ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 265 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 267 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 269 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา กักกรชาดก
ว่าด้วย ผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุหนุ่มผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้
               มีคำเริ่มต้นว่า ทิฏฺฐา มยา วเน รุกฺขา ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกายของตน ไม่ฉันของเย็นจัด ร้อนจัด เพราะเกรงว่าร่างกายจะไม่สบาย ไม่ออกไปข้างนอก เพราะเกรงว่าร่างกายจะกระทบหนาวและร้อน ไม่ฉันจังหันที่แฉะและเป็นท้องเล็น. เพราะภิกษุหนุ่มนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกาย จึงปรากฏไปในท่ามกลางสงฆ์.
               ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกายเป็นอย่างดี. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้ มิใช่ฉลาดในการรักษาร่างกายในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอก็เป็นผู้ฉลาดเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ในราวป่าใหญ่. ครั้งนั้นมีพรานนกคนหนึ่งอุ้มไก่ต่อตัวหนึ่ง ถือบ่วงและแร้ว เที่ยวดักไก่ในป่าอยู่ เริ่มจะดักไก่ตัวหนึ่งซึ่งเป็นไก่ของตนมาก่อน หนีเข้าป่าไป. ไก่ตัวนั้นเพราะเข้าใจในบ่วง จึงไม่ยอมเข้าติดบ่วง ถอยหนีไปเรื่อยๆ. นายพรานจึงเอากิ่งไม้และใบไม้คลุมกำบังตนไว้ เลื่อนคันแร้วและบ่วงตามไปเรื่อยๆ.
               ฝ่ายไก่อยากจะให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ กล่าวคาถาแรกว่า :-
               ต้นหูกวาง และสมอพิเภกทั้งหลายในป่า เราเคยเห็นแล้ว ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเดินไปเหมือนกับท่านไม่ได้.


               คาถานั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนสหายพราน เราเคยเห็นต้นหูกวางและสมอพิเภกเป็นอันมากเกิดในป่านี้ ต้นไม้เหล่านั้นไม่เคลื่อน ไม่ก้าว ไม่เดินเหมือนท่านก้าวเคลื่อนเดินไปทางโน้นทางนี้ได้ฉะนั้น.

               ก็และครั้นไก่นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงได้หนีไปเสียที่อื่น.
               ในเวลาที่ไก่หนีไป นายพรานจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมาได้นี้ เป็นไก่ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ย่อมหลีกไปและยังขันเย้ยเสียด้วย.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า กุสโล วาลปาสานํ ความว่า ไก่ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ไม่ให้จับตัวได้ ย่อมหนีไป และยังขันเย้ยเสียด้วย ครั้นขันเย้ยแล้ว ไก่ก็หนีไป.

               ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พรานก็เที่ยวไปในป่าจับไก่ตามที่ดักได้กลับเรือน.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พรานในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้.
               ไก่ได้เป็นภิกษุหนุ่มผู้ฉลาดในการรักษาร่างกาย
               ส่วนรุกขเทวดาผู้เห็นเหตุการณ์อย่างประจักษ์ คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถากักกรชาดกที่ ๙               
               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา กักกรชาดก ว่าด้วย ผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 265 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 267 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 269 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1565&Z=1571
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=4217
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=4217
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :