ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1839 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1854 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1872 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา สรภชาดก
ว่าด้วย ละมั่งทำคุณแก่พระราชา

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภการพยากรณ์ปัญหาที่พระองค์ตรัสถามโดยย่อได้อย่างพิสดารของพระธรรมเสนาบดี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อาสึเสเถว ปุริโส ดังนี้.
               ก็แลในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหากะพระเถรเจ้าโดยย่อ ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวในคราวเสด็จจากเทวโลกนั้นโดยสังเขป.
               กล่าวความจำเดิมแต่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะถือเอาบาตรไม้จันทน์แดง ในสำนักของราชคหเศรษฐี ได้ด้วยฤทธิ์แล้ว พระศาสดาตรัสห้ามการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์แก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ครั้งนั้น เหล่าเดียรถีย์คิดกันว่า พระสมณโคดมทรงห้ามการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์เสียแล้ว ที่นี้แม้ตนเองก็คงจักกระทำไม่ได้ ครั้นถูกพวกสาวกของตนซึ่งขายหน้าไปตามกันพูดว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายถือเอาบาตรด้วยฤทธิ์ไม่ได้แล้วหรือ ก็พากันแถลงว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย นั่นมิใช่เป็นการที่พวกเราจะกระทำได้ยากเลย แต่ที่พวกเราไม่ถือเอาเพราะคิดกันว่า ใครเล่าจักประกาศคุณที่ละเอียดสุขุมของตนแก่พวกคฤหัสถ์ เพื่อต้องการบาตรไม้อันเป็นประหนึ่งศพ ฝ่ายพวกสมณศากยบุตรพากันสำแดง ถือเอาไปเพราะเป็นคนโง่ ใจโลเล พวกเธออย่าคิดเลยว่า การกระทำฤทธิ์เป็นเรื่องหนักของพวกเรา เพราะพวกเราน่ะ พวกสาวกของสมณโคดมจงยกไว้เถิด แต่จำนงจะแสดงฤทธิ์กับพระสมณโคดม แม้นว่าพระสมณโคดมจักกระทำปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ฝ่ายพวกเราจักกระทำให้ได้สองเท่า.
               พวกภิกษุฟังเรื่องนั้นแล้วพากันกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่าพวกเดียรถีย์จักพากันกระทำปาฏิหาริย์.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงพากันกระทำเถิด แม้เราก็จักกระทำบ้าง.
               พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับเรื่องนั้น เสด็จมากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่าจักทรงกระทำปาฏิหาริย์.
               ตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร.
               ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ.
               ตรัสว่า มหาบพิตร นั่นอาตมภาพบัญญัติแก่หมู่สาวก แต่สิกขาบทของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มี มหาบพิตร เหมือนอย่างว่า ดอกไม้และผลไม้ในพระอุทยานของมหาบพิตร ทรงห้ามไว้แก่ชนเหล่าอื่น มิได้ทรงห้ามแก่มหาบพิตรฉันใด ข้อนี้ ก็พึงเห็นเทียบเคียงฉันนั้น.
               ทูลถามสืบไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จักทรงกระทำปาฏิหาริย์ ณ ที่ไหนพระเจ้าข้า ตรัสว่า ณ โคนไม้คัณฑามพฤกษ์ ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ขอถวายพระพร ทูลถามว่า ในเรื่องนั้นพวกหม่อมฉันจะต้องทำอะไรบ้าง. ตรัสว่า ไม่มีอะไรเลย มหาบพิตร.
               ครั้นวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงกระทำภัตกิจเสร็จ ก็เสด็จจาริกไป หมู่มนุษย์พากันถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย พระศาสดาจักเสด็จไป ณ ที่ไหน พระเจ้าข้า พวกภิกษุบอกว่า ไปกระทำยมกปาฏิหาริย์กำราบเดียรถีย์ ณ โคนไม้คัณฑามพฤกษ์ ใกล้ประตูเมืองสาวัตถี. มหาชนฟังถ้อยคำของพวกภิกษุเหล่านั้นแล้วคิดว่า พระปาฏิหาริย์จักมีทีท่าน่าอัศจรรย์ เป็นไฉน พวกเราต้องไปดูปาฏิหาริย์นั้น แล้วปิดประตูเรือน ไปกับพระศาสดาเลยทีเดียว.
               พวกอัญเดียรถีย์ก็พากันบอกว่า แม้พวกเราก็จักพากันกระทำปาฏิหาริย์ ณ สถานที่ที่สมณโคดมกระทำปาฏิหาริย์ พากันติดตามพระศาสดาไปกับพวกอุปัฏฐากเหมือนกัน.
               พระศาสดาเสด็จถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ พระราชาทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่าจักทรงกระทำปาฏิหาริย์หรือพระเจ้าข้า ตรัสว่า จักกระทำ ขอถวายพระพร.
               ทูลถามว่า เมื่อไรพระเจ้าข้า. ตรัสว่า ในวันที่ ๗ จากวันนี้ เป็นวันเดือนอาสาฬห (เดือน ๘).
               กราบทูลว่า หม่อมฉันจะทำมณฑปพระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า อย่าเลยมหาบพิตร ท้าวสักกะจักกระทำมณฑปแก้วขนาด ๑๒ โยชน์ในที่กระทำปาฏิหาริย์ของอาตมภาพ.
               กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอป่าวร้องเรื่องนี้ในพระนคร พระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า ป่าวร้องเถิด มหาบพิตร.
               พระราชาตรัสสั่งธรรมโฆสก (ผู้ป่าวร้องธรรม) ขึ้นเหนือหลังช้างที่ประดับประดาแล้วทำการโฆษณาทุกๆ วันจนถึงวันที่ ๖ ว่า ได้ยินว่า พระศาสดาจักทรงกระทำพระปาฏิหาริย์กำราบเดียรถีย์ ณ โคนไม้คัณฑามพฤกษ์ใกล้เมืองสาวัตถีในวันที่ ๗ แต่วันนี้.
               พวกเดียรถีย์รู้ข่าวว่า จักทรงกระทำพระปาฏิหาริย์ ณ โคนไม้คัณฑามพฤกษ์ ก็พากันให้ทรัพย์แก่พวกเจ้าของให้ตัดต้นมะม่วงที่ใกล้เมืองสาวัตถีเสีย.
               ถึงวันเพ็ญแต่เช้าตรู่ ธรรมโฆสกป่าวร้องก้องสนั่นว่า พระปาฏิหาริย์ของพระผู้ทรงพระภาคจักปรากฏในวันนี้. ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาได้เป็นประหนึ่งว่า ยืนปรากฏป่าวร้องที่ประตูชมพูทวีปทั้งสิ้น. ชนเหล่าใดๆ เกิดคิดจะไป ชนเหล่านั้นก็เห็นตนถึงเมืองสาวัตถีทีเดียว. ประชุมชนได้มีปริมณฑล ๑๒ โยชน์.
               พระศาสดาเสด็จเข้าสู่พระนครสาวัตถีแต่เช้าตรู่ เมื่อโปรดสัตว์แล้วเสด็จออก. คนเฝ้าพระอุทยานชื่อคัณฑะ กำลังนำผลมะม่วงสุกผลใหญ่ ขนาดหม้อสุกงอมทีเดียวไปถวายพระราชา พบพระศาสดาที่ประตูพระนคร คิดว่า ผลมะม่วงสุกสมควรแก่พระตถาคตเจ้าแท้ๆ จึงได้ถวาย. พระศาสดาทรงรับประทับนั่ง ณ ส่วนหนึ่ง ใกล้ประตูพระนครนั้นเอง เสวยเสร็จตรัสว่า อานนท์ เธอจงให้เมล็ดมะม่วงนี้แก่คนเฝ้าอุทยานเพื่อปลูกตรงนี้ ต้นมะม่วงนี้จักมีนามว่าคัณฑามพะ.
               พระเถระเจ้าได้กระทำตามนั้น คนเฝ้าอุทยานคุ้ยดินแล้วปลูก.
               ทันใดนั้นเอง รากทั้งหลายก็ชำแรกเมล็ดหยั่งลงไป. หน่อสีแดงขนาดเท่าหัวคันไถก็ตั้งขึ้น. เมื่อมหาชนกำลังดูอยู่นั่นเอง ต้นมะม่วงมีลำต้นวัดรอบถึง ๕๐ ศอก มีกิ่งยาว ๕๐ ศอก โดยส่วนสูงเล่าก็มีประมาณ ๑๐๐ ศอก ทันทีทันใด ต้นมะม่วงนั้นก็ออกช่อและมีผลมากมาย ต้นมะม่วงนั้นระย้าระยับด้วยดอกและผล มีสีเหมือนสีทอง มีรสอร่อย ปรากฏประหนึ่งเต็มท้องฟ้า. เวลาต้องลมพัดผลสุกอันอร่อยทั้งหลายก็หล่นลง พวกภิกษุที่พากันมาทีหลังต่างก็มาฉัน.
               ถึงเวลาเย็นท้าวเทวราชทรงรำพึงทราบว่า การสร้างรัตนมณฑปเพื่อพระศาสดาเป็นภาระของพวกเรา ทรงส่งวิษณุกรรมเทพบุตรไปสร้างมณฑปแก้ว ๗ ประการมีประมาณ ๑๒ โยชน์ ดาดาษด้วยอุบลเขียว เทพดาในหมื่นจักรวาลพากันมาประชุมด้วยประการฉะนี้.
               พระศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์กำราบเหล่าเดียรถีย์ มิใช่เป็นเรื่องทั่วไปกับสาวก ทรงทราบความที่ชนเป็นอันมากพากันเลื่อมใส เสด็จลงประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ทรงแสดงธรรม ฝูงปาณชาติ ๒๐ โกฏิพากันดื่มน้ำอมฤต.
               ต่อจากนั้นทรงพระดำริว่า ก็พระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ทรงกระทำปาฏิหาริย์แล้วเสด็จไป ณ ที่ไหน ทรงทราบว่าเสด็จไปสู่ดาวดึงส์พิภพ จึงเสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ ย่างพระบาทเบื้องขวาเหยียบเขายุคนธร พระบาทซ้ายเหยียบยอดเขาสิเนรุ แล้วเสด็จเข้าจำพรรษาเหนือบัณฑุกัมพลศิลา โคนปาริฉัตตกพฤกษ์ ภายในระยะกาล ๓ เดือน ทรงแสดงพระอภิธรรมกถาแก่ฝูงเทวดา.
               ฝ่ายบริษัท เมื่อไม่ทราบสถานที่พระศาสดาเสด็จไป คิดว่าเห็นพระองค์แล้วจักพากันไป เลยพากันอยู่ตรงนั้นเองตลอดไตรมาส. ครั้นใกล้ถึงปวารณา พระมหาโมคคัลลาเถรเจ้าจึงไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามว่า ก็เดี๋ยวนี้สารีบุตรอยู่ที่ไหน.
               กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เธออยู่ที่นครสังกัสสะกับพวกภิกษุ ๕๐๐ รูปที่พากันบวชเพราะเลื่อมใสในพระยมกปาฏิหาริย์ พระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า โมคคัลลานะในวันที่เจ็ดแต่วันนี้ เราจักลงที่ประตูนครสังกัสสะ. ฝูงชนที่ต้องการจะเห็นตถาคต จงชุมนุมกันที่นครสังกัสสะเถิด.
               พระเถรเจ้าทูลรับสั่งว่า สาธุ แล้วมาบอกแก่บริษัท ช่วยให้บริษัททั้งสิ้นลุถึงนครสังกัสสะ อยู่ห่างนครสาวัตถี ๓๐ โยชน์ โดยเวลาครู่เดียวเท่านั้นเอง.
               พระศาสดาทรงออกพรรษาปวารณาแล้ว ตรัสแจ้งแก่ท้าวสักกะว่า มหาบพิตร อาตมภาพจักไปสู่มนุษยโลก.
               ท้าวสักกะตรัสเรียกวิษณุกรรมเทพบุตร มาตรัสว่า เธอจงกระทำบันไดเพื่อพระทศพลเสด็จมนุษยโลกเถิด. วิษณุกรรมเทพบุตรนั้นสร้างเป็นบันไดสามอัน คือท่ามกลางเป็นบันไดแก้วมณี ข้างหนึ่งเป็นบันไดเงิน ข้างหนึ่งเป็นบันไดทอง ทุกอันหัวบันไดอยู่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดจรดประตูนครสังกัสสะแวดล้อมด้วยไพทีล้วนแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ.
               พระศาสดาทรงกระทำพระปาฏิหาริย์เปิดโลก เสด็จลงทางบันไดแก้วมณีอันมี ณ ท่ามกลาง. ท้าวสักกะทรงเชิญบาตรจีวร ท้าวสุยามทรงเชิญวาลวิชนี ท้าวสหัมบดีพรหมทรงเชิญฉัตร.
               เทพดาในหมื่นจักรวาลพากันบูชาด้วยของหอมและมาลาอันเป็นทิพย์.
               พอพระศาสดาเสด็จประทับ ณ เชิงบันได พระสารีบุตรเถรเจ้าถวายบังคมเป็นประถมทีเดียว บริษัทที่เหลือพากันถวายบังคมที่หลัง. พระศาสดาทรงดำริในสมาคมนั้นว่า โมคคัลลานะปรากฏว่ามีฤทธิ์ อุบาลีปรากฏว่าทรงพระวินัย แต่ปัญญาคุณของสารีบุตรยังไม่ปรากฏเลย.
               ได้ยินว่า ยกเว้นเราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้อื่นที่จะได้นามว่ามีปัญญาเสมอเหมือนเธอไม่มีเลย เราต้องกระทำปัญญาคุณของเธอให้ปรากฏไว้ แล้วทรงตั้งต้นถามปัญหาของปุถุชนก่อน. ปุถุชนพวกเดียวพากันกราบทูลแก้ปัญหานั้น.
               ต่อจากนั้นทรงถามปัญหาในวิสัยแห่งเหล่าพระโสดาบัน. เหล่าโสดาบันเท่านั้นพากันกราบทูลแก้ปัญหานั้น พวกปุถุชนไม่รู้เลย.
               ต่อจากนั้นทรงถามปัญหาในวิสัยพระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ และพระมหาสาวกโดยลำดับ. ท่านที่ดำรงในชั้นต่ำๆ ไม่ทราบปัญญาแม้นั้นเลย ท่านที่ดำรงในภูมิสูงๆ เท่านั้นพากันกราบทูลแก้.
               แม้ถึงปัญหาในวิสัยแห่งอัครสาวก พระอัครสาวกกราบทูลแก้ได้ พวกอื่นไม่รู้เลย.
               ต่อจากนั้นตรัสถามปัญหาในวิสัยแห่งพระสารีบุตรเถรเจ้า พระเถรเจ้าองค์เดียวกราบทูลแก้ได้ พวกอื่นไม่รู้เลย.
               ฝูงคนพากันถามว่า พระเถรเจ้าที่กราบทูลกับพระศาสดานั้น มีนามว่าอะไร พอฟังว่า ท่านเป็นธรรมเสนาบดีมีนามว่าสารีบุตรเถรเจ้า ต่างกล่าวว่า โอ้โฮ มีปัญญามากจริงๆ ตั้งแต่บัดนั้นคุณคือปัญญาอันมากของพระเถรเจ้าก็ได้ปรากฏไปในกลุ่มเทพดาและมนุษย์.
               ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหาในพุทธวิสัยกะท่านว่า
               ชนเหล่าใดเล่ามีธรรมอันกำหนดได้แล้วสิ ชนเหล่าใดเล่าที่ยังต้องศึกษา มีจำนวนมากในธรรมวินัยนี้
               ดูก่อนท่านผู้ไร้ทุกข์ เธอมีปัญญารักษาตัวรอด ถูกเราถาม เชิญบอกความเป็นไปแห่งชนเหล่านั้นแก่เราดังนี้

               แล้วตรัสว่า สารีบุตร เธอพึงเห็นความแห่งภาษิตโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างไรเล่าหนอ. พระเถรเจ้าตรวจดูปัญหาแล้วเห็นว่า พระศาสดาตรัสถามปฏิปทาอันเป็นทางบรรลุแห่งพระเสขะและพระอเสขะกะเรา เลยหมดสงสัย คงกังขาในพระอัธยาศัยว่า อันปฏิปทาทางบรรลุอาจกล่าวแก้ได้ โดยมุขเป็นอันมากด้วยอำนาจขันธ์เป็นต้น เมื่อเรากราบทูลแก้โดยอาการไรเล่า ถึงจักสามารถยึดพระอัธยาศัยของพระศาสดาได้.
               พระศาสดาทรงทราบว่า สารีบุตรหมดสงสัยในข้อปัญหา แต่ยังกังขาในอัธยาศัยของเรา แม้นว่าเรายังไม่ให้นัย เธอไม่อาจกล่าวแก้ได้ จักต้องให้นัยแก่เธอ
               เมื่อจะประทานนัยตรัสว่า สารีบุตร เธอจักเล็งเห็นภูตนี้.
               ได้ยินว่า พระองค์ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า เมื่อสารีบุตรจักถืออัธยาศัยของเรากล่าวแก้ ต้องแก้ด้วยอำนาจขันธ์. พอทรงประทานนัยปัญหานั้นกระจ่างแก่พระเถระเจ้าตั้งร้อยนัยพันนัย. ท่านยึดตามนัยที่พระศาสดาประทาน กราบทูลแก้ปัญหาในพุทธวิสัยได้.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่บริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ ปาณชาติ ๓๐ โกฏิดื่มน้ำอมฤตแล้ว.
               พระศาสดาทรงส่งบริษัท แล้วเสด็จจาริกถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ.
               วันรุ่งขึ้นเสด็จเข้าไปโปรดสัตว์ในพระนครสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว พวกภิกษุพากันแสดงวัตรเสร็จ เสด็จเข้าพระคันธกุฎี.
               ยามเย็น พวกภิกษุพากันนั่งในธรรมสภากล่าวถึงคุณกถาของพระเถระเจ้าว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสารีบุตรมีปัญญามาก มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาว่องไว มีปัญญาคมคาย กราบทูลความแก้ปัญหาที่พระทศพลตรัสถามโดยย่อได้อย่างพิสดาร.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนาด้วยเรื่องอะไรกัน เมื่อพวกภิกษุพากันกราบทูลให้ทรงทราบ
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้แต่ในปางก่อน เธอก็เคยกล่าวแก้ความแห่งภาษิตโดยย่อได้อย่างพิสดารแล้วเหมือนกัน
               แล้วทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดละมั่งอาศัยอยู่ในป่า พระราชาทรงพอพระหฤทัยในการล่าเนื้อ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกำลัง ถึงกับไม่ทรงนับมนุษย์อื่นว่าเป็นมนุษย์ไปเลย.
               วันหนึ่ง ท้าวเธอเสด็จไปล่าเนื้อ ตรัสกับหมู่อำมาตย์ว่า เนื้อหนีไปได้ข้างผู้ใด เราต้องลงอาชญาแก่ผู้นั้น เพราะเหตุนั้นทีเดียว. พวกนั้นคิดกันว่า บางครั้งเนื้ออยู่ในวงล้อมแล้วยังวิ่งกระเจิงไปได้ พวกเราต้องช่วยต้อนเนื้อที่ปรากฏตัวแล้ว ให้วิ่งไปทางที่พระราชาประทับด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งจงได้ ครั้นคิดกันแล้วก็กระทำกติกา ให้ช่องทางระหว่างถวายพระราชา. พวกเหล่านั้นพากันล้อมละเมาะใหญ่ไว้ ตีแผ่นดินด้วยไม้พลองเป็นต้น.
               ก่อนอื่นทีเดียวละมั่งลุกขึ้นเลาะละเมาะไปสามรอบ เมื่อจะหนีก็มองดูช่องที่จะหนี เห็นฝูงคนยืนถือธนูรายเรียง แขนจรดแขน ธนูจรดธนู ในทิศอันเหลือ สถานที่พระราชาประทับยืนเท่านั้นที่เห็นเป็นช่อง. ละมั่งนั้นจึงวิ่งไปตรงหน้าพระราชา เป็นเหมือนขว้างทรายใส่ตาที่กำลังลืม.
               พระราชาเห็นละมั่งนั้นมีกำลัง ก็ปล่อยลูกศรไปผิด.
               ธรรมดาฝูงละมั่งย่อมเป็นสัตว์ฉลาดที่จะลวง เมื่อลูกศรมาตรงหน้า ก็หมอบเสียโดยเร็วแล้วหยุดนิ่ง เมื่อลูกศรมาข้างหลังก็วิ่งไปโดยรวดเร็ว เมื่อลูกศรมาทางเบื้องบนก็เอี้ยวหลังเสีย เมื่อลูกศรมาทางข้างก็หลีกเสียหน่อย เมื่อลูกศรมาติดๆ กันก็หมุนตัวล้มลง เมื่อลูกศรผ่านพ้นไปแล้ว จึงวิ่งหนีด้วยกำลังเร็วประหนึ่งวลาหกที่ถูกลมพัดกระจายไป.
               พระราชาพระองค์นั้นเล่า เมื่อละมั่งนั่นหมุนตัวล้มลง ทรงเปล่งพระสีหนาทว่า เรายิงละมั่งได้แล้ว ละมั่งผลุดลุกวิ่งหนีโดยเร็ว ปานลมทำลายวงล้อมไปได้. พวกอำมาตย์ที่ยืนอยู่ ณ ด้านทั้งสอง เห็นละมั่งกำลังหนีไปแล้วต่างคนต่างถามเป็นเสียงเดียวกันว่า เนื้อเผ่นไปทางที่ใครยืนอยู่เล่า แล้วต่างก็ตอบกันว่า ทางที่พระราชาทรงประทับยืนอยู่. พระราชาก็ตรัสว่า เรายิงได้แล้ว ทูลถามว่า อะไรที่พระองค์ทรงยิงได้ พวกนั้นพากันยั่วเย้ากับพระราชาด้วยประการต่างๆ เช่นว่า ชาวเราเอ๋ย พระราชาของเราทั้งหลายทรงยิงไม่มีพลาดเลย พระองค์ทรงยิงแผ่นดินได้แล้วละ.
               พระราชาทรงพระดำริว่า พวกนี้เยาะเราได้ ช่างไม่รู้ฝีมือของเราเลย เราต้องถกเขมรเดินไปทีเดียว ใช้พระขรรค์จับละมั่งให้จงได้ แล้วทรงวิ่งไปโดยเร็ว ครั้นทรงเห็นละมั่งนั้นแล้วก็ทรงติดตามไปถึงสามโยชน์. ละมั่งเข้าป่าไปแล้ว ถึงพระราชาเล่าก็เสด็จเข้าป่าเหมือนกัน.
               ในป่านั้น ณ หนทางที่ละมั่งวิ่งไป มีบ่อลึกเป็นเหวประมาณ ๖๐ ศอกเกิดจากไม้ใหญ่ผุ. บ่อนั้นมีน้ำประมาณ ๓๐ ศอก หญ้าคลุมมิดชิด. ละมั่งได้กลิ่นน้ำเข้าก็ทราบว่ามีบ่อ จึงเลี่ยงเสียหน่อยแล้วผ่านไป. ส่วนพระราชาเสด็จไปตรงทีเดียว เลยตกลงในบ่อนั้น.
               ละมั่งไม่ได้ยินเสียงฝีพระบาทของท้าวเธอ เหลียวดูไม่เห็นเธอ ก็ทราบว่าคงตกลงในหลุมลึกเสียแล้ว เดินมามองดูเห็นท้าวเธอไม่มีที่เกาะ ลำบากอยู่ในน้ำลึก มิได้ใส่ใจถึงความผิดที่ท้าวเธอทรงกระทำเลย เกิดความสงสารขึ้นมา คิดว่า พระราชาอย่าฉิบหายต่อหน้าต่อตาเราเลย เราจักช่วยพระองค์ให้พ้นจากทุกข์นี้แล้วยืนอยู่ที่ขอบบ่อ
               กล่าวว่า มหาราช พระองค์อย่าทรงกลัวเลย ข้าพระองค์จักช่วยพระองค์ให้พ้นทุกข์ เพื่อจะช่วยพระราชาให้ขึ้นจากบ่อ เหมือนบุคคลกระทำความอุตสาหะเพื่อช่วยลูกรักของตนฉะนั้น คิดว่า เราต้องเอาหินถมลงไปจึงจะช่วยขึ้นได้จึงมาช่วยพระราชาขึ้นจากเหวลึก ๖๐ ศอกได้(ตามความคิด) ปลอบพระราชาแล้วให้ขึ้นหลังพาออกจากป่า ส่งลง ณ ที่ไม่ห่างเสนา ให้โอวาทแก่ท้าวเธอ ให้ทรงดำรงในศีล ๕ ประการ.
               พระราชาสุดที่จะทรงพลัดพรากจากพระมหาสัตว์อยู่ได้ จึงตรัสว่า ข้าแต่พญาละมั่งผู้เป็นนาย เชิญท่านมาสู่พระนครพาราณสีพร้อมกับฉัน ฉันจะถวายราชสมบัติในเมืองพาราณสีมีปริมาณ ๑๒ โยชน์ให้แก่ท่าน ท่านจงครองราชสมบัตินั้นเถิด. กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์เป็นดิรัจฉาน ไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ แม้พระองค์มีความไยดีในข้าพระองค์ไซร้ โปรดทรงรักษาศีลที่ข้าพระองค์ให้ไว้ ทรงรับสั่งให้แม้ชาวแว่นแคว้นรักษากันด้วยเถิด ให้โอวาทแล้วเข้าป่าไปเลย.
               ท้าวเธอมีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล ทรงรำลึกถึงคุณของละมั่งนั้นเรื่อยมาทีเดียว ครั้นเสนาพร้อมกระบวน แล้วทรงแวดล้อมด้วยเสนาเสด็จไปพระนคร ตรัสให้นำธรรมเภรีไปเที่ยวตีป่าวร้องว่า ตั้งแต่นี้ไป ชาวแว่นแคว้นทั่วหน้าจงพากันรักษาศีล ๕ เถิด แต่ไม่ทรงเล่าคุณที่พระมหาสัตว์กระทำไว้แก่พระองค์ให้ใครๆ ฟัง เสวยพระกระยาหารมีรสเลิศต่างๆ ในเวลาเย็นเสร็จ เสด็จบรรทมเหนือพระแท่นที่บรรทมอันอลงกต.
               เวลาใกล้รุ่ง ทรงระลึกถึงคุณของพระมหาสัตว์ เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งขัดบัลลังก์เหนือพระยี่ภู่ มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยพระปีติ ทรงเปล่งพระอุทาน
               ด้วยพระคาถา ๖ คาถาว่า
               บุรุษพึงหวังไว้ทีเดียว บัณฑิตไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนอยู่ว่า ปรารถนาอย่างใด ได้เป็นอย่างนั้น.
               บุรุษพึงหวังไว้ทีเดียว บัณฑิตไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนอยู่ว่า ได้รับความช่วยเหลือให้ขึ้นจากน้ำสู่บกได้.
               บุรุษพึงพยายามไว้ทีเดียว บัณฑิตไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนอยู่ว่า ปรารถนาอย่างใดได้เป็นอย่างนั้น.
               บุรุษพึงพยายามร่ำไป บัณฑิตไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตนอยู่ว่า ได้รับความช่วยเหลือให้ขึ้นจากน้ำสู่บกได้.
               นรชนผู้มีปัญญา แม้ตกอยู่ในกองทุกข์ ก็ไม่ควรตัดความหวังในอันจะมาสู่ความสุข เพราะว่า ผัสสะอันไม่เกื้อกูล และเกื้อกูลมีมาก คนที่ไม่ใฝ่ฝันถึงเลยก็ต้องเข้าถึงความตาย.
               สิ่งที่ไม่คิดไว้ย่อมมีได้บ้าง สิ่งที่คิดไว้ย่อมพินาศไปบ้าง โภคะทั้งหลายของสตรีหรือบุรุษ จะสำเร็จได้ด้วยความคิดนึกไม่ได้เลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึเสเถว ความว่า พระเจ้าพาราณสีระบุความว่า บุคคลไม่ต้องทำการตัดรอนความหวังเสีย ต้องทำความหวังในกรรมของตนเท่านั้น ไม่พึงหน่ายแหนงเลย.
               บทว่า ยถา อิจฺฉึ ความว่า จริงอยู่ ข้าพเจ้าสิปรารภจะขึ้นจากเหวลึกถึง ๖๐ ศอก ข้าพเจ้านั้นก็เป็นอย่างนั้นได้ คือขึ้นจากเหวนั้นได้ทีเดียว.
               บทว่า อหิตา หิตา จ ความว่า ผัสสะที่เป็นทุกข์ก็มี ที่เป็นสุขก็มี หมายความว่า ผัสสะเพื่อความตาย (ถูกเข้าตาย) ผัสสะเพื่อความเป็นอยู่ (ถูกเข้าเป็น) ดังนี้ก็มี ผัสสะเพื่อความตาย ชื่อว่าไม่เกื้อกูล เป็นของเหล่าสัตว์แท้จริง แม้หมู่สัตว์นั้นไม่ใฝ่ฝันคือไม่เคยคิดเลย ผัสสะเพื่อความตายก็จะมาถึงได้.
               บทว่า อจินฺตมฺปิ ความว่า ข้าพเจ้าไม่เคยคิดเลยว่าจักตกบ่อ ที่ข้าพเจ้าคิดไว้ คือจักฆ่าละมั่ง แต่บัดนี้สิที่ข้าพเจ้าคิดไว้ก็สลายไป ที่ไม่ได้คิดเลยนั่นแหละเกิดได้.
               บทว่า โภคา ความว่า ยศและบริวารเหล่านี้มิใช่เป็นสิ่งที่สำเร็จแต่ความคิด เหตุนั้น ความเพียรอย่างเดียวที่ผู้มีความรู้ต้องกระทำ ด้วยว่าผู้มีความเพียรย่อมเป็นอันกระทำ แม้สิ่งที่ไม่ได้เคยคิดไว้ก็ได้เหมือนกัน.

               เมื่อท้าวเธอกำลังทรงเปล่งพระอุทานอยู่นั่นแหละ อรุณปรากฏ ท่านปุโรหิตมาเฝ้าเพื่อทูลถามสุขไสยาแต่เช้าตรู่ ยืนอยู่ที่พระทวาร ได้ยินเสียงพระอุทานของท้าวเธอ ดำริว่า เมื่อวานพระราชาเสด็จไปล่าเนื้อ คงจักยิงละมั่งนั้นผิด ครั้นถูกพวกอำมาตย์มายั่วเย้า ก็ทรงติดตามละมั่งนั้นด้วยขัตติยมานะว่า จักฆ่าเสีย หิ้วมันมา เลยไปตกเหวลึก ๖๐ ศอก พญาละมั่งมีใจสงสาร มิได้คิดถึงโทษของพระราชา คงจักช่วยพระราชาขึ้นได้ เห็นจะเป็นด้วยเหตุนั้น ท้าวเธอจึงทรงเปล่งอุทาน
               เหตุได้ยินพระอุทานอันมีพยัญชนะบริบูรณ์ของพระราชา เหตุการณ์ที่พระราชาและพญาละมั่งกระทำไว้ได้ปรากฏแก่พราหมณ์ เหมือนเงาปรากฏแก่ผู้ส่องหน้าที่กระจกเจียระไนฉะนั้น.
               ท่านจึงเคาะประตูพระทวารด้วยเล็บ พระราชาตรัสถามว่าใครนั่น เขากราบทูลว่า ข้าพระองค์ปุโรหิต พระเจ้าข้า. ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงเปิดพระทวารแล้วตรัสว่า เชิญทางนี้เถิด ท่านอาจารย์. ท่านเข้าไปถวายชัยพระราชาแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทราบเหตุการณ์ที่พระองค์กระทำไว้ในป่า พระองค์ทรงติดตามละมั่งตัวหนึ่งไปตกเหว ครั้นแล้ว ละมั่งนั้นทำการถมด้วยศิลาช่วยพระองค์ขึ้นจากเหวลึก พระองค์นั้นทรงรำลึกถึงคุณของละมั่งนั้น ทรงเปล่งพระอุทานแล้ว พระเจ้าข้า
               พลางกราบทูลคาถา ๒ คาถาว่า
               เมื่อพระองค์เสด็จติดตามละมั่งตัวใดไปตกเหวที่ซอกเขา พระองค์ทรงพระชนม์สืบมาได้ด้วยความบากบั่นของละมั่งตัวนั้น ซึ่งมีจิตไม่ท้อแท้.
               ละมั่งตัวใดพยายามเอาก้อนหินถมเหวช่วยพระองค์ขึ้นจากเหวลึกยากที่จะขึ้น ปลดเปลื้องพระองค์ผู้เข้าถึงกองทุกข์เสียจากปากมฤตยู พระองค์กำลังตรัสถึงละมั่งตัวนั้นซึ่งมีจิตไม่ท้อแท้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุสฺสริ แปลว่า ติดตามไป.
               บทว่า วิกฺกนฺตํ ความว่า ได้กระทำความบากบั่นเพื่อจะถอนขึ้น.
               บทว่า อนุชีวสิ ความว่า ท่านอาศัยเป็นอยู่. อธิบายว่า ท่านได้ชีวิตเพราะอานุภาพของละมั่งนั้น.
               บทว่า อุทฺธริ ได้แก่ ให้ยกขึ้นแล้ว.
               บทว่า ตเมว วเทสิ ความว่า พระองค์นั่งสรรเสริญเนื้อละมั่งทอง บนที่นอนอันทรงสิรินี้.

               พระราชา ครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้มิได้ไปล่าเนื้อกับเรา รู้เรื่องทั้งหมดเลย รู้ได้อย่างไรเล่าหนอ ต้องถามท่านดู
               จึงตรัสพระคาถาที่ ๙ ว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อคราวนั้น ท่านได้อยู่ในที่นั้นด้วยหรือ หรือว่าใครได้บอกเรื่องนี้แก่ท่าน ท่านเป็นผู้เปิดเผยข้อที่เคลือบคลุม เห็นเรื่องได้ทั้งปวงละสิหนอ ความรู้ของท่านมีกำลัง เห็นปรุโปร่งหรืออย่างไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภึสรูปํ ความว่า ความรู้ของท่านน่าจะมีเรี่ยวแรงกระมังหนา เพราะเหตุนั้นท่านจึงรู้ข้อนั้น.

               พราหมณ์เมื่อจะแสดงว่า ข้าพระองค์มิใช่พระสัพพัญญูพุทธเจ้า แต่เรื่องราวของพระคาถาที่พระองค์ไม่ทรงยังพยัญชนะให้เลอะเลือนตรัสไว้ปรากฏแก่ข้าพระองค์ได้ พระเจ้าข้า
               จึงกล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน ผู้เป็นนักปราชญ์ ครั้งนั้น ข้าพระองค์หาได้อยู่ในที่นั้นไม่ และใครก็มิได้บอกเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์เลย แต่ว่า นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมนำเนื้อความแห่งบทคาถาที่พระองค์ทรงภาษิตแล้วมาใคร่ครวญดู.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุภาสิตานํ ความว่า บทแห่งคาถาที่พระองค์ตรัสดีแล้วไม่ลบล้างพยัญชนะ.
               บทว่า อตฺถํ ตทาเมนฺติ ความว่า ย่อมนำความแห่งบทแห่งคาถานั้นมาใคร่ครวญ.

               พระราชาทรงโปรดท่าน พระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก. ตั้งแต่นั้นก็ได้ทรงอภิรมย์แต่การบุญมีทานเป็นต้น. ฝูงชนเล่าก็พากันอภิรมย์แต่การบุญ ที่ตายไปแล้วๆ แน่นเมืองสวรรค์ทีเดียว.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทรงพระดำริว่า จักทรงยิงเป้า ตรัสชวนปุโรหิตเสด็จสู่พระอุทยาน.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรเห็นเทวดาและเทพกัญญาใหม่ๆ มากมาย ทรงนึกว่าเหตุอะไรเล่าหนอ ก็ทรงทราบเรื่องที่พระราชาขึ้นจากเหวได้เพราะละมั่ง แล้วทรงชักชวนให้ประชาชนดำรงอยู่ในศีล ทรงพระดำริว่า มหาชนพากันทำบุญ ด้วยอานุภาพของพระราชา เหตุนั้นแหละเทวโลกจึงบริบูรณ์
               ก็บัดนี้พระราชาเสด็จสู่พระอุทยานเพื่อจะทรงยิงเป้า เราจักต้องทดลองท้าวเธอดูบ้าง ให้ท้าวเธอเปล่งพระสุรสีหนาทประกาศคุณละมั่ง แล้วให้ทรงทราบความที่เราเป็นท้าวสักกะ จักยืนในอากาศแสดงธรรม กล่าวถึงคุณของเมตตาและเบญจศีลแล้วกลับมา ได้เสด็จไปสู่พระอุทยาน
               ฝ่ายพระราชาทรงพระดำริว่าจักยิงเป้า ก็ทรงโก่งธนูสอดลูกศร.
               ทันใดนั้น ท้าวสักกะก็แสดงรูปละมั่งให้ปรากฏระหว่างพระราชาและเป้าด้วยอานุภาพของท้าวเธอ. พระราชาทรงเห็นแล้วมิได้ปล่อยลูกศร
               ทีนั้น ท้าวสักกะก็เข้าทรงในสรีระของปุโรหิต ได้กล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระปรีชาอันประเสริฐ พระองค์ทรงสอดลูกศรอันมีปีกอันจะกำจัดความแกล้วกล้าของปรปักษ์ได้ เข้าในแล่งแล้วจะทรงลังเลอะไรอีกเล่า ลูกศรที่ทรงยิงไปแล้วต้องฆ่าละมั่งได้ทันที ละมั่งนี้คงเป็นพระกระยาหารของพระราชาได้โดยแท้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปตฺตํ แปลว่า ประกอบด้วยลูกศรอันมีปีก.
               บทว่า ปรวิริยฆาตึ ความว่า อันจะกำจัดความแกล้วกล้าของข้าศึกเหล่าอื่น.
               บทว่า จาเป สรํ ความว่า พระองค์เอาลูกศรกล่าวคือปีกนั่นสอดเข้าไปในแล่งแล้ว บัดนี้พระองค์จะลังเลใจอะไรเล่า.
               บทว่า หนฺตุ ความว่า ขอลูกศรที่พระองค์ยิงไปแล้วนั่น จงฆ่าละมั่งนี้โดยทันที.
               บทว่า อนฺนํ หิ เอตํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชผู้มีปรีชาอันประเสริฐ ชื่อว่าละมั่งคงเป็นพระกระยาหารของพระราชา.

               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสพระคาถานี้ว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราจะรู้จักชัดความข้อนี้ว่าเนื้อเป็นอาหารของกษัตริย์ ก็แต่ว่า เราจะบูชาคุณที่ละมั่งได้ทำไว้แก่เราในครั้งก่อน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ฆ่าละมั่งนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ กตญฺจ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฉันก็ทราบข้อนี้แจ่มแจ้งว่า มฤคเป็นอาหารแห่งกษัตริย์ แต่ฉันบูชาคุณที่ละมั่งกระทำในปางก่อน เพราะเหตุนั้น เราไม่ขอฆ่าเนื้อละมั่งเป็นเด็ดขาด.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกะตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
               ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งทิศ นั่นมิใช่เนื้อ นั่นเป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าอสูร ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งมนุษย์ พระองค์จงฆ่าท้าวสักกเทวราชนั้นเสีย แล้วจักได้เป็นใหญ่ในหมู่อมรเทพ.
               ข้าแต่พระราชาผู้องอาจประเสริฐกว่านรชน ถ้าว่าพระองค์ยังทรงลังเลใจไม่ฆ่าละมั่งซึ่งเป็นสหาย พระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรส และพระราชชายา จักต้องไปยังเวตรณีนรกของพญายม.


               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อสุเรโส นี้ท้าวสักกะตรัสด้วยความประสงค์ว่าอสูรนั่นเป็นท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าอสูร. ด้วยบทว่า อมราธีโป นี้ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านจงฆ่าท้าวสักกะนั่นแล้วเป็นท้าวสักกเทวราชเสียเอง. ด้วยบทว่า เวตรณี ยมสฺส นี้ท้าวสักกะทำให้พระราชาทรงสะดุ้งว่า ถ้าพระองค์ทรงคิดว่าเป็นสหายของเราแล้วไม่ฆ่าเนื้อละมั่งนั่นไซร้ พระองค์พร้อมทั้งพระโอรสและพระชายาจะต้องไปนรกเวตรณีของพญายม.

               ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสพระคาถา ๒ คาถาว่า
               เรา ชาวชนบททั้งหมด ลูกเมียและหมู่สหายจะพากันไปยังเวตรณีนรกของพญายมก็ตาม ถึงกระนั้น เราจะไม่ฆ่าผู้ที่ให้ชีวิตเราเป็นอันขาด.
               ดูก่อนพราหมณ์ ละมั่งตัวนี้ทำคุณแก่เรา เมื่อถึงความยาก ตัวคนเดียวในป่าเปลี่ยวแสนร้าย เราระลึกได้อยู่ถึงบุรพกิจเช่นนั้น ที่ละมั่งตัวนี้กระทำแก่เรา รู้คุณอยู่จะพึงฆ่าอย่างไรได้เล่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า มม ปาณทสฺส นี้พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ผู้ใดพึงให้ชีวิตแก่เรา ผู้ใดได้ให้ชีวิตอันเป็นที่รักแก่เราแล้ว เราถึงจะไปสู่นรก ก็ไม่พึงประหาร ไม่พึงฆ่าบุคคลนั้นเลย ผู้นั้นไม่พึงถูกฆ่า.
               บทว่า เอกสฺส กตฺตา วิวนสฺมึ โฆเร ความว่า มฤคนี้เป็นสัตว์กระทำคุณแก่ข้าพเจ้า คราวไม่มีสหายตัวคนเดียว เข้าไปในป่าเปลี่ยวแสนร้าย คือได้ให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้นรำลึกถึงบุรพกิจเช่นนั้นที่มฤคนี้กระทำไว้ เมื่อรู้ถึงคุณนั้น จะพึงฆ่าอย่างไรเล่า.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกะออกจากสรีระท่านปุโรหิต นิรมิตอัตภาพเป็นท้าวสักกะสถิตบนอากาศ
               เมื่อจะทรงแสดงพระคุณของพระราชา จึงตรัส ๒ พระคาถาว่า
               ขอพระองค์ผู้ทรงโปรดปรานมิตรยิ่งนัก จงทรงพระชนม์ชีพอยู่ยืนนานเถิด พระองค์ทรงปกครองราชสมบัติในคุณธรรมเถิด จงทรงมีหมู่นารีบำรุงบำเรอ จงทรงบันเทิงพระหฤทัยในแว่นแคว้น เหมือนท้าววาสวะบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์ฉะนั้น.
               ขอพระองค์อย่าทรงพระพิโรธ จงมีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ จงกระทำสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมทั้งปวงให้เป็นแขกควรต้อนรับ ครั้นทรงบำเพ็ญทานและเสวยบ้างตามอานุภาพแล้ว ชาวโลกไม่ติเตียนพระองค์ได้ จงเสด็จเข้าถึงสัคคสถานเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตาภิราธิ ความว่า พระองค์เป็นผู้โปรดปรานมิตร คือไม่ประทุษร้ายมิตร.
               บทว่า สพฺพาติถี ความว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระองค์ควรแก่ผู้ขอ ทรงกระทำสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมทั้งปวงให้เป็นแขกควรต้อนรับ.
               บทว่า อนินฺทิโต ความว่า พระองค์ทรงเป็นผู้เบิกบานพระหฤทัย เพราะได้บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น และไม่ถูกชาวโลกนินทา จงเข้าถึงสวรรคสถานเถิด.

               ท้าวสักกเทวราช ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงเตือนท้าวเธอว่า มหาราช ข้าพเจ้ามาเพื่อกำหนดจับท่าน ท่านไม่ให้ข้าพเจ้ากำหนดจับตนได้ จงไม่ประมาทเถิด แล้วเสด็จคืนสู่สถานแห่งตนแล.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน สารีบุตรก็ย่อมรู้ความแห่งภาษิตโดยย่ออย่างพิสดารเหมือนกัน ดังนี้
               ทรงประชุมชาดกว่า
                         พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์
                         ปุโรหิตได้มาเป็น พระสารีบุตร
                         ส่วนเนื้อละมั่ง คือ เราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

               จบอรรถกถาสรภชาดกที่ ๑๐               
               จบอรรถกถาแห่งเตรสนิบาต อันประดับด้วยชาดก ๑๐ เรื่อง               
               ในคัมภีร์อรรถกถาชาดกด้วยประการฉะนี้               
               -----------------------------------------------------               

               รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. อัมพชาดก ว่าด้วย มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์
                         ๒. ผันทนชาดก ว่าด้วย การผูกเวรของหมีและไม้ตะคร้อ
                         ๓. ชวนหังสชาดก ว่าด้วย รักกันอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้
                         ๔. จุลลนารทกัสสปชาดก ว่าด้วย พิษเหวเปือกตมและอสรพิษ
                         ๕. ทูตชาดก ว่าด้วย การบอกความทุกข์แก่ผู้ที่ควรบอก
                         ๖. กาลิงคโพธิชาดก ว่าด้วย การพยากรณ์ที่อันเป็นชัยภูมิ
                         ๗. อกิตติชาดก ว่าด้วย อกิตติดาบสขอพรท้าวสักกะ
                         ๘. ตักการิยชาดก ว่าด้วย การพูดดีเป็นศรีแก่ตัว
                         ๙. รุรุมิคชาดก ว่าด้วย น้ำใจของพญาเนื้อรุรุ
                         ๑๐. สรภชาดก ว่าด้วย ละมั่งทำคุณแก่พระราชา
               จบ เตรสนิบาตชาดก               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สรภชาดก ว่าด้วย ละมั่งทำคุณแก่พระราชา จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1839 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1854 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1872 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=7157&Z=7221
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=4718
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=4718
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :