ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 352 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 355 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 358 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ติลมุฏฐิชาดก
ว่าด้วย การเฆี่ยนตีเป็นการสั่งสอน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อชฺชาปิ เม ตํ มนสิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มักโกรธมากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกใครว่าอะไรแม้เพียงนิดเดียวก็โกรธ ข้องใจ กระทำความโกรธ ความประทุษร้ายและความน้อยใจให้ปรากฎ.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุรูปโน้นเป็นคนโกรธง่าย มากไปด้วยความคับแค้นใจ เที่ยวทำเสียงเอะอะเหมือนเกลือที่เขาใส่ในเตาไฟ เป็นผู้บวชในศาสนาที่สอนมิให้โกรธเห็นปานนี้ แม้แต่ความโกรธเท่านั้นก็ไม่อาจข่มได้. พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้ไปเรียกภิกษุรูปนั้นมา แล้วตรัสถามว่า ข่าวว่าเธอเป็นผู้โกรธง่ายจริงหรือ? เมื่อภิกษุรูปนั้นรับเป็นสัตย์แล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็ได้เป็นคนมักโกรธเหมือนกัน
               ภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี โอรสของพระเจ้าพรหมทัตนั้นได้มีนามว่า พรหมทัตตกุมาร. แท้จริง พระราชาครั้งเก่าก่อน แม้จะมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในนครของตน ก็ย่อมส่งพระราชโอรสของตนๆ ไปเรียนศิลปะยังภายนอกรัฏฐะในที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เมื่อกระทำอย่างนี้ พระราชโอรสเหล่านั้น
                         จักเป็นผู้ขจัดความเย่อหยิ่งด้วยมานะ ๑
                         จักเป็นผู้อดทนต่อความหนาวและความร้อน ๑
                         จักได้รู้จารีตประเพณีของชาวโลก ๑
               เพราะฉะนั้น พระราชาแม้พระองค์นั้น จึงมีรับสั่งให้หาพระราชโอรส ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษามาแล้ว พระราชทานฉลองพระบาทชั้นเดี่ยวคู่ ๑ ร่มใบไม้คันหนึ่งและทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ พลางตรัสว่า ลูกรัก เจ้าจงไปยังเมืองตักกสิลา ร่ำเรียนเอาศิลปะมา แล้วทรงส่งไป. พระราชโอรสรับพระราชโองการ แล้วถวายบังคมพระชนกชนนี แล้วเสด็จออกไป บรรลุถึงเมืองตักกสิลาโดยลำดับ ได้ไปถามหาบ้านอาจารย์.
               ก็ในเวลานั้น อาจารย์สอนศิลปะแก่พวกมาณพ เสร็จแล้วลุกขึ้นมานั่ง ณ ที่ข้างหนึ่งที่ประตูเรือน พระราชโอรสนั้นไปที่บ้านอาจารย์นั้น ได้เห็นอาจารย์นั่งอยู่ในที่นั้น ครั้นแล้วจึงถอดรองเท้าตรงที่นั้นแหละ ลดร่ม ไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ อาจารย์นั้นรู้ว่า พระราชโอรสนั้นเหน็ดเหนื่อยมา จึงให้กระทำอาคันตุกสงเคราะห์.
               พระกุมารเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว พักผ่อนอยู่ครู่หนึ่ง จึงเข้าไปหาอาจารย์ไหว้แล้วยืนอยู่ เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามว่า เธอมาจากไหนน่ะพ่อ จึงกล่าวตอบว่า มาจากเมืองพาราณสี. เธอเป็นลูกใคร? เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี. พระองค์เสด็จมาด้วยประสงค์อะไร? ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการเรียนศิลปะ. พระองค์นำทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์มาด้วยหรือเปล่า หรือพระองค์จะเป็นธัมมันเตวาสิก. พระราชกุมารนั้นกล่าวว่า ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ข้าพเจ้านำมาด้วยแล้ว ว่าแล้วก็วางถุงทรัพย์พันกหาปณะ ลงที่ใกล้เท้าของอาจารย์แล้วก็ไหว้.
               อันศิษย์ที่เป็นธัมมันเตวาสิก เวลากลางวันต้องทำการงานให้อาจารย์ กลางคืนจึงจะได้เรียน. ศิษย์ที่ให้ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ เป็นเหมือนบุตรคนโตในเรือน เรียนแต่ศิลปะเท่านั้น เพราะฉะนั้น อาจารย์แม้นั้น พอมีฤกษ์งามยามดีแล้ว จึงเริ่มสอนศิลปะแก่พระกุมารโดยพิสดาร. ฝ่ายพระราชกุมารก็เรียนเอาศิลปะด้วยความตั้งใจ วันหนึ่งได้ไปอาบน้ำพร้อมกับอาจารย์.
               ครั้งนั้น มีหญิงชราคนหนึ่งขัดสีเมล็ดงาให้หมดเปลือกแล้ว เอามาแผ่ตากไว้ นั่งเฝ้าอยู่. พระกุมารเห็นเมล็ดงาที่ตากไว้ ก็อยากจะเสวย จึงหยิบเมล็ดงามาหนึ่งกำมือแล้วเคี้ยวเสวย. หญิงชราคิดว่า มาณพนี้คงอยากกิน จึงนิ่งเสียมิได้กล่าวประการใด. แม้ในวันรุ่งขึ้น พระกุมารนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้น ในเวลานั้น. แม้หญิงชรานั้นก็ไม่กล่าวอะไรกะพระราชกุมารนั้น.
               แม้ในวันที่ ๓ พระราชกุมารก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. คราวนั้น หญิงชราเห็นเข้าจึงประคองแขนทั้งสองร้องคร่ำครวญว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ใช้ให้พวกศิษย์ของตนปล้นเรา. อาจารย์หันกลับมาถามว่า นี่อะไรกันแน่. หญิงชรากล่าวว่า นาย ศิษย์ของท่านเคี้ยวกินเมล็ดงาอ่อนที่ข้าพเจ้าทำไว้ วันนี้กำมือหนึ่ง เมื่อวานกำมือหนึ่ง เมื่อวันซืนกำมือหนึ่ง ก็เมื่อศิษย์ของท่านเคี้ยวกินอยู่อย่างนี้ เมล็ดงาที่มีอยู่ของดิฉันเท่าไรๆ ก็จักหมดสิ้นไปมิใช่หรือ. อาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวว่า แม่ อย่าร้องไห้ไปเลย ฉันจักให้มูลค่าแก่ท่าน. หญิงชรากล่าวว่า ดิฉันไม่ต้องการมูลค่าดอกนาย ดิฉันขอให้ท่านสั่งสอนโดยอย่าให้กุมารนี้กระทำอย่างนี้อีกต่อไป.
               อาจารย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น จงคอยดูนะแม่ แล้วให้มาณพ ๒ คน จับพระราชกุมารนั้นที่แขนทั้ง ๒ ข้างไว้ จึงเอาซีกไม้ไผ่มาเฆี่ยนที่กลางหลัง ๓ ครั้ง พร้อมกับสอนว่า เธออย่าได้ทำอย่างนี้อีกต่อไป. พระราชกุมารโกรธอาจารย์ ทำนัยน์ตาแดงมองดูตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผม แม้อาจารย์นั้นก็รู้ว่า พระราชกุมารนั้นมองดูเพราะโกรธเคือง.
               พระราชกุมารเรียนศิลปะจบแล้วทำการฝึกซ้อม เก็บโทษที่อาจารย์นั้นกระทำไว้ในหทัย โดยอาฆาตว่า เราต้องฆ่าอาจารย์ผู้นี้ ครั้นเวลาจะไป จึงไหว้อาจารย์ ทำทีมีความสิเนหาอย่างสุดซึ้ง รับเอาปฏิญญาว่า ท่านอาจารย์ เมื่อใด ข้าพเจ้าได้ราชสมบัติในพระนครพาราณสี แล้วส่งข่าวมาถึงท่าน เมื่อนั้น ขอให้ท่านพึงมาหาข้าพเจ้า กล่าวดังนี้แล้วก็จากไป.
               ครั้นไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ถวายบังคมพระชนกชนนี แล้วแสดงศิลปะให้ทอดพระเนตร. พระราชาตรัสว่า เรามีชีวิตอยู่ทันเห็นบุตรเราขณะมีชีวิตอยู่นี้แหละ จักได้เห็นความสง่าในราชสมบัติแห่งบุตรของเรา จึงทรงสถาปนาพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติ. เมื่อพระราชโอรสได้ครอบครองศิริราชสมบัติ ก็ระลึกถึงโทษที่อาจารย์ได้กระทำไว้ ก็ทรงพระพิโรธ จึงทรงส่งทูตไปถึงอาจารย์เพื่อให้มาเฝ้าด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักฆ่าอาจารย์นั้น.
               ท่านอาจารย์คิดว่า ในเวลาที่เขายังหนุ่มแน่น เราจักไม่อาจให้พระราชานั้นเข้าใจได้ จึงมิได้ไป ในเวลาที่พระราชานั้นล่วงเข้ามัชฌิมวัย คิดว่า บัดนี้เราจักอาจทำให้พระราชานั้นเข้าใจได้ จึงได้เดินทางไปยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง ให้กราบทูลว่า อาจารย์จากเมืองตักศิลามาแล้ว.
               พระราชาทรงโสมนัสยินดีรับสั่งให้เรียกพราหมณ์มา พอเห็นอาจารย์นั้นมาเฝ้าพระองค์เท่านั้น ทรงพระพิโรธจนพระเนตรทั้งสองข้างแดง ตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาว่า แน่ะผู้เจริญ ที่ที่อาจารย์เฆี่ยนยังเสียดแทงเราอยู่จนทุกวันนี้ อาจารย์บากหน้าพาเอาความตายมาโดยไม่รู้ว่าเราจักตายวันนี้ อาจารย์ผู้นั้นจะไม่มีชีวิตแล้ว
               จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถา อันมีในเบื้องต้นว่า :-
               การที่ท่านให้จับแขนเราไว้แล้ว เฆี่ยนตีเราด้วยซีกไม้ไผ่ เพราะเหตุเมล็ดงากำมือหนึ่งนั้น ยังฝังใจเราอยู่จนทุกวันนี้.
               ดูก่อนพราหมณ์ ท่านไม่ใยดีในชีวิตของท่านแล้วหรือ จึงมาหาเราถึงที่นี่ ผลที่ท่านให้จับแขนทั้งสองของเราแล้วเฆี่ยนตีเราถึง ๓ ที่นั้น จักสนองท่านในวันนี้.


               ทุติยาวิภัติในบททั้งสองว่า ยํ มํ และ พาหายํ มํ ในคาถานั้น เพ่งถึงการเฆี่ยนตีและการจับ. ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ข้อที่ท่านเฆี่ยนตีเรา เพราะเมล็ดงากำมือหนึ่ง และเมื่อเฆี่ยนตียังได้จับแขนเรา แล้วเฆี่ยนตีนั้นยังฝังใจเราอยู่แม้ทุกวันนี้.
               บทว่า นนุ ชีวิเต น รมสิ ความว่า ท่านเห็นจะไม่ยินดีในชีวิตของตน.
               บทว่า เยนาสิ พฺราหฺมณาคโต ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุที่ท่านมาหาเราในที่นี้.
               บทว่า ยํ มํ พาหา คเหตฺวาน ความว่า ข้อที่จับแขนทั้งสองของเรา. อธิบายว่า จับที่แขนดังนี้ก็มี.
               บทว่า ติกฺขตฺตุํ อนุตาลยิ ความว่า ท่านเฆี่ยนตีเราด้วยซีกไม้ไผ่ถึง ๓ ครั้ง วันนี้แหละ ท่านจะได้รับผลแห่งการเฆี่ยนตีเรานั้น.

               พระราชาเอาความตายมาขู่อาจารย์ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               อริยชนใดย่อมเกียดกันอนารยชน ผู้กระทำชั่วด้วยการลงโทษ กรรมของอริยชนนั้นเป็นการสั่งสอนหาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้แล.


               บทว่า อริโย ในคาถานั้น เป็นชื่อของผู้สอน.
               ก็อริยชนนี้นั้นมี ๔ ประเภท คือ
                         อาจารอริยชน อริยชนผู้มีอาจาระ ๑
                         ทัสสนอริยชน อริยชนที่ควรแลดู ๑
                         ลิงคอริยชน อริยชนผู้ถือเพศ ๑
                         ปฏิเวธอริยชน อริยชนผู้รู้แจ้งแทงตลอด ๑
               ในอริยชน ๔ ประเภทนั้น อริยชนผู้ตั้งอยู่ในมารยาทอันประเสริฐ จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ชื่อว่าอาจารอริยชน.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๑- :-
               ดูก่อนหงส์ ท่านย่อมนอบน้อมก้อนอาหาร ชื่อว่ามีความประพฤติธรรมอันประเสริฐ ข้าพเจ้าจะปล่อยนายของท่าน ท่านทั้งสองจงไปตามสบายเถิด.

               ข้าพเจ้าขอสละภัสดาผู้ประพฤติเยี่ยง อริยชนคนโกง เชิดชูบิณฑะ ที่พามาได้นั้นแก่ท่าน ขอท่านทั้งสองจงไปตามสบายเถิด.

               ส่วนอริยชนผู้ประกอบด้วยรูปและอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส น่าดู ชื่อว่าทัสสนอริยชน.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒- :-
               ท่านผู้เจริญ ท่านมีนัยน์ตาผ่องใส มีท่าทางอันประเสริฐ ออกบวชจากตระกูลอะไร จิตของท่านสละโภคทรัพย์ได้ละหรือ ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะออกจากเรือนบวชได้.

               อริยชนผู้เป็นคล้ายสมณะ โดยถือเพศด้วยการนุ่งห่ม เที่ยวไปอยู่ แม้จะเป็นผู้ทุศีล ก็ชื่อว่าลิงคอริยชน ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า๓- :-
               บุคคลผู้ทำการนุ่งห่มเหมือนผู้มีพรตอันงามทั้งหลาย มักเอาหน้า ประทุษร้ายตระกูล เป็นคนคะนอง เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไม่สำรวม เป็นคนพร่ำเพ้อ ประพฤติโดยอาการเทียม ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายหนทาง.


               ฝ่ายพระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าปฏิเวธอริยชน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธสาวกทั้งหลาย เรียกว่า พระอริยะ.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๒๐๕
๒- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๔๙๕
๓- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๐๒

               บรรดาอริยชนเหล่านั้น ในที่นี้ พราหมณ์ประสงค์เอาอาจารอริยชนอย่างเดียว.
               บทว่า อนริยํ ได้แก่ ผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก.
               บทว่า กุพฺพํ ได้แก่ ผู้กระทำกรรมของผู้ทุศีล ๕ อย่างมีปาณาติบาตเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง อรรถบทนี้เป็นอย่างเดียวกันว่า บุคคลผู้กระทำกรรมอันเป็นเวรและภัย ๕ อันไม่ประเสริฐ คือเลวทราม ลามก.
               บทว่า โย ความว่า ก็บรรดากษัตริย์เป็นต้น คนใดคนหนึ่งนั้น.
               บทว่า ทณฺเฑน ความว่า ด้วยเครื่องประหารอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า นิเสธติ ความว่า เฆี่ยนตี ห้ามปรามว่า อย่าทำกรรมเห็นปานนี้อีกต่อไป.
               บทว่า สาสนํ ตํ น ตํ เวรํ ความว่า ข้าแต่มหาราช ชื่อว่าการเฆี่ยนตีกีดกันบุตรธิดา หรือศิษย์ผู้กระทำสิ่งไม่ควรทำด้วยอาการอย่างนี้ เป็นการสั่งสอนในโลกนี้ คือเป็นการพร่ำสอน เป็นโอวาท หาใช่เป็นการก่อเวรไม่.
               บทว่า อิติ นํ ปณฺฑิตาวิทู ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้ทีเดียว.

               ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น แม้พระองค์ก็โปรดทรงทราบอย่างนี้ พระองค์ไม่ควรก่อเวรในฐานะเห็นปานนี้ ถ้าแม้ข้าพระองค์จักไม่ได้ให้พระองค์ทรงสำเหนียกอย่างนี้แล้ว ต่อไปภายหน้า พระองค์ลักขนม น้ำตาลกรวด แลผลไม้เป็นต้น ติดในโจรกรรมทั้งหลาย จะทำการตัดช่องย่องเบา ฆ่าคนในหนทางและฆ่าชาวบ้านเป็นต้นโดยลำดับ ถูกจับพร้อมทั้งของกล่าวว่า โจรผู้ผิดต่อพระราชาแล้วแสดงต่อพระราชา จักได้รับภัยคืออาญา โดยพระดำรัสว่า พวกท่านจงไปลงอาญาอันสมควรแก่โทษของโจรนี้ สมบัติเห็นปานนี้จักได้มีแก่พระองค์มาแต่ไหน พระองค์ได้ความเป็นใหญ่โดยเรียบร้อย เพราะอาศัยข้าพระองค์มิใช่หรือ อาจารย์ได้ทำให้พระราชายินยอมด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายผู้ยืนห้อมล้อมอยู่ ได้ฟังถ้อยคำของอาจารย์นั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ คำที่อาจารย์กล่าวนั้นเป็นความจริง ความเป็นใหญ่นี้เป็นของท่านอาจารย์ของพระองค์.
               ขณะนั้น พระราชาทรงกำหนดได้ถึงคุณของอาจารย์จึงกล่าวว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าให้ความเป็นใหญ่นี้แก่ท่าน ขอท่านจงรับราชสมบัติเถิด. อาจารย์ปฏิเสธว่า ข้าพระองค์ไม่ต้องการราชสมบัติ. พระราชาทรงส่งข่าวไปยังเมืองตักกสิลา ให้นำบุตรและภรรยาของอาจารย์มา แล้วประทานอิสริยยศใหญ่ ทรงตั้งอาจารย์นั้นนั่นแลให้เป็นปุโรหิต แล้วตั้งไว้ในฐานเป็นบิดา ตั้งอยู่ในโอวาทของอาจารย์นั้น บำเพ็ญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔ ทรงประชุมชาดก
               ในเวลาจบอริยสัจ ภิกษุผู้มักโกรธดำรงในอนาคามิผล คนอื่นๆ ได้เป็นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี.
               พระราชาในคราวนั้น ได้เป็นภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้
               ส่วนอาจารย์ในคราวนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาติลมุฏฐิชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ติลมุฏฐิชาดก ว่าด้วย การเฆี่ยนตีเป็นการสั่งสอน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 352 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 355 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 358 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1999&Z=2008
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=147
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=147
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :