ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 379 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 382 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 385 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา ปทุมชาดก
ว่าด้วย ไม่ควรพูดให้เกินความจริง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุทั้งหลายผู้กระทำการบูชาด้วยดอกไม้ที่ต้นอานันทโพธิ์ จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า ยถา เกสา จ มสฺสุ จ ดังนี้
               เรื่องนี้จักมีแจ้งใน กาลิงคโพธิชาดก.
               ก็ต้นโพธิ์นั้น ชื่อว่าอานันทโพธิ์ เพราะเป็นต้นโพธิ์ที่พระอานันทเถระปลูกไว้. จริงอยู่ ความที่พระเถระปลูกต้นโพธิ์ไว้ที่ซุ้มประตูพระเชตวันวิหาร ได้แพร่สะพัดไปตลอดทั่วชมพูทวีป.
               ครั้งนั้น ภิกษุชาวชนบทบางพวกพากันคิดว่า จักกระทำการบูชาด้วยระเบียบดอกไม้ที่ต้นอานันทโพธิ์ จึงไปยังพระเชตวันวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา วันรุ่งขึ้น เข้าไปในเมืองสาวัตถี ไปยังถนนที่มีดอกอุบลขายไม่ได้ดอกไม้ จึงมาบอกแก่พระอานันทเถระว่า ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมคิดกันว่า จักกระทำบูชาด้วยดอกไม้ที่ต้นโพธิ์ จึงไปยังถนนที่มีดอกอุบลขาย ก็ไม่ได้แม้แต่ดอกเดียว.
               พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมจักนำมาถวายท่าน แล้วเดินไปยังถนนที่มีดอกอุบลขาย ให้เขายกกำดอกอุบลเขียวเป็นจำนวนมาก แล้วส่งไปถวายภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นถือดอกอุบลเขียวเหล่านั้นไปบูชาที่ต้นโพธิ์.
               ภิกษุทั้งหลายรู้เรื่องราวอันนั้น จึงนั่งสนทนาถึงคุณของพระเถระในโรงธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชาวชนบทมีบุญน้อย ไปยังถนนที่มีดอกอุบลขายก็ไม่ได้ดอกไม้ ส่วนพระเถระไปประเดี๋ยวก็ได้มาแล้ว.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ฉลาดในการกล่าว ผู้ฉลาดในถ้อยคำ ย่อมได้ดอกไม้ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ผู้ฉลาดก็ได้แล้วเหมือนกัน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นบุตรเศรษฐี. ก็ในภายในพระนคร ในสระแห่งหนึ่งปทุมกำลังออกดอก บุรุษจมูกแหว่งคนหนึ่งรักษาสระนั้น.
               ครั้นวันหนึ่ง เมื่อเขาป่าวร้องการแสดงมหรสพในพระนครพาราณสี บุตรของเศรษฐี ๓ คน มีความประสงค์จะประดับดอกไม้เล่นมหรสพ จึงคิดกันว่า จักพรรณนาคุณของชายจมูกแหว่งโดยไม่เป็นจริง แล้วจักได้ดอกไม้ ครั้นคิดกันแล้ว ในเวลาที่ชายจมูกแหว่งนั้นเด็ดดอกปทุม จึงเข้าไปใกล้สระได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               บรรดาเศรษฐีบุตรทั้ง ๓ คนนั้น
               คนหนึ่งเรียกชายจมูกแหว่งนั้นมา แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ผมและหนวดที่ตัดแล้วๆ ย่อมงอกขึ้นได้ ฉันใด จมูกของท่านจงงอกขึ้น ฉันนั้น ท่านอันข้าพเจ้าขอแล้ว ขอจงให้ดอกปทุม.


               ชายจมูกแหว่งนั้นโกรธต่อเศรษฐีบุตรนั้น จึงไม่ให้ดอกปทุม.
               ลำดับนั้น เศรษฐีบุตรที่ ๒ ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ต่อเขาว่า :-
               พืชที่เขาเก็บไว้ในสารทกาล คือฤดูใบไม้ร่วงหว่านลงในนาย่อมงอกขึ้น ฉันใด จมูกของท่านจงงอกขึ้น ฉันนั้น ท่านอันข้าพเจ้าขอแล้ว ขอจงให้ดอกปทุม.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สารทิกํ ได้แก่ พืชที่สมบูรณ์ด้วยเนื้อแท้ อันบุคคลถือเอาในสารทกาลแล้วเก็บไว้.

               ชายจมูกแหว่งนั้นโกรธต่อเศรษฐีบุตรคนนั้นก็ไม่ให้ดอกปทุม.
               ลำดับนั้น เศรษฐีบุตรคนที่ ๓ กล่าวคาถาที่ ๓ ต่อเขาว่า :-
               คนแม้ทั้งสองนั้นพูดเพ้อไปด้วย คิดว่าท่านจักให้ดอกปทุมบ้าง คนทั้งสองนั้นจะพูดหรือไม่พูดก็ตาม จมูกของท่านย่อมไม่งอกขึ้น. ดูก่อนสหาย ท่านจงให้ดอกปทุม ท่านอันข้าพเจ้าขอแล้ว จงให้ดอกปทุมแก่ข้าพเจ้าเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโภปิ วิลปนฺเต เต ความว่า คนแม้ทั้งสองนั้นพูดเท็จ.
               บทว่า อปิ ปทุมานิ ความว่า คนทั้งสองนั้นคิดว่า ชายจมูกแหว่งจักให้ดอกปทุมแก่พวกเราบ้าง จึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า วชฺชุํ วา เต น วา วชฺชุํ ความว่า คนเหล่านี้จะพึงกล่าว หรือจะไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า จมูกของท่านจงงอกขึ้น ชื่อว่าคำของคนเหล่านั้นไม่เป็นประมาณ จมูกย่อมไม่มีการงอกขึ้น แม้โดยประการทั้งปวง ส่วนเราจะไม่กล่าวพาดพิงถึงจมูกของท่าน จะขออย่างเดียว ดูก่อนสหาย ท่านอันเราขอแล้วจงให้ดอกปทุมแก่เรานั้น.

               ชายผู้เฝ้าสระปทุมได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า คนทั้งสองนี้กระทำมุสาวาท ส่วนท่านกล่าวตามสภาพ ดอกปทุมทั้งหลายสมควรแก่ท่าน แล้วถือเอาดอกปทุมกำใหญ่มาให้แก่เศรษฐีบุตรคนที่ ๓ นั้น แล้วกลับไปยังสระปทุมของตนตามเดิม.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               เศรษฐีบุตรคนที่ได้ดอกปทุมในกาลนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาปทุมชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปทุมชาดก ว่าด้วย ไม่ควรพูดให้เกินความจริง จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 379 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 382 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 385 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2112&Z=2124
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=1237
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=1237
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :