ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1079 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1086 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1093 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โกฏสิมพลิชาดก
ว่าด้วย การระวังภัยที่ยังไม่มาถึง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการข่มกิเลสแล้ว จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อหํ ทสสตพฺยามํ ดังนี้.
               เรื่องจักมีแจ้งชัดในปัญญาสชาดก.
               แต่ในที่นี้ พระศาสดาทรงเห็นภิกษุทั้งหลายประมาณ ๕๐๐ รูป ถูกกามวิตกครอบงำ ภายในโกฏิสัณฐารกะ จึงทรงประชุมสงฆ์ ตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ควรระแวง ก็ควรระแวง ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย เมื่อเจริญขึ้นก็ย่อมทำลายเรา เหมือนต้นไทรเป็นต้น เมื่อเติบโตขึ้นก็ทำลายต้นไม้ฉะนั้น
               ด้วยเหตุนั้น ในปางบรรพ์เทวดาผู้เกิดที่โกฎสิมพลิงิ้วใหญ่ เห็นนกตัว ๑ กินลูกนิโครธ ถ่ายอุจจาระรดกิ่งต้นไม้ของตน ได้ประสบความกลัวว่า ต่อแต่นี้ไปวิมานของเราจักมีความพินาศ ดังนี้.
               แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นรุกขเทวดาที่โกฏสิมพลี ภายหลังพญาครุฑตัวหนึ่งเนรมิตอัตภาพ ๑๕๐ โยชน์ ใช้ลมปีกพัดน้ำในทะเลแหวกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วเฉี่ยวเอานาคราชตัวหนึ่งยาวพันวาที่หางให้ขยอกเหยื่อที่พญานาคนั้นใช้ปากคาบไว้ทิ้ง บินไปทางยอดป่า มุ่งหมายโกฏสิมพลี.
               นาคราชเมื่อห้อยหัวลง จึงคิดว่า เราจักสลัดตัวให้หลุด จึงสอดขนดเข้าไปที่ต้นนิโครธต้น ๑ พันต้นนิโครธยึดไว้. ต้นนิโครธก็ถอนขึ้น เพราะความแรงของพญาครุฑและพญานาคร่างใหญ่. พญานาคก็ไม่ปล่อยต้นไม้เลย.
               ครุฑจึงเฉี่ยวเอาพญานาค พร้อมกับต้นนิโครธไปถึงโกฏสิมพลี แล้วให้พญานาคนอนบนด้านหลังของลำต้นไม้ ฉีกท้องกินมันข้นของพญานาคแล้วทิ้งซากที่เหลือลงทะเลไป.
               ก็บนต้นนิโครธนั้น มีนกตัวเมียตัวหนึ่ง เมื่อพญานาคทิ้งต้นนิโครธแล้ว มันก็บินไปเกาะอยู่ระหว่างกิ่งของต้นโกฏสิมพลี. รุกขเทวดาเห็นมันแล้วสะดุ้งกลัวตัวสั่นไปโดยคิดว่า นกตัวเมียตัวนี้จักถ่ายอุจจาระรดลำต้นไม้ของเรา ต่อนั้นไปพุ่มไทรหรือพุ่มไม้ป่า ก็จะขึ้นท่วมทับถมต้นไม้ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นวิมานของเรา ก็จักพินาศ. เมื่อรุกขเทวดาสั่นสะท้านอยู่ โกฏสิมพลีก็สั่นไปถึงโคน.
               พญาครุฑเห็นรุกขเทวดาสั่นสะท้านอยู่ เมื่อจะถามถึงเหตุ จึงได้กล่าวคาถาว่า :-
               เราได้เอาพญานาคยาวตั้งพันวามาแล้ว ท่านทรงพญานาคนั้นและเราอยู่ได้ ไม่สั่นสะท้าน.
               ดูก่อนโกฏสิมพลีเทพบุตร ก็เพราะเหตุอะไร? ท่านเมื่อทรงนกตัวเล็กๆ นี้ ที่มีเนื้อน้อยกว่าเรา จึงกลัวตัวสั่นสะท้านไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสสตพยามํ ความว่า ยาวพันวา.
               บทว่า อุรคมาทาย อาคโต ความว่า เราเอางูตัวใหญ่มา ณ ที่นี้อย่างนี้.
               บทว่า ตญฺจ มญฺจ ความว่า ทั้งงูตัวใหญ่ทั้งฉัน.
               บทว่า ธารยํ ได้แก่ ธารยมาโพ คือทรงไว้อยู่.
               บทว่า พฺยถสิ ความว่า สั่นเทิ้มอยู่.
               บทว่า กิมตฺถํ ความว่า พญาครุฑถามว่า ประโยชน์อะไร คือเพราะเหตุอะไร?

               พญาครุฑเรียกเทพบุตรตามนามของต้นไม้ว่า โกฏสิมพลี. เพราะว่าต้นสิมพลี คือต้นงิ้วต้นนั้น ได้ชื่อว่าโกฏสิมพลี เพราะมีลำต้นและกิ่งก้านใหญ่ แม้เทพบุตรผู้สิงอยู่บนต้นโกฏสิมพลีนั้น ก็ได้ชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น เทพบุตรเมื่อจะกล่าวถึงเหตุแห่งการสั่นสะท้านนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า :-
               ดูก่อนพญาครุฑ ท่านมีเนื้อเป็นภักษาหาร นกตัวนี้มีผลไม้เป็นภักษาหาร นกตัวนี้จักจิกกินลูกนิโครธ ลูกกร่าง ลูกมะเดื่อ และลูกโพธิ์ แล้วมาถ่ายรดลำต้นไม้ของเรา.
               ต้นไม้เหล่านั้นจะเติบโตขึ้น พวกมันเกิดในที่อับลมไม่มีอากาศที่ข้างเรา จักปกคลุมเรา ทำเราไม่ให้เป็นต้นไม้.
               ต้นไม้ต้นอื่นๆ เป็นหมู่ไม้มีรากมีลำต้นที่มีอยู่ ก็จะถูกสกุณชาติตัวนี้ทำลายไป โดยการนำพืชผลมากิน.
               เพราะว่า ต้นไม้ทั้งหลายที่งอกขึ้น จะเจริญเติบโตขึ้นเลยต้นไม้เจ้าป่า ที่มีลำต้นใหญ่ไป ข้าแต่พญาครุฑ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้ามองเห็นภัยที่ยังไม่มาถึง จึงสั่นสะท้านอยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอทหิสฺสติ ความว่า จักถ่ายอุจจาระรด.
               บทว่า เต รุกฺขา ความว่า ต้นไม้ทั้งหลายมีต้นไทรเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว จากพืชผลเหล่านั้น.
               บทว่า สํวิรูหนฺติ ความว่า จักงอกงามขึ้น คือจักเจริญเติบโตขึ้น.
               บทว่า มม ปสฺเส ความว่า ในระหว่างกิ่งเป็นต้นของเรา.
               บทว่า นิวาตชา ความว่า เกิดแล้วในที่อับลม เพราะลมถูกบังไว้.
               บทว่า ปริโยนทฺธิสฺสนฺติ ความว่า ต้นไม้เหล่านั้นเติบโตขึ้นอย่างนี้ แล้วจักปกคลุมเราไว้. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กริสฺสเร ความว่า ภายหลังครั้นปกคลุมอย่างนี้แล้ว ก็จักทำเราไม่ให้เป็นต้นไม้เลย คือจักทำลายโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า รุกฺขาเส ได้แก่ต้นไม้.
               บทว่า มูลิโน ขนฺธิโน ความว่า ทั้งมีรากสมบูรณ์ ทั้งมีกิ่งสมบูรณ์. คำว่า ทุมา เป็นคำที่เป็นไวพจน์ของคำว่า รุกขานั่นเอง.
               บทว่า วีชมาหริตฺวา ความว่า นำพืชผลมาแล้ว.
               บทว่า หตา ความว่า ต้นไม้ในป่านี้แม้ต้นอื่นๆ ที่ถูกให้พินาศไปแล้วมีอยู่.
               บทว่า อชฺฌารูหา หิ วฑฺฒนฺติ ความว่า รุกขเทพบุตรแสดงว่า เพราะว่า ต้นไม้ทั้งหลายมีต้นนิโครธเป็นต้น เป็นต้นไม้ขึ้นคลุมแล้วก็จักเติบโตเลยต้นไม้เจ้าป่า แม้ต้นใหญ่ๆ ต้นอื่นไป.
               ก็ในบทว่า วนปฺปตึ นี้มีปาฐะถึง ๓ อย่างทีเดียวคือ วเนปติ วนสฺส ปติ วนปฺปติ.

               รุกขเทพบุตรเรียกครุฑว่า ราชา.
               ครุฑ ครั้นได้ฟังคำของรุกขเทวดาแล้ว จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
               ธีรชนควรระแวงภัยที่ควรระแวง ควรระวังภัยที่ยังไม่มาถึง ธีรชนย่อมพิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒ เพราะภัยในอนาคต.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาคตํ ภยํ ความว่า ธีรชนเมื่อเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าระวังรักษาภัยที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ที่เป็นในภายภาคหน้า คืออนาคตบ้างไว้
               และเมื่อไม่เข้าไปคบหาบาปมิตร และคนที่เป็นคู่เวรกัน ก็ชื่อว่าระวังภัยที่ยังไม่มาถึง ควรระวังภัยที่ยังไม่มาถึงอย่างนี้.
               บทว่า อนาคตภยา ความว่า เพราะเหตุแห่งภัยในอนาคต ธีรชนเมื่อพิจารณาเห็นภัยนั้น ชื่อว่าเล็งเห็น คือมองเห็นทั้งโลกนี้และโลกหน้า.

               ก็แล ครุฑครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงให้นกนั้นหนีไปจากต้นไม้นั้นด้วยอานุภาพของตน.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า เธอทั้งหลายควรระแวงสิ่งที่ควรระแวงดังนี้ ทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย แล้วทรงประชุมชาดกไว้
               ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปดำรงอยู่แล้วในอรหัตผล.
               พญาครุฑในครั้งนั้น ได้แก่ พระสารีบุตร ในบัดนี้
               ส่วนรุกขเทวดา ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาโกฏสิมพลิชาดกที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โกฏสิมพลิชาดก ว่าด้วย การระวังภัยที่ยังไม่มาถึง จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1079 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1086 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1093 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4670&Z=4688
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=4525
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=4525
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :