ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 269 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 271 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 273 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โสมทัตตชาดก
ว่าด้วย อาการของผู้ขอ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อกาสิ โยคฺคํ ดังนี้.
               เรื่องย่อมีว่า พระโลฬุทายีเถระนั้นไม่สามารถจะกล่าวคำแม้สักคำเดียวได้สำเร็จ ในระหว่างชนสองสามคน เป็นผู้ประหม่าครั่นคร้าม คิดจะพูดคำหนึ่ง กลับไปพูดอีกคำหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงเรื่องราวของพระเถระนั้น พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายีมิใช่เป็นผู้ประหม่าครั่นคร้ามแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็เป็นผู้ประหม่าครั่นคร้ามเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในแคว้นกาสี ครั้นเจริญวัยเรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา ครั้นสำเร็จแล้วจึงกลับมาเรือน รู้ว่ามารดาบิดายากจน คิดว่าเราจักกู้ตระกูลที่ตกต่ำ จึงอำลามารดาบิดาไปรับราชการในกรุงพาราณสี.
               พระโพธิสัตว์เป็นที่รักโปรดปรานของพระราชา. ครั้งนั้น เมื่อบิดาของพระโพธิสัตว์ซึ่งไถนาเลี้ยงชีพด้วยโคสองตัว โคตัวหนึ่งได้ตายไป. บิดาจึงไปหาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า นี่แน่ะลูก โคตายไปเสียตัวหนึ่งแล้ว เลยทำกสิกรรมไม่ได้ ลูกจงขอพระราชทานโคกะพระราชาสักตัวหนึ่งเถิด. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พ่อจ๋า ลูกรับราชการยังไม่นานนัก จะทูลขอโคในตอนนี้ยังไม่สมควร พ่อทูลขอเองเถิด. พราหมณ์กล่าวว่า นี่ลูก ลูกไม่รู้ว่าพ่อเป็นคนประหม่าครั่นคร้ามดอกหรือ ต่อหน้าคนสองสามคน พ่อไม่อาจจะพูดได้ถูกต้องนัก หากพ่อจะไปเฝ้าทูลขอโค พ่อคงจะถวายโคตัวนี้เสียก็ได้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า จะอย่างไรก็ตามเถิดพ่อ ลูกไม่อาจทูลขอโคได้ เอาอย่างนี้เถิดพ่อ ลูกจะซักซ้อมให้พ่อเอง. พราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นลูกจงซ้อมพ่อให้ดีก็แล้วกัน.
               พระโพธิสัตว์พาบิดาไปป่าช้าชื่อพีรณัตถัมภกะ มัดฟ่อนหญ้าไว้เป็นแห่งๆ สมมตินามแสดงแก่บิดาตามลำดับว่า นี้พระราชา นี้อุปราช นี้เสนาบดี แล้วกล่าวว่า พ่อจ๋า พ่อไปเฝ้าพระราชาแล้ว จงกราบถวายพระพรว่า ขอพระองค์จงทรงพระเจริญเถิด แล้วจึงค่อยกล่าวคาถานี้ทูลขอโค
               จึงให้บิดาเรียนคาถาว่า :-
               ข้าแต่มหาราช ข้าพระพุทธเจ้ามีโคสำหรับไถนาอยู่สองตัว ในโคสองตัวนั้นตายเสียตัวหนึ่งแล้ว ขอพระองค์โปรดพระราชทานโคตัวที่สองเถิด พระเจ้าข้า.
               พราหมณ์เรียนคาถานี้ได้คล่องแคล่วเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว จึงบอกพระโพธิสัตว์ว่า โสมทัต ลูกพ่อ พ่อจำคาถาได้คล่องแล้ว บัดนี้พ่อสามารถจะกล่าวได้ไม่ว่าในสำนักใดๆ ลูกจงนำพ่อไปเฝ้าพระราชาเถิด. พระโพธิสัตว์รับว่า ดีแล้วพ่อ จึงให้จัดหาเครื่องบรรณาการนำบิดาไปเฝ้าพระราชา. พราหมณ์กราบทูลว่า ขอมหาราชเจ้าจงทรงพระเจริญเถิดพระเจ้าข้า แล้วทูลถวายเครื่องบรรณาการ. พระราชาตรัสว่า โสมทัต พราหมณ์ผู้นี้เป็นอะไรกับเจ้า. กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เป็นบิดาของข้าพระพุทธเจ้า พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า มาธุระอะไร. ขณะนั้น พราหมณ์ เมื่อจะกล่าวคาถาทูลขอโค จึงทูลว่า :-
               ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ามีโคสำหรับไถนาอยู่สองตัว ในโคสองตัวนั้นตายเสียตัวหนึ่งแล้ว ขอพระองค์โปรดรับตัวที่สองไปเถิด พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงทราบว่า พราหมณ์พูดผิด ทรงพระสรวล ตรัสถามว่า โสมทัต ในเรือนเจ้าเห็นจะมีโคหลายตัวซินะ. โสมทัตกราบทูล ขอเดชะข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์พระราชทานแล้วก็จักมีมากพระเจ้าข้า. พระราชาทรงโปรดปรานพระโพธิสัตว์ พระราชทานโค ๑๖ ตัว กับเครื่องประดับ และบ้านสำหรับอยู่เป็นรางวัลด้วย แล้วทรงส่งพราหมณ์ไปด้วยยศยิ่งใหญ่. พราหมณ์ขึ้นรถเทียมด้วยม้ามีขาวล้วน ได้ไปบ้านพร้อมด้วยบริวารใหญ่. พระโพธิสัตว์นั่งไปในรถกับบิดา กล่าวว่า พ่อลูกทำการซ้อมมาทั้งปี แต่พอถึงคราวเอาจริงเอาจังเข้า พ่อกลับทูลถวายโคของพ่อแด่พระราชาเสียนี่ แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-

               ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิจ ได้ทำความเพียรอยู่ในป่าช้าชื่อพีรณัตถัมภกะถึงหนึ่งปี ครั้นเข้าประชุมบริษัท กลับกล่าวให้ผิดพลาดไป ความเพียรย่อมป้องกันผู้ปราศจากปัญญามิได้.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า อกาสิ โยคฺคํ ธุวํ อปฺปมตฺโต สํวจฺฉรํ วีรณตฺถมฺภกสฺมึ ความว่า พ่อจ๋า พ่อไม่ประมาทเป็นนิจ ได้ทำการซักซ้อมที่ป่าช้าชื่อพีรณัตถัมภกะถึงหนึ่งปี. บทว่าพฺยากาสิ อญฺญํ ปริสํ วิคยฺห ความว่า ครั้นพ่อเข้าประชุมบริษัท ได้ทำเป็นอย่างอื่น คือได้ทำพลาดไป ได้แก่เปลี่ยนแปลงไป. บทว่า น นิยฺยโม ตายติ อปฺปปญฺญํ ความว่า ความเพียรย่อมไม่ป้องกัน คือไม่รักษาบุคคลผู้มีปัญญาน้อยแม้ทำบ่อยๆ ได้.

               พราหมณ์ฟังคำของพระโพธิสัตว์ แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนพ่อโสมทัต บุคคลผู้ขอย่อมประสบอาการสองอย่าง คือ ได้ทรัพย์ ๑ ไม่ได้ทรัพย์ ๑ เพราะว่าการขอมีอาการอย่างนี้เป็นธรรมดา.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ ธมฺมา หิ ยาจนา ได้แก่ เพราะการขอมีสภาพเป็นอย่างนี้.

               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายี มิใช่เป็นผู้ประหม่าครั่นคร้ามในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็เป็นผู้ประหม่าครั่นคร้าม แล้วทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประชุมชาดก.
               บิดาของโสมทัตได้เป็น โลฬุทายี
               ส่วนโสมทัต คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาโสมทัตตชาดกที่ ๑

.. อรรถกถา โสมทัตตชาดก ว่าด้วย อาการของผู้ขอ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 269 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 271 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 273 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1589&Z=1597
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=4311
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=4311
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :