ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 618 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 622 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 626 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา โกกาลิกชาดก
ว่าด้วย พูดในกาลที่ควรพูด

               อรรถกถาโกกาลิก*ชาดกที่ ๑
__________________________
* ม. โคลิลฯ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระโกกาลิกะ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย เว กาเล อสมฺปตฺเต ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารแล้วใน ตักการิยชาดก.
               ส่วนเรื่องในอดีตมีดังต่อไปนี้:-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์แก้วของพระเจ้าพาราณสีนั้น พระราชานั้นได้เป็นผู้มีพระดำรัสมาก พระโพธิสัตว์คิดว่าจักห้ามการตรัสมากของพระราชานั้น จึงเที่ยวคิดหาอุบายอย่างหนึ่ง.
               ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน แล้วประทับนั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล เบื้องบนแผ่นศิลานั้นมีมะม่วงอยู่ต้นหนึ่ง นางนกดุเหว่าวางฟองไข่ของตนไว้ในรังการังหนึ่ง ณ ต้นมะม่วงนั้น แล้วได้ไปเสีย. นางกาก็ประคบประหงมฟองไข่นกดุเหว่านั้น.
               จำเนียรกาลล่วงมา ลูกนกดุเหว่าก็ออกจากฟองไข่นั้น นางกาสำคัญว่าบุตรของเราจึงนำอาหารมาด้วยจะงอยปาก ปรนนิบัติลูกนกดุเหว่านั้น. ลูกนกดุเหว่านั้นขนปีกยังไม่งอกก็ส่งเสียงร้องเป็นเสียงดุเหว่า ในกาลอันไม่ควรร้องเลย. นางกาคิดว่า ลูกนกนี้มันร้องเป็นเสียงอื่นในบัดนี้ก่อน เมื่อโตขึ้นจักทำอย่างไร จึงตีด้วยจะงอยปากให้ตายตกไปจากรัง. ลูกนกดุเหว่านั้นตกลงใกล้พระบาทของพระราชา.
               พระราชารับสั่งถามพระโพธิสัตว์ว่า สหาย นี่อะไรกัน.
               พระโพธิสัตว์คิดว่า เราแสวงหาเรื่องเปรียบเทียบ เพื่อจะห้ามพระราชา บัดนี้ เราได้เรื่องเปรียบเทียบนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขึ้นชื่อว่าคนปากกล้า พูดมากในกาลไม่ควรพูด ย่อมได้ทุกข์เห็นปานนี้ ข้าแต่มหาราช ลูกนกดุเหว่านี้เจริญเติบโตได้เพราะนางกา ปีกยังไม่ทันแข็งก็ร้องเป็นเสียงดุเหว่าในเวลาไม่ควรร้อง ทีนั้น นางการู้ลูกนกดุเหว่านั้นว่า นี้ไม่ใช่ลูกของเรา จึงตีด้วยจะงอยปากให้ตกลงมา จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม พูดมากในกาลไม่ควรพูด ย่อมได้ทุกข์เห็นปานนี้.
               แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
               เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใดพูดเกินเวลาไป ผู้นั้นย่อมถูกทำร้าย ดุจลูกนกดุเหว่าฉะนั้น.
               มีดที่ลับคมกริบ ดุจยาพิษที่ร้ายแรง หาทำให้ตกไปทันทีทันใด เหมือนวาจาทุพภาษิตไม่.
               เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ ทั้งในกาลที่ควรพูดและไม่ควร ไม่ควรพูดให้เกินเวลา แม้ในคนผู้เสมอกับตน.
               ผู้ใดมีความคิดเห็นเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้นย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมด ดุจครุฑจับนาคได้ฉะนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเล อสมฺปตฺเต ได้แก่ เมื่อกาลที่จะพูดของตน ยังไม่ถึง.
               บทว่า อติเวลํ ความว่า ย่อมพูดเกินประมาณ ทำให้ล่วงเลยเวลา.
               บทว่า หลาหลมฺมิว ตัดเป็น หลาหลํอิว แปลว่า เหมือนยาพิษอันร้ายแรง.
               บทว่า นิกฺกเฒ ได้แก่ ในขณะนั้นเอง คือในกาลอันยังไม่ถึง.
               บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะเหตุที่คำทุพภาษิตเท่านั้น ย่อมทำให้ตกไปเร็วพลัน แม้กว่าศาตราที่ลับคมกริบ และยาพิษอันร้ายแรง.
               บทว่า กาเล อกาเล จ ความว่า บัณฑิตพึงรักษาวาจาทั้งในกาลและมิใช่กาลที่ควรกล่าว ไม่ควรกล่าวเกินเวลา แม้กะบุคคลผู้เสมอกับตน คือแม้กะบุคคลผู้มีการกระทำไม่ต่างกัน.
               บทว่า มติปุพฺโพ ได้แก่ ชื่อว่ามีความคิดเป็นเบื้องหน้า เพราะกระทำความคิดให้เป็นปุเรจาริกอยู่ข้างหน้าแล้วจึงกล่าว.
               บทว่า วิจกฺขโณ ความว่า บุคคลผู้พิจารณาด้วยญาณแล้วได้ประโยชน์ ชื่อว่าผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์.
               บทว่า อุรคมิว ตัดเป็น อุรคํ อิว แปลว่า เหมือนสัตว์ผู้ไปด้วยอก (งู).
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า ครุฑทำทะเลให้ปั่นป่วนแล้วยึด คือจับงูตัวมีขนาดใหญ่ ก็แลครั้นจับได้แล้ว ทันใดนั้นเอง ก็ยกหิ้วงูนั้นขึ้นสู่ต้นงิ้ว กินเนื้ออยู่ ฉันใด บุคคลผู้มีความคิดเกิดขึ้นก่อนเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเป็นเครื่องเห็นประจักษ์ กล่าวพอประมาณในกาลที่ควรกล่าว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยึดคือจับพวกอมิตรทั้งหมดได้ คือทำให้อยู่ในอำนาจของตนได้.

               พระราชาทรงสดับธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์แล้ว
               ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้มีพระดำรัสพอประมาณ และทรงปูนบำเหน็จยศ พระราชทานแก่พระโพธิสัตว์นั้นให้ใหญ่โตกว่าเดิม.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ลูกนกดุเหว่าในกาลนั้น ได้เป็น พระโกกาลิกะ
               ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาโกกาลิกชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา โกกาลิกชาดก ว่าด้วย พูดในกาลที่ควรพูด จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 618 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 622 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 626 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3040&Z=3052
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=7369
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=7369
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :