พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุดุร้ายสองรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นยิทํ วิสมสีเลน ดังนี้.
ความพิสดารมีว่า ในสมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง แม้ในพระวิหารเชตวัน ได้เป็นผู้ดุร้ายหยาบคายอย่างสาหัส ในชนบทก็ได้มีภิกษุรูปหนึ่งดุร้าย.
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุที่อยู่ในชนบทได้ไปพระวิหารเชตวันด้วยกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง.
บรรดาสามเณรและภิกษุหนุ่มรู้ว่า ภิกษุชาวชนบทรูปนั้นดุร้าย จึงส่งภิกษุรูปนั้นไปยังที่อยู่ของภิกษุรูปที่อยู่สำนักพระเชตวัน ด้วยแตกตื่นว่า จักเห็นภิกษุดุร้ายสองรูปนั้นทะเลาะกัน.
ภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้น ครั้นเห็นกันและกันแล้วก็สามัคคีกัน อยู่ชื่นชมกันด้วยความรัก ได้กระทำกิจมีนวดมือ นวดเท้าและนวดหลังให้กันและกัน.
ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโส ภิกษุดุร้ายสองรูป เป็นผู้ดุร้ายหยาบคายอย่างสาหัสต่อผู้อื่น แต่ทั้งสองรูปนั้นมีความสามัคคีกัน ชื่นชมกันอยู่ด้วยความรักต่อกันและกัน.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น
แม้เมื่อก่อนภิกษุสองรูปนี้ก็ดุร้าย หยาบคายอย่างสาหัส แต่ครั้นเห็นกันแล้วก็สามัคคีกัน ชื่นชอบกันด้วยความรัก
แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์สำเร็จราชการในทุกอย่าง เป็นผู้ถวายอรรถถวายธรรมแด่พระราชา.
ส่วนพระราชาพระองค์นั้น ปกติทรงละโมบพระราชทรัพย์อยู่หน่อย พระองค์มีม้าโกงชื่อมหาโสณะ
คราวนั้น พวกพ่อค้าม้าชาวอุตตราบถนำม้ามา ๕๐๐ ตัว พวกอำมาตย์กราบทูลถึงเรื่องที่ม้ามาถวายพระราชาให้ทรงทราบ.
ก็แต่ก่อน พระโพธิสัตว์ตีราคาม้าให้ทรัพย์ไม่ทำราคาให้ตก (ไม่ลดค่าม้า) พระราชาทรงเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ต่อราคาให้ลด
จึงตรัสเรียกอำมาตย์คนอื่นมาแล้วตรัสว่า นี่แน่เจ้า เจ้าจงตีราคาม้า และเมื่อจะตีราคา
จงปล่อยม้ามหาโสณะเข้าไปในระหว่างม้าเหล่านั้นก่อน แล้วให้กัดม้าทำให้เป็นแผล ในเมื่อม้าพิการ จงต่อราคาให้ลดลง.
อำมาตย์นั้นรับพระราชบัญชาได้กระทำตามพระราชประสงค์. พ่อค้าม้าทั้งหลายไม่พอใจ จึงเล่าถึงกิริยาที่อำมาตย์นั้นทำให้พระโพธิสัตว์ทราบ.
พระโพธิสัตว์ถามว่า ในเมืองของพวกท่าน ไม่มีม้าโกงบ้างหรือ. มีจ้ะนาย ม้าโกงชื่อสุหนุ ดุร้ายหยาบคายมาก.
ถ้าอย่างนั้น เมื่อท่านมาอีก จงนำม้านั้นมาด้วย. พวกพ่อค้าม้ารับคำ เมื่อพวกเขามาอีกได้นำม้าโกงนั้นมาด้วย.
พระราชาทรงสดับว่า พวกพ่อค้าม้ามา รับสั่งให้เปิดสีหบัญชร ทอดพระเนตรม้าทั้งหลาย
แล้วมีพระบัญชาให้ปล่อยม้ามหาโสณะ. พวกพ่อค้าม้าเห็นม้ามหาโสณะมา ก็ปล่อยม้าสุหนุไป. ม้าทั้งสองประจัญหน้ากันต่างก็เลียร่างกายกันด้วยความชื่นชม.
พระราชาจึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูซิ ม้าโกงสองตัวนี้ดุร้ายหยาบคายแสนสาหัสต่อม้าอื่น กัดม้าอื่นให้ได้รับการเจ็บป่วย บัดนี้ มันเลียร่างกายกันและกันด้วยความชื่นชม นี่มันเรื่องอะไรกัน.
พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่พระองค์ ม้าเหล่านี้มีปกติไม่เสมอกันหามิได้ มันมีปกติเสมอกัน มีธาตุเสมอกัน แล้วได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า :-
การที่ม้าโกงสุหนุกระทำความรักกับม้าโสณะนี้ ย่อมมีด้วยปกติที่ไม่เสมอกัน หามิได้ ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น ม้าโสณะมีความประพฤติเช่นใด ม้าสุหนุก็มีความประพฤติเช่นนั้น
ม้าทั้งสองนั้น ย่อมเสมอกันด้วยการวิ่งไปด้วยความคะนอง และด้วยกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นนิจ ความชั่วย่อมสมกับความชั่ว ความไม่ดีย่อมสมกับความไม่ดี.
ในบทเหล่านั้น บทว่า นยิทํ วิสมสีเลน โสเณน สุหนู สห ความว่า สุหนุม้าโกงทำกิริยาใดเสมอกับม้าโสณะ
กิริยานี้มิใช่เป็นไปโดยปกติไม่เสมอกับตน ที่แท้ย่อมทำร่วมปกติเสมอกับตน สัตว์ทั้งสองนี้ชื่อว่ามีปกติเสมอกัน มีธาตุเสมอกัน เพราะค่าที่ตนมีมารยาทเลวทราม มีปกติชั่วร้าย.
บทว่า สุหนุปิ ตาทิโสเยว ความว่า ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน.
บทว่า โย โสณสฺส สโคจโร ความว่า ม้าโสณะมีอารมณ์อย่างใด ม้าสุหนุก็มีอารมณ์อย่างนั้นเหมือนกัน.
เหมือนอย่างว่า ม้าโสณะชอบรังแกม้า เที่ยวกัดม้าฉันใด แม้ม้าสุหนุก็ฉันนั้น. พระโพธิสัตว์แสดงข้อที่ม้าทั้งสองนั้นมีอารมณ์เสมอกันด้วยบทนี้
เพื่อจะแสดงถึงม้าทั้งสองนั้นมีมารยาททรามเป็นอารมณ์เหมือนกัน จึงกล่าวคำว่า ปกฺขนฺทินา (วิ่งไป) เป็นต้น.
บทว่า ปกฺขนฺทินา ได้แก่ มีปกติวิ่งไป คือมีปกติวิ่งไปเป็นอารมณ์เหนือม้าทั้งหลาย.
บทว่า ปคพฺเภน ได้แก่มีปกติชั่วประกอบด้วยความคะนองกายเป็นต้น.
บทว่า นิจฺจํ ปกฺขนฺทินา ได้แก่มีปกติกัดและมีอารมณ์ชอบกัดเชือกล่ามตัว.
บทว่า สเมติ ปาปํ ปาเปน ความว่า ในม้าสองตัวนั้นความชั่ว คือความมีปกติชั่วของตัวหนึ่ง ย่อมเหมือนกันกับอีกตัวหนึ่ง.
บทว่า อสตาสตํ ความว่า ความไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ไม่สงบย่อมเข้ากันได้ คือเหมือนกันไม่ผิดแปลกกัน
กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่สงบ คือประกอบด้วยมารยาททรามเหมือนคูถเป็นต้น เข้ากันได้กับคูถเป็นต้น.
ก็พระโพธิสัตว์ ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทพระราชาว่า
ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชาไม่ควรโลภจัด ไม่ควรทำสมบัติของผู้อื่นให้เสียหาย แล้วทูลให้ตีราคาม้าให้ตามราคาที่เป็นจริง.
พวกพ่อค้าม้าได้ราคาตามที่เป็นจริง ต่างก็ร่าเริงยินดีพากันกลับไป. แม้พระราชาก็ตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
ม้าสองตัวในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุโหดร้ายสองรูปในครั้งนี้.
พระราชาได้เป็น อานนท์
ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็น เราตถาคต นี้แล.
-----------------------------------------------------
.. อรรถกถา สุหนุชาดก ว่าด้วย การเปรียบเทียบม้า ๒ ม้า จบ.
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1077&Z=1085
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=770
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=770
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]