ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1093 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1100 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1107 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ชาครชาดก
ว่าด้วย ผู้หลับและตื่น

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภอุบาสกคนใดคนหนึ่ง แล้วตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า โกธ ชาครตํ สุตฺโต ดังนี้.
               ความพิสดารว่า อุบาสกคนนั้นเป็นอริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน เดินทางกันดารไปกับพ่อค้าเกวียน. นายกองเกวียนคือหัวหน้าพ่อค้า ปลดเกวียน ๕๐๐ เล่มไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งในทางกันดารนั้น เป็นสถานที่หาน้ำได้สะดวก จัดแจงเคี้ยวของกินแล้ว ก็เข้าที่พักผ่อน. คนเหล่านั้นพากันนอน ณ ที่นั้นๆ แล้วก็หลับไป. ส่วนอุบาสกตั้งใจเดินจงกรมที่ควงต้นไม้ต้นหนึ่ง ใกล้ๆ นายกองเกวียน.
               ลำดับนั้น พวกโจร ๕๐๐ คนผู้ต้องการจะปล้นพ่อค้านั้น ได้พากันถืออาวุธนานาชนิดมายืนล้อมพ่อค้านั้นไว้. พวกเขาเห็นอุบาสกนั้นกำลังจงกรมอยู่ คิดว่า พวกเราจักปล้นเวลาอุบาสกคนนี้หลับ แล้วได้พากันอยู่ ณ ที่นั้นๆ. ฝ่ายอุบาสกก็ได้จงกรมอยู่ตลอดราตรี ๓ ยามทีเดียว.
               เวลาย่ำรุ่ง พวกโจรพากันทิ้งก้อนหินและไม้ค้อนเป็นต้นที่ถือมาแล้ว พูดว่า นายกองเกวียนผู้เจริญ ท่านได้ชีวิตแล้วเกิดเป็นเจ้าของของสิ่งที่มีอยู่ของท่าน เพราะอาศัยบุรุษคนนี้ผู้ตื่นอยู่ เพราะความไม่ประมาท ท่านควรทำสักการะบุรุษคนนี้ ดังนี้แล้ว จึงหลีกหนีไป.
               คนทั้งหลายลุกขึ้นตามเวลานั่นเอง เห็นก้อนหินและไม้ค้อนเป็นต้น ที่พวกโจรเหล่านั้นทิ้งไว้ แล้วพูดว่า พวกเราได้ชีวิตเพราะอาศัยอุบาสกคนนี้ แล้วได้พากันทำสักการะอุบาสก.
               ฝ่ายอุบาสกไปสู่ที่ที่ตนต้องการทำกิจเสร็จแล้ว กลับมากรุงสาวัตถีอีก ได้ไปสู่พระวิหารเชตวัน บูชาพระตถาคต ถวายนมัสการแล้วนั่ง เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า ดูก่อนอุบาสก ท่านไม่ปรากฏตัวหรือ? แล้วจึงกราบทูลเนื้อความนั้น. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก ก็ท่านเองไม่หลับนอนปฏิบัติอยู่แต่ไม่ได้คุณพิเศษเลย ฝ่ายบัณฑิตในปางก่อน เมื่อปฏิบัติก็ได้คุณพิเศษ ดังนี้ แล้วถูกอุบาสกทูลขอร้อง จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ เติบโตแล้วเรียนศิลปะทุกอย่างที่เมืองตักกสิลาจบ กลับมาอยู่ที่ท่ามกลางเรือน ในเวลาต่อมาก็ออกบวชเป็นฤๅษี ไม่นานเท่าไร ก็ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีอิริยาบถยืนจงกรมอยู่ในถิ่นป่าหิมพานต์ ไม่เข้าถึงการนอน จงกรมอยู่ตลอดทั้งคืน.
               ลำดับนั้น เทวดาผู้เกิดบนต้นไม้ใกล้ที่จงกรมของท่านดีใจ ยืนอยู่ที่ค่าคบต้นไม้.
               เมื่อจะถามปัญหา จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               เมื่อคนทั้งหลายในโลกนี้ตื่นอยู่ ใครเป็นผู้หลับแล้ว แต่เมื่อคนทั้งหลายในโลกนี้หลับแล้ว ใครเป็นผู้ตื่น ใครเข้าใจปัญหาข้อนี้ของเรา ใครจะแก้ปัญหาข้อนั้นของเรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกธ ตัดบทเป็น โก อิธ ความว่า ในโลกนี้ใคร.
               บทว่า โก เมตํ ความว่า เทวดาถามว่า ใครรู้ชัดปัญหาข้อนี้ของเรา.
               บทว่า โก ตํ ปฏิภณ ความว่า ใครจะตอบปัญหาที่เราถามข้อนั้นๆ ของเราได้ คือว่าใครจักสามารถกล่าวแก้ปัญหาได้.

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลายตื่นอยู่ ข้าพเจ้าเป็นผู้หลับแล้ว แต่เมื่อคนทั้งหลายหลับแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้ตื่น ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหาข้อนั้น ข้าพเจ้าจะแก้ปัญหาของท่านได้.


               ดังนี้แล้ว ถูกเทวดานั้น ถามคาถานี้ว่า :-
               เมื่อคนทั้งหลายตื่นอยู่ ท่านจะเป็นผู้หลับได้อย่างไร เมื่อคนทั้งหลายหลับแล้ว ท่านจะเป็นผู้ตื่นได้อย่างไร ท่านเข้าใจปัญหาข้อนี้อย่างไร ท่านจะแก้ปัญหาของข้าพเจ้าอย่างไร?
ดังนี้

               เมื่อจะพยากรณ์เนื้อความนั้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               ดูก่อนเทวดา ชนเหล่าใดไม่รู้ธรรม คือ สัญญมะและทมะ เมื่อชนเหล่านั้นหลับแล้ว เพราะประมาท ข้าพเจ้าตื่นอยู่.
               พระอริยเจ้าเหล่าใด สำรอกราคะโทสะและอวิชชาออกแล้ว เมื่อพระอริยเจ้าเหล่านั้นตื่นอยู่ ข้าพเจ้าเป็นผู้หลับแล้ว ท่านเทวดา.
               เมื่อพระอริยเจ้าเหล่านั้นตื่นอยู่ ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้หลับแล้วอย่างนี้ แต่เมื่อคนทั้งหลายหลับแล้ว ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหาข้อนี้อย่างนี้ ข้าพเจ้าแก้ปัญหาของท่านอย่างนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กถํ ชาครตํ สุตฺโต ความว่า ท่านชื่อว่าเป็นผู้ตื่นแล้ว ในระหว่างสัตว์ทั้งหลายผู้ตื่นอยู่อย่างไร?
               ในทุกบทก็มีนัยนี้.
               บทว่า เย ธมฺมํ ความว่า สัตว์เหล่าใดไม่รู้ชัดโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ อย่าง.
               บทว่า สญญฺโมติ ทโมติ จ ความว่า และไม่รู้ทั้งศีล ทั้งอินทรีย์สังวร ที่มาแล้วโดยมรรคอย่างนี้ว่า นี้สัญญมะ นี้ทมะ.
               จริงอยู่ อินทรีย์สังวรท่านเรียกว่า ทมะ เพราะข่มอินทรีย์ทั้งหลาย มีใจเป็นที่ ๖ ไว้.
               บทว่า เตสุ สุตฺตปฺปมาเทสุ ความว่า เมื่อสัตว์เหล่านั้นหลับแล้ว ด้วยอำนาจกิเลสข้าพเจ้าก็ตื่น ด้วยอำนาจแห่งความไม่ประมาท.
               คาถาว่า เยสํ ราโค จ เป็นต้น มีเนื้อความว่า
               กิเลสเหล่านี้ คือราคะ กล่าวคือ ความโลภ ๑,๕๐๐ ที่ท่านแสดงไว้ด้วยสตบท โทสะที่มีอาฆาตวัตถุ ๙ ประการเป็นสมุฏฐาน และอวิชชาที่เป็นความไม่รู้ในวัตถุ ๘ ประการมีทุกข์เป็นต้นอันพระมหาขีณาสพเหล่าใดคลายแล้ว คือละได้แล้ว.
               ดูก่อนเทวดา เมื่อพระอริยเจ้าเหล่านั้นตื่นอยู่ โดยอาการทั้งปวง ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้หลับแล้ว เพราะหมายเอาพระอริยเจ้าเหล่านั้น.
               บทว่า เอวํ ชาครตํ ความว่า ข้าพเจ้าชื่อว่า เป็นผู้หลับแล้ว ในระหว่างพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ตื่นอยู่ ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้.
               ในทุกๆ บท มีนัยนี้.

               เมื่อพระมหาสัตว์แก้ปัญหาอย่างนี้แล้ว เทวดาพอใจ เมื่อจะทำการสดุดีพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
               ถูกแล้ว เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลายตื่นอยู่ ท่านเป็นผู้หลับแล้ว แต่เมื่อคนทั้งหลายหลับแล้ว ท่านได้เป็นผู้ตื่นดีแล้ว ท่านเข้าใจปัญหาข้อนี้ของข้าพเจ้าดีแล้ว ท่านตอบปัญหาของข้าพเจ้าถูกต้องแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ เป็นต้น ความว่า ท่านแก้ปัญหาข้อนี้ทำให้ดีแล้ว คือเจริญแล้ว ถึงเราก็จะแก้ปัญหาข้อนั้นอย่างนี้เหมือนกัน.

               เทวดานั้น ครั้นทำการสดุดีพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว ก็เข้าไปสู่วิมานของตนทีเดียว.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า
               เทวดาในครั้งนั้น ได้แก่ อุบลวรรณาเถรี
               ส่วนดาบส ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาชาครชาดกที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ชาครชาดก ว่าด้วย ผู้หลับและตื่น จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1093 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1100 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1107 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4706&Z=4727
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=4686
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=4686
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :