐากนามว่า ปาลิตะ พระอัครสาวิกาสององค์นามว่า สิมพลี ๑ นามว่า อโสกา ๑. ต้นไม้ตรัสรู้ ชื่อนาคพฤกษ์ (ต้นกากะทิง). พระสรีระสูงได้ ๘๘ ศอก. พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ๙๐,๐๐๐ พรรษา ก็ปรินิพพาน. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว จักรวาลหมื่นหนึ่งได้มืดเป็นอันเดียว โดยพร้อมกันทีเดียว. พวกมนุษย์ทั้งหลายในจักรวาลทั้งสิ้น ต่างร้องไห้คร่ำครวญกันไปหมด.
               กาลภายหลังของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โกณฑัญญะ พระนายกทรงพระนามว่า มังคละ ทรงถือดวงประทีปธรรม กำจัดความมืดในโลกแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

               ในกาลภายหลังแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ปรินิพพานกระทำหมื่นโลกธาตุให้มืดอย่างนี้แล้ว พระศาสดาทรงพระนามว่า สุมนะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. สาวกสันนิบาตแม้ของพระองค์ก็มีสามครั้ง ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๒ ที่กาญจนบรรพตมีภิกษุเก้าสิบแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๓ แปดสิบแสนโกฏิ. ในกาลนั้น พระมหาสัตว์ได้เป็นนาคราชนามว่า อตุละ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก. พระยานาคนั้นได้ยินว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว มีหมู่ญาติห้อมล้อมแล้ว ออกจากนาคพิภพ ให้กระทำการบรรเลงถวาย ด้วยทิพยดนตรี แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารแสนโกฎิ ถวายผ้าคู่เฉพาะองค์ แล้วตั้งอยู่ในสรณะ. พระศาสดาแม้นั้น ก็ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อ เมขลา พระราชาทรงพระนามว่า สุทัตตะ เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า สิริมา. พระอัครสาวกสององค์ นามว่าสรณะหนึ่ง นามว่าภาวิตัตตะหนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า อุเทนะ. พระอัครสาวิกาสององค์นามว่า โสณาหนึ่ง นามว่า อุปโสณาหนึ่ง และต้นนาคพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๙๐ ศอก ประมาณพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี ด้วยประการฉะนี้.
               กาลภายหลังของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า มังคละ พระนายกทรงพระนามว่า สุมนะ หาผู้เสมอ มิได้โดยธรรมทั้งปวง สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง.

               ในกาลภายหลังแห่งพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า เรวตะ ได้เสด็จอุบัติขึ้น. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ก็ได้มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งแรก นับไม่ได้. ครั้งที่ ๒ มีภิกษุแสนโกฏิ ครั้งที่ ๓ ก็เช่นกัน. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อ อติเทพ ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ตั้งอยู่ในสรณะ ประคองอัญชลีเหนือศีรษะแล้ว ได้ฟังพระคุณในการละกิเลสของพระศาสดานั้น ได้กระทำการบูชาด้วยผ้าห่ม แม้พระองค์ก็ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า. ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น มีชื่อว่า สุธัญญวดี แม้พระราชบิดาก็เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า วิปุละ. พระราชมารดาทรงพระนามว่า วิมลา. พระ อัครสาวก ๒ องค์นามว่า วรุณะหนึ่ง นามว่า พรหมเทวะหนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า สัมภวะ พระอัครสาวิกา ๒ องค์นามว่า ภัตทาหนึ่ง นามว่า สุภัททาหนึ่ง และต้นนาคพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๘๐ ศอก ประมาณพระชนมายุได้ ๖๐,๐๐๐ ปี ด้วยประการนี้.
               กาลภายหลังแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สุมนะ พระนายกทรงพระนามว่า เรวตะ เป็นพระชินเจ้า หาผู้เปรียบปานมิได้ หาผู้เสมอมิได้ ไม่มีผู้เทียมทัน เป็นผู้สูงสุด ด้วยประการฉะนี้.

               ในกาลภายหลังพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า โสภิตะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ก็ได้มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งแรก ได้มีภิกษุร้อยโกฏิ. ในครั้งที่ ๒ เก้าสิบโกฏิ. ในครั้งที่ ๓ แปดสิบโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อว่า อชิตะ ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ตั้งอยู่ในสรณะ ได้ถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. แม้พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า. ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้นชื่อ สุธรรม. พระราชาทรงพระนามว่า สุธรรม ได้เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า สุธรรมา. พระอัครสาวกนามว่า อสมะ องค์หนึ่ง นามว่า สุเนตตะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า อโนมะ. พระอัครสาวิกานามว่า นกุลา องค์หนึ่ง นามว่า สุชาดา องค์หนึ่ง. ต้นนาคพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๕๘ ศอก ประมาณพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี ฉะนี้แล.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า เรวตะ พระนายกทรงพระนามว่า โสภิตะ มีพระทัยตั้งมั่น มีพระทัยสงบ หาผู้เสมอมิได้ หาผู้เปรียบปานมิได้ ด้วยประการฉะนี้.

               ในกาลภายหลังของพระองค์ ครั้นล่วงได้อสงไขยหนึ่ง ในกัปเดียวกัน มีพระพุทธเจ้าสามพระองค์ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว คือ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ.
               สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี มีสาวกสันนิบาตสามครั้ง. ครั้งแรกมีภิกษุแปดแสน ครั้งที่ ๒ เจ็ดสิบแสน ครั้งที่ ๓ แปดสิบหกพันโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นเสนาบดีของยักษ์ตนหนึ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เป็นอธิบดีของยักษ์แสนโกฏิ เป็นอันมาก. เขาได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วจึงมา แล้วได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. แม้พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสี ชื่อว่า จันทวดี พระราชาทรงพระนามว่า ยสวา เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า ยโสธรา. พระอัครสาวกนามว่า นิสภะ องค์หนึ่ง นามว่า อโนมะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า วรุณะ. พระอัครสาวิกา นามว่า สุนทรี องค์หนึ่ง นามว่า สุมนา องค์หนึ่ง. อัชชุนพฤกษ์ (ต้นรกฟ้า) เป็นไม้ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๕๘ ศอก พระชนมายุ ได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โสภิตะ พระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ผู้สูงสุดแห่งทวีป มีพระยศอันประมาณมิได้ มีพระเดชยากที่คนจะก้าวล่วงได้ ฉะนี้แล.

               ในกาลภายหลังของพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า ปทุมะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ก็มีสามครั้ง ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๒ มีสามแสน. ครั้งที่ ๓ มีภิกษุผู้อยู่ในชัฎแห่งป่ามหาวัน ในป่าที่มิใช่บ้านสองแสน. ในคราวนั้น เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในชัฏแห่งป่านั้น พระโพธิสัตว์เป็นราชสีห์ เห็นพระศาสดาเข้านิโรธสมาบัติอยู่ มีจิตเลื่อมใส ไหว้ กระทำประทักษิณ เกิดปีติและโสมนัส บันลือสีหนาทสามครั้ง ตลอดเจ็ดวันมิได้ละปีติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เพราะสุขอันเกิดจากปีตินั่นเอง ไม่ออกไปหากิน กระทำการบริจาคชีวิต ได้เข้าไปเฝ้ายืนอยู่. พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ เมื่อล่วงได้เจ็ดวันแล้ว ทอดพระเนตรเห็นราชสีห์ ทรงดำริว่า เขาจักให้จิตเลื่อมใสแม้ในภิกษุสงฆ์ แล้วไหว้ ขอภิกษุสงฆ์จงมา. ในทันใดนั่นเอง ภิกษุทั้งหลายก็มา. ราชสีห์ทำจิตให้เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์. พระศาสดาทรงตรวจดูใจของเขาแล้ว ทรงพยากรณ์ว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. ก็พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมะ ชื่อจัมปกะ พระราชาทรงพระนามว่า ปทุมะ เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า อสมา. พระอัครสาวกนามว่า สาละ องค์หนึ่ง นามว่า อุปสาละ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า วรุณะ. พระอัครสาวิกานามว่า รามา องค์หนึ่ง นามว่า สุรามา องค์หนึ่ง. โสณพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๕๘ ศอก พระชนมายุได้แสนปี ฉะนี้แล.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมะ เป็นผู้สูงสุดแห่งทวีป หาผู้เสมอมิได้ ไม่มีผู้ใดเปรียบปาน ฉะนี้แล.

               ในกาลภายหลังของพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า นารทะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ก็มีสามครั้ง ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๒ มีภิกษุเก้าสิบแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๓ มีภิกษุแปดสิบแสนโกฏิ. ในกาลนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้บวชเป็นฤๅษี เป็นผู้ปฏิบัติจนชำนาญในอภิญญา ๕ ในสมาบัติ ๘ ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้กระทำการบูชาด้วยจันทน์แดง. แม้พระองค์ก็ได้พยากรณ์ฤาษีนั้นว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อธัญญวดี กษัตริย์ทรงพระนามว่า สุเมธะ เป็นราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า อโนมา. พระอัครสาวกพระนามว่า ภัททปาละ องค์หนึ่ง นามว่า ชิตมิตะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า วาเสฏฐะ พระอัครสาวิกนามว่า อุตตรา องค์หนึ่ง นามว่า ผัคคุณี องค์หนึ่ง. ต้นมหาโสณพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๘๘ ศอก พระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมะ พระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า นารทะ ผู้สูงสุดแห่งทวีป หาผู้เสมอมิได้ หาผู้เปรียบปานมิได้ ฉะนี้แล.

               ในกาลต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า นารทะ ในกัปหนึ่งในที่สุดแห่งแสนกัปแต่นี้ ล่วงได้อสงไขยหนึ่ง พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีสามครั้ง. ในครั้งแรกมีภิกษุแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๒ ที่เวภารบรรพต มีภิกษุเก้าสิบแสนโกฏิ. ครั้งที่ ๓ มีภิกษุแปดสิบพันโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นชฏิล นามว่า มหารัฏฐิยะ ได้ถวายจีวรทานแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. แม้พระองค์ก็ได้พยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. ก็ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทุมุตตระ พวกเดียรถีย์ยังมิได้มี. พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง ได้ถึงพระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นสรณะ พระนครของพระองค์นามว่า หังสวดี. กษัตริย์ทรงพระนามว่า อานันทะ เป็นพระราชบิดา พระมารดาทรงพระนามว่า สุชาดา. พระอัครสาวกนามว่า เทวละ องค์หนึ่ง นามว่า สุชาตะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า สุมนะ พระอัครสาวิกานามว่า อมิตตา องค์หนึ่ง นามว่า อสมา องค์หนึ่ง. ต้นสาลพฤกษ์เป็นไม้ที่ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๘๘ ศอก รัศมีจากพระสรีระพุ่งไปจดที่ ๑๒ โยชน์โดยรอบ พระชนมายุได้ แสนปี ฉะนี้แล.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า นารทะ พระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้สูงสุดแห่งนระ เป็นพระชินะ อุปมาด้วยสาครที่ไม่กระเพื่อม ฉะนี้แล.

               ในกาลต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ล่วงไปได้สามหมื่นกัป ในกัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือ พระสุเมธะ และพระสุชาตะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระพุทธเจ้าทรงพระนาม สุเมธะ ก็มีสามครั้ง. ในสันนิบาตครั้งที่ ๑ ในสุทัสสนนคร ได้มีพระขีณาสพ ร้อยโกฏิ. ครั้งที่ ๒ มีเก้าสิบโกฏิ. ครั้งที่ ๓ มีแปดสิบโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นมาณพชื่อ อุตตระ สละทรัพย์แปดสิบโกฏิที่ฝังเก็บไว้ทั้งหมด ถวายมหาทานแต่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ฟังธรรมแล้ว ตั้งอยู่ในสรณะ ออกบวช แม้พระองค์ก็ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุเมธะ ชื่อสุทัสสนะ. พระราชาทรงพระนาม สุทัตตะ เป็นพระราชาบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า สุทัตตา. พระอัครสาวกสององค์นามว่า สุมนะ องค์หนึ่ง นามว่า สัพพกามะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า สาตระ. พระอัครสาวิกาสององค์นามว่า รามา องค์หนึ่ง นามว่า สุรามา องค์หนึ่ง. มหานิมพพฤกษ์ต้นสะเดาใหญ่ เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๘๘ ศอก พระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี ฉะนี้แล.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระนายกทรงพระนามว่า สุเมธะ หาผู้ที่จะต่อกรได้ยาก พระเดชาแก่กล้า เป็นพระมุนี ผู้สูงสุดในโลกทั้งปวง ฉะนี้แล.

               ในกาลต่อจากพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า สุชาตะ อุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ก็มีสามครั้ง ในสันนิบาตครั้งที่ ๑ มีภิกษุหกหมื่น. ครั้งที่ ๒ มีห้าหมื่น. ครั้งที่ ๓ มีสี่หมื่น. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าฟังธรรม แล้วถวายราชสมบัติในสี่ทวีป พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการแด่สงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วบวชในสำนักของพระศาสดา ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้น ต่างถือเอาเงินที่เกิดขึ้นของรัฐ รับหน้าที่เป็นคนทะนุบำรุงวัด. ได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นนิตย์. แม้พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. พระนครของพระผู้มีภาคเจ้าพระองค์นั้น มีชื่อว่า สุมังคละ พระราชาทรงพระนามว่า อุคคตะ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่า ประภาวดี. พระอัครสาวกมีนามว่า สุทัสสนะ องค์หนึ่ง มีนามว่า สุเทวะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากมีนามว่า นารทะ พระอัครสาวิกามีนามว่า นาคา องค์หนึ่ง มีนามว่า นาคสมาลา องค์หนึ่ง. มหาเวฬุพฤกษ์ (ต้นไผ่ใหญ่) เป็นต้นไม้ตรัสรู้. ได้ยินว่า ต้นไม้นั้นไม่ใคร่มีรูโปร่ง ลำต้นแข็งแรง มีกิ่งใหญ่พุ่งขึ้นเบื้องบน แลดูงดงาม ราวกะกำแววหางนกยูง. พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นสูงได้ ๕๐ ศอก พระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี ฉะนี้แล
               ในมัณฑกัปนั้นนั่นแหละ มีพระนายกทรงพระนามว่า สุชาตะ ผู้มีพระหนุดังคางราชสีห์ (ผึ่งผาย) มีพระวรกาย ดังโคอุสภะ (สง่างาม) หาผู้เปรียบนี้ได้ หาผู้ต่อกรได้ยาก ฉะนั้นแล.

               ในกาลต่อจากพระสุชาตพุทธเจ้า ในกัปหนึ่งในที่สุดแห่งสิบแปดกัปแต่นี้ มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นสามองค์คือ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธรรมทัสสี. แม้สาวกสันนิบาตของพระปิยทัสสี ก็มีสามครั้ง ครั้งแรกมีภิกษุแสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ มีเก้าสิบโกฏิ ครั้งที่ ๓ มีแปดสิบโกฏิ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นมาณพนามว่า กัสสปะ. เรียนจบเวททั้งสาม ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้บริจาคทรัพย์แสนโกฏิสร้างสังฆาราม ตั้งอยู่ในสรณะและศีลแล้ว ที่นั้นพระศาสดาทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อล่วงไปพันแปดร้อยกัป. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนาม อโนปมะ พระราชาทรงพระนามว่า สุทินนะ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่า จันทา. พระอัครสาวกนามว่า ปาลิตะ องค์หนึ่ง นามว่า สัพพทัสสี องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า โสภิตะ พระอัครสาวิกานามว่า สุชาตา องค์หนึ่ง นามว่า ธรรมทินนา องค์หนึ่ง. กกุธพฤกษ์ (ต้นกุ่ม) เป็นไม้ที่ตรัสรู้ พระสรีระสูงได้ ๘๐ ศอก พระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี.
               ต่อจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สุชาตะ. พระปิยทัสสี ผู้เป็นพระโลกนาถ ผู้เป็นพระสยัมภู ยากที่ใครจะต่อกรได้ หาใครเสมอมิได้ ผู้มีพระยศใหญ่ ฉะนั้นแล.

               ในกาลต่อจากพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อัตถทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ก็มีสามครั้ง ในสันนิบาตครั้งแรก มีภิกษุเก้าล้านแปดแสน ครั้งที่ ๒ แสนแปด ครั้งที่ ๓ ก็เท่ากัน. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบสผู้มีฤทธิ์มากชื่อว่า สุสิมะ นำฉัตรดอกมณฑารพ มาจากเทวโลก บูชาพระศาสดา. แม้พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้า นามว่า โสภิตะ. พระราชาทรงพระนามว่า สาคระ เป็นพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระนามว่า สุทัสสนา. พระอัครสาวกนามว่า สันตะ องค์หนึ่ง นามว่า อุปสันตะองค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า อภยา. พระอัครสาวิกานามว่า ธรรมา องค์หนึ่ง นามว่า สุธรรมา องค์หนึ่ง. จัมปกพฤกษ์ (ต้นจัมปา) เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้. พระสรีระสูงได้ ๘๘ ศอก รัศมีจากพระสรีระแผ่ไปโดยรวม ประมาณโยชน์หนึ่ง ตั้งอยู่ตลอดเวลา พระชนมายุได้ แสนปี.
               ในมัณฑกัปนั้นนั่นแล พระนราสภ อัตถทัสสี ทรงกำจัดความมืดอย่างใหญ่แล้ว บรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม.

               ในกาลต่อจากพระองค์ พระศาสดาทรงพระนามว่า ธรรมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว. แม้สาวกสันนิบาตของพระองค์ ก็มีสามครั้ง. ครั้งแรกมีภิกษุร้อยโกฏิ ครั้งที่ ๒ เจ็ดสิบโกฏิ ครั้งที่ ๓ แปดสิบโกฏิ. ในครั้งนั้น พระมหาสัตว์เป็นท้าวสักกเทวราช ได้กระทำการบูชา ด้วยดอกไม้มีกลิ่นอันเป็นทิพย์ และด้วยเครื่องดนตรีทิพย์. แม้พระองค์ก็ได้ทรงพยากรณ์เขาว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต. พระนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นามว่า สรณะ. พระราชาทรงพระนามว่า สรณะ เป็นพระราชบิดา. พระราชมารดาทรงพระนามว่า สุนันทา. พระอัครสาวกนามว่า ปทุมะ องค์หนึ่ง นามว่า ปุสสเทวะ องค์หนึ่ง. พระอุปฐากนามว่า สุเนตตะ. พระอัครสาวิกานามว่า เขมา องค์หนึ่ง นามว่า สัพพนามา องค์หนึ่ง. ต้นรัตกุรพฤกษ์เป็นไม้ตรัสรู้. ต้นพิมพชาละบาลีพุทธวงศ์ เป็น ติมชาละ (ไม้พลับ) (ไม้มะกล่ำเครือ) ก็เรียก. ก็พระสรีระของพระองค์สูงได้ ๘๐ ศอก พระชนมายุได้แสนปี.
               ในมัณฑกัปนั้นนั่นแหละ พระธรรมทัสสี ผู้มีพระยศใหญ่ ทรงกำจัดความมืดมน อนธการแล้ว รุ่งโรจน์อยู่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก.

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1&Z=12
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :