ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 23 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 24 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 25 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก กุรุงควรรค
๔. อาชัญญชาดก ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ละความเพียรเหมือนกัน จึงตรัสธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยทา ยทา ดังนี้.
               ก็พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมา แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน เป็นผู้แม้ได้การประหาร ทั้งในที่อันมิใช่บ่อเกิด ก็ได้กระทำความเพียร แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระราชา ๗ องค์พากันล้อมพระนครไว้ โดยนัยมีในเรื่องก่อน นั่นแหละ.
               ลำดับนั้น นักรบประจำรถคันหนึ่ง เทียมรถมีม้าสินธพพี่น้อง ๒ ตัวออกจากพระนคร ทำลายกองพล ๖ กองพล ได้จับพระราชา ๖ องค์ไว้. ขณะนั้น ม้าผู้พี่ได้รับบาดเจ็บ. สารถีจึงส่งรถมายังประตูพระราชวัง ปลดม้าผู้พี่ชาย ออกจากรถ ทำเกราะให้หลวม แล้วให้นอนตะแคงข้างหนึ่ง เริ่มจะสวมเกราะม้าตัวอื่น. พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น จึงคิดโดยนัยเรื่องก่อนนั่นแหละ แล้วให้เรียกสารถีมา ทั้งที่นอนอยู่นั่นแล ได้กล่าวคาถานี้ว่า
               ไม่ว่าเมื่อใด ที่ใด ขณะใด ณ ที่ใดๆ ณ เวลาใดๆ ม้าอาชาไนยใช้กำลังความเร็ว ม้ากระจอกย่อมถอยหนี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา ยทา ได้แก่ ในกาลใดๆ ในบรรดาเวลาเช้า เป็นต้น. บทว่า ยตฺถ ได้แก่ ในที่ใด คือในหนทาง หรือในสนามรบ. บทว่า ยทา คือ ในขณะใด. บทว่า ยตฺถ ยตฺถ ได้แก่ ในสนามรบเป็นอันมาก เช่นกองพล ๗ กอง. บทว่า ยทา ยทา ได้แก่ ในกาลใดๆ คือ ในกาลที่ได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ได้รับ. บทว่า อาชญฺโญ กุรุเต เวคํ ความว่า ม้าอาชาไนย คือม้าสินธพตัวประเสริฐ ผู้มีสภาวะรู้ทั่วถึง เหตุที่จิตของสารถีชอบใช้กำลังความเร็ว คือพยายาม ปรารภความเพียร. บทว่า หายนฺติ ตตฺถ วาฬวา ความว่า เมื่อม้าอาชาไนยนั้นใช้กำลังความเร็ว ม้ากระจอก กล่าวคือม้าตัวเมีย นอกนี้ย่อมถอยหนี คือย่อมล่าถอยไป เพราะฉะนั้น ท่านจงเทียมเฉพาะเราเท่านั้น ในรถคันนี้.
               สารถีประคองพระโพธิสัตว์ให้ลุกขึ้น เทียมแล้วทำลายกองพลที่ ๗ พาเอาพระราชาองค์ที่ ๗ มา. ขับรถมายังประตูพระราชวัง แล้วปลดม้าสินธพ.
               พระโพธิสัตว์นอนตะแคงข้างหนึ่งถวายโอวาทแก่พระราชา โดยนัยเรื่องก่อนนั่นแลแล้วดับไป. พระราชารับสั่งให้กระทำฌาปนกิจสรีระของพระโพธิสัตว์นั้น แล้วกระทำสัมมานะแก่สารถีประจำรถ ทรงครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอ เสด็จไปตามยถากรรม.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล. พระศาสดาทรงประชุมชาดก ว่า
               พระราชาในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์
               สารถีได้เป็น พระสารีบุตร
               ส่วนม้าได้เป็น เรา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล.

               จบอรรถกถาอาชัญญชาดกที่ ๔

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก กุรุงควรรค ๔. อาชัญญชาดก ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 23 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 24 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 25 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=162&Z=166
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=5623
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=5623
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :