ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 472 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 475 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 478 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา สุปัตตชาดก
ว่าด้วย นางกาแพ้ท้อง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภัตข้าวสาลี เจือด้วยเนยใสใหม่ในรสปลาตะเพียนแดง ที่พระสารีบุตรเถระถวายแก่พระพิมพาเทวี จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า พาราณสฺสํ มหาราช ดังนี้.
               เรื่องนี้เป็นเหมือนเรื่องใน อัพภันตรชาดก ซึ่งได้กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล.
               ก็แม้ในกาลนั้น โรคลมในท้องของพระเถรีกำเริบขึ้น. พระราหุลภัทระจึงบอกแก่พระเถระ. พระเถระให้พระราหุลภัทระนั่งในโรงฉันแล้วไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าโกศลราช นำเอาภัตข้าวสาลีเจือด้วยเนยใสใหม่ในรสปลาตะเพียนแดง แล้วได้ให้แก่พระราหุลภัทระนั้น. พระราหุลภัทระได้นำไปถวายพระเถรีผู้เป็นพระชนนี. พอพระเถรีนั้นเสวยเท่านั้น โรคลมในท้องก็สงบระงับ.
               พระราชาทรงส่งพวกราชบุรุษไปให้สอดแนมดู ตั้งแต่นั้นมาได้ถวายภัตเห็นปานนั้นแก่พระเถรี.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระธรรมเสนาบดียังพระเถรีให้อิ่มหนำด้วยโภชนะเห็นปานนี้. พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรให้สิ่งที่มารดาของราหุลปรารถนา ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้ให้แล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกา พอเจริญวัย ได้เป็นหัวหน้ากาแปดหมื่นตัว ได้เป็นพระยาชื่อว่าสุปัตต์ ส่วนอัครมเหสีของพระยากาสุปัตต์ ได้เป็นนางกาชื่อว่าสุปัสสา เสนาบดีชื่อว่าสุมุขะ พระยากาสุปัตต์นั้นแวดล้อมด้วยกาแปดหมื่นตัว อาศัยเมืองพาราณสีอยู่.
               วันหนึ่ง พระยากาสุปัตต์พานางกาสุปัสสาไปหาอาหารได้บินไปทางเหนือโรงครัวของพระเจ้าพาราณสี พ่อครัวปรุงโภชนะอันมีปลาและเนื้อชนิดต่างๆ เป็นเครื่องประกอบ เมื่อพระราชาเสด็จแล้ว เปิดภาชนะไว้หน่อยหนึ่ง ให้ไอร้อนระเหยออกไปอยู่. นางกาสุปัสสาสูดกลิ่นปลาและเนื้อแล้ว ประสงค์จะกินโภชนะของพระราชา ตลอดวันนั้นไม่พูดเลย.
               ในวันที่สองอันพระยากาสุปัตต์กล่าวว่า มาเถิด นางผู้เจริญ พวกเราจักไปหากินกัน จึงกล่าวว่า ท่านไปเถิด ดิฉันมีการแพ้ท้องอย่างหนึ่ง เมื่อพระยากาสุปัตต์กล่าวว่า แพ้ท้องอะไร นางจึงกล่าวว่า ดิฉันอยากกินโภชนะของพระเจ้าพาราณสี แต่ไม่สามารถจะได้โภชนะนั้น ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงจักสละชีวิต. พระโพธิสัตว์กำลังนั่งคิดอยู่ พอดีสุมุขเสนาบดีมาถามว่า ข้าแต่มหาราช ท่านไม่สบายใจเพราะอะไร? พระราชาจึงบอกเนื้อความนั้น.
               เสนาบดีจึงทูลให้พระราชาและพระอัครมเหสี แม้ทั้งสองนั้นเบาใจว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าคิดร้อนใจไปเลยแล้วทูลไปว่า วันนี้ ท่านทั้งสองจงอยู่ที่นี้แหละ ข้าพเจ้าจักไปนำภัตนั้นมา แล้วก็หลีกไป. เสนาบดีนั้นให้พวกกาประชุมกันแล้วบอกเหตุนั้นให้ทราบ แล้วกล่าวว่า มาเถอะท่านทั้งหลาย พวกเราจักไปนำภัตมา จึงพร้อมกับพวกกาบินเข้าไปยังพระนครพาราณสี แบ่งกาเป็นพวกๆ ไว้ในที่ไม่ไกลโรงครัว แล้ววางไว้ เพื่อต้องการอารักขาในที่นั้นๆ ส่วนตนเองนั่งจับอยู่บนหลังคาโรงครัว พร้อมกับกานักสู้รบ ๘ ตัว และเมื่อกำลังคอยเวลาที่พ่อครัวจะนำพระกระยาหารไปถวายพระราชา ได้กล่าวกะกาเหล่านั้นว่า
               เมื่อพ่อครัวนำพระกระยาหารของพระราชามาอยู่ เราจักทำภาชนะให้ตกลงมา ก็เมื่อภาชนะตกลงไปแล้ว ชีวิตของเราจะไม่มี ท่านทั้งหลาย ๔ ตัวจงคาบภัตให้เต็มปาก อีก ๔ ตัวจงคาบปลาและเนื้อ แล้วนำไปให้พระยากาพร้อมทั้งภรรยาบริโภค เมื่อพระราชาถามว่า เสนาบดีไปไหน พวกท่านพึงบอกว่า จักมาข้างหลัง.
               ลำดับนั้น พ่อครัวจัดแจงชนิดโภชนะของพระราชาเสร็จแล้ว จึงเชิญภาชนะไปด้วยหาบ เข้าไปยังราชตระกูล. ในเวลาที่พ่อครัวไปถึงพระลานหลวง กาเสนาบดีจึงให้สัญญาแก่กาทั้งหลาย แล้วตนเองโฉบลงจับที่อกของคนเชิญเครื่อง กระหน่ำด้วยกรงเล็บ เอาจะงอยปากเช่นกับปลายหอกจิกปลายจมูกของคนเชิญเครื่องนั้น บินขึ้นเอาปีกและเท้าทั้งสองปิดปากของเขาไว้.
               พระราชาเสด็จดำเนินอยู่บนท้องพระโรง ทอดพระเนตรไปทางพระแกลใหญ่ ทรงเห็นกิริยาของกานั้น จึงทรงให้เสียงแก่คนเชิญเครื่องตรัสว่า แน่ะภัตตาหารกะผู้เจริญ เจ้าจงทิ้งภาชนะทั้งหลายเสีย จับเอาเฉพาะกาเท่านั้น. คนเชิญเครื่องนั้นจึงทิ้งภาชนะทั้งหลายแล้วจับกาไว้แน่น. ฝ่ายพระราชาก็ตรัสว่า จงมาทางนี้.
               ขณะนั้น กาเหล่านั้นมากินจนเพียงพอแก่ตน แล้วได้คาบเอาส่วนที่เหลือไปโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ลำดับนั้น พวกกาที่เหลือจึงมากินส่วนที่เหลือ. ส่วนกาทั้ง ๘ ตัวนั้นบินไปให้พระยากาพร้อมทั้งปชาบดีบริโภคภัตนั้น. ความแพ้ท้องของนางกาสุปัสสาก็สงบลง. คนเชิญเครื่องนำกาเข้าไปถวายพระราชา.
               ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสถามกานั้นว่า กาผู้เจริญ เจ้าไม่ละอายเราทั้งยังจิกจมูกของคนเชิญเครื่องให้แหว่งด้วย ทำลายภาชนะภัตตาหารให้แตกด้วย และไม่รักษาชีวิตของตนด้วย เพราะเหตุไร เจ้าจึงได้กระทำกรรมเห็นปานนี้.
               กากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ราชาของพวกข้าพระพุทธเจ้าอาศัยกรุงพาราณสีอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นเสนาบดีของพระราชานั้น ภรรยานามว่าสุปัสสาของพระราชานั้นแพ้ท้อง ประสงค์จะบริโภคโภชนะของพระองค์ พระราชาจึงบอกการแพ้ท้องของภรรยานั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงสละชีวิตเพื่อพระราชานั้นนั่นแลจึงได้มา บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งโภชนะไปให้แก่ภรรยาของพระยากานั้นแล้ว ความปรารถนาแห่งใจของข้าพระพุทธเจ้าถึงที่สุดแล้ว ด้วยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กระทำกรรมปานนี้.
               เมื่อจะแสดงเนื้อความให้แจ่มแจ้ง จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               ข้าแต่มหาราช พระยากาชื่อสุปัตตะเป็นกาอยู่ในเมืองพาราณสี อันกาแปดหมื่นแวดล้อมแล้ว.
               นางกาสุปัสสาชายาของพระยากานั้นแพ้ท้อง ปรารถนาจะกินพระกระยาหารอันมีค่ามาก ที่คนหุงต้มแล้วในห้องเครื่อง.
               ข้าพระพุทธเจ้าเป็นทูตของพระยากาทั้งสองนั้น ถูกนายใช้ให้มาจึงได้เป็นผู้มาในที่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำความจงรักต่อเจ้านาย จึงได้จิกจมูกของคนเชิญเครื่องให้เป็นแผล.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาราณสฺสํ แปลว่า ในเมืองพาราณสี. นิวาสิโก แปลว่า ผู้อยู่ประจำ. บทว่า ปกฺกํ ได้แก่ จัดแจงแล้วโดยประการต่างๆ. อาจารย์บางพวกสาธยายว่า สิทฺธํ แปลว่า สำเร็จแล้ว.
               บทว่า ปจฺจคฺฆํ ได้แก่ อันร้อนยิ่ง ไม่ได้ครอบไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปัจจัคฆะ เพราะบรรดาชนิดของปลาและเนื้อทั้งหลาย ปลาและเนื้อที่เขาให้สุกแต่ละอย่างมีค่ามาก ดังนี้ก็มี.
               บทว่า เตสาหํ ปหิโต ทูโต รญฺโญ จมฺหิ อิธาคโต ความว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นทูต คือเป็นผู้กระทำตามคำสั่งของพระยากาแม้ทั้งสองนั้น ทั้งพระยากาก็ส่งมาด้วย เพราะฉะนั้น จึงได้มาในที่นี้.
               บทว่า ภตฺตุ อปจิตึ กุมฺมิ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้มาอย่างนี้แล้ว ย่อมจะกระทำความจงรัก คือสักการะและสัมมานะแก่เจ้านายของตน.
               บทว่า นาสายมกรํ วณํ ความว่า ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ย่นย่อต่อพระองค์และชีวิตของตน จึงได้เอาจะงอยปากจิกจมูกของคนเชิญเครื่องให้เป็นแผล เพื่อจะทำให้ภาชนะภัตตาหารตกไป

               ข้าพระพุทธเจ้าได้กระทำจงรักต่อพระราชาของข้าพระพุทธเจ้าแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์จงลงพระอาญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ตามที่ทรงพระประสงค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า.
               พระราชาได้สดับคำของกานั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ก่อนอื่นพวกเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ให้ยศใหญ่แก่คนผู้เป็นมนุษย์ ก็ยังไม่อาจทำความสบายใจแก่เราได้ แม้จะให้บ้านเป็นต้นก็ยังไม่ได้บุคคลผู้จะเสียสละชีวิตให้แก่เรา สัตว์นี้เป็นกา ยังสละชีวิตแก่พระราชาของตนได้ นับว่าเป็นสัปบุรุษชั้นเยี่ยม มีเสียงไพเราะ เป็นธรรมกถึก จึงทรงเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของกานั้น และทรงบูชากานั้นด้วยเศวตฉัตร. กานั้นก็บูชาพระราชานั้นแหละด้วยเศวตฉัตรของตนที่ได้แล้วกล่าวคุณทั้งหลายของพระโพธิสัตว์.
               พระราชารับสั่งให้เรียกพระโพธิสัตว์นั้นมาแล้ว ทรงสดับธรรม ได้ทรงตั้งภัตตาหารตามทำนองเครื่องเสวยของพระองค์ เพื่อพระยากาและประชาบดีแม้ทั้งสองนั้น ทรงให้หุงข้าวสุกจากข้าวสารทะนานหนึ่งทุกวัน เพื่อพวกกาที่เหลือนอกนี้ และพระองค์เองทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงประทานอภัยแก่สัตว์ทั้งปวง ทรงรักษาศีลห้าเป็นประจำ.
               อนึ่ง โอวาทของพระยากาสุปัตต์ดำเนินไปอยู่ถึงเจ็ดร้อยปี.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
               พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               กาเสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร ในบัดนี้
               กาสุปัสสาในครั้งนั้น ได้เป็น มารดาพระราหุล ในบัดนี้
               ส่วนกาสุปัตตะ คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาสุปัตตชาดกที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สุปัตตชาดก ว่าด้วย นางกาแพ้ท้อง จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 472 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 475 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 478 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2493&Z=2502
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=4151
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=4151
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :