ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1255 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1265 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1274 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โลมสกัสสปชาดก
ว่าด้วย ตบะเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสฺส อินฺทสโม ราชา ดังนี้
               ความย่อมีว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ เขาว่าเธอกระสันจริงหรือ? เมื่อภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า
               จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ก็ลมที่พัดภูเขาสิเนรุให้หวั่นไหว ทำไมจึงจักไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้หวั่นไหวเล่า แม้ผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยยศทั่วๆ ไป ยังถึงความเสื่อมยศได้ ชื่อว่ากิเลสย่อมทำสัตว์ที่บริสุทธิ์ให้เศร้าหมองได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงคนเช่นเธอ ดังนี้
               แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล โอรสของพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองพระนครพาราณสี ชื่อว่าพรหมทัตตกุมาร และบุตรของปุโรหิต ชื่อว่ากัสสปะ เป็นสหายกัน เรียนศิลปะทุกอย่างในตระกูลอาจารย์คนเดียวกัน.
               ต่อมา เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พรหมทัตตกุมารได้ครองราชสมบัติ
               ที่นั้นกัสสปกุมารคิดว่า สหายของเราเป็นพระราชา บัดนี้คงจักพระราชทานความเป็นใหญ่ ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นใหญ่สำหรับเรา เราจักลามารดาบิดาและพระราชาแล้วบวช
               ครั้นเขาคิดดังนี้แล้ว จึงได้ถวายบังคมลาพระราชาและลามารดาบิดา เข้าดินแดนหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษี ในวันที่ ๗ ได้อภิญญาและสมาบัติ เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเที่ยวแสวงหาผลไม้ คนทั้งหลายพากันเรียกท่านซึ่งเป็นบรรพชิตว่าโลมสกัสสปะ ท่านเป็นดาบสที่มีอินทรีย์สงบระงับอย่างยิ่ง มีตบะแรงกล้า ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหวด้วยเดชแห่งตบะของดาบสนั้น.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาดูเห็นเหตุดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า ดาบสนี้มีเดชสูงนัก จะทำเราให้เคลื่อนจากความเป็นท้าวสักกะ เราจักร่วมมือกับพระเจ้าพาราณสี ทำลายตบะของดาบสนั้นเสีย.
               ครานั้น ท้าวเธอได้เสด็จเข้าไปยังห้องสิริไสยาสน์ของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาเที่ยงคืน แสดงอานุภาพของท้าวสักกะ บันดาลห้องทั้งหมดให้สว่างด้วยรัศมีแห่งพระสรีระ ลอยอยู่ในอากาศในสำนักของพระราชา ปลุกพระราชาว่า ตื่นขึ้นเถิดมหาราช เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร ตรัสตอบว่า เราคือท้าวสักกะ ตรัสถามว่า ท่านมาเพื่ออะไร? ตรัสย้อนถามว่า มหาราช ท่านจะปรารถนาความเป็นเอกราชในชมพูทวีปทั้งสิ้น หรือไม่ปรารถนา? ตรัสตอบว่า ทำไมจึงจะไม่ปรารถนาเล่า.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะพระราชาว่า ถ้าเช่นนั้น พระองค์จงนำโลมสกัสสปดาบสมาบูชาปสุฆาตยัญ พระองค์จะเสมอด้วยท้าวสักกะ ไม่แก่ไม่ตายจักได้ครองราชสมบัติทั่วชมพูทวีป ดังนี้
               แล้วตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ถ้าท่านนำเอาฤๅษีโลมสกัสสปะมาบูชายัญได้ ท่านจักได้เป็นพระราชาเสมอด้วยพระอินทร์ ไม่รู้แก่ ไม่รู้ตายเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺส แปลว่า จักได้เป็น. บทว่า ยเชยฺย ความว่า ถ้าท่านนำฤๅษีโลมสกัสสปะจากที่อยู่ในป่ามาบูชายัญได้.

               ลำดับนั้น พระราชาได้ทรงสดับพระดำรัสของท้าวสักกะแล้ว ทรงรับคำว่า ดีแล้ว ครานั้น ท้าวสักกะตรัสเตือนว่า ถ้าเช่นนั้น ก็อย่าเนิ่นช้า แล้วเสด็จหลีกไป.
               วันรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้เรียกไสยหะอำมาตย์ตรัสว่า แน่ะเพื่อน ท่านจงไปสำนักโลมสกัสสปะผู้เป็นสหายที่รักของเรา จงพูดตามคำของเราอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า พระราชาจักให้ท่านบูชาปสุฆาตยัญ แล้วจักเป็นเอกราชทั่วชมพูทวีป ท่านปรารถนาประเทศเท่าใด พระราชาจักพระราชทานประเทศเท่านั้นแก่ท่าน ขอท่านจงมาเพื่อบูชายัญกับเรา.
               ไสยหะอำมาตย์ได้ฟังดังนั้นแล้ว กราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า แล้วให้ตีกลองป่าวประกาศในพระนคร เพื่อจะรู้ที่อยู่ของดาบส เมื่อชาวป่าคนหนึ่งบอกว่า ข้าพเจ้ารู้ ได้ให้เขาเป็นคนนำทางไปในที่นั้นด้วยบริวารใหญ่ ไหว้พระฤๅษีแล้วนั่ง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง แจ้งข่าวสาส์นนั้น.
               ลำดับนั้น พระดาบสได้ฟังคำของไสยหะอำมาตย์ แล้วกล่าวว่า ดูก่อนไสยหะ ท่านพูดอะไรนั่น เมื่อจะปฏิเสธถ้อยคำของไสยหะอำมาตย์ ได้กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า :-
               อาตมาไม่ปรารถนาแผ่นดินที่มีทะเลล้อมรอบ มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต พร้อมกับความนินทา ดูก่อนไสยหะ ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.
               ดูก่อนพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และความประพฤติอันไม่เป็นธรรม มีแต่จะให้ถึงความพินาศ.
               ถึงแม้จะเป็นบรรพชิต ต้องอุ้มบาตรหาเลี้ยงชีพ แต่ไม่เบียดเบียนใคร ความเป็นอยู่เช่นนั้น ยังดีกว่าการแสวงหาที่ไม่เป็นธรรมจะดีอะไร.
               ถึงแม้จะเป็นบรรพชิต ต้องอุ้มบาตรหาเลี้ยงชีพ แต่ไม่เบียดเบียนใคร ความเป็นอยู่นั่นแหละประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาในโลก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สสมุทฺทปริยายํ คือที่มีทะเลล้อมรอบ.
               บทว่า สาครกุณฺฑลํ คือที่ประกอบด้วยสาครอันตั้งแวดล้อมทวีปทั้ง ๔ ดุจกุณฑลที่เขาประดับไว้ที่จอนหู ฉะนั้น.
               บทว่า สห นินฺทาย ความว่า โลมสกัสสปดาบสกล่าวว่า อาตมาไม่ปรารถนาแม้มหาปฐพีที่มีจักรวาลเป็นที่สุด พร้อมด้วยคำนินทานี้ว่า โลมสกัสสปดาบสนี้ได้ทำปสุฆาตกรรมแล้ว.
               ด้วยบทว่า ยา วุตฺติ วินิปาเตน โลมสกัสสปดาบสแสดงว่า เราติเตียนความเป็นไปแห่งชีวิต คือตำหนิความประพฤตินั้น เพราะเป็นกรรมที่ให้ตกไปในนรก.
               บทว่า สาเยว ชีวิกา ความว่า ความเป็นอยู่โดยวิธีอุ้มเอาบาตรเดินเข้าไปสู่เรือนของผู้อื่น แสวงหาอาหารของบรรพชิตนั่นแหละ ดีกว่าการได้ยศทรัพย์และลาภตั้งร้อยเท่าพันทวีคูณ.
               บทว่า อปิ รชฺเชน ตํ วรํ ความว่า การงดเว้นความชั่วของบรรพชิต ผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนั้นประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น.

               อำมาตย์ฟังคำของพระดาบสนั้นแล้ว ได้ไปกราบทูลแด่พระราชา พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ตรัสว่า เมื่อท่านไม่มา เราก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ จึงได้ทรงนิ่งอยู่
               ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จมาในเวลาเที่ยงคืนอีก ประทับอยู่ในอากาศ ตรัสว่า ดูก่อนมหาราช เหตุไรพระองค์จึงไม่บังคับโลมสกัสสปดาบสให้บูชายัญ
               พระราชาตรัสว่า ข้าพระองค์ส่งอำมาตย์ไปบอกแล้ว แต่ท่านไม่มา.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ดูก่อนมหาราช ถ้าเช่นนั้น พระองค์จงตกแต่งจันทวดีกุมารี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระองค์ แล้วมอบให้ไสยหะอำมาตย์นำไปบอกว่า ถ้าท่านมาบูชายัญ พระราชาจักพระราชทานพระราชกุมารีนี้แก่ท่าน พระดาบสนั้นจักมีจิตปฏิพัทธ์ในกุมารี จักมาเป็นแน่.
               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงรับว่า ดีแล้ว.
               วันรุ่งขึ้น ทรงมอบพระราชธิดาของพระองค์แก่ไสยหะอำมาตย์ส่งไปแล้ว ไสยหะอำมาตย์พาพระราชธิดาไปในที่นั้น ไหว้พระฤๅษีทำปฏิสันถารแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง แสดงพระราชธิดาซึ่งงามประดุจเทพอัปสรแก่พระฤๅษี.
               ลำดับนั้น พระดาบสทำลายอินทรีย์เสียแล้ว แลดูพระราชธิดา พร้อมกับการแลดูนั่นเอง เกิดจิตปฏิพัทธ์ขึ้นแล้วเสื่อมจากฌาน.
               อำมาตย์รู้ว่าพระดาบสมีจิตปฏิพัทธ์ จึงกล่าวว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านบูชายัญ พระราชาจักพระราชทานพระราชธิดานี้ให้เป็นบาทบริจาริกาสำหรับท่าน.
               พระดาบสนั้นกำลังหวั่นไหวไปด้วยอำนาจกิเลส จึงถามว่า ได้ยินว่า พระราชาจักพระราชทานพระราชธิดานี้แก่เราหรือ?
               อำมาตย์ตอบว่า ถูกแล้ว พระราชาจักพระราชทานแก่ท่านผู้บูชายัญ.
               พระดาบสกล่าวว่า ดีแล้ว เมื่อเราได้พระราชธิดานี้จักบูชายัญ แล้วสวมชฎาพาพระราชธิดาขึ้นรถที่ประดับงดงาม ไปพระนครพาราณสี.
               แม้พระราชาได้สดับว่า พระดาบสมา ก็รับสั่งให้ตั้งพิธีกรรมขึ้นที่หลุมบูชายัญไว้สำหรับพระดาบสนั้น ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นพระดาบสมา ก็ตรัสว่า ท่านบูชายัญในวันพรุ่งนี้ เราจักเป็นผู้เสมอด้วยพระอินทร์ เวลาเสร็จการบูชายัญ เราจักถวายธิดาแก่ท่าน
               กัสสปดาบสรับคำว่า ดีแล้ว ครั้นในวันรุ่งขึ้น พระราชาพาท่านดาบสไปที่หลุมบูชายัญพร้อมกับนางจันทวดี ในหลุมนั้นได้มีสัตว์ ๔ เท้าทุกอย่าง เช่นช้าง ม้า โคเป็นต้น ประดิษฐานไว้เป็นลำดับ.
               พระดาบสเริ่มจะฆ่าสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดให้ตายแล้วบูชายัญ มหาชนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น เห็นดังนั้นกล่าวว่า ดูก่อนโลมสกัสสปะ กรรมนี้ไม่เหมาะไม่สมควรแก่ท่าน ทำกรรมนั้นเพื่ออะไร แล้วคร่ำครวญ
               กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               พระจันทร์มีกำลัง พระอาทิตย์มีกำลัง สมณพราหมณ์มีกำลัง ฝั่งแห่งสมุทรก็มีกำลัง หญิงมีกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหลาย.
               พระนางจันทวดี ทำให้ฤๅษีชื่อโลมสกัสสปะผู้มีตบะกล้า มาบูชายัญเพื่อประโยชน์แก่พระราชบิดาได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลํ จนฺโท พลํ สุริโย ความว่า ในการจำกัดความมืดใหญ่ ชื่อว่ากำลังอย่างอื่น ย่อมไม่มีในการกำจัดความมืดใหญ่นี้ พระจันทร์และพระอาทิตย์เท่านั้นมีกำลัง.
               บทว่า สมณพฺราหฺมณา ความว่า ในการอดกลั้นต่อกำลังแห่งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยกำลังคือขันติ และกำลังคือญาณ ผู้มีบาปอันสงบและมีบาปอันลอยแล้ว มีกำลัง.
               บทว่า พลํ เวลา สมุทฺทสฺส ความว่า ฝั่งแห่งมหาสมุทรชื่อว่ามีกำลัง เพราะสามารถที่จะไม่ให้น้ำล้นขึ้นมาและกั้นน้ำเอาไว้ให้พินาศได้.
               บทว่า พลาติพลมิตฺถิโย ความว่า ส่วนหญิงทั้งหลาย ชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหมด เพราะสามารถจะพาบุรุษที่มีความรู้ดีแต่มีกำหนัดมาสู่อำนาจของตนแล้วให้พินาศได้. อธิบายว่า กำลังแห่งหญิงเท่านั้นมีมากกว่ากำลังทั้งหมด.
               ศัพท์ว่า ยถา เท่ากับ ยสฺมา แปลว่า เพราะเหตุใด.
               บทว่า ปิตุ อตฺถา คือเพื่อประโยชน์แห่งความเจริญแก่พระราชบิดา.
               ข้อนี้มีอธิบายว่า เพราะนางจันทวดีนี้กระทำโลมสกัสสปะผู้มีตบะกล้า ผู้ชื่อว่าเป็นฤๅษี เพราะเป็นผู้แสวงหาคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ให้เป็นผู้ไม่มีศีล แล้วให้บูชาวาชเปยยะ คือยัญ เพื่อประโยชน์แก่พระราชบิดาได้ ฉะนั้น ข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า หญิงมีกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหลาย.

               ขณะนั้น กัสสปดาบสเงื้อพระขรรค์แก้วขึ้น ด้วยคิดว่า จักฟันคอมงคลหัตถีเพื่อบูชายัญ ช้างเห็นดังนั้นก็สะดุ้งกลัวต่อมรณภัย จึงร้องเสียงดัง แม้พวกสัตว์นอกนี้ คือช้าง ม้า โคเป็นต้น ได้ฟังเสียงร้องของช้างมงคลหัตถีนั้น ต่างก็สะดุ้งกลัวต่อมรณภัย จึงได้ร้องลั่นด้วยความกลัว แม้มหาชนก็พากันร้อง กัสสปดาบสได้ยินเสียงร้องกันใหญ่ดังนั้น ก็สลดใจ แลดูชฎาเป็นต้นของตน.
               ลำดับนั้น ชฎา หนวด ขนรักแร้ ขนอก ได้ปรากฏแก่พระดาบสนั้น พระดาบสมีความเดือดร้อนใจ คิดว่า เราได้ทำกรรมลามก ไม่สมควรเลย.
               เมื่อจะประกาศความสลด ได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-
               กรรมที่ทำด้วยความโลภนั้น เผ็ดร้อน มีกามเป็นเหตุ เราจักค้นหามูลรากของกรรมนั้น จักตัดความกำหนัดพร้อมทั้งเครื่องผูกเสีย.


               พึงทราบความแห่งคำที่เป็นคาถานั้นว่า
               ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ กรรมใดที่ข้าพระองค์ทำความโลภในนางจันทวดีให้เกิดขึ้น แล้วทำลงด้วยความโลภนั้น กรรมนั้นมีกามเป็นเหตุ เป็นกรรมลามก เผ็ดร้อน มีวิบากแรงกล้า ข้าพระองค์จักค้นหามูลราก กล่าวคืออโยนิโสมนสิการของกรรมนั้น สมควรแล้วที่ข้าพระองค์จักชักดาบ คือปัญญาออก ตัดความกำหนัดยินดี พร้อมด้วยเครื่องผูกพัน คือศุภนิมิต.

               ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะพระดาบสว่า ดูก่อนสหาย อย่ากลัวเลย เราจักให้นางจันทวดีกุมารีและกองแก้ว ๗ ประการแก่ท่านในบัดนี้ ท่านจงบูชายัญเถิด.
               พระกัสสปดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ไม่ต้องการด้วยกิเลสนี้ แล้วกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
               ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ติเตียนกามคุณทั้งหลาย ที่มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ตบะธรรมเท่านั้นประเสริฐกว่ากามคุณทั้งหลาย
               ข้าพระองค์จักละกามคุณทั้งหลายเสีย แล้วบำเพ็ญตบะ ส่วนนางจันทวดีจงอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุพหูปิ คือแม้อันมากยิ่ง.
               บทว่า ตโป กริสฺสามิ คือจักบำเพ็ญความสำรวมในศีลเท่านั้น.

               พระดาบส ครั้นทูลดังนี้แล้ว ได้ประมวลกสิณบริกรรมทำคุณวิเศษที่เสียไปให้เกิดขึ้น นั่งบัลลังก์ในอากาศแสดงธรรมแก่พระราชา กล่าวสอนว่าจงอย่าประมาท แล้วทำลายหลุมบูชายัญ ให้อภัยทานแก่มหาชน.
               เมื่อพระราชายังวิงวอนอยู่ ได้เหาะไปที่อยู่ของตน เจริญพรหมวิหารธรรมจนตลอดชีวิต ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามาแสดง ดังนี้แล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันตั้งอยู่ในพระอรหัตผล.
               พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
               ไสยหะมหาอำมาตย์ในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระสารีบุตร ในบัดนี้
               ส่วนโลมสกัสสปดาบส ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาโลมสกัสสปชาดกที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โลมสกัสสปชาดก ว่าด้วย ตบะเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1255 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1265 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1274 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5273&Z=5295
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=7678
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=7678
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :