ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1319 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1329 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1342 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กัณหชาดก
ว่าด้วย ขอพร

               พระศาสดา เมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงปรารภความยิ้มแย้ม จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า กณฺโห วตายํ ปุริโส ดังนี้.
               ได้ยินว่า คราวนั้น เวลาเย็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามบริเวณวิหารนิโครธาราม ได้ทรงยิ้มแย้ม ณ ประเทศแห่งหนึ่ง พระอานนท์เถระจึงคิดว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงยิ้มแย้ม พระตถาคตทั้งหลายจะทรงยิ้มแย้มโดยไม่มีเหตุ หามิได้ เราจักทูลถามก่อน แล้วประคองอัญชลี ทูลถามเหตุที่ทรงยิ้มแย้ม.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเหตุที่ทรงยิ้มแย้มแก่พระอานนทเถระว่า ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่ากัณหะ ท่านอยู่ในภูมิประเทศนี้ เป็นผู้ได้ฌาน และรื่นรมย์อยู่ในฌาน ด้วยเดชแห่งศีลของท่านบันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว ดังนี้
               โดยที่เรื่องนั้นไม่มีปรากฏ พระเถระจึงทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว
               พระองค์ได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่งมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ไม่มีบุตร ได้สมาทานศีลปรารถนาบุตร พระโพธิสัตว์บังเกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยาของพราหมณ์นั้น
               ในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้ว่า กัณหกุมาร เพราะมีผิวดำ กัณหกุมารนั้นเมื่อมีอายุได้ ๑๖ ปี มีรูปงดงามดังรูปที่ทำด้วยแก้วมณี บิดาส่งไปเรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา ครั้นเรียนสำเร็จแล้วก็กลับมา ครั้งนั้น บิดาให้เขาแต่งงานกับภรรยาที่สมควรกัน กาลต่อมา เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เขาได้เป็นใหญ่ปกครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด.
               อยู่มาวันหนึ่ง กัณหกุมารได้ตรวจตราเรือนคลังรัตนะทั้งหลาย แล้วขึ้นนั่งท่ามกลางบัลลังก์ ให้นำบัญชีที่เป็นแผ่นทองมา เห็นอักษรที่ญาติก่อนๆ จดจารึกไว้ในแผ่นทองว่า ทรัพย์เท่านี้ญาติคนโน้นให้เกิดขึ้น ทรัพย์เท่านี้ญาติคนโน้นให้เกิดขึ้น จึงคิดว่า ผู้ที่ทำทรัพย์นี้ให้เกิดขึ้นไม่ปรากฏ ตายไปหมดแล้ว ปรากฏอยู่แต่ทรัพย์อย่างเดียว ผู้ที่ถือเอาทรัพย์นี้ไปด้วยแม้คนหนึ่งก็มิได้มี ความจริงไม่มีใครอาจขนเอาห่อทรัพย์ติดไปปรโลกได้เลย ทรัพย์เป็นของไม่มีสาระ เพราะจะต้องสาธารณะด้วยภัย ๕ ประการ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัปปิยทายาทภัย. การให้ทรัพย์เป็นทาน เป็นสาระ ร่างกายไม่เป็นสาระเพราะจะต้องสาธารณะด้วยโรคมากมาย คนทำความดีมีกราบไหว้ท่านผู้มีศีลเป็นต้น เป็นสาระ, ชีวิตไม่เป็นสาระเพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน การประกอบความเพียรเจริญวิปัสสนาด้วยสามารถไตรลักษณ์ เป็นสาระ เพราะฉะนั้น เราจักให้ทาน เพื่อถือเอาสาระจากโภคะที่ไม่เป็นสาระ.
               คิดดังนี้แล้ว จึงลุกออกจากอาสนะไปเฝ้าพระราชา แล้วถวายบังคมลาพระราชา มาบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ เมื่อบำเพ็ญทานได้ ๗ วัน เขาเห็นทรัพย์มิได้หมดสิ้นไป จึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยทรัพย์สำหรับเรา ขณะที่ยังไม่ถูกชราครอบงำนี้ เราจักบวชทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิด แล้วจักมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               คิดดังนี้แล้ว ก็ให้เปิดประตูเรือนทุกประตู ประกาศว่า สิ่งของทั้งหมดเราได้ให้แล้ว ผู้มีความต้องการจงนำไปเถิด เขาเกลียดชังสมบัติเหมือนของโสโครก ละวัตถุกามเสีย เมื่อมหาชนกำลังร้องไห้คร่ำครวญถึงอยู่ เขาได้ออกจากเมือง เข้าหิมวันตประเทศบวชเป็นฤๅษี เที่ยวแลดูภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์เพื่อเป็นที่อยู่ของตน.
               ได้มาถึงที่ที่ตถาคตยืนอยู่ตรงนี้
               คิดว่า เราจักอยู่ในที่นี้ ดังนี้แล้วจึงอธิษฐานเอาต้นอินทวารุณพฤกษ์ต้นหนึ่งเป็นที่อยู่ที่กิน อยู่ ณ โคนต้นไม้นั้น ได้ละเสนาสนะภายในบ้านเสีย ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างบรรณศาลา ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรบ้าง ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตรบ้าง ถือการไม่นอนเป็นวัตรบ้าง ถ้าจะนอนก็นอนบนพื้นดินเท่านั้น ถือการใช้ฟันเป็นดังสาก ใช้ฟันเคี้ยวอย่างเดียว เคี้ยวกินแต่ของที่ไม่สุกด้วยไฟ ไม่เคี้ยวกินของอะไรๆ ที่มีแกลบหุ้ม บริโภคอาหารวันละครั้งเท่านั้น ยับยั้งอยู่เหนือแผ่นดิน ทำตนเสมอด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม สมาทานธุดงคคุณมีประมาณเท่านี้อยู่.
               ได้ยินว่า ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์เป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง ต่อมาไม่นานนัก ท่านก็ได้อภิญญาและสมาบัติ เล่นฌานเพลิดเพลินอยู่ ณ ที่นั้น แม้ต้องการผลาหารก็ไม่ไปที่อื่น เมื่อต้นไม้ผลิผลก็กินผล เมื่อผลิดอกก็กินดอก เมื่อมีใบก็กินใบ เมื่อใบไม้ไม่มีกินก็กินสะเก็ดไม้ ท่านเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งถึงเพียงนี้ อยู่ในสถานที่นี้นาน.
               เวลาเช้าวันหนึ่งท่านเก็บผลไม้สุก เมื่อจะเก็บก็มิได้มีความโลภเที่ยวเก็บในที่อื่น คงนั่งอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เหยียดมือไปเก็บผลไม้ที่พอมือถึง บรรดาผลไม้เหล่านั้น ท่านก็มิได้เลือกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ แล้วแต่ถึงมือก็เก็บเอามา ด้วยเดชแห่งศีลของท่านซึ่งสันโดษอย่างยิ่งเพียงนี้ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชได้แสดงอาการร้อนผิดปกติ.
               ได้ยินว่า อาสนะนั้นจะร้อนขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ
                         ท้าวสักกะสิ้นอายุ ๑ จะสิ้นบุญ ๑
                         มีสัตว์ผู้มีอานุภาพใหญ่อื่นปรารถนาที่นั้น ๑
                         ด้วยเดชศีลของสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มากตั้งอยู่ในธรรม ๑.
               ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงว่า ใครหนอที่ประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่แล้วได้ทอดพระเนตรเห็นกัณหฤๅษีกำลังเก็บผลไม้อยู่ในประเทศนี้ จึงทรงดำริว่า พระฤๅษีนี้มีตบะกล้า ชนะอินทรีย์แล้วอย่างยิ่ง เราจักให้บันลือสีหนาทด้วยธรรมกถา ได้ฟังเหตุดีแล้วจักบำรุงให้อิ่มหนำด้วยพร ทำต้นไม้ให้มีผลเป็นนิจสำหรับพระฤๅษีนี้แล้วจักมา.
               ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เสด็จลงมาโดยเร็วด้วยอานุภาพใหญ่ ประทับยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้างหลังพระฤๅษี เมื่อจะทดลองดูว่า เมื่อเรากล่าวโทษขึ้นแล้ว ท่านจักโกรธหรือไม่
               จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า :-
               บุรุษนี้ดำจริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ เราไม่ชอบใจเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณฺหํ คือ มีสีดำ.
               บทว่า โภชนํ ได้แก่ โภชนะคือผลไม้.

               กัณหฤๅษีได้ฟังคำของท้าวสักกะแล้ว พิจารณาดูด้วยทิพยจักษุว่า ใครหนอมาพูดกับเรา รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ โดยไม่แลดูเลยว่า :-
               คนประกอบด้วยตบะไม่ชื่อว่าคนดำ เพราะคนที่มีแก่นในภายใน ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ บาปกรรมมีอยู่ในคนใด คนนั้นแหละชื่อว่าเป็นคนดำ นะท้าวสุชัมบดี.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตปสา คือ บุคคลไม่ชื่อว่า เป็นคนดำเพราะมีตบะ.
               บทว่า อนฺโตสาโร ความว่า เพราะว่าคนที่ประกอบด้วยแก่นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะในภายในเห็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะมีบาปอันลอยแล้ว.
               บทว่า ส เว ความว่า ส่วนบาปกรรมมีอยู่ในคนใด คนนั้นถึงจะเกิดในตระกูลไหนๆ ก็ตาม ถึงจะประกอบด้วยสีแห่งสรีระอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็นคนดำทั้งนั้น.

               ครั้นพระฤๅษีกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงจำแนกประเภทบาปกรรมที่ทำให้สัตว์เหล่านี้เป็นคนดำโดยพิสดาร ติเตียนบาปเหล่านั้นแม้ทั้งหมด สรรเสริญคุณมีศีลเป็นต้น แสดงธรรมแก่ท้าวสักกะ ประดุจว่าให้ดวงจันทร์ตั้งขึ้นในอากาศ ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของกัณหฤๅษีแล้ว มีความเบิกบาน เกิดความโสมนัส
               เมื่อจะนิมนต์พระมหาสัตว์ด้วยพร ได้ตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ข้าแต่พราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้วเป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรท่านตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตสฺมึ เป็นต้น ความว่า คำนี้ใดอันท่านผู้เป็นราวกะว่าเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว คำนั้นอันท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิต ชื่อว่าสมควร เพราะเป็นคำที่สมควรแก่ท่าน ท่านปรารถนาพรอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใจ คือพรใดอันท่านอยากได้แล้วปรารถนาแล้ว ข้าพเจ้าจะให้พรนั้นทั้งหมดแก่ท่าน.

               พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า ท้าวสักกะนี้ เมื่อจะทดลองเราว่า เมื่อถูกกล่าวโทษของตนจักโกรธหรือไม่หนอ? ได้แสร้งติเตียนฉวีวรรณ โภชนะและที่อยู่ของเรา บัดนี้รู้ว่าเราไม่โกรธ จึงมีจิตเลื่อมใสแล้วให้พร เธอคงสำคัญเราว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความเป็นใหญ่ชั้นท้าวสักกะชั้นพรหมเป็นแน่
               เราจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะในเรื่องนั้นเสีย ควรจะรับพร ๔ ประการเหล่านี้ คือ
                         อย่าให้ความโกรธต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑
                         อย่าให้โทสะต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑
                         อย่าให้ความโลภในสมบัติของผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑
                         อย่าให้สิเนหาในผู้อื่นเกิดขึ้น ๑
               เราพึงเป็นกลางอยู่เท่านั้น คิดดังนี้แล้ว เมื่อจะรับพร ๔ ประการ เพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตน อย่าให้มีความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความโลภ อย่าให้มีความสิเนหา ขอได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้แก่ข้าพระองค์เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วรญฺจ เม อโท สกฺก ความว่า ถ้าพระองค์จะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ไซร้.
               บทว่า สุนิกฺโกธํ คือ อย่าให้มีความโกรธด้วยดี ด้วยสามารถแห่งการไม่โกรธตอบ.
               บทว่า สุนิทฺโทสํ คือ อย่าให้มีโทสะด้วยดี ด้วยสามารถแห่งการไม่ประทุษร้ายตอบ.
               บทว่า นิลฺโลภํ คือ อย่าให้มีความโลภในสมบัติผู้อื่น.
               บทว่า วุตฺติมตฺตโน ความว่า ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตนมีภาวะอย่างนี้.
               บทว่า นิเสฺนหํ ได้แก่ อย่าให้มีความสิเนหา คือให้ปราศจากความโลภ แม้ในของของตน คือในบุตรและธิดาทั้งหลายซึ่งมีวิญญาณ หรือในทรัพย์มีข้าวเปลือกเป็นต้นซึ่งไม่มีวิญญาณ.
               บทว่า อภิกงฺขามิ ความว่า ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตนประกอบด้วยองค์ ๔ ประการเห็นปานนี้.
               ด้วยบทว่า เอเต เม จตุโร วเร นี้ พระมหาสัตว์กล่าวว่า ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการ มีอย่าให้มีความโกรธเป็นต้นเหล่านั้น แก่ข้าพระองค์เถิด.
               ถามว่า ก็พระมหาสัตว์ไม่ทราบหรือว่า ใครๆ ไม่อาจรับพรในสำนักของท้าวสักกะ แล้วขจัดความโกรธเป็นต้นได้ด้วยพร.
               ตอบว่า ไม่ทราบหามิได้ แต่ที่รับพรเพราะคิดว่า เมื่อท้าวสักกะประทานพร การพูดว่า ข้าพเจ้าไม่รับไม่สมควร และเพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะนั้น จึงรับพร.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงดำริว่า กัณหบัณฑิตเมื่อจะรับพร ก็รับแต่พรที่หาโทษมิได้ทั้งนั้น เราจักถามถึงคุณและโทษในพรเหล่านี้กะพระฤๅษีก่อน
               ครานั้น เมื่อพระองค์จะถามพระฤๅษี จึงตรัสพระคาถาที่ ๕ ว่า :-
               ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะและในสิเนหา เป็นอย่างไรหรือ? ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด.


               พึงทราบความแห่งเรื่องนั้นว่า ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ หรือในสิเนหาอย่างไรหรือหนอ? ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าก่อนเถิด เพราะว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบถึงโทษในอกุศลธรรมนั้น.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะท้าวสักกะว่า ถ้าเช่นนี้ท่านจงฟัง ดังนี้แล้ว
               กล่าวคาถา ๔ คาถาว่า :-
               ความโกรธเกิดแต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง มีความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความโกรธ.
               วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้นก็เกิดปรามาสถูกต้องกัน ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปก็จับท่อนไม้เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศัสตราเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิดแต่ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโทสะ
               ความโลภก่อให้เกิดอาการหยาบ เป็นเหตุให้เที่ยวปล้นขู่เอาสิ่งของเขา แสดงของปลอมเปลี่ยนเอาของคนอื่น ประกอบอุบายล่อลวง บาปธรรมทั้งหลายนี้มีอยู่ในโลภธรรม เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจโลภ.
               กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย เป็นเครื่องสำเร็จได้ด้วยใจ ถูกสิเนหาผูกมัดเข้าอีกด้วยแล้ว ถ้านอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก มักทำให้บุคคลเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจสิเนหา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อขนฺติโช ความว่า ความโกรธนั้นเกิดแต่ความไม่อดทนแห่งบุคคลผู้มีชาติไม่อดกลั้น ทีแรกก็เป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ
               ข้อที่ความโกรธนั้นเจริญขึ้น พึงพรรณนาด้วยขันติวาทิชาดก และจุลลธรรมปาลชาดก.
               อนึ่ง ในข้อนี้ พึงเล่าเรื่องที่ติสสอำมาตย์ฆ่าชนทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภรรยาพร้อมด้วยบริวารชนแล้วฆ่าตัวตายในภายหลัง.
               บทว่า อาสงฺคิ ความว่า ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง คือเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นเกี่ยวข้องพัวพัน และไม่ให้สละเรื่องนั้นไปได้ ต้องให้กลับมาทำความชั่วร้ายมีการด่าเป็นต้น.
               บทว่า พหุปายาโส ได้แก่ ประกอบด้วยความคับแค้น คือความลำบาก กล่าวคือ ความทุกข์ทางกายและทางใจเป็นอันมาก
               จริงอยู่ เพราะอาศัยความโกรธเป็นเหตุ ชนทั้งหลายที่กระทำการล่วงเกินในพระอริยบุคคลเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งความโกรธ ย่อมเสวยทุกข์เป็นอันมาก มีความเดือดร้อนเพราะถูกฆ่าและถูกจองจำเป็นต้น และมีการถูกลงโทษด้วยเครื่องจองจำ ๕ อย่างเป็นอาทิ ทั้งในภพนี้และภพหน้า เพราะเหตุนั้น ความโกรธ จึงชื่อว่ามีความคับแค้นมาก.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะความโกรธนั้นมีโทษมากมายดังกล่าวมานี้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจความโกรธ.
               บทว่า ทุฏฺฐสฺส เป็นต้น ความว่า แรกทีเดียว วาจาหยาบคายของบุคคลผู้โกรธด้วยโกธะ อันมีความเดือดดาลเป็นลักษณะ แล้วต่อมาจึงประทุษร้ายด้วยโทสะ อันมีความคิดร้ายต่อผู้อื่นเป็นลักษณะ ย่อมเปล่งออกมา ถัดจากวาจาก็เกิดปรามาสถูกต้องกันด้วยสามารถแห่งการฉุดกันมาฉุดกันไป ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือด้วยสามารถแห่งความพยายาม ต่อไปก็จับท่อนไม้เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศัสตราอันมีคมข้างเดียวหรือมีคมสองข้างเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด คือความสำเร็จแห่งการฟันแทงด้วยศัสตรา เป็นที่สุดแห่งกิจของโทสะทุกอย่าง.
               จริงอยู่ ในกาลใดบุคคลใช้ศัสตราฆ่าผู้อื่น ภายหลังจึงใช้ศัสตรานั้นนั่นแหละฆ่าตัวเอง ในกาลนั้นโทสะย่อมถึงที่สุด.
               บทว่า โทโส โกธสมุฏฺฐาโน ความว่า เปรียบเหมือนเปรียงหรือน้ำข้าวอันไม่เปรี้ยว แต่กลายเป็นของเปรี้ยวด้วยอำนาจแห่งความแปรไป สิ่งที่เปรี้ยวและไม่เปรี้ยวทั้งสองนั้น แม้จะมีกำเนิดอย่างเดียวกัน ท่านก็เรียกต่างกันว่าเปรี้ยว ไม่เปรี้ยว ฉันใด โทสะก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อก่อนเป็นความโกรธ ต่อเมื่อแปรไปแล้วจึงเป็นความคิดประทุษร้ายในภายหลัง สภาวธรรมทั้งสองนั้น แม้จะมีกำเนิดอย่างเดียวกัน โดยความเป็นอกุศลมูลด้วยกัน ท่านก็เรียกต่างกันว่า ความโกรธ ความคิดประทุษร้าย เปรียบเหมือน สิ่งที่มีรสเปรี้ยวเกิดจากสิ่งที่ไม่มีรสเปรี้ยว ฉันใด โทสะแม้นั้น ก็ตั้งขึ้นจากโกธะฉันนั้น เพราะเหตุนั้น โทสะจึงมีชื่อว่าโกธะเป็นสมุฏฐาน.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะโทสะมีโทษเป็นเอนกอย่างนี้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจโทสะเลย.
               บทว่า อโลภสหสาการา ความว่า ชื่อว่าก่อให้เกิดอาการหยาบ เพราะปล้นฆ่าชาวบ้านทุกวันๆ โดยการใช้อาวุธจ่อที่ตัวแล้วข่มขู่ว่า จงให้สิ่งชื่อนี้แก่เรา.
               บทว่า นิกติ วญฺจนานิ จ ความว่า การแสดงของปลอมเปลี่ยนเอาของของผู้อื่นไป ชื่อว่าการสับเปลี่ยน การสับเปลี่ยนนั้นพึงเห็นตัวอย่าง ในการให้ทองเก๊ว่าทองแท้ และกหาปณะปลอมว่ากหาปณะแท้ แล้วถือเอาสิ่งของของผู้อื่นไป
               ส่วนการถือเอาสิ่งของของผู้อื่นไปด้วยสามารถแห่งปฏิภาณ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ชื่อว่าการล่อลวง พึงทราบเรื่องราวของการล่อลวงนั้นอย่างนี้ว่า บุรุษชาวบ้านผู้มีความซื่อตรงคนหนึ่ง นำกระต่ายมาจากป่าวางไว้ที่ฝั่งแม่น้ำแล้วลงอาบน้ำ ลำดับนั้น นักเลงคนหนึ่งเอากระต่ายนั้นวางไว้บนศีรษะ แล้วลงอาบน้ำ บุรุษชาวบ้านขึ้นมาแล้ว เมื่อไม่เห็นกระต่าย จึงมองหาข้างโน้นข้างนี้ นักเลงเห็นดังนั้นจึงถามบุรุษนั้นว่า มองหาอะไรท่านผู้เจริญ.
               บุรุษชาวบ้านนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าวางกระต่ายไว้ตรงนี้ แต่ไม่เห็นกระต่ายนั้น.
               นักเลงจึงกล่าวว่า แน่ะอันธพาล ท่านไม่รู้ดอกหรือว่า ชื่อว่ากระต่ายทั้งหลายที่บุคคลวางไว้ที่ฝั่งแม่น้ำย่อมหนีไปได้ ท่านดูซิ ฉันยังต้องเอากระต่ายของตนวางไว้บนศีรษะอาบน้ำด้วยเลย.
               บุรุษชาวบ้านเข้าใจว่า จักเป็นอย่างนั้นเพราะความที่ตนเป็นผู้ไม่มีปฏิภาณ จึงหลีกไป
               ในข้อนี้ พึงเล่าเรื่องที่เขารับเอาลูกเนื้อด้วยเงิน ๑ กหาปณะให้ลูกเนื้อนั้นอีก แล้วจึงรับเอาเนื้อซึ่งมีราคา ๒ กหาปณะ.
               บทว่า ทิสฺสติ โลภธมฺเมสุ ความว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ บาปธรรมทั้งหลายมีโลภะเป็นต้นเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในสภาวะคือความโลภทั้งหลาย คือในสัตว์ทั้งหลายผู้ถูกความโลภครอบงำแล้ว เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่โลภแล้ว ย่อมไม่กระทำกรรมเห็นปานนี้ ความโลภมีโทษมากมายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจความโลภ.
               บทว่า เสฺนหสงฺคนฺถิตา คนฺถา ความว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌาทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายมีประการต่างๆ ถูกสิเนหา อันมีความติดอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย เป็นลักษณะร้อยรัดแล้ว คือสืบต่อแล้วด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นบ่อยๆ ดุจดอกไม้ทั้งหลายที่เขาร้อยไว้ด้วยด้าย ฉะนั้น.
               บทว่า เสนฺติ มโนมยา ปุถู ความว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌาทั้งหลาย อันเกิดขึ้นแล้วในอารมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องสำเร็จได้ด้วยใจ เพราะเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทางใจ ดุจวัตถุทั้งหลายมีเครื่องประดับเป็นต้น อันเกิดแล้วจากรัตนะทั้งหลายมีทองเป็นต้น ชื่อว่าอันสำเร็จแล้วด้วยรัตนะทั้งหลายมีทองเป็นอาทิ นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น.
               บทว่า เต ภุสํ อุปตาเปนฺติ ความว่า กิเลสเหล่านั้น ถ้านอนเนื่องอยู่แล้วเป็นอันมาก คือมีกำลังรู้ชัดอยู่ มักทำบุคคลให้เดือดร้อน คือให้ลำบากโดยยิ่ง ก็ในการที่กิเลสเหล่านั้นมักทำให้บุคคลเดือดร้อนโดยยิ่ง.
               พึงนำเรื่องของคาถาว่า สลลฺวิทฺโธว รุปฺปติ เป็นต้น และพระสูตรทั้งหลายมีความว่า ดูก่อนคฤหบดี ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นทั้งหลายล้วนเกิดแต่ความรัก ล้วนมีความรักเป็นแดนเกิดทั้งนั้น ความโศกย่อมเกิดแต่สิ่งที่รัก ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ดังนี้เป็นต้น มาเป็นอุทาหรณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง หัวใจของสุมังคลโพธิสัตว์แตกแล้ว เพราะความโศกอันมีกำลัง เหตุให้เด็กทั้งหลายเป็นทาน โทมนัสเป็นอันมากก็ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ ความรักย่อมทำให้พระมหาสัตว์ทั้งหลายผู้บำเพ็ญบารมี แล้วเดือดร้อนได้ด้วยประการฉะนี้ เพราะโทษนี้มีอยู่ในความสิเนหาฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบใจ แม้ซึ่งความสิเนหา.
               ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับคำวิสัชนาปัญหาแล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านกัณหบัณฑิต ปัญหานี้ท่านกล่าวดี เปรียบดังพุทธลีลา ข้าพเจ้ายินดีเหลือเกิน ฉะนั้น ขอท่านจงรับพรอย่างอื่นอีก
               แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า :-
               ข้าแต่ท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.


               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาต่อไปว่า :-
               ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ขออาพาธทั้งหลายอันเป็นของร้ายแรง ซึ่งจะทำอันตรายแก่ตบะกรรมได้ อย่าพึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้อยู่ในป่า ซึ่งอยู่แต่ผู้เดียวเป็นนิตย์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตรายกรา ภุสา คือ อันจะทำอันตรายแก่ตบะกรรมของข้าพระองค์นี้.

               ท้าวสักกะได้ทรงสดับดังนั้นแล้วทรงดำริว่า กัณหบัณฑิต เมื่อจะรับพร ก็ไม่รับพรที่อาศัยอามิส รับแต่พรที่อาศัยตบะกรรมเท่านั้น ท้าวเธอยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น.
               เมื่อจะประทานพรอื่นอีก จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า :-
               ดูก่อนท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว เป็นสุภาษิตอันสมควร ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่าน ตามแต่ใจท่านปรารถนาเถิด.


               แม้พระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะโดยอ้างการรับพร จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:-
               ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ขอใจหรือร่างกายของข้าพระองค์ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่งใครๆ ในกาลไหนๆ เลย ขอได้ทรงโปรดประทานพรนี้เถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มโน วา ได้แก่ มโนทวาร.
               บทว่า สรีรํ วา ได้แก่ กายทวาร. แม้วจีทวาร ก็พึงทราบว่า ท่านถือเอาแล้วด้วยการถือเอาทวารเหล่านั้นเหมือนกัน.
               บทว่า มงฺกุเต คือ เพราะเหตุแห่งข้าพระองค์.
               บทว่า อุปหญฺเญถ ได้แก่ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่ง คือพึงเป็นทวารอันบริสุทธิ์แล้ว.
               ข้อนี้มีอธิบายว่า ข้าแต่ท้าวสักกเทวราช ขออย่าให้กรรมที่เป็นไปในทวารแม้ทั้ง ๓ นี้เข้าไปกระทบแก่ใครๆ คือแก่ท้าวสักกะในกาลไหนๆ เพราะเหตุแห่งข้าพระองค์ คือเพราะอาศัยข้าพระองค์ ได้แก่เพราะความที่แห่งข้าพระองค์เป็นผู้ใคร่ต่อความพินาศ คือขอกรรมที่เป็นไปในทวารทั้ง ๓ นี้ พึงเป็นธรรมชาติอันหลุดพ้นแล้ว คือบริสุทธิ์แล้วจากอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการมีปาณาติบาตเป็นต้นนั่นเทียว.

               พระมหาสัตว์ เมื่อจะรับพรในฐานะทั้ง ๖ ได้รับเอาพรอันอาศัยเนกขัมมะเหล่านั้นด้วยประการฉะนี้. จริงอยู่ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมทราบว่า ขึ้นชื่อว่าสรีระย่อมมีความเจ็บเป็นธรรมดา ท้าวสักกะไม่อาจเพื่อจะกระทำสรีระนั้นให้มีความไม่เจ็บเป็นธรรมดาได้. อนึ่ง ความที่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีตนอันบริสุทธิ์แล้วในทวารทั้ง ๓ อันท้าวสักกะก็ไม่อาจทำให้เป็นนิสัยของตนได้เลย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมหาสัตว์ก็ได้รับพรเหล่านี้แล้ว เพื่อแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะนั้น
               แม้ท้าวสักกเทวราชก็ได้ทรงบันดาลต้นไม้นั้นให้มีผลหวานอร่อย นมัสการพระมหาสัตว์ ประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ตรัสว่า ขอท่านจงอยู่ที่นี้โดยปราศจากโรคเถิด แล้วได้เสด็จไปยังพิมานของพระองค์.
               แม้พระโพธิสัตว์ก็มิได้เสื่อมจากฌาน ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า
                         ดูก่อนอานนท์ ที่นี้เป็นภูมิประเทศที่เราเคยอยู่มาแล้ว
               ดังนี้แล้วทรงประชุมชาดกว่า
                         ท้าวสักกะในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอนุรุทธะ ในบัดนี้
                         ส่วนกัณหบัณฑิต ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถากัณหชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กัณหชาดก ว่าด้วย ขอพร จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1319 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1329 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1342 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5484&Z=5523
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=39&A=8609
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=39&A=8609
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :