ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 997 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1007 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1014 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ทสัณณกชาดกที่ ๖
ว่าด้วย ให้แล้วไม่เดือดร้อนภายหลังทำได้ยาก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการยั่วยวนของภรรยาเก่า (ของภิกษุรูปหนึ่ง) จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทสณฺณกํ ติขิณธารํ ดังนี้.
               ดังจะกล่าวโดยย่อ พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ได้ทราบว่า เธอกระสันอยากสึก จริงหรือ? เมื่อเธอกราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า. ตรัสถามต่อว่า ใครยั่วให้กระสัน? เมื่อเธอทูลว่า ภรรยาเก่า พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้ทำอนัตถะให้เธอ ไม่เฉพาะในบัดนี้ แม้ในชาติก่อน เธออาศัยหญิงนี้กำลังจะตายเพราะโรคเจตสิก ได้อาศัยบัณฑิตจึงได้ชีวิตไว้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อเขาว่า เสนกกุมาร. เขาเติบโตแล้วได้เรียนศิลปะทุกชนิดในเมืองตักกสิลา จบแล้วก็กลับเมืองพาราณสี ได้เป็นอำมาตย์ผู้ถวายอรรถธรรมพระเจ้ามัทวะ. ท่านถูกคนทั้งหลายเรียกว่า เสนกบัณฑิต รุ่งโรจน์ทั่วทั้งนคร เหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์.
               ครั้งนั้น บุตรของราชปุโรหิตมาเฝ้าในหลวง เห็นอัครมเหสีของพระราชาผู้ทรงพระรูปโฉมสูงส่ง ทรงประดับเครื่องทรงครบถ้วน มีจิตปฏิพัทธ์ไปบ้านแล้วนอนอดอาหาร ถูกเพื่อนฝูงถาม จึงบอกเนื้อความนั้น.
               พระราชาตรัสถามว่า ไม่เห็นบุตรของปุโรหิต ไปไหนเล่า? ได้ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงตรัสสั่งให้เขาเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า ฉันจะมอบให้ท่าน ๗ วัน จะเอาพระอัครมเหสีนี้ไปไว้ที่บ้าน ๗ วัน ในวันที่ ๘ จึงนำมาส่ง.
               เขารับพระบรมราชโองการแล้ว นำอัครมเหสีไปบ้านร่วมอภิรมย์กับพระนาง บุตรปุโรหิตและอัครมเหสีนั้นต่างก็มีจิตรักใคร่กัน พากันหนีไปทางประตูยอดนั่นเอง โดยไม่ให้ใครรู้ ได้ไปที่แว่นแคว้นของพระราชาองค์อื่น.
               ใครๆ ก็ไม่รู้ที่ที่คนทั้ง ๒ ไปแล้ว ไม่มีร่องรอยเป็นเสมือนทางที่เรือผ่านไปแล้ว ฉะนั้น ถึงพระราชาทรงให้ตีกลองป่าวประกาศไปในพระนคร ค้นหาโดยประการต่างๆ ก็ไม่รู้ที่ที่เขาไป.
               ต่อมา พระองค์ทรงเกิดความเศร้าโศกเป็นกำลังเพราะอาศัยเขา พระหทัยร้อน พระโลหิตไหลออก ได้มีพระพยาธิขนาดหนัก หมอหลวงตั้งมากมาย ก็ไม่สามารถจะเยียวยาได้.
               พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระราชานี้ไม่มีพระพยาธิอะไร แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นพระมเหสี จึงถูกพระโรคจิตกระทบ เราจักใช้อุบายแก้ไขพระองค์ แล้วจึงเรียกอำมาตย์ผู้เป็นราชบัณฑิต ๒ คน คือ อายุรอำมาตย์ ๑ ปุกกุสอำมาตย์ ๑ มาหาแล้วบอกว่า
               พระราชาไม่ทรงมีพระโรคอื่น เว้นไว้แต่พระโรคจิต เพราะไม่ทรงเห็นพระราชเทวี พระราชาทรงมีพระอุปการะแก่เรามาก เพราะฉะนั้น พวกเราจะใช้อุบายแก้ไขพระองค์ คือจักให้คนแสดงการเล่นที่พระลานหลวง แล้วจะให้ผู้รู้วิธีกลืนดาบ กลืนดาบให้พระราชาประทับยืนทอดพระเนตรการเล่นที่ช่องพระแกล.
               พระราชาทรงทอดพระเนตรคนกลืนดาบแล้ว ก็จักตรัสถามปัญหาว่า ยังมีบ้างไหมสิ่งอื่นที่ทำได้ยากกว่านี้?
               สหายอายุระ เธอควรทูลแก้ปัญหานั้นว่า การพูดว่า เราจะให้ของชื่อนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่านี้.
               สหายปุกกุส ต่อนั้นไป พระองค์ก็จะตรัสถามเธอ เธอควรทูลแก้ถวายพระองค์ว่า เมื่อคนพูดว่าจะให้แต่ไม่ให้ วาจานั้นไร้ผล คนบางเหล่าหาเข้าถึงวาจาชนิดนั้นดำรงชีวิตอยู่ไม่ ไม่เคี้ยวกิน ไม่ดื่ม ซึ่งไม่ทำให้เหมาะสมแก่ถ้อยคำนั้น ส่วนการให้ประโยชน์ตามที่ปฏิญญาไว้นั่นแหละ การให้ของผู้นั้น ทำได้ยากกว่าการพูดว่าจะให้.
               ต่อจากนั้นไป ผมก็จักรู้เหตุอื่นที่จะต้องทำแก้ปัญหา ดังนี้แล้ว ได้ให้แสดงการเล่น.
               ลำดับนั้น บัณฑิตทั้ง ๓ เหล่านั้นพากันไปราชสำนัก กราบทูลว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ที่พระลานหลวงการเล่นกำลังแสดง เมื่อคนทั้งหลายดูการเล่นอยู่ แม้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสด็จเถิด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะไปดู แล้วได้นำพระราชาไปเปิดช่องพระแกล ให้พระองค์ทอดพระเนตรการเล่น คนจำนวนมากต่างพากันแสดงศิลปะที่ตนรู้ๆ.
               ชายคนหนึ่งกลืนดาบแก้วที่มีคมคมกริบ ยาว ๓๓ นิ้ว พระราชาทอดพระเนตรชายคนนั้น แล้วทรงดำริว่า ชายคนนี้กลืนดาบอย่างนี้ เราจักถามบัณฑิตเหล่านี้ว่า มีอยู่หรือไม่ การเล่นอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่านี้แล้ว
               เมื่อตรัสถามอายุรบัณฑิต จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ชายคนนี้กลืนดาบทสรรณกะที่มีคมอันคมกริบ ดื่มเลือดผู้อื่นที่กระทบแล้ว ฟันแล้ว ในท่ามกลางบริษัทยังมีไหม สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบนี้ ท่านถูกเราถามแล้ว จงบอกเหตุอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าแก่เรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสณฺณกํ ความว่า เกิดขึ้นที่แคว้นทสัณณกะ.
               บทว่า สมฺปนฺนปายินํ ความว่า ที่ดื่มเลือดผู้อื่น ที่กระทบเข้าแล้ว.
               บทว่า ปริสายํ ความว่า ชายคนนี้กลืนดาบที่ท่ามกลางบริษัท เพราะอยากได้ทรัพย์.
               บทว่า ยทญฺญํ ความว่า สิ่งอื่นใด คือเหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบนี้มีอยู่ ท่านถูกเราถามแล้ว จงบอกเหตุนั้นแก่เรา.

               ลำดับนั้น อายุรบัณฑิต เมื่อทูลบอกพระราชา จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ก็ผู้ใดพึงกล่าวว่า เราจะให้ การกล่าวของเขานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า การกลืนดาบที่ดื่มโลหิตของผู้อื่น ที่กระทบเข้าแล้วของชายคนนั้น เพราะความโลภ เหตุอย่างอื่นทุกอย่างเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระเจ้ามคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วชฺชา ความว่า พึงกล่าว.
               บทว่า ตํ ทุกฺกรตรํ ความว่า การพูดว่า เราจักให้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่านั้น.
               บทว่า สพฺพญฺญํ ความว่า เหตุอย่างอื่นแม้ทุกอย่าง เว้นไว้แต่การพูดว่า เราจักให้ของชื่อนี้แก่ท่าน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย อายุรบัณฑิตร้องเรียกพระราชาโดยพระโคตรว่า พระเจ้ามคธ.

               เมื่อพระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ทรงพิจารณาถ้อยคำนั้นนั่นแหละว่า ได้ทราบว่า การพูดว่า เราจะให้สิ่งของชื่อนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ และเราก็ได้พูดออกไปแล้วว่า เราจักให้พระราชเทวีแก่บุตรของปุโรหิต เราทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกในพระราชหฤทัยเบาบางไปแล้วหน่อยหนึ่ง.
               พระองค์ทรงดำริว่า แต่กรรมอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าการพูดว่า เราจะให้ของสิ่งนี้แก่ผู้อื่นนั้น ยังมีอยู่หรือไม่หนอ.
               เมื่อทรงปราศรัยกับปุกกุสบัณฑิต จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า :-
               อายุรบัณฑิตผู้ฉลาดในธรรม กล่าวแก้ข้อความแห่งปัญหาแล้ว บัดนี้ เราจะขอถามปุกกุสบัณฑิตว่า สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการบอกว่าเราจะให้นั้น ยังมีอยู่หรือ มีเหตุอย่างอื่นใดที่ทำได้ยาก ท่านผู้ถูกเราถามแล้ว จงบอกเหตุนั้นแก่เรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺหํ อตฺถํ มีคำอธิบายว่า กล่าวแก้ข้อความแห่งปัญหาแล้ว.
               บทว่า ธมฺมสฺส โกวิโท ได้แก่ ผู้ฉลาดในอรรถที่ส่องถึงข้อความของธรรมะนั้น.
               บทว่า ตโต ความว่า สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการพูดนั้นมีอยู่หรือ.

               ลำดับนั้น ปุกกุสบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               คนทั้งหลายไม่รักษาคำที่พูดไว้ คำที่พูดที่เปล่งออกไปนั้นก็ไม่มีผล และผู้ใดให้ปฏิญญาไว้แล้ว ก็บั่นทอนความโลภได้ การบั่นทอนความโลภของผู้นั้นนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบและการให้ปฏิญญานั้น เหตุอย่างอื่นทุกอย่างเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระเจ้ามคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทตฺวา ความว่า ให้ปฏิญญาไว้ว่า เราจะให้สิ่งของชื่อโน้น.
               บทว่า อวากยิรา มีคำอธิบายไว้ว่า บุคคลเมื่อให้ข้อความที่ได้ปฏิญญาไว้แล้วนั้น บั่นทอน คือทำลายความโลภทิ้งใน เพราะปฏิญญานั้น และพึงให้สิ่งของนั้น.
               บทว่า ตโต ความว่า การบั่นทอนคือการให้สิ่งของนั้นนั่นแหละ ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ และการพูดว่า จะให้สิ่งของชื่อนั้นแก่ท่านนั้น.

               แม้เมื่อพระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงปริวิตกอยู่ว่า เราพูดก่อนแล้วว่า เราจะให้พระเทวีแก่บุตรปุโรหิต ก็ได้ให้พระเทวี ทำให้สมแก่การพูดแล้ว เราได้ทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกเบาบางลงกว่าเดิม.
               ลำดับนั้น พระองค์ได้มีพระปริวิตกว่า คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดกว่าเสนกบัณฑิต ไม่มี เราจักถามปัญหานี้กะเสนกบัณฑิตนั่น.
               ลำดับนั้น พระองค์เมื่อตรัสถามปัญหา จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า :-
               ปุกกุสบัณฑิตผู้ฉลาดในธรรม กล่าวแก้ข้อความแห่งปัญหาแล้ว บัดนี้ เราจะถามเสนกบัณฑิตว่า สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการให้สิ่งของนั้นยังมีอยู่หรือ เหตุอย่างอื่นใดที่ทำได้ยากยังมีอยู่ ท่านถูกเราถามแล้ว ขอจงบอกเหตุอื่นที่ทำได้ยากกว่าแก่เรา.


               เสนกบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า :-
               คนควรให้ทานจะน้อยหรือมากก็ไม่ว่า แต่ผู้ใดครั้นให้แล้ว ไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง การไม่เดือดร้อนใจนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ กว่าการพูดว่าจะให้สิ่งของ และกว่าการให้สิ่งของที่รักนั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมด เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระเจ้ามคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานุตปฺเป ความว่า ผู้ใดครั้นให้ของรัก ที่ตนรักใคร่ ที่ตนชอบใจอย่างยิ่งแก่ผู้อื่นแล้ว ไม่ปรารภถึงของรักนั้น เดือดร้อนใจภายหลัง คือไม่เศร้าโศกอย่างนี้ว่า เราให้ของสิ่งนี้เพื่ออะไร การไม่เศร้าโศกนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ กว่าการพูดว่าเราจะให้สิ่งของชื่อนี้แก่ท่าน และกว่าการให้สิ่งของนั้น.

               พระมหาสัตว์กราบทูลให้พระราชาทรงรับทราบด้วยประการอย่างนี้ เพราะว่า ครั้นให้ทานแล้ว เจตนาในกาลต่อมาจะเป็นสิ่งที่ควรแก่ความเชื่อได้ยาก ความที่อปรเจตนานั้นควรแก่ความเชื่อได้ยาก เป็นของทำได้ยาก
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว แม้ในเวสสันดร สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า :-
               พระมหาสัตว์ทรงถือธนู แล้วทรงคาดพระขรรค์ไว้เบื้องซ้าย ทรงนำพระราชโอรสและพระราชธิดา ของพระองค์ออกไป เพราะว่า คนฆ่าบุตรก็เป็นทุกข์ ข้อที่พระราชกุมารและพระราชธิดาทั้งหลาย เดือดร้อนมีทุกข์ เป็นรูปนี้ไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้ และใครรู้ธรรมของสัตบุรุษแล้ว แต่ให้ทานแล้วก็เดือดร้อนในภายหลัง.


               ฝ่ายพระราชาแล ครั้นทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงกำหนดว่า เราให้พระราชเทวีแก่บุตรปุโรหิตด้วยดวงใจของตนนั่นเอง แต่ไม่อาจจะทรงไว้ซึ่งดวงใจของตนได้ เศร้าใจลำบากใจอยู่ ข้อนี้ไม่สมควรแก่เรา ถ้าหากพระราชเทวีนั้นพึงมีความเสน่หาในเราไซร้ เธอคงไม่ทอดทิ้งอิสริยยศนี้หนีไป แต่เมื่อเธอไม่ทำความเสน่หาในเราหนีไปแล้ว เราจักมีประโยชน์อะไร.
               เมื่อพระองค์ทรงดำริถึงข้อนี้อยู่ ความเศร้าโศกทั้งหมดก็กลับหายไป เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งตกไปจากใบบัวฉะนั้น ในทันใดนั้นเอง พระนาภิของพระองค์ก็หยุดนิ่ง พระองค์ทรงไร้พระโรคทรงพระเกษมสำราญ.

               เมื่อจะทรงทำการสดุดีพระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า :-
               อายุรบัณฑิตแก้ปัญหาแล้ว และปุกกุสบัณฑิตก็แก้ปัญหาแล้ว ส่วนเสนกบัณฑิตครอบปัญหาหมดทุกข้อว่า คนให้ทานแล้ว ไม่ควรเดือดร้อนใจภายหลัง อย่างที่เสนกบัณฑิตพูด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา ภาสติ ความว่า ธรรมดาว่า ทานนั้น คนให้แล้วไม่ควรเดือดร้อนใจภายหลัง เหมือนที่เสนกบัณฑิตพูด นั่นแหละ.

               ก็พระราชา ครั้นทรงทำการสดุดีแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่เสนกบัณฑิตนั้น.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลายแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันจะสึกนั้น ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.
               พระราชมเหสีในครั้งนั้น ได้แก่ ภรรยาเก่าในบัดนี้
               พระราชา ได้แก่ ภิกษุผู้กระสันจะสึก
               อายุรบัณฑิต ได้แก่ พระโมคคัลลานเถระ
               ปุกกุสบัณฑิต ได้แก่ พระสารีบุตรเถระ
               ส่วนเสนกบัณฑิต ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทสัณณกชาดกที่ ๖ ว่าด้วย ให้แล้วไม่เดือดร้อนภายหลังทำได้ยาก จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 997 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1007 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1014 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4386&Z=4415
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=2854
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=2854
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :