ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 499 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 502 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 506 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา จุลลกาลิงคชาดก
ว่าด้วย เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบรรพชาของปริพาชิกา ๔ คน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิวรถ อิมาสํ ทฺวารํ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในนครเวสาลี มีกษัตริย์ลิจฉวี ๗ พัน ๗ ร้อย ๗ พระองค์ประทับอยู่. กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้น แม้ทั้งหมดได้เป็นผู้มีพระดำริในการถามและการย้อนถาม. ครั้งนั้น นิครนถ์ผู้ฉลาดในวาทะ ๕๐๐ วาทะ คนหนึ่งมาถึงพระนครเวสาลี กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้นได้ทรงกระทำการสงเคราะห์นิครนถ์นั้น. นางนิครนถ์ผู้ฉลาดเห็นปานกันแม้อีกคน ก็มาถึงพระนครเวสาลี. กษัตริย์ทั้งหลายจึงให้ชนทั้งสองแสดงวาทะ (โต้ตอบกัน) แม้ชนทั้งสองก็เป็นผู้ฉลาดเช่นเดียวกัน.
               ลำดับนั้น กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายได้มีพระดำริว่า บุตรที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยคนทั้งสองนี้ จักเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม จึงให้กระทำการวิวาหมงคลแก่ชนทั้งสองนั้น แล้วให้คนแม้ทั้งสองอยู่ร่วมกัน. ต่อมา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกันของนิครนถ์ทั้งสองนั้น จึงเกิดทาริกา ๔ คนและทารก ๑ คน โดยลำดับ. บิดามารดาได้ตั้งชื่อนางทาริกาทั้ง ๔ คนว่า นางสัจจา ๑ นางโสภา ๑ นางอธิวาทกา ๑ นางปฏิจฉรา ๑ ตั้งชื่อทารกว่า สัจจกะ คนแม้ทั้ง ๕ นั้นถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว พากันเรียนวาทะ ๑๐๐๐ วาทะ คือจากมารดา ๕๐๐ จากบิดา ๕๐๐.
               มารดาบิดาได้ให้โอวาทแก่นางทาริกาทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า ถ้าใครๆ เป็นคฤหัสถ์ทำลายวาทะของพวกเจ้าได้ พวกเจ้าพึงยอมเป็นบาทบริจาริกาของเขา ถ้าเป็นบรรพชิตจักทำลายได้ ก็ควรบวชในสำนักของบรรพชิตนั้น.
               ในกาลต่อมา มารดาบิดาได้ทำกาลกิริยาตายไป เมื่อมารดาบิดาทำกาลกิริยาตายไปแล้ว นิครนถ์น้องชายคนสุดท้องสั่งสอนศิลปะแก่กษัตริย์ลิจฉวีอยู่ในนครเวสาลีนั้นนั่นเอง ส่วนพี่สาวทั้ง ๔ ถือกิ่งหว้าเที่ยวสัญจรจากนครนี้ไปนครนั้นเพื่อต้องการโต้วาทะ จนถึงพระนครสาวัตถี จึงปักกิ่งหว้าไว้ใกล้ประตูพระนคร แล้วกล่าวแก่พวกเด็กๆ ว่า ผู้ใดจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม สามารถยกสู้วาทะของพวกเราได้ ผู้นั้นจงเอาเท้าเกลี่ยกองฝุ่นนี้ให้กระจายแล้วเหยียบกิ่งหว้าด้วยเท้านั่นแหละ แล้วพากันเข้าไปยังพระนครเพื่อต้องการภิกษาหาร.
               ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกวาดที่ซึ่งยังไม่ได้กวาด ตักน้ำดื่มใส่หม้อเปล่า ปรนนิบัติภิกษุไข้ จึงเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถีเวลาสาย เห็นกิ่งหว้านั้น จึงถามได้ความแล้ว ให้พวกเด็กนั่นแหละล้มกิ่งหว้าเหยียบเสีย แล้วกล่าวแก่พวกเด็กว่า พวกคนผู้วางกิ่งหว้านี้ไว้นั้น ทำภัตกิจกลับมาแล้ว จงพบเราที่ซุ้มประตูพระวิหารเชตวัน สั่งแล้วก็เข้าไปยังพระนคร กระทำภัตกิจเสร็จแล้วได้ยืนอยู่ที่ซุ้มพระวิหาร.
               ฝ่ายนางปริพาชิกาเหล่านั้นเที่ยวภิกษาแล้ว กลับมาเห็นกิ่งหว้าถูกเหยียบย่ำ จึงกล่าวว่า ใครเหยียบย่ำกิ่งหว้านี้. พวกเด็กว่า พระสารีบุตรเถระเหยียบ และพูดว่า ถ้าท่านทั้งหลายต้องการโต้วาทะจงไปยังซุ้มพระวิหาร จึงพากันกลับเข้าพระนครอีก ให้มหาชนประชุมกันแล้วไปยังซุ้มพระวิหาร ถามวาทะหนึ่งพันกะพระเถระ.
               พระเถระวิสัชนาแล้วถามว่า พวกท่านรู้อะไรๆ อย่างอื่นอีกบ้าง?
               นางปริพาชิกาเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่าน พวกข้าพเจ้าไม่รู้อะไรอย่างอื่น.
               พระเถระจึงพูดว่า เราจะถามอะไรๆ กะพวกท่านบ้าง
               นางปริพาชิกาเหล่านั้นจึงว่า ถามเถิดท่าน เพื่อพวกข้าพเจ้ารู้ จักกล่าวแก้.
               พระเถระจึงถามว่า เอกํ นาม กึ อะไรชื่อว่าหนึ่ง?
               นางปริพาชิกาเหล่านั้นหาทราบไม่.
               พระเถระจึงวิสัชนาให้ฟัง. นางปริพาชิกาเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่าน ความปราชัยเป็นของพวกข้าพเจ้า ชัยชนะเป็นของท่าน.
               พระเถระจึงถามว่า บัดนี้ พวกท่านจักทำอย่างไร?
               นางปริพาชิกาทั้งสี่จึงตอบว่า มารดาบิดาของพวกข้าพเจ้าได้ให้โอวาทนี้ไว้ว่า ถ้าคฤหัสถ์ทำลายวาทะของพวกเจ้าได้จงยอมเป็นปชาบดีของเขา ถ้าบรรพชิตทำลายได้ก็จงพากันบวชในสำนักของบรรพชิตนั้น เพราะฉะนั้น ท่านโปรดให้บรรพชาแก่พวกข้าพเจ้าเถิด.
               พระเถระกล่าวว่า ดีแล้ว จึงให้นางบวชในสำนักของพระอุบลวรรณาเถรี ไม่นานนัก ทั้งหมดก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระสารีบุตรเถระเป็นที่พึ่งอาศัยของปริพาชิกาทั้งสี่ ให้ทุกนางบรรลุพระอรหัต.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน สารีบุตรก็ได้เป็นที่พึ่งอาศัยของปริพาชิกาเหล่านี้ แต่ในบัดนี้ ได้ให้บรรพชาภิเษก ในปางก่อน ได้ตั้งไว้ในตำแหน่งมเหสีของพระราชา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติ อยู่ในพระนครทันตปุระ แคว้นกาลิงครัฐ.
               พระราชาพระนามว่าอัสสกะ ครองราชสมบัติในนครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ.
               พระเจ้ากาลิงคะทรงสมบูรณ์ด้วยรี้พลและพาหนะ แม้พระองค์เองก็มีกำลังดังช้างสารไม่เห็นผู้จะต่อยุทธ พระองค์เป็นผู้ประสงค์จะทรงกระทำการรบ จึงตรัสบอกแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า เรามีความต้องการจะทำการรบ แต่ไม่เห็นผู้จะต่อยุทธ เราจะกระทำอย่างไร.
               อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง พระราชธิดาทั้ง ๔ ของพระองค์ ทรงพระรูปโฉมอันอุดม พระองค์โปรดให้ประดับตกแต่งพระราชธิดาเหล่านั้น แล้วให้นั่งในราชยานอันมิดชิด แวดล้อมด้วยรี้พล แล้วให้เที่ยวไปยังคามนิคม และราชธานีทั้งหลาย โดยป่าวร้องว่า พระราชาพระองค์ใดจักมีพระประสงค์จะรับเอาไว้เพื่อตน พวกเราจักทำการรบกับพระราชาพระองค์นั้น. พระราชาจึงทรงให้กระทำอย่างนั้น.
               ในสถานที่พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จไปแล้วๆ พระราชาทั้งหลายไม่ยอมให้พระราชธิดาเหล่านั้นเข้าพระนคร เพราะความกลัวภัยพากันส่งเครื่องบรรณาการออกไป แล้วให้ประดับอยู่เฉพาะภายนอกพระนคร. พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จเที่ยวไปตลอดทั่วชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ จนบรรลุถึงพระนครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ.
               ฝ่ายพระเจ้าอัสสกะก็ทรงให้ปิดประตูพระนคร แล้วทรงส่งเครื่องบรรณาการออกไปถวาย. อำมาตย์ของพระเจ้าอัสสกะนั้นชื่อว่านันทเสนเป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาดในอุบาย นันทเสนอำมาตย์นั้นคิดว่า ข่าวว่า พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคราชเหล่านี้ เสด็จเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป ก็ไม่ได้ผู้จะต่อยุทธ แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ชมพูทวีปก็ได้ชื่อว่าต่างจากนักรบ เราจักรบกับพระเจ้ากาลิงคราช. นันทเสนอำมาตย์นั้นจึงไปยังประตูพระนครเรียกคนรักษาประตูมาเพื่อจะให้เขาเปิดประตูแก่พระราชธิดาเหล่านั้น
               จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ท่านทั้งหลายจงเปิดประตูถวาย เพื่อให้พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จเข้าภายในพระนคร ซึ่งพระนครนี้ ข้าพเจ้าชื่อว่านันทเสนผู้เป็นอำมาตย์ ดุจราชสีห์ของพระเจ้าอรุณราชผู้อันอาจารย์สั่งสอนไว้อย่างดี ได้จัดการรักษาไว้ดีแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรุณราชสฺส ความว่า พระราชาแม้พระองค์นั้น ในเวลาดำรงอยู่ในราชสมบัติ ทรงพระนามว่า อัสสกะ ด้วยสามารถแห่งชื่อของแคว้น แต่พระนามว่า อรุณ เป็นนามที่ราชตระกูลประทานแก่พระราชานั้น.
               ด้วยเหตุนั้น นันทเสนอำมาตย์จึงกล่าวว่า อรุณราชสฺส ดังนี้.
               บทว่า สีเหน แปลว่า ผู้เป็นบุรุษดุจราชสีห์.
               บทว่า สุสิฏฺเฐน แปลว่า ผู้อันอาจารย์ทั้งหลายสั่งสอนดีแล้ว.
               บทว่า นนฺทเสเนน ความว่า อันเราผู้ชื่อว่านันทเสน.

               ครั้นอำมาตย์นันทเสนนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงให้เปิดประตูรับพระราชธิดาทั้ง ๔ นั้นไปถวายพระเจ้าอัสสกะ แล้วกราบทูลว่า พระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย เมื่อมีการรบกัน ข้าพระองค์จักรู้ (รับอาสา) พระองค์โปรดทรงกระทำพระราชธิดาผู้ทรงพระรูปโฉมอันเลอเลิศเหล่านี้ให้เป็นพระอัครมเหสีเถิด แล้วให้ประทานอภิเษกแก่พระราชธิดาเหล่านั้น แล้วส่งราชบุรุษผู้มากับพระราชธิดาเหล่านั้นกลับไปด้วยพูดว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลพระราชาของท่าน หมายถึงข้อที่พระเจ้าอัสสกะราชทรงตั้งพระราชธิดาทั้ง ๔ ไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี. ราชบุรุษเหล่านั้นไปกราบทูลให้ทรงทราบ.
               พระเจ้ากาลิงคราชทรงดำริว่า พระเจ้าอัสสกะนั้นชะรอยจะไม่ทราบกำลังของเราแน่นอน จึงเสด็จออกด้วยกองทัพใหญ่ในขณะนั้นทันที. นันทเสนอำมาตย์ทราบการเสด็จของพระเจ้ากาลิงคราช จึงส่งสาส์นไปว่า ขอพระเจ้ากาลิงคราชจงอยู่เฉพาะแต่ในรัฐสีมาของพระองค์ อย่าล่วงล้ำรัฐสีมาแห่งพระราชาของข้าพระองค์เข้ามา การสู้รบจักมีระหว่างแคว้นทั้งสอง. พระเจ้ากาลิงคราชทรงสดับสาส์นแล้วได้ทรงหยุดกองทัพ ไว้เฉพาะปลายพระราชอาณาเขตของพระองค์ ฝ่ายพระเจ้าอัสสกราชก็ได้ทรงหยุดกองทัพ เฉพาะปลายราชอาณาเขตของพระองค์เหมือนกัน.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษี อยู่ที่บรรณศาลาระหว่างอาณาเขตแห่งพระราชาทั้งสองนั้น. พระเจ้ากาลิงคราชทรงพระดำริว่า ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมจะรู้อะไรๆ ดี ใครจะรู้อะไรจักมี ชัยชนะหรือความปราชัยจักมีแก่ใคร เราจักถามพระดาบสดู จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กระทำปฏิสันถารแล้วถามว่า ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคะกับพระเจ้าอัสสกะประสงค์จะรบกัน พากันตั้งทัพยันอยู่เฉพาะในรัฐสีมาของตนๆ ในพระราชาทั้งสองพระองค์นั้น ใครจักมีชัยชนะ ใครจักปราชัยพ่ายแพ้.
               พระดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า ท่านผู้มีบุญมาก อาตมภาพไม่ทราบว่า พระองค์โน้นชนะ พระองค์โน้นพ่ายแพ้ แต่ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาที่นี้ อาตมภาพถามท้าวสักกเทวราชนั้นแล้ว จักบอกให้ทราบ พรุ่งนี้ท่านมาฟังเอาเถิด. ท้าวสักกะเสด็จมาสู่ที่บำรุงพระโพธิสัตว์แล้วประทับนั่ง ทีนั้น พระโพธิสัตว์จึงทูลถามเนื้อความกะท้าวสักกเทวราช ท้าวเธอจึงตรัสทำนายว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคราชจักมีชัย พระเจ้าอัสสกะจักปราชัย อนึ่ง บุรพนิมิตนี้จักปรากฎ.
               ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคราชเสด็จมาถาม แม้พระโพธิสัตว์ก็ทูลแก่พระเจ้ากาลิงคราชนั้น. พระเจ้ากาลิงคราชไม่ตรัสถามเลยว่า บุรพนิมิตชื่อไรจักปรากฎ ทรงหลีกลาไปด้วยพระทัยยินดีว่า ท่านว่าเราจักชนะ. เรื่องนั้นได้แพร่ไปแล้ว.
               พระเจ้าอัสสกะได้ทรงสดับเรื่องนั้นจึงรับสั่งให้เรียกอำมาตย์นันทเสนมา แล้วรับสั่งว่า เขาว่าพระเจ้ากาลิงคราชจักชนะ เราจักพ่ายแพ้ เราควรจะทำอย่างไรกัน. นันทเสนอำมาตย์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ใครจะทราบข้อนั้นได้ ชัยชนะหรือความปราชัยจักเป็นของใคร ขอพระองค์อย่าทรงคิดไปเลย ครั้นกราบทูลเอาพระทัยพระราชาแล้ว เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า ท่านผู้เจริญ ใครจักชนะ ใครจักแพ้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พระเจ้ากาลิงคะจักชนะ พระเจ้าอัสสกะจักแพ้. อำมาตย์นันทเสนถามว่า ท่านผู้เจริญ บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้ชนะ บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้แพ้.
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านผู้มีบุญมาก อารักขเทวดาของผู้ชนะจักเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของผู้แพ้จักเป็นโคผู้ดำปลอด อารักขเทวดาแม้ของทั้งสองฝ่ายรบกันแล้ว จักทำความมีชัยและปราชัยกัน.
               นันทเสนอำมาตย์ได้ฟังดังนั้น จึงลุกขึ้นลาไป พาทหารใหญ่ประมาณพันคนผู้เป็นสหายของพระราชา ขึ้นไปยังภูเขาในที่ไม่ไกลนัก แล้วถามว่า ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจักอาจเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของพวกเราได้หรือไม่. ทหารใหญ่เหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราจักสามารถถวายได้. นันทเสนอำมาตย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงโดดลงไปในเหวนี้. ทหารใหญ่เหล่านั้นได้เตรียมจะโดดลงเหว. นันทเสนอำมาตย์จึงห้ามทหารใหญ่เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า อย่าโดดลงเหวนี้เลย ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีขวัญดี ไม่ถอยหลัง ช่วยกันรบเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของเราทั้งหลายเถิด. ทหารใหญ่เหล่านั้นรับคำแล้ว.
               ครั้นเมื่อสงครามประชิดกัน พระเจ้ากาลิงคราชทรงวางพระทัยว่า นัยว่าเราจักชนะ แม้หมู่พลนิกายของพระองค์ก็พากันวางใจว่า เขาว่าพวกเราจักมีชัยชนะจึงไม่ทำการผูกสอด เป็นพรรคเป็นพวกพากันหลีกไปตามความชอบใจ ในเวลาจะกระทำความเพียรพยายามก็ไม่ทำ. ฝ่ายพระราชาทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นทรงม้าเข้าไปหากันและกันด้วยหมายมั่นว่า จักต่อยุทธ.
               อารักขเทวดาของพระราชาทั้งสองออกไปข้างหน้า อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของพระเจ้าอัสสกะเป็นโคผู้ดำปลอด. โคผู้แม้เหล่านั้นแสดงอาการต่อสู้เข้าไปหากันและกัน ก็โคผู้เหล่านั้นย่อมปรากฎเฉพาะแก่พระราชาทั้งสองเท่านั้นไม่ปรากฎแก่คนอื่น. อำมาตย์นันทเสนทูลถามพระเจ้าอัสสกะว่า ข้าแต่มหาราช อารักขเทวดาปรากฎแก่พระองค์แล้วหรือยัง.
               พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เออปรากฎ.
               นันทเสน ปรากฎโดยอาการอย่างไร.
               พระเจ้าอัสสกะ อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะปรากฎเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของเราปรากฎเป็นโคผู้ดำปลอด.
               นันทเสนอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย พวกเราจักชนะ พระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พระองค์จงเสด็จลงจากหลังม้า ทรงถือพระแสงหอกนี้เอาพระหัตถ์ซ้ายแตะด้านท้องม้าสินธพที่ศึกษาดีแล้ว รีบไปพร้อมกับบุรุษพันคนนี้ เอาหอกประหารอารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะให้ล้มลง ต่อแต่นั้น พวกข้าพระองค์ประมาณหนึ่งพัน จักประหารด้วยหอกพันเล่ม เมื่อทำอย่างนี้ อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะจักฉิบหาย จากนั้น พระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พวกเราจักชนะ พระราชาทรงรับว่าได้ แล้วเสด็จไปเอาหอกแทงตามสัญญาที่นันทเสนอำมาตย์ถวายไว้. ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายก็แทงด้วยหอกพันเล่ม. อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะก็ถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นนั่นเอง. ทันใดนั้น พระเจ้ากาลิงคะก็ทรงพ่ายแพ้เสด็จหนีไป. อำมาตย์ทั้งหลายพันคนเห็นพระเจ้ากาลิงคะเสด็จหนีไปก็พากันโห่ร้องว่า พระเจ้ากาลิงคราชหนี.
               พระเจ้ากาลิงคะทรงกลัวต่อมรณภัยเสด็จหนีไป เมื่อจะทรงด่าพระดาบสนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               แน่ะดาบสโกง ท่านได้พูดไว้อย่างนี้ว่า ชัยชนะจักมีแก่พวกพระเจ้ากาลิงคราชผู้สามารถย่ำยีบุคคลที่ใครๆ ย่ำยีไม่ได้ ความปราชัยไม่ชนะจักมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ ชนทั้งหลายผู้ซื่อตรงย่อมไม่พูดเท็จ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสยฺหสาหินํ ได้แก่ ผู้สามารถเพื่อย่ำยีบุคคลที่ใครๆ ย่ำยีไม่ได้ คือย่ำยีได้ยาก.
               บทว่า อิจฺเจวํ เต ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนดาบสโกง ท่านรับเอาค่าจ้างแล้วพูดอย่างนี้กะพระราชาผู้พ่ายแพ้ว่า จักชนะและพูดกะพระราชาผู้ชนะว่าจักแพ้.
               บทว่า น อุชุภูตา ความว่า ชนเหล่าใดเป็นผู้ซื่อตรงด้วยกาย วาจาและใจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่พูดเท็จอย่างนี้.

               พระเจ้ากาลิงคราชนั้น เมื่อด่าพระดาบสอย่างนี้แล้วก็เสด็จหนีไปยังพระนครของพระองค์ ไม่อาจที่จะเหลียวมามองดู แต่นั้นเมื่อล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะได้เสด็จมายังที่บำรุงของพระดาบส.
               พระดาบส เมื่อจะทูลกับท้าวเธอ จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ข้าแต่ท้าวสักกะ เทวดาทั้งหลายยังประพฤติล่วงมุสาวาทอีกหรือ พระองค์ควรกระทำถ้อยคำให้จริงแท้แน่นอนมิใช่หรือ ข้าแต่ท้าวมัฆวานผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือ จึงได้ตรัสมุสา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตนฺเต มุสา กาสิตํ ความว่า คำใดพระองค์ตรัสไว้แก่อาตมภาพ คำนั้นพระองค์ทรงทำมุสาวาทอันหักรานประโยชน์ตรัสเท็จไว้ พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือ จึงตรัสคำนั้นอย่างนั้น.

               ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้นจึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า :-
               ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อชนทั้งหลายพูดกันอยู่ ท่านก็เคยได้ยินแล้วมิใช่หรือว่า
                         เทวดาทั้งหลายย่อมเกียดกันความพยายามของลูกผู้ชายไม่ได้
                         ความข่มใจ ความตั้งใจแน่วแน่ ความไม่แตกสามัคคีกัน
                         ความไม่แก่งแย่งกัน การรุกในกาลควรรุก ความเพียรมั่นคง
                         และความบากบั่นของลูกผู้ชาย (มีอยู่ในพวกพระเจ้าอัสสกะ)
               เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะจึงมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.


               คาถาที่ ๔ นั้น มีอธิบายดังนี้ :-
               ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อเขาพูดกันอยู่ในที่นั้นๆ ท่านไม่เคยได้ยินคำนี้หรือว่า เทวดาทั้งหลายย่อมไม่เกียดกัน คือไม่ฤษยาความบากบั่นของลูกผู้ชาย ความข่มใจกล่าวคือความทรมานตน เช่นการทำความเพียรพยายามของพระเจ้าอัสสกะ ความมีใจไม่แตกแยกกันโดยมีความสามัคคีกัน ความมีใจตั้งมั่น ไม่แตกแยกกัน ความไม่แก่งแย่งกันในเวลาทำความเพียรแห่งพวกสหายของพระเจ้าอัสสกะ ความไม่ย่อท้อ เหมือนพวกคนของพระเจ้ากาลิงคะแยกเป็นพวกๆ ย่นย่อฉะนั้น
               อนึ่ง ความเพียรพยายามและความบากบั่นแห่งลูกผู้ชายของคนผู้มีจิตใจแตกแยกกัน ได้เป็นคุณธรรมอันมั่นคง เพราะความเป็นผู้มีความสมัครสมานกัน เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ชัยชนะจึงได้มีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.

               ก็แหละ เมื่อพระเจ้ากาลิงคราชหนีไปแล้ว
               พระเจ้าอัสสกราชให้กวาดต้อน (เชลยและยุทธภัณฑ์) แล้วเสด็จไปยังพระนครของพระองค์. อำมาตย์นันทเสนส่งสาส์นไปถวายพระเจ้ากาลิงคราชว่า พระองค์จงส่งส่วนทรัพย์มรดกไปถวายพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้ ถ้าไม่ทรงส่งไป พวกเราจักรู้กิจที่จะต้องทำในข้อนี้. พระเจ้ากาลิงคราชได้ทรงสดับข่าวสาสน์นั้นแล้ว ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งหวาดเสียว จึงส่งพระราชทรัพย์มรดกที่พระราชธิดาเหล่านั้นจะพึงได้ไปประทาน. จำเดิมแต่นั้นมา พระราชาทั้งสองก็อยู่อย่างสมัครสมานกัน.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า.
               พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคราชในกาลนั้น ได้เป็น ภิกษุณีสาวเหล่านี้ในบัดนี้
               อำมาตย์นันทเสนในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร ในบัดนี้
               ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถา จุลลกาลิงคชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลลกาลิงคชาดก ว่าด้วย เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 499 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 502 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 506 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=2610&Z=2629
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=4669
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=4669
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :