ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 355 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 358 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 361 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มณิกัณฐชาดก
ว่าด้วย ขอสิ่งที่ไม่ควรขอ

               พระศาสดา เมื่ออาศัยเมืองอาฬวี ประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภกุฏิการสิกขาบท จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า มมนฺนปานํ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุชาวเมืองอาฬวีพากันสร้างกุฏิ ด้วยการเที่ยวขอ มากด้วยการขอ มากด้วยการทำวิญญัติการขอร้อง พูดคำเป็นต้นว่า ท่านทั้งหลายจงให้คน ท่านทั้งหลายจงให้คนชี้แจงแนะนำ พวกมนุษย์ถูกเบียดเบียนด้วยการขอ ถูกเบียดเบียนด้วยการขอร้อง เห็นภิกษุเข้าก็หวาดเสียวสะดุ้งตกใจหลีกหนีไป.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปจนถึงเมืองอาฬวี แล้วเข้าไปบิณฑบาต. พวกมนุษย์เห็นแม้แต่พระเถระก็พากันหวาดกลัวเหมือนอย่างนั้น. พระเถระกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตตาหารแล้ว จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อก่อนเมืองอาฬวีนี้หาภิกษาหารได้ง่าย เพราะเหตุไร บัดนี้จึงหาภิกษาหารได้ยาก ครั้นได้ฟังเหตุการณ์นั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จมาเมืองอาฬวี ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ ในเพราะเหตุนั้น
               พระศาสดาจึงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถาม พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี จริงหรือที่มีข่าวว่า พวกเธอให้เขาสร้างกุฏิด้วยการเที่ยวขอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า จึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการขอนี้ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจ แม้ของพวกนาคทั้งปวงผู้อยู่ในนาคพิภพอันบริบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ จะป่วยกล่าวไปใยถึงพวกมนุษย์ผู้ทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นสัก ๑ กหาปณะ ก็ยังยาก เป็นประหนึ่งทำเนื้อให้เกิดขึ้นจากหินดังนี้แล้ว
               ทรงนำเอาเรื่องอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ซึ่งมีทรัพย์สมบัติมาก. แม้ในเวลาพระโพธิสัตว์นั้นเที่ยววิ่งเล่นได้ สัตว์ผู้มีบุญอีกผู้หนึ่งก็บังเกิดในครรภ์มารดาของพระโพธิสัตว์นั้น.
               พี่น้องทั้งสองนั้นเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาก็ทำกาลกิริยา จึงมีความสังเวชสลดใจ พากันบวชเป็นฤาษี สร้างบรรณศาลาอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา. บรรดาฤาษีทั้งสองนั้น บรรณศาลาของฤาษีผู้พี่ชายอยู่เหนือแม่น้ำคงคา บรรณศาลาของฤาษีผู้น้องชายอยู่ใต้แม่น้ำคงคา.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระยานาคนามว่ามณิกัฏฐะ ออกจากนาคพิภพ จำแลงเพศเป็นมาณพน้อย เที่ยวไปตามฝั่งแม่น้ำคงคา ไปถึงอาศรมของฤาษีผู้น้อง จึงไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ต่างกระทำสัมโมทนียกถา ได้เป็นผู้สนิทสนมคุ้นเคยกัน ไม่อาจเว้นว่างห่างกัน.
               มณิกัณฐนาคมายังสำนักของพระดาบสผู้น้อง แล้วนั่งสนทนาปราศัยกันเมื่อเวลาจะไป ด้วยความสิเนหาพระดาบส จึงเปลี่ยนแปลงอัตตภาพแล้วเอาขนดหางตระหวัดรัดรอบพระดาบส แล้วแผ่พังพานใหญ่ไว้เหนือศีรษะ นอนพักอยู่หน่อยหนึ่ง พอบรรเทาความสิเนหานั้นแล้ว จึงคลายร่างไหว้พระดาบสแล้วกลับไปนาคพิภพของตน เพราะความกลัวพระยานาคนั้น พระดาบสจึงซูบผอมเศร้าหมอง ผิวพรรณไม่ผ่องใส เกิดเป็นโรคผอมเหลือง มีเนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยแถวเส้นเอ็น.
               วันหนึ่ง จึงไปหาดาบสผู้พี่ชาย ลำดับนั้น ดาบสผู้พี่ชายจึงได้ถามดาบสผู้น้องชายนั้นว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ท่านจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณทราม เกิดเป็นโรคผอมเหลือง เนื้อตัวสะพรั่งด้วยแถวเส้นเอ็น. ดาบสผู้น้องชายจึงบอกเรื่องราวนั้นแก่ดาบสผู้พี่ชาย ผู้อันดาบสผู้พี่ชายถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ท่านไม่ต้องการให้พระยานาคนั้นมาหรือ จึงตอบว่า ไม่ต้องการ เมื่อดาบสผู้พี่ชายกล่าวว่า ก็พระยานาคนั้น เมื่อมายังสำนักของท่านประดับเครื่องประดับอะไรมา จึงกล่าวตอบว่า ประดับแก้วมณีมา.
               ดาบสผู้พี่ชายกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เมื่อพระยานาคนั้นมาไหว้ท่านแล้วยังไม่ทันนั่ง จงรีบขอว่า ท่านจงให้แก้วมณี เมื่อขออย่างนั้น พระยานาคนั้นจักไม่รัดท่านด้วยขนดเลย จักไปทันที วันรุ่งขึ้น พระยานาคนั้นมายืนที่ประตูอาศรมบทยังไม่ทันเข้าไป ท่านพึงขอ ในวันที่ ๓ ท่านจงไปยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา พอพระยานาคนั้นผุดขึ้นจากน้ำ พึงร้องขอทันที เมื่อเป็นอย่างนี้ พระยานาคนั้นจักไม่มาหาท่านอีกต่อไป.
               พระดาบสรับคำแล้วกลับไปบรรณศาลาของตน
               วันรุ่งขึ้น พระยานาคพอมายืนเท่านั้น ก็ร้องขอว่า ท่านจงให้แก้วมณีเครื่องประดับตนลูกนั้นแก่เราเถิด. พระยานาคนั้นไม่นั่ง หนีไปเลย.
               ครั้นวันที่สอง พระยานาคนั้นมายืนอยู่ที่ประตูอาศรมบทเท่านั้น ก็กล่าวว่า เมื่อวานท่านยังไม่ได้ให้แก้วมณีแก่เรา แม้วันนี้ ท่านก็จงให้ในบัดนี้เถิด. เมื่อเป็นเช่นนั้น พระยานาคนั้นก็มิได้เข้าไปยังอาศรมบท รีบหนีไป.
               ในวันที่สาม พอพระยานาคนั้นโผล่ขึ้นจากน้ำเท่านั้น พระดาบสก็กล่าวว่า เมื่อเราร้องขออยู่วันนี้เป็นวันที่สามแล้ว บัดนี้ ท่านจงให้แก้วมณีดวงนั้นแก่เราเถิด.
               พระยานาค แม้อยู่ในน้ำ เมื่อจะห้ามดาบสนั้นมิให้ขอ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
               ข้าวและน้ำอันไพบูลย์ยิ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า เพราะเหตุแก้วมณีดวงนี้ ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ทั้งข้าพเจ้าก็จักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกด้วย.
               เมื่อท่านขอแก้วมณีอันเกิดแต่หินดวงนี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียว เหมือนชายหนุ่มมีมือถือดาบอันลับแล้วที่หิน มาทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียวฉะนั้น ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ทั้งตัวข้าพเจ้าก็จักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกต่อไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มมนฺนปานํ ได้แก่ โภชนะอันเป็นทิพย์มีข้าวยาคูและภัตต์เป็นต้น และน้ำดื่มอันเป็นทิพย์มีน้ำปานะ ๘ ชนิดของข้าพเจ้า.
               บทว่า วิปุลํ แปลว่า มาก. บทว่า อุฬารํ ได้แก่ ประเสริฐ คือประณีต.
               บทว่า ตนฺเต ได้แก่ เราจักไม่ให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่าน.
               บทว่า อติยาจโกสิ ความว่า ท่านขอแก้วมณีอันเป็นที่รักที่ชอบใจของข้าพเจ้า สิ้น ๓ วัน เข้าวันนี้ ล่วงกาลและล่วงกำหนดประมาณ ชื่อว่าเป็นผู้ขอเกินไป.
               บทว่า น จาปิ เต ความว่า เราจักไม่ให้อย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ แม้อาศรมของท่านเราก็จักไม่มา.
               บทว่า สุสู ยถา ได้แก่ เหมือนมนุษย์หนุ่ม.
               บทว่า สกฺขรโธตปาณี แปลว่า ผู้มีฝ่ามือล้างแล้วด้วยน้ำตาลกรวด. อธิบายว่า มีมือถือดาบอันลับแล้วที่หินประกอบด้วยน้ำมัน.
               บทว่า ตาเสสิมํ เสลํ ยาจมาโน ความว่า ท่านเมื่อขอแก้วมณีดวงนี้ ทำให้หวาดเสียว เหมือนบุรุษหนุ่มชักดาบมีด้ามคร่ำทองแล้วกล่าวขู่ว่า จะตัดศีรษะท่าน.

               พระยานาคนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงดำน้ำลงไปยังนาคพิภพทีเดียว แล้วไม่กลับมาอีกต่อไป. ต่อมา พระดาบสนั้นกลับเป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง ผิวพรรณไม่งดงาม เกิดเป็นโรคผอมเหลือง มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยแถวเส้นเอ็น หนักยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะไม่ได้เห็นพระยานาคผู้น่าดูตนนั้น ฝ่ายดาบสผู้พี่ชายคิดว่า จักรู้เรื่องราวของดาบสผู้น้องชาย จึงไปยังสำนักดาบสนั้น ได้เห็นดาบสผู้น้องชายนั้นมีโรคผอมเหลืองหนักกว่าเดิม จึงกล่าวว่า ผู้เจริญ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงเกิดโรคผอมเหลืองยิ่งกว่าเดิม.
               ครั้นได้สดับว่า เพราะไม่ได้พบพระยานาคผู้น่าดูตนนั้น จึงกำหนดได้ว่า ดาบสนี้ไม่อาจเหินห่างพระยานาคได้ จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               บุคคลรู้ว่า สิ่งใดเป็นที่รักของเขาก็ไม่ควรขอสิ่งนั้น บุคคลย่อมเป็นที่เกลียดชัง เพราะขอจัด พระยานาคถูกพราหมณ์ขอแก้วมณีตั้งแต่นั้นมา พระยานาคก็มิได้มาให้พราหมณ์นั้นเห็นอีกเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ ยาเจ ความว่า ไม่พึงขอสิ่งนั้น.
               บทว่า ยสฺส ปิยํ ชิคึเส ความว่า พึงรู้ว่า สิ่งใดเป็นที่รักของบุคคลนั้น.
               บทว่า เทสฺโส โหติ แปลว่า ย่อมไม่เป็นที่รัก.
               บทว่า อติยาจนาย ได้แก่ เมื่อขอสิ่งของเกินประมาณนั้นแล ชื่อว่า เพราะขอจัดนั้น.
               บทว่า อทสฺสนํเยว ตทชฺฌคมา ได้แก่ ตั้งแต่นั้นมาก็ไปไม่เห็นอีกเลย.

               ก็ดาบสผู้พี่ชาย ครั้นกล่าวกะดาบสน้องชายอย่างนั้นแล้ว จึงปลอบโยนว่า ผู้เจริญ ตั้งแต่บัดนี้ไปท่านอย่าเศร้าโศกเสียใจเลย แล้วกลับไปยังอาศรมของตน. ครั้นในกาลต่อมาอีก ดาบสพี่น้องทั้งสองนั้นทำฌานและสมาบัติให้บังเกิดแล้ว ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

               พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการขอไม่เป็นที่ชอบใจ แม้ของพวกนาคที่อยู่ในนาคพิภพอันสมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ จะป่วยกล่าวไปใยถึงมนุษย์ทั้งหลายเล่า
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ดาบสน้องชายในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนดาบสผู้พี่ชายคือ เราตถาคต ฉะนี้แล

               จบ อรรถกถามณิกัณฐชาดกที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มณิกัณฐชาดก ว่าด้วย ขอสิ่งที่ไม่ควรขอ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 355 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 358 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 361 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2009&Z=2021
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=286
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=286
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :