ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 37 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 38 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 39 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก กุลาวกวรรค
๘. พกชาดก ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เจริญด้วยจีวร จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นาจฺจนฺตํ นิกติปฺปญฺโญ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุผู้อยู่ในพระเชตวันวิหารรูปหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการตัด การขัด การจัดและการเย็บผ้าที่จะพึงทำในจีวร. ภิกษุนั้นย่อมเพิ่มจีวรด้วยความเป็นผู้ฉลาดนั้น เพราะฉะนั้น จึงปรากฏชื่อว่า จีวรวัฑฒกะ ผู้เจริญด้วยจีวร.
               ถามว่า ก็ภิกษุนี้กระทำอย่างไร?
               ตอบว่า ภิกษุนี้เอาผ้าเก่าที่ครํ่าคร่ามาแสดงหัตถกรรม คือทำด้วยมือ กระทำจีวรสัมผัสได้ดี น่าพอใจ ในเวลาเสร็จการย้อม ได้ย้อมด้วยนํ้าแป้ง ขัดด้วยหอยสังข์ กระทำให้ขึ้นเงาเป็นที่พอใจแล้วเก็บไว้. ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่รู้จักทำจีวรกรรม จึงถือเอาผ้าสาฎกทั้งหลายใหม่ๆ ไปยังสำนักของภิกษุนั้น จึงกล่าวว่า พวกผมไม่รู้จักทำจีวร ขอท่านจงทำจีวรให้แก่พวกผม.
               ภิกษุนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จีวร เมื่อกระทำย่อมสำเร็จช้า จีวรที่เราทำไว้เท่านั้น มีอยู่ ท่านทั้งหลายจงวางผ้าสาฎกเหล่านี้ไว้ แล้วจงถือเอาจีวรที่ทำไว้แล้วนั้น ไปเถอะ. กล่าวแล้ว จึงนำออกมาให้ดู.
               ภิกษุเหล่านั้นเห็นวรรณสมบัติของจีวรนั้นเท่านั้น ไม่รู้ถึงภายใน สำคัญว่า มั่นคงดี จึงให้ผ้าสาฎกใหม่ทั้งหลายแก่พระจีวรวัฑฒกะ แล้วถือเอาจีวรนั้นไป. จีวรนั้นอันภิกษุเหล่านั้นซักด้วยนํ้าร้อน ในเวลาเปื้อนเปรอะนิดหน่อย มันจึงแสดงปรกติของตน. ที่ที่เก่าครํ่าคร่าปรากฏในที่นั้นๆ.
               ภิกษุเหล่านั้นต่างมีความวิปฏิสาร เดือดร้อนใจ ภิกษุนั้นเอาผ้าเก่า ลวงภิกษุทั้งหลายที่มาแล้วๆ ด้วยอาการอย่างนี้ จนปรากฏไปในที่ทั้งปวง.
               แม้ในบ้านแห่งหนึ่ง ก็มีพระจีวรวัฑฒกะรูปหนึ่ง ล่อลวงชาวโลก เหมือนพระจีวรวัฑฒกะรูปนี้ในพระเชตวันวิหาร ฉะนั้น.
               ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนคบของภิกษุนั้น จึงบอกว่า ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า พระจีวรวัฑฒกะรูปหนึ่งในพระเชตวัน ล่อลวงชาวโลกอย่างนี้.
               ลำดับนั้น พระจีวรวัฑฒกะบ้านนอกนั้น ได้มีความคิดดังนี้ว่า เอาเถอะ เราจะลวงพระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงรูปนั้น แล้วกระทำจีวรเก่าให้เป็นที่น่าพอใจยิ่ง แล้วย้อมอย่างดี ได้ห่มจีวรนั้น ไปยังพระเชตวันวิหาร.
               ฝ่ายพระจีวรวัฑฒกะชาวกรุง พอเห็นจีวรนั้นเท่านั้น เกิดความโลภอยากได้ จึงถามว่า ท่านผู้เจริญ จีวรนี้ ท่านทำเองหรือ?
               พระจีวรวัฑฒกะบ้านนอก กล่าวว่า ขอรับท่านผู้มีอายุ ผมทำเอง.
               พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงให้จีวรผืนนี้แก่ผมเถิด ท่านจักได้ผืนอื่น.
               พระจีวรวัฑฒกะบ้านนอกกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ พวกผมเป็นพระบ้านนอก หาปัจจัยได้ยาก ผมให้จีวรผืนนี้แก่ท่านแล้ว ตัวเองจักห่มอะไร.
               พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ผ้าสาฎกใหม่ๆ ในสำนักของผมมีอยู่ ท่านจงถือเอาผ้าสาฎกเหล่านั้น กระทำจีวรของท่านเถิด.
               พระจีวรวัฑฒกะบ้านนอกกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ผมแสดงหัตถกรรมในจีวรนี้ ก็เมื่อท่านพูดอย่างนี้ ผมจะอาจทำได้อย่างไร ท่านจงถือเอาจีวรผืนนั้น. แล้วให้จีวรที่ทำด้วยผ้าเก่าแก่ พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงนั้น แล้วถือเอาผ้าสาฎกใหม่ๆ ลวงพระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงนั้น แล้วหลีกไป.
               ฝ่ายพระจีวรวัฑฒกะผู้อยู่ในพระเชตวัน ก็ห่มจีวรนั้น พอล่วงไป ๒-๓ วัน จึงซักด้วยนํ้าร้อน เห็นว่า เป็นผ้าเก่าครํ่าคร่า ก็ละอาย. ความที่พระจีวรวัฑฒกะชาวกรุงนั้นถูกลวง เกิดปรากฏไป ในท่ามกลางสงฆ์ ว่า เขาว่า พระจีวรวัฑฒกะผู้อยู่ในพระเชตวัน ถูกพระจีวรวัฑฒกะบ้านนอกลวงเอาแล้ว.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายพากันนั่งกล่าวเรื่องนั้น ในโรงธรรมสภา.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไร หนอ? ภิกษุเหล่านั้นพากันกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระจีวรวัฑฒกะผู้อยู่ในพระเชตวัน ย่อมล่อลวงภิกษุอื่น ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ล่อลวงมาแล้ว เหมือนกัน.
               ฝ่ายพระจีวรวัฑฒกะชาวบ้านนอก ได้ล่อลวงพระจีวรวัฑฒกะผู้อยู่ในพระเชตวันรูปนี้ ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้ล่อลวงแล้ว เหมือนกัน.
               แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้
               ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดา อยู่ที่ต้นไม้ ซึ่งตั้งอาศัยสระปทุมแห่งหนึ่ง อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง. ในกาลนั้น คราวฤดูร้อน นํ้าในสระแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใหญ่นัก ได้น้อยลง แต่ในสระนั้นมีปลาเป็นอันมาก. ครั้งนั้น นกยางตัวหนึ่งเห็นปลาทั้งหลาย แล้วคิดว่า เราจักลวงกินปลาเหล่านี้ ด้วยอุบายสักอย่าง จึงไปนั่งคิดอยู่ที่ชายนํ้า.
               ลำดับนั้น ปลาทั้งหลายเห็นนกยางนั้น จึงถามว่า เจ้านาย ท่านนั่งคิดถึงอะไรอยู่หรือ?
               นกยางกล่าวว่า เรานั่งคิดถึงพวกท่าน.
               ปลาทั้งหลายถามว่า เจ้านาย ท่านคิดถึงเราอย่างไร.
               นกยางกล่าวว่า เรานั่งคิดถึงพวกท่านว่า นํ้าในสระนี้น้อย ที่เที่ยวก็น้อย และความร้อนมีมาก บัดนี้ ปลาเหล่านี้จักกระทำอย่างไร.
               ลำดับนั้น พวกปลาจึงกล่าวว่า เจ้านาย พวกเราจะกระทำอย่างไร. นกยางกล่าวว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะกระทำตามคำของเรา เราจะเอาจะงอยปาก คาบบรรดาพวกท่านคราวละตัว นำไปปล่อยยังสระใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งดารดาษด้วยปทุม ๕ สี.
               ปลาทั้งหลายกล่าวว่า เจ้านาย ตั้งแต่ปฐมกัปมา ชื่อว่า นกยางผู้คิดดีต่อพวกปลา ย่อมไม่มี. ท่านประสงค์จะกินบรรดาพวกเราทีละตัว พวกเราไม่เชื่อท่าน.
               นกยางกล่าวว่า เราจักไม่กิน ก็ถ้าพวกท่านไม่เชื่อเราว่า สระนํ้ามี พวกท่านจงส่งปลาตัวหนึ่ง ไปดูสระนํ้าพร้อมกับเรา. ปลาทั้งหลายเชื่อนกยางนั้น คิดว่า ปลาตัวนี้สามารถทั้งทางนํ้าและทางบก จึงได้ให้ปลาทั้งใหญ่ทั้งดำตัวหนึ่งไป ด้วยคำว่า ท่านจงเอาปลาตัวนี้ไป. นกยางนั้นคาบปลาตัวนั้น นำไปปล่อยในสระ แสดงสระทั้งหมดแล้ว นำกลับมาปล่อยในสำนักของปลาเหล่านั้น. ปลานั้นจึงพรรณนาสมบัติของสระแก่ปลาเหล่านั้น. ปลาเหล่านั้นได้ฟังถ้อยคำของปลาตัวนั้น เป็นผู้อยากจะไป จึงพากันกล่าวว่า ดีละ เจ้านาย ท่านจงคาบพวกเราไป.
               นกยางคาบปลาตัวทั้งดำทั้งใหญ่ตัวแรกนั้นนั่นแหละ แล้วนำไปยังฝั่งของสระนํ้า แสดงสระนํ้าให้เห็น แล้วซ่อนที่ต้นกุ่มซึ่งเกิดอยู่ริมสระนํ้า แล้วสอดปลานั้นเข้าในระหว่างค่าคบ จิกด้วยจะงอยปากให้ตายแล้วกินเนื้อ ทิ้งก้างให้ตกลงที่โคนต้นไม้ แล้วกลับไป พูดว่า ปลาตัวนั้นเราปล่อยไปแล้ว ปลาตัวอื่นจงมา แล้วคาบเอาทีละตัวโดยอุบายนั้น กินปลาหมด กลับมาอีก แม้ปลาตัวหนึ่ง ก็ไม่เห็น.
               ก็ในสระนี้ มีปูเหลืออยู่ตัวหนึ่ง นกยางเป็นผู้อยากจะกินปูแม้ตัวนั้น จึงกล่าวว่า ปูผู้เจริญ เรานำปลาทั้งหมดนั้นไปปล่อยในสระใหญ่ อันดารดาษด้วยปทุม มาเถิดท่าน แม้ท่านเราก็จักนำไป.
               ปูถามว่า ท่าน เมื่อจะพาเราไป จักพาไปอย่างไร?
               นกยางกล่าวว่า เราจักคาบพาเอาไป.
               ปูกล่าวว่า ท่านเมื่อพาไปอย่างนี้ จักทำเราให้ตกลงมา เราจักไม่ไปกับท่าน.
               นกยางกล่าวว่า อย่ากลัวเลย เราจักคาบท่านให้ดี แล้วจึงไป.
               ปูคิดว่า ชื่อว่า การคาบเอาปลาไปปล่อยในสระ ย่อมไม่มีแก่นกยางนี้ ก็ถ้านกยางจักปล่อยเราลงในสระ ข้อนี้เป็นการดี หากจักไม่ปล่อย เราจักตัดคอมันเอาชีวิตเสีย.
               ลำดับนั้น ปูจึงกล่าวกะนกยางนั้น อย่างนี้ว่า ดูก่อนนกยางผู้สหาย ท่านจักไม่อาจคาบเอาเราไปให้ดีได้ ก็เราคาบด้วย จึงจะเป็นการคาบที่ดี ถ้าเราจักได้เอาก้ามคาบคอท่านไซร้ เราจักกระทำคอของท่านให้เป็นของอันเราคาบดีแล้ว จึงจักไปกับท่าน.
               นกยางนั้นคิดแต่จะลวงปูนั้น หารู้ไม่ว่า ปูนี้ลวงเรา จึงรับคำว่า ตกลง.
               ปูจึงเอาก้ามทั้งสองของมันคาบคอนกยางนั้นไว้แน่น ประหนึ่งคีบด้วยคีมของช่างทอง แล้วกล่าวว่า ท่านจงไปเดี๋ยวนี้. นกยางนั้นนำปูนั้นไปให้เห็นสระแล้ว บ่ายหน้าไปทางต้นกุ่ม.
               ปูกล่าวว่า ลุง สระนี้อยู่ข้างโน้น แต่ท่านจะนำไปข้างนี้.
               นกยางกล่าวว่า เราเป็นลุงที่น่ารัก แต่เจ้าไม่ได้เป็นหลานเราเลยหนอ แล้วกล่าวว่า เจ้าเห็นจะทำความสำคัญว่า นกยางนี้เป็นทาสของเรา พาเราเที่ยวไปอยู่ เจ้าจงดูก้างปลาที่โคนต้นกุ่มนั่น แม้เจ้า เราก็จักกินเสีย เหมือนกินปลาทั้งหมดนั้น.
               ปูกล่าวว่า ปลาเหล่านั้น ท่านกินได้ เพราะความที่ตนเป็นปลาโง่ แต่เราจักไม่ให้ท่านกินเรา แต่ท่านนั่นแหละจักถึงความพินาศ ด้วยว่า ท่านไม่รู้ว่า ถูกเราลวง เพราะความเป็นคนโง่ เราแม้ทั้งสอง เมื่อจะตายก็จักตายด้วยกัน เรานั่นจักตัดศีรษะของท่านให้กระเด็นลงบนภาคพื้น. กล่าวแล้ว จึงเอาก้าม ปานประหนึ่งคีม หนีบคอนกยางนั้น.
               นกยางนั้นอ้าปาก นํ้าตาไหลออกจากนัยน์ตาทั้งสองข้าง ถูกมรณภัยคุกคาม จึงกล่าวว่า ข้าแต่นาย เราจักไม่กินท่าน ท่านจงให้ชีวิตเราเถิด.
               ปูกล่าวว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านร่อนลงแล้วปล่อยเราลงในสระ.
               นกยางนั้นหวนกลับมาร่อนลงยังสระนั่นแหละ แล้ววางปูไว้บนหลังเปือกตม ณ ที่ริมสระ. ปูตัดคอนกยางนั้นขาดจมลงไปในนํ้า เหมือนตัดก้านโกมุทด้วยกรรไกร ฉะนั้น.
               เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นกุ่ม เห็นความอัศจรรย์นั้น เมื่อจะให้สาธุการทำป่าให้บันลือลั่น จึงกล่าวคาถานี้ด้วยเสียงอันไพเราะว่า
               บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์ เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอ ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาจฺจนฺตํ นิกติปฺปญฺโญ นิกตฺยา สุขเมธติ ความว่า การหลอกลวง เรียกว่านิกติ บุคคลผู้มีปัญญาชื่อว่านิกติ คือผู้มีปัญญาหลอกลวง ย่อมไม่ถึงความสุขโดยส่วนเดียว คือไม่อาจดำรงอยู่ในความสุขนั้นแหละตลอดกาลเป็นนิตย์ เพราะการลวงคือการหลอกลวงนั้น แต่ว่า ย่อมถึงแต่ความพินาศโดยส่วนเดียว เท่านั้น.
               บทว่า อาราเธติ แปลว่า ย่อมได้เฉพาะ. อธิบายว่า บุคคลผู้ลามกมีปัญญาหลอกลวง คือมีปัญญาอันสำเหนียกความเป็นคนคดโกง ย่อมได้เฉพาะคือย่อมประสบผลแห่งบาปที่ตนได้กระทำไว้.
               ย่อมประสบผลบาปอย่างไร?
               ย่อมประสบผลบาป เหมือนนกยางคอขาดเพราะปู ฉะนั้น.
               อธิบายว่า บาปบุคคลย่อมประสบ คือ ย่อมได้เฉพาะภัยในปัจจุบัน หรือในโลกหน้า เพราะบาปที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถึงการถูกตัดคอขาดเพราะปู ฉะนั้น.
               มหาสัตว์ เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงแสดงธรรมยังป่าให้บันลือลั่น.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจีวรวัฑฒกะชาวกรุงถูกภิกษุจีวระวัฑฒกะชาวบ้านนอกนั้นนั่นแหละ ลวงเอาแล้วในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในอดีตกาล ก็ถูกลวงมาแล้วเหมือนกัน.
               ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบต่ออนุสนธิแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               นกยางในครั้งนั้น ได้เป็น พระจีวรวัฑฒกะผู้อยู่ในพระเชตวัน
               ปูในครั้งนั้นได้เป็น พระจีวรวัฑฒกะชาวบ้านนอก
               ส่วนรุกขเทวดาในครั้งนั้น ได้เป็น เราเอง แล.

               จบอรรถกถาพกชาดกที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก กุลาวกวรรค ๘. พกชาดก ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 37 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 38 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 39 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=251&Z=256
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=6773
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=6773
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :