ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1310 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1319 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1329 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา จตุทวารชาดก
ว่าด้วย จักรกรดพัดบนศีรษะ

               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า จตุทฺวารมิทํ นครํ ดังนี้.
               ก็แหละ เรื่องปัจจุบัน บัณฑิตพึงให้พิสดารใน ชาดกเรื่องที่หนึ่ง ในนวกนิบาต.
               สำหรับในที่นี้มีความว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อนเธอก็ไม่เชื่อฟังคำของบัณฑิตไปยินดีจักรกรด เพราะที่เป็นผู้ว่ายากดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งศาสนาพระกัสสปทศพล
               ในเมืองพาราณสี เศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีบุตรคนหนึ่งชื่อมิตตวินทุกะ มารดาบิดาของมิตตวินทุกะ เป็นพระโสดาบัน แต่มิตตวินทุกะเป็นคนทุศีล ไม่มีศรัทธา.
               ต่อมาเมื่อบิดาตายแล้ว มารดาตรวจตราดูแลทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งกล่าวกะเขาว่า ลูกรัก ความเป็นมนุษย์เป็นของที่ได้ยาก เจ้าก็ได้แล้ว เจ้าจงให้ทานรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม ฟังธรรมเถิด มิตตวินทุกะกล่าวว่า แม่ ทานเป็นต้นไม่เป็นประโยชน์แก่ฉัน แม่อย่าได้กล่าวอะไรๆ กะฉัน ฉันจะไปตามยถากรรม
               ถึงแม้เขาจะกล่าวอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งเป็นวันบูรณมีอุโบสถ มารดาได้กล่าวกะเขาว่า ลูกรักวันนี้เป็นวันอภิลักขิตสมัยมหาอุโบสถ วันนี้เจ้าจงสมาทานอุโบสถ ไปวิหารฟังธรรมอยู่ตลอดคืนแล้วจงมา แม่จะให้ทรัพย์แก่เจ้าพันหนึ่ง
               เขารับคำว่า ดีแล้ว สมาทานอุโบสถเพราะอยากได้ทรัพย์ พอบริโภคอาหารเช้าแล้วไปวิหาร อยู่ที่วิหารตลอดวัน แล้วนอนหลับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งตลอดคืน โดยอาการที่บทแห่งธรรมแม้บทหนึ่ง ก็ไม่กระทบหู วันรุ่งขึ้น เขาล้างหน้าไปนั่งอยู่ที่เรือนแต่เช้าทีเดียว.
               ฝ่ายมารดาของเขาคิดว่า วันนี้ลูกของเราฟังธรรมแล้ว จักพาพระเถระผู้ธรรมกถึกมาแต่เช้าทีเดียว จึงตกแต่งข้าวยาคูเป็นต้น แล้วปูลาดอาสนะไว้คอยท่าอยู่
               ครั้นเห็นเขามาคนเดียว จึงถามว่า ลูกรัก เจ้าไม่ได้นำพระธรรมกถึกมาหรือ?
               เมื่อเขากล่าวว่า ฉันไม่ต้องการพระธรรมกถึก จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นลูกจงดื่มข้าวยาคูเถิด
               เขากล่าวว่า แม่รับว่าจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ฉัน แม่จงให้ทรัพย์แก่ฉันก่อน ฉันจักดื่มภายหลัง
               มารดากล่าวว่า ดื่มเถิดลูกรัก แล้วแม่จักให้ทีหลัง
               เขากล่าวว่า ฉันต้องได้รับทรัพย์ก่อนจึงจะดื่ม
               ลำดับนั้น มารดาได้เอาห่อทรัพย์พันหนึ่งวางไว้ต่อหน้าเขา เขาดื่มข้าวยาคูแล้วถือเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งไปทำการค้าขาย ในไม่ช้านักก็เกิดทรัพย์ขึ้นถึงแสนสองหมื่น. ลำดับนั้น เขาได้มีความคิดดังนี้ว่า เราจักต่อเรือทำการค้าขาย ครั้นเขาต่อเรือแล้วได้กล่าวกะมารดาว่า แม่ ฉันจักทำการค้าขายทางเรือ
               ครั้งนั้น มารดาได้ห้ามเขาว่า ลูกรัก เจ้าเป็นลูกคนเดียวของแม่ แม้ในเรือนนี้ก็มีทรัพย์อยู่มาก ทะเลมีโทษไม่น้อย เจ้าอย่าไปเลย
               เขากล่าวว่า ฉันจักไปให้ได้ แม่ไม่มีอำนาจที่จะห้ามฉัน แม้เมื่อมารดากล่าวว่า ลูกรัก แม่ต้องห้ามเจ้า แล้วจับมือเอาไว้ ก็สลัดมือผลักมารดาให้ล้มลง แล้วข้ามไปลงเรือแล่นไปในทะเล.
               ครั้นถึงวันที่ ๗ เรือได้หยุดนิ่งอยู่บนหลังน้ำกลางทะเล เพราะมิตตวินทุกะเป็นเหตุ สลากกาลกัณณีที่แจกไปได้ตกในมือของมิตตวินทุกะคนเดียวถึงสามครั้ง ครั้งนั้น พวกที่ไปด้วยกันได้ผูกแพให้เขาแล้วโยนเขาลงทะเล โดยที่คิดเห็นร่วมกันว่า คนเป็นจำนวนมากอย่ามาพินาศเสีย เพราะอาศัยนายมิตตวินทุกะนี้คนเดียวเลย ทันใดนั้นเรือได้แล่นไปในมหาสมุทรโดยเร็ว
               มิตตวินทุกะนอนไปในแพลอยไปถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง บนเกาะน้อยนั้น เขาได้พบนางชนี คือนางเวมานิกเปรต ๔ นางอยู่ในวิมานแก้วผลึก นางเปรตเหล่านั้นเสวยทุกข์ ๗ วันเสวยสุข ๗ วัน มิตตวินทุกะได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้น ๗ วันในวาระสุข ครั้นถึงวาระที่จะเปลี่ยนไปทนทุกข์ นางทั้ง ๔ ได้สั่งว่า นาย พวกฉันจักมาในวันที่ ๗ ท่านอย่ากระสันไปเลย จงอยู่ในที่นี้จนกว่าพวกฉันจะมา ดังนี้แล้วพากันไป
               มิตตวินทุกะเป็นคนตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ลงนอนบนแพนั้นลอยไปตามหลังสมุทรอีก ถึงเกาะน้อยอีกแห่งหนึ่ง ได้พบนางเปรต ๘ นาง ในวิมานเงินบนเกาะนั้น
               ได้พบนางเปรต ๑๖ นาง ในวิมานแก้วมณีบนเกาะอีกแห่งหนึ่ง
               ได้พบนางเปรต ๓๒ นาง ในวิมานทองบนเกาะอีกแห่งหนึ่ง
               โดยอุบายนี้แหละ ได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้นทุกๆ เกาะ ดังกล่าวแล้ว เมื่อถึงเวลาที่นางเปรตแม้เหล่านั้นไปทนทุกข์ ได้นอนบนหลังแพลอยไปตามห้วงสมุทรอีก ได้พบเมืองๆ หนึ่งมีกำแพงล้อมรอบ มีประตู ๔ ด้าน
               ได้ยินว่า ที่นี่เป็นอุสสทนรกเป็นที่เสวยกรรมกรณ์ของเหล่าสัตว์นรกเป็นจำนวนมาก แต่ได้ปรากฏแก่มิตตวินทุกะเหมือนเป็นเมืองที่ประดับตกแต่งไว้
               เขาคิดว่า เราจักเข้าไปเป็นพระราชาในเมืองนี้แล้วเข้าไปได้เห็นสัตว์นรกตนหนึ่งทูนจักรกรดหมุนเผาผลาญอยู่บนศีรษะ
               ขณะนั้น จักรกรดบนศีรษะสัตว์นรกนั้นได้ปรากฏแก่มิตตวินทุกะเป็นเหมือนดอกบัว เครื่องจองจำ ๕ ประการที่อก ปรากฏเหมือนเป็นสังวาลย์เครื่องประดับทรวง โลหิตที่ไหลจากศีรษะเหมือนเป็นจันทน์แดงที่ชะโลมทา เสียงครวญครางเหมือนเป็นเสียงเพลงขับที่ไพเราะ
               มิตตวินทุกะเข้าไปใกล้สัตว์นรกนั้น แล้วกล่าวขอว่า ข้าแต่บุรุษผู้เจริญ ท่านได้ทัดทรงดอกบัวมานานแล้ว จงให้แก่ข้าพเจ้าเถิด
               สัตว์นรกกล่าวว่า แน่ะสหาย นี้ไม่ใช่ดอกบัว มันคือจักรกรด
               มิตตวินทุกะกล่าวว่า ท่านพูดอย่างนี้ เพราะไม่อยากจะให้แก่เรา
               สัตว์นรกคิดว่า บาปของเราคงสิ้นแล้ว แม้บุรุษผู้นี้ ก็คงจะทุบตีมารดามาแล้วเหมือนเรา เราจักให้จักรกรดแก่มัน ครานั้น สัตว์นรกได้กล่าวกะมิตตวินทุกะว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ ท่านจงรับดอกบัวนี้เถิด แล้วขว้างจักรกรดไปบนศีรษะของมิตตวินทุกะ จักรกรดได้ตกลงพัดผันบนศีรษะเขา
               ขณะนั้น มิตตวินทุกะจึงรู้ว่าดอกบัวนั้นคือจักรกรด ได้รับทุกขเวทนาเป็นกำลัง คร่ำครวญว่า ท่านจงเอาจักรกรดของท่านไปเถิดๆ สัตว์นรกตนนั้นได้หายไปแล้ว.
               คราวนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดา พร้อมด้วยบริวารใหญ่เที่ยวจาริกไปในอุสสทนรกได้ไปถึงที่นั้น
               มิตตวินทุกะแลเห็นรุกขเทวดา เมื่อจะถามว่า ข้าแต่เทวราชเจ้า จักรนี้ลงบดศีรษะประหนึ่งว่าจะทำให้แหลกเหมือนเมล็ดงา ข้าพเจ้าได้กระทำบาปอะไรไว้หนอ ดังนี้
               จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

               เมืองนี้มีประตู ๔ ประตู มีกำแพงมั่นคงล้วนแล้วไปด้วยเหล็กแดง ข้าพเจ้าถูกล้อมไว้ด้วยกำแพง ข้าพเจ้าได้ทำบาปอะไรไว้.
               ประตูทั้งหมดจึงปิดแน่น ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนนก ข้าแต่เทวดา เหตุเป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าจึงถูกจักรกรดพัดศีรษะ?


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฬฺหปาการํ คือ มีกำแพงมั่นคง บาลีว่า ทฬฺหโตรณํ ดังนี้ก็มี ความว่า มีประตูมั่นคง. บทว่า โอรุทฺธปฏิรุทฺโธสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าถูกล้อมด้วยกำแพงโดยรอบ ติดขังอยู่ข้างในสถานที่สำหรับหนีไปไม่ปรากฏ.
               บทว่า กึ ปาปํ ปกตํ ความว่า ข้าพเจ้าได้ทำบาปอะไรไว้หนอ.
               บทว่า อปิหิตา เท่ากับ ถกิตา แปลว่า อันเขาปิดไว้แล้ว.
               บทว่า ยถา ทิโช คือ เหมือนนกที่ถูกขังไว้ในกรง.
               บทว่า กิมาธิกรณํ ความว่า มูลเหตุเป็นอย่างไร? คือมูลเค้าเป็นอย่างไร?
               บทว่า จกฺกาภินิหโต คือถูกจักรกรดพัดผันแล้ว.

               ลำดับนั้น เทวราช เมื่อจะบอกเหตุแก่เขา จึงได้กล่าวคาถา ๖ คาถาว่า :-

               ท่านได้ทรัพย์มากมายแสนสองหมื่นแล้ว ยังไม่เชื่อคำของญาติผู้เอ็นดู.
               ท่านแล่นเรือไปสู่สมุทรอันอาจทำให้เรือโลดขึ้นได้ เป็นสาครที่มีสิทธิ์น้อย ได้ประสบนางเวมานิกเปรต ๔ นาง จาก ๔ นางเป็น ๘ นาง จาก ๘ นางเป็น ๑๖ นาง.
               ถึงจะได้ประสบนางเวมานิกเปรตจาก ๑๖ นางเป็น ๓๒ นาง ก็ยังปรารถนายิ่งไปกว่านั้นจึงได้ประสบจักรนี้ จักรกรดย่อมพัดผันบนศีรษะของคนผู้ถูกความอยากครอบงำ
               ความอยากเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะให้เต็มได้ มักให้ถึงความวิบัติ ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยาก ชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้.
               ชนเหล่าใดละสิ่งของที่มีมากเสียด้วย ไม่พิจารณาหนทางด้วย แล้วไม่คิดอ่านเหตุการณ์นั้นให้ถ่องแท้ ชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้.
               ผู้ใด พึงเพ่งพินิจถึงการงานและโภคะอันไพบูลย์ ไม่ซ่องเสพความอยากอันประกอบด้วยความฉิบหาย ทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดูทั้งหลาย ผู้เช่นนั้นจะไม่ถูกจักรกรดพัดผัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลทฺธา สตสหสฺสานิ อติเรกานิ วีสติ ความว่า ท่านทำอุโบสถได้รับทรัพย์พันหนึ่งจากสำนักของมารดา เมื่อทำการค้าขายจึงได้ทรัพย์ คือที่เป็นทุนพันหนึ่งและทรัพย์ที่เป็นกำไรตั้งหนึ่งแสนสองหมื่นแล้ว.
               ด้วยบทว่า นากริ นี้ เทวราชแสดงไว้ว่า ท่านไม่ยินดีด้วยทรัพย์นั้น แล่นเรือไปสู่สมุทร แม้ถูกมารดากล่าวถึงโทษในสมุทรแล้วห้ามอยู่ ก็ยังไม่เชื่อคำเตือนโดยชอบของญาติผู้เอ็นดู กลับทำร้ายมารดาผู้โสดาบัน แล้วฉวยโอกาสหนีออกไป.
               บทว่า ลงฺฆึ คืออันสามารถทำให้เรือโลดขึ้นได้. บทว่า ปกฺขนฺทิ เท่ากับ ปกฺขนฺโตสิ แปลว่า ท่านเป็นผู้แล่นเรือไปแล้ว. บทว่า อปฺปสิทฺธิกํ คือที่มีสิทธิน้อย มากด้วยความพินาศ.
               บทว่า จตุพฺภิ อฏฺฐ เป็นต้น ความว่า ครั้นเรือหยุดนิ่งแล้วเพราะอาศัยท่านเป็นเหตุ แม้ถูกพวกที่ไปด้วยกันผูกแพให้แล้วโยนลงทะเล ท่านยังได้หญิง ๔ คนในวิมานแก้วผลึก เพราะอานิสงส์แห่งอุโบสถกรรมที่ตนได้กระทำในวันหนึ่ง เพราะอาศัยมารดา ต่อจากนั้นก็ได้ให้หญิงอีก ๘ คนในวิมานเงิน ๑๖ คนในวิมานแก้วมณี และ ๓๒ คนในวิมานทอง.
               บทว่า อติจฺฉํ จกฺกมาสโท ความว่า ถึงกระนั้น ท่านก็ยังไม่ยินดีด้วยปัจจัยตามที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปรารถนามากเกินไป เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยความปรารถนาเกินความจำเป็น กล่าวคือความอยากยิ่งอันเป็นเครื่องเกินเลยสิ่งที่ตนได้มาแล้วๆ อย่างนี้ว่า เราจักได้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ในสิ่งนี้ ดังนี้จัดว่าเป็นบุคคลเลวทราม เพราะความที่อุโบสถกรรมนั้นสิ้นแล้ว จึงได้ผ่านพ้นหญิง ๓๒ คน แล้วมาสู่เปรตนครนี้ เพราะวิบากแห่งอกุศลกรรมคือการทำร้ายมารดานั้น จึงได้ประสบจักรนี้
               บาลีว่า อตฺริจฺฉํ ดังนี้ก็มี ความว่า ปรารถนาอยู่ในสิ่งนี้บ้างสิ่งนั้นบ้าง
               บาลีว่า อตฺริจฺฉา ดังนี้ก็มี ความว่า เพราะปรารถนาเกินเลยไป.
               บทว่า ภมติ ความว่า บัดนี้ จักรนี้บดศีรษะของท่านนั้นอยู่ ชื่อว่าพัดผันบนศีรษะของคนที่ถูกความอยากครอบงำแล้ว ดุจจักรของนายช่างหม้อฉะนั้น.
               บทคาถาว่า เย จ ตํ อนุคิชฺฌนฺติ ความว่า ขึ้นชื่อว่าความอยากนั้น เมื่อแผ่ไปย่อมเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะเต็มได้ดุจทะเล ชื่อว่า มักให้ถึงความวิบัติ เพราะความปรารถนาอันเป็นเครื่องปรารถนาอารมณ์นั้นๆ ในบรรดาอารมณ์มีรูปเป็นต้น ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยากเห็นปานนี้นั้น คือเป็นผู้กำหนัดยินดีติดอยู่บ่อยๆ
               บทว่า เต โหนฺติ จกฺกธาริโน ความว่า ชนเหล่านั้นไปอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมทรงไว้ซึ่งจักรกรด. บทว่า พหุภณฺฑํ คือละทรัพย์เป็นอันมาก อันเป็นของมารดาบิดา.
               บทว่า มคฺคํ ความว่า ชนแม้เหล่าอื่นเหล่าใดไม่ใคร่ครวญ คือไม่คิดอ่านเหตุการณ์นั้นให้ถ่องแท้ เหมือนท่านไม่พิจารณาหนทางสมุทรอันมีสิทธิน้อยที่ตนจะต้องไปแล้วเดินทางไป ชนเหล่านั้นเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ละทรัพย์แล้วไม่พิจารณาทางที่จะไป แล้วดำเนินไป ย่อมเป็นผู้ทรงจักรไว้เหมือนท่าน.
               บทว่า กมฺมํ สเมกฺเขยฺย ความว่า เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงเพ่งพินิจ คือพึงพิจารณาถึงกิจการงานที่ตนจะต้องทำว่ามีโทษหรือไม่หนอ. บทว่า วิปุลญฺจ โภคํ คือพึงเพ่งพินิจแม้กองแห่งทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมของตน. บทว่า นาติวเตยฺย ความว่า บุคคลผู้เช่นนั้นจะไม่ถูกจักรนี้พัดผันคือทับยี บาลีว่า นาติวตฺเตติ ดังนี้ก็มี ความว่า ย่อมไม่ทับยี.
               มิตตวินทุกะได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า เทวบุตรนี้รู้กรรมที่เราทำไว้โดยถ่องแท้ เทวบุตรนี้คงจะรู้กำหนดกาลที่เราจะหมกไหม้อยู่ เราจะถามท่านดู ดังนี้แล้ว
               จึงได้กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า :-

               ข้าแต่ท่านผู้น่าบูชา จักรกรดจักตั้งอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้านานสักเท่าไรหนอ จะสักกี่พันปี ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด.


               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะบอกแก่มิตตวินทุกะนั้น จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า :-
               ดูก่อนมิตตวินทุกะ ท่านจงฟังเรา ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนาน จักรกรดจะพัดผันอยู่บนศีรษะของท่าน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่จะพ้นไปไม่ได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติสโร มีวินิจฉัยว่า ชื่อว่าอติสโร เพราะอรรถว่า อติสริ ดังนี้บ้าง เพราะอรรถว่า อติสริสฺสติ ดังนี้บ้าง. บทว่า อจฺจสโร เป็นไวพจน์ของบทว่า อติสโร นั้นนั่นเอง.
               ข้อนี้มีอธิบายว่า ดูก่อนมิตตวินทุกะผู้เจริญ ท่านจงฟังคำของเรา ก็ท่านชื่อว่าต้องทนทุกข์ทรมานไปสิ้นกาลนาน เพราะความที่แห่งกรรมอันทารุณยิ่ง เป็นกรรมอันท่านกระทำแล้ว อนึ่ง ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปสิ้นกาลนาน เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น ใครๆ ไม่สามารถจะบอกให้รู้ได้ด้วยการนับเป็นปี และเพราะท่านจักต้องทนคือจักต้องถึงวิบากทุกข์อันใหญ่ยิ่ง ซึ่งหาประมาณมิได้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะบอกแก่ท่านได้ว่าเท่านี้พันปี เท่านี้แสนปี ดังนี้.
               บทว่า สิรสฺมิมาวิทฺธํ ความว่า ก็จักรกรดนี้ใดพัดผัน คือหมุนไปอยู่บนศีรษะของท่านดุจจักรของนายช่างหม้อฉะนั้น. บทว่า น ตฺวํ ชีวํ ปโมกฺขสิ ความว่า ตราบใดที่วิบากกรรมของท่านยังไม่สิ้นไปตราบนั้นเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จักพ้นจักรกรดนั้นไปไม่ได้ แต่เมื่อวิบากกรรมสิ้นไปแล้ว ท่านก็จักละจักรกรดนี้ไปตามยถากรรม.

               ครั้นเทวบุตรกล่าวคาถานี้แล้ว ก็ได้ไปเทพวิมานของตน ส่วนมิตตวินทุกะก็ได้ดำเนินไปสู่ทุกข์ใหญ่.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
               มิตตวินทุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุว่ายากรูปนี้ ในบัดนี้
               ส่วนเทวราชในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาจตุทวารชาดกที่ ๑

.. อรรถกถา จตุทวารชาดก ว่าด้วย จักรกรดพัดบนศีรษะ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1310 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1319 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1329 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5454&Z=5483
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=8452
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=8452
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :