พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรู ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อาสีวิสมฺปิ มํ สนฺตํ ดังนี้.
ความพิสดารมีว่า พระมหาโกศลพระราชบิดาของพระเจ้าโกศล พระราชทานพระธิดาแก่พระเจ้าพิมพิสาร ได้ประทานหมู่บ้านกาสีเป็นค่าสรงสนานแก่พระธิดา.
พระเทวีนั้น เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตกรรม ก็ได้สิ้นพระชนม์เพราะความเสน่หาต่อพระราชาไม่นานนัก. พระเจ้าอชาตศัตรู แม้เมื่อพระชนนีสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ก็คงครองบ้านนั้นอยู่ตามเดิม.
พระเจ้าโกศลทรงดำริว่า เราจักไม่ให้หมู่บ้านอันเป็นของตระกูลของเราแก่โจรผู้ฆ่าบิดา จึงรบกับพระเจ้าอชาตศัตรู บางคราวพระเจ้าน้าก็ชนะ บางคราวพระเจ้าหลานก็ชนะ
แต่คราวใดพระเจ้าอชาตศัตรูทรงชนะ คราวนั้นก็ทรงโสมนัส ปักธงชัยบนรถ เข้าไปสู่พระนครด้วยยศอันยิ่งใหญ่ คราวใดทรงปราชัย คราวนั้นก็ทรงโทมนัส ไม่ให้ใครๆ ทราบเลย เสด็จเข้าสู่พระนคร.
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าอชาตศัตรูทรงชนะพระเจ้าน้าแล้วดีพระทัย ทรงปราชัยก็ทรงโทมนัส.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นทรงชนะแล้วก็ดีพระทัย ทรงปราชัยแล้วก็ทรงโทมนัสเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดกบเขียว
ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้ดักลอบเพื่อต้องการจะจับปลาในที่มีแม่น้ำและลำธารเป็นต้น มีปลาเป็นอันมากเข้าไปติดอยู่ในลอบใบหนึ่ง.
ครั้งนั้นมีงูปลาตัวหนึ่งจะกินปลาจึงเข้าไปสู่ลอบนั้น. ปลาเป็นอันมากรวมกันเข้าไปกัดงูตัวนั้นจนเลือดออกนอง.
งูปลาไม่เห็นที่พึ่ง กลัวตายจึงหนีออกทางปากลอบ ได้รับความเจ็บปวด นอนอยู่บนพื้นน้ำ.
ในขณะนั้น กบเขียวขึ้นไปเกาะบนหลักลอบ งูเมื่อไม่ได้ที่จะตัดสินความ เห็นกบนอนอยู่บนหลักลอบนั้น
เมื่อจะถามว่า ดูก่อนสหายกบ กิริยาของพวกปลาเหล่านี้ ท่านพอใจบ้างไหม ได้กล่าวคาถาแรกว่า :-
ดูก่อนท่านผู้เป็นบุตรกบเขียว ปลาทั้งหลายรุมกัดฉันผู้มีพิษแล่นเร็ว เข้าไปยังปากลอบเรื่องนี้ท่านชอบใจหรือ.
ลำดับนั้น กบเขียวจึงกล่าวกะงูว่า ดูก่อนสหาย ถูกแล้ว ข้าพเจ้าพอใจ เพราะอะไร เพราะหากพวกปลามาถึงถิ่นของท่าน ท่านก็ย่อมกิน ฝ่ายพวกปลาก็ย่อมกินท่านผู้ไปอยู่ถิ่นของตน
อันการจะอ่อนกำลังในถิ่นหากิน ในที่เป็นแดนของตนๆ ย่อมไม่มี ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
บุรุษผู้มีอิสรภาพอยู่เพียงใดก็ย่ำยีผู้อื่นได้อยู่เพียงนั้น คนอื่นมาย่ำยีตนคราวใด คราวนั้นผู้ที่ถูกย่ำยีก็ย่ำยีตอบบ้าง.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วิลุมฺปเตว ฯเปฯ อุปกปฺปติ ความว่า ความมีอิสรภาพย่อมสำเร็จ ย่อมเป็นไปแก่บุรุษเพียงใด เขาย่อมย่ำยีผู้อื่นได้เพียงนั้น. อธิบายว่า บุรุษนั้นสามารถย่ำยีได้ตลอดกาล.
บทว่า ยทา จญฺเญ วิลุมฺปนฺติ คือ คนอื่นที่มีอิสรภาพมาย่ำยีตนคราวใด.
บทว่า โส วิลุตฺโต วิลุมฺปติ ความว่า คราวนั้นผู้ย่ำยีนั้นย่อมถูกผู้อื่นย่ำยี.
เมื่อพระโพธิสัตว์วินิจฉัยคดีแล้ว ฝูงปลารู้ว่างูปลาอ่อนกำลัง คิดว่าจักจับศัตรูจึงตรูกันออกจากปากลอบ ทำให้งูปลาตายในที่นั้นเอง แล้วต่างก็หลีกไป.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
งูปลาในครั้งนั้น ได้เป็น พระเจ้าอชาตศัตรู ในครั้งนี้.
ส่วนกบเขียว คือ เราตถาคต นี้แล.
จบ อรรถกถาหริตมาตชาดกที่ ๙
-----------------------------------------------------
.. อรรถกถา หริตมาตชาดก ว่าด้วย ผู้มีอิสรภาพ จบ.
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1858&Z=1864
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=37&A=6280
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=37&A=6280
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]